ReadyPlanet.com


สงสัยครับ ทำอย่างไรจะรู้ได้ว่า ตายแล้วจะไปสวรรค์หรือนรก มันมีจริงหรือ?


ที่บอกว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ปัจจุบันยังใช้ได้อยู่หรือเปล่าครับ? คนทำดีไปสวรรค์ คนทำชั่วไปนรก พอมีอะไรพิสูจน์ได้ไหมครับ? ของมองไม่เห็นจะรู้ได้ไงว่ามีจริง หรือไม่มี?



ผู้ตั้งกระทู้ สงสัยจริงๆ :: วันที่ลงประกาศ 2012-07-04 08:11:25


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1506980)

ทำดีย่อมได้รับผลดี ทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว เป็นอมตวาจาที่พระพุทธองค์ทรงประกาศิตไว้แล้ว ย่อมไม่มีทางจะผิดพลาดคลาดเคลื่อน เอกะนามะกิง หนึ่งไม่มีสองก็คือ คำตรัสของพระพุทธเจ้านั่นเอง ไม่เพียงแต่แค่ใช้ได้ในปัจจุบันเท่านั้น แม้อนาคตกาลข้างหน้าโน้น ก็ยังคงใช้ได้อยู่เช่นเดิม อย่ามัวสงสัยให้เสียเวลาทำดีอยู่เลย

ก็พิสูจน์ง่ายๆ ถ้าเมื่อใดคุณกินเกลือแล้วว่าหวาน กินน้ำตาลแล้วบอกว่าขม เมื่อนั้น คนทำดีก็อาจจะได้ชั่ว  คนทำชั่วก็อาจจะได้ดี นี่ว่าโดยอุปมา แต่ในความเป็นจริง คุณก็ต้องรู้แน่อยู่แก่ใจตนเองอยู๋แล้ว ถ้าคุณเคยไปวัดทำบุญตักบาตรฟังเทศน์ฟังธรรม  กับคุณไปกินเหล้าเมาจนหัวราน้ำ คุณคิดว่าสองอย่างนี้ อย่างไหนเป็นความดี อย่างไหนเป็นความชั่ว แล้วผลของการกระทำของทั้งสองอย่างนั้น เด็กอมมือมันก็รู้ได้กระมัง  ว่าอะไรให้ผลเป็นสุขทุกข์ ดีชั่วอย่างไร

การจะไปสวรรค์ หรือนรก มันเป็นความจริงที่ไม่ต้องมีการพิสูจน์ และมันเป็นความรู้เฉพาะของผู้ที่ได้ไปเท่านั้น คนไม่ได้ไปก็ไม่มีทางจะรู้ได้  แต่ก็พอรู้ได้ด้วยอุปมาอย่างนี้  เวลาที่คนทำอะไรที่รู้สึกว่ามันไม่ดี  จิตใจก็จะเป็นทุกข์เดือดร้อนเกิดความวิตกกังวลไปต่างๆนาๆ ก็เปรียบเหมือนมีนรกขุมน้อยๆเกิดขึ้นที่ในดวงจิต ให้คุณได้ชิมลางก่อน  พอตายแล้วจิตคุณก็จะดิ่งไปนรก อย่างที่แม้ไม่ตั้งใจก็จำเป็นต้องไป  และคุณก็จะรู้ได้เองในเวลานั้นว่า นรกมีจริง โดยที่ไม่ต้องไปถามใคร แต่รู้ในเวลานั้น ก็ไม่มีประโยชน์อะไรแล้ว  เพราะคุณไม่มีโอกาสจะพาดวงจิตให้ก้าวพ้นหลุมนรกไปได้ จนกว่าจะหมดกรรม

แม้สวรรค์ก็เป็นเช่นเดียวกัน หากคุณทำอะไรที่มันเป็นความดีมากๆ คุณอาจรู้สึกปลาบปลื้มปิติและเป็นสุขใจอย่างประหลาด  เมื่อนั้นก็เปรียบเหมือนมีสวรรค์น้อยๆเกิดขึ้นที่ในดวงจิตของคุณแล้ว หากคุณตายในเวลานั้น ดวงจิตของคุณก็จะดิ่งไปสวรรค์อย่างแน่นอน  และคุณก็จะรู้ได้เองในเวลานั้นว่า สวรรค์มีจริง  โดยที่ไม่ต้องไปถามใครอีกเลย

ผู้แสดงความคิดเห็น webmaster (webmaster-at-doisaengdham-dot-org)วันที่ตอบ 2012-07-08 00:25:58


ความคิดเห็นที่ 2 (2937732)

 ท่านอ.ด้วยสงสัยความเคารพครับ

เหมือนผมเคยได้ยินว่าพุทธองค์เคยตรัสว่า อย่าเชื่อแม้นคำพูดของท่านเองให้จงพิสูจน์ แล้วในเคสนี้ถ้าเราจะทำการพิสูจน์

เราควรทำอย่างไรครับท่าน

ผู้แสดงความคิดเห็น Anonymous วันที่ตอบ 2013-02-05 15:52:08


ความคิดเห็นที่ 3 (2945227)

 ถ้ามีคนมาแนะนำคุณว่า ก๋วยเตี๋ยวราดหน้าเจ้านั้นอร่อย คุณจะเชื่อเขาไหม?  คุณอาจจะจำไว้ แต่ยังไม่เชื่อเสียเลยทีเดียว  เมื่อใดคุณมีโอกาสได้ไปลองชิมดูด้วยลิ้นของคุณเอง  คุณก็คงจะตัดสินได้เองว่า ที่ฟังเขาพูดมามันจริงหรือไม่?  คุณคงเชื่อลิ้นของคุณเอง มากกว่าที่จะเชื่อคำพูดของคนอื่น

พระพุทธองค์ท่านสอนให้เราอย่าเชื่อท่าน ก็ทำนองเดียวกันนี้  คือต้องการให้เราพิสูจน์ด้วยตัวเอง  แล้วเชื่่อผลอันเกิดขึ้นจากการกระทำของเรา แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัติ ไม่ทำอะไรเลย  ถึงจะเชื่อตัวเอง หรือจะเชื่อพระพุทธเจ้า ก็หาได้เกิดประโยชน์แต่อย่างใดไม่  พระพุทธเจ้าจึงไม่สอนให้เชื่อพระองค์ เพราะความเป็นอัจฉริยะของท่านนั่นเอง  แต่สอนให้เราเชื่อการปฏิบัติ  หากเราปฏิบัติ ย่อมปรากฏผลให้เรารับทราบได้เอง และผลนั้นจะเป็นเครื่องแสดงแก่เราเอง ว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้จริงหรือไม่จริง?

ดังนั้น สิ่งใดที่เรายังไม่รู้ ปฏิบัติไม่ได้  เข้าไม่ถึง  แม้เราจะยังไม่เชื่อ แต่ก็ไม่บังควรปