ReadyPlanet.com


รู้จัก "ชามาภัทร สิทธิอำนวย" หัวเรือใหญ่จิมโบรีในบทบาทแม่


ในแวดวงธุรกิจการศึกษาสำหรับเด็ก คงไม่มีใครไม่รู้จัก ชามาภัทร สิทธิอำนวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพลย์แอนด์มิวสิก เจ้าของลิขสิทธิ์ จิมโบรี (Gymboree) ประเทศไทย ศรีภรรยาของพิเชษฐ์ สิทธิอำนวย แห่งบล.บัวหลวง ที่เชื่อมั่นว่าการเล่นของเด็กมีส่วนเพิ่มพูนพัฒนาการอย่างรอบด้าน เธอจึงตั้งหน้าตั้งตาเล่นกับลูก พร้อมศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กเล็กอย่างจริงจัง ทำให้วันนี้สามารถขยายสาขาไปได้แล้ว 14 สาขา
      
       กว่า 10 ปีของการทำธุรกิจจิมโบรี นอกจากความมุ่งมั่นในการหาความรู้ที่จะส่งต่อและสนับสนุนการเสริมพัฒนาการเด็กได้อย่างถูกต้องผ่านการเล่นในรูปแบบต่าง ๆ แล้ว เธอยังเป็นคุณแม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยรัก และเอาใจใส่ลูกเป็นอย่างดี ปัจจุบันลูกสาวคนโตชื่อพริมอายุ 15 ปี ส่วนลูกสาวคนกลาง และลูกชายคนเล็กชื่อ เพอรีน และพรีโม่อายุ 7 ขวบ และ 5 ขวบตามลำดับ
      
       "ลูกคนโตตอนนี้เรียนอยู่ที่อินเดียค่ะ แต่ก่อนไป เราให้เขาเรียนที่โรงเรียนไทยจนจบป.6 เพราะส่วนตัวอยากให้ลูกมีพื้นฐานภาษาที่เป็นคนไทย และอยากให้ลูกซึมซับการเล่นกับเพื่อนคนไทย มีพัฒนาการทางสังคมแบบไทย ๆ ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมไม่ส่งลูกไปเรียนอังกฤษ เพราะจริง ๆ แล้วอังกฤษเป็นประเทศที่ดีมากสำหรับการศึกษา แต่เราไม่อยากให้ลูกยึดติดว่าเขาเป็นเด็กอังกฤษ เราอยากให้เขาติดดิน ไม่ยึดติดกับวัตถุ ช่วยเหลือตัวเองเป็น และพยายามให้เขาลบคำสบประมาทจากคนอื่นให้ได้ว่า ถึงฉันจะจบจากอินเดีย ฉันก็เก่งไม่แพ้เด็กที่จบจากอังกฤษ โดยโรงเรียนที่เราส่งลูกไปเรียนนั้น เราเลือกแล้วว่า เป็นโรงเรียนที่ได้มาตรฐาน และใช้หลักสูตรที่ยอมรับโดยสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลก"
      
       คือคำบอกเล่าที่แสดงให้เห็นแนวคิดในการเลี้ยงลูกของบอสใหญ่แห่งจิมโบรีท่านนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเธอบอกต่อไปว่า การเลี้ยงลูกให้รู้จักพึ่งพาตัวเอง มีความรับผิดชอบ และรู้หน้าที่ของตัวเอง คือภาพที่แม่ยุคใหม่อย่างเธออยากจะเห็นจากลูก ๆ ทั้ง 3 คน
      
       "ส่วนตัวเชื่อในสุภาษิตจีนที่ว่า ยิ่งให้ลูกมากเท่าไร ลูกก็จะยิ่งอ่อนแอมากเท่านั้น แต่สิ่งเดียวที่ให้ลูกได้ไม่จำกัดคือ ความรัก แต่ถ้าเข้าไปช่วย หรือปกป้องลูกทุกเรื่อง เด็กก็จะอ่อนแอ และยืนได้ด้วยตัวเองไม่เป็น ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น เด็กประเทศนี้ใส่รองเท้าและผูกเชือกเป็นตั้งแต่อายุขวบกว่า ในขณะที่เด็กไทย 3 ขวบยังใส่กันไม่เป็นเลย เพราะมีพ่อแม่คอยจับใส่ให้ทุกวัน ส่วนตัวมีประสบการณ์จากลูกคนแรกที่ประคบประหงมทุกอย่าง ปรากฎว่า ลูกทำอะไรเป็น ขาดวินัย ติดคอมพิวเตอร์ และนี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมถึงส่งไปเรียนอินเดีย เพราะที่นั่นมีระบบที่เข้มงวด โดย 1 วันให้เข้าอินเทอร์เน็ตได้แค่ครั้งละ 1 ชั่วโมงเท่านั้น พอมีลูกคนที่สอง และสามตามมา ทำให้แม่อย่างเราต้องหนักแน่นให้มากขึ้น และพยายามบอกกับตัวเองอยู่เสมอว่า ถ้าเราอยากให้ลูกเข้มแข็ง เราต้องพยายามช่วยเขาในเรื่องนั้น ๆ ให้น้อยลง"
      
       ดังนั้น คนที่ดีที่สุดไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด แต่คนที่อยู่และเข้ากับคนอื่นได้ดีต่างหากคือคนที่ดีที่สุด และการที่จะเข้ากับคนอื่นได้ดีนั้น พื้นฐานสำคัญมาจากการเลี้ยงดูจากครอบครัว ถ้าเลี้ยงให้ลูกเป็นคุณหนู มีพ่อแม่ และพี่เลี้ยงคอยปรนนิบัติพัดวีทุกอย่าง ก็คงยากที่ลูกจะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้
      
       "พ่อแม่บางคนรักลูก และทำทุกอย่างให้หมด ไม่ว่าจะเป็นการบ้าน งานประดิษฐ์ แต่พอถึงเวลาที่ครูให้ทำเอง กลับทำไม่เป็น ส่วนตัวมองว่า ถ้ารักลูก ต้องรักในทางที่สร้างให้เขาแข็งแกร่ง ไม่ใช่สร้างให้เขาอ่อนแอ แต่การให้ลูกได้ทำอะไรด้วยตัวเอง ไม่ใช่ทิ้งลูก หรือปล่อยให้ลูกเผชิญหน้ากับปัญหาเพียงลำพังนะ เขาต้องอยู่ในสายตาเราด้วย และทุกครั้งที่เขาต้องการความช่วยเหลือ เขาต้องมีเราเสมอ"
      
       "ถามว่าเป็นแม่ที่ตีลูกไหม ไม่ค่ะ แต่โหดค่ะ (หัวเราะ) พูดคำไหนต้องเป็นคำนั้น ไม่ได้คือไม่ได้ อยากจะร้องก็ร้องไป เพราะถ้าเราไม่หนักแน่น ลูกอาจสับสนได้ แต่ถึงดุก็ไม่เคยพูดอะไรที่เป็นแง่ลบต่อหน้าเขา จะพยายามพูดบวกไว้เยอะ ๆ เช่น แม่เชื่อว่าลูกทำได้ ลูกของแม่เป็นเด็กดี เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเชื่อฟังก็จะตามมา เช่น ดีมากเลยค่ะที่หนูรู้จักรอ รอแม่ เสร็จธุระแล้วแม่จะออกไปหาหนูนะคะ ไม่ใช่ตวาดลูกออกไปว่า เข้ามาทำไม แม่กำลังทำงานอยู่ เด็กอะไร ไม่มีมารยาท แบบนี้ก็อย่าหวังว่าเด็กจะเชื่อฟังเรา"
      
       นอกจากนั้น เธอยังเป็นคุณแม่ที่ให้ความสำคัญกับการอ่าน เพราะการอ่านคือหัวใจสำคัญในการเรียนรู้ เริ่มจากอ่านหนังสือให้ลูกฟัง พอถึงวัยที่อ่านหนังสือได้แล้วก็จะอ่านไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งการเลือกหนังสือนั้น จะดูเนื้อหาที่สนุก และเข้าใจง่าย เพราะหากเลือกหนังสือที่เข้าใจยาก ลูกอาจส่ายหน้ากับการอ่านไปเลยก็ได้
 
       ที่สำคัญไปกว่านั้น การเลี้ยงลูกให้มีคุณธรรมจริยธรรม คือหัวข้อใหญ่ของครอบครัวนี้ เพราะถ้าเด็กไม่ได้รับการปลูกฝังในเรื่องดังกล่าวตั้งแต่เล็ก ๆ โอกาสที่พวกเขาจะเติบโตเป็นคนอันตรายต่อคนรอบข้างย่อมมีได้สูง
      
       "บ้านเราให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก เราจะสอนลูกให้รู้จักรัก และเมตตากัน โดยมีเราเป็นตัวอย่างที่ดีกับเขา และแสดงให้เห็นเมื่ออยู่กับผู้อื่น เช่น การให้ การเสียสละ เมื่อเด็ก ๆ มีสิ่งเหล่านี้แล้ว เด็กก็จะเติบโตเป็นคนที่เป็นมิตรกับคนอื่น ๆ ซึ่งเราในฐานะผู้สร้าง เราต้องช่วย ๆ กันค่ะ"
      
       สำหรับชีวิตในแต่ละวันของเธอกับลูก นอกจากจะแบ่งหน้าที่กับสามีไปรับ-ส่งลูกที่โรงเรียนแล้ว หลังเลิกเรียน ลูก ๆ จะมารวมตัวกันที่ทำงานคุณแม่ (จิมโบรี) และในระหว่างที่รอเธอทำงาน จะมีครูเข้ามาช่วยดูแล ไม่ว่าจะสอนภาษาอังกฤษ ศิลปะ หรือเล่นเกมฝึกทักษะต่าง ๆ จากนั้นจะรับประทานอาหารเย็น และพากันกลับบ้านพร้อมกัน ซึ่งกิจกรรมที่ทำร่วมกันในบ้านนั้น หลัก ๆ แล้ว จะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่าง ๆ กันบ้าง มีการทำการบ้าน หรือแบบฝึกหัดกันบ้าง แต่พอถึงเวลา 20.30 น. ลูกจะต้องปิดไฟเข้านอนทันที
      
       "ถ้าไม่หลับไปพร้อมลูก ๆ ก็จะลงมาอยู่กับสามีข้างล่าง คุยเรื่องสัพเพเหระทั่วไป จากนั้นจะสไกป์คุยกับลูกสาวคนโตที่เรียนอยู่อินเดีย คุยกันเสร็จ บอกลากันเสร็จ ถ้ามีงานค้างก็จะนั่งทำต่อไป" เธอเสริม


       
       เล่นกับลูก..สำคัญไฉน
      
       สำหรับคนเป็นแม่ที่พลิกตัวเองมาเป็นนักธุรกิจด้านการศึกษา เธอมองว่า การเล่นเป็นมากว่าความสนุก การเล่นเป็นส่วนสำคัญของชีวิตในช่วงเยาว์วัย และการเล่นทำให้เด็กได้ Explore Learn Develop คือ ค้นคว้า เรียนรู้ และพัฒนา ซึ่งเป็นช่องทางของการก่อเกิดทักษะ สติปัญญา และความรู้
      
       "การเล่นกับลูกควรเล่นแบบครบวงจร คือ มีซอฟต์แวร์ (ผู้แนะนำและปฏิบัติไปพร้อม ๆ กัน) และฮาร์ดแวร์ (ของเล่น และอุปกรณ์การเล่นต่าง ๆ) แต่พ่อแม่หลาย ๆ ท่าน มักจะปล่อยให้ลูกอยู่กับของเล่นเพียงลำพัง ส่วนตัวเองก็นั่งทำงานไป ซึ่งการเล่นแบบนี้ เด็กไม่มีการเล่นที่เสริมสร้างจิตนาการ ไม่มีการเล่นบทบาทสมมติ ทางที่ดี พ่อแม่ต้องเข้ามาเล่นกับลูก และคิดให้ได้ว่า เราจะเล่นอย่างไรเพื่อให้ลูกเกิดการเรียนรู้ เช่น มีลูกบอลอยู่ 1 ลูก นอกจากเตาะ โยน และรับบอลกันแล้ว ลองปล่อยลม และเป่าลมให้ลูกบอลมันใหญ่ขึ้นเพื่อให้เด็กเรียนรู้เหตุและผลกันดีไหม หรืออาจจะให้เด็กกลิ้งบนลูกบอลเพื่อฝึกในเรื่องของการทรงตัว เป็นต้น ซึ่งหลักในการเล่น ไม่ได้อยู่ที่ลูกบอล หรือของเล่นราคาแพง ๆ แต่อยู่ที่วิธีการเล่นที่พ่อแม่ออกแบบ และเข้าไปเล่น หรือมีส่วนร่วมกับเขาค่ะ"
      
       ดังนั้น ประสบการณ์การเล่นที่แท้จริง ต้องเกิดจากสิ่งกระตุ้นจากภายในตัวเด็กที่สามารถเลือกกิจกรรมได้เอง เอาตัวเข้าไปสัมผัสจริง ให้ความสุขและเป็นการเล่นที่มีตรรกะ และมุ่งพัฒนาแบบองค์รวมครบทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วยพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา รวมถึงพัฒนาการทางด้านภาษา และสังคม
      
       "เมื่อพวกเขาได้เล่น มันจะส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ ๆ มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เคารพในตัวเอง มีความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการที่ดีเยี่ยม รวมทั้งยังได้ใช้เวลาร่วมกับพ่อแม่ ได้ซึบซับความผูกพันระหว่างกันผ่านการเล่น ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่พ่อแม่หลายมักจะหลงลืม คือ เราจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของการเล่นกับลูกด้วย" บอสใหญ่แห่งจิมโบลีประเทศไทยเผยความสำคัญของการเล่นกับลูก พร้อมกับเสนอตัวเลือกให้พ่อแม่ยุคใหม่ที่ไม่รู้ว่าจะเล่นกับลูกอย่างไร ลองมาเก็บเทคนิคการเล่นที่จิมโบลีกันดู เพราะที่นี่มีวิธีการเล่นมากมาย และสามารถนำไปต่อยอดกับลูกที่บ้านได้
      
       ท้ายนี้ เธอสะกิดใจคุณพ่อคุณแม่ไว้อย่างน่าสนใจว่า ถ้าไม่ให้เวลาในวันที่ลูกต้องการคุณ อนาคตก็อย่าหวังเลยว่าลูกจะให้คุณ
      
       "มีเพลงฝรั่งอยู่เพลงหนึ่งที่สะกิดใจพ่อแม่ยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือ Don"t blink or you"ll miss ห้ามกระพริบตา ไม่เช่นนั้นคุณจะพลาด โดยเฉพาะความเป็นเด็กของลูก มันช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน คุณอย่าเอาเวลาไปทำแต่งาน หรือหาแต่เงินจนลืมที่จะให้เวลา ความรัก และความเข้าใจแก่ลูก เมื่อเวลาผ่านไป บางอย่างมันเอากลับมาไม่ได้ ทางที่ดีควรให้ความสำคัญกับลูกมาก ๆ แล้วเชื่อเถอะค่ะว่า เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีสมความตั้งใจเราอย่างแน่นอน" หัวเรือใหญ่แห่งจิมโบรีฝากให้คิด

 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 สิงหาคม 2555 15:47 น.



ผู้ตั้งกระทู้ Admin กระทู้ตั้งโดยเว็บมาสเตอร์ :: วันที่ลงประกาศ 2012-08-25 19:19:03


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล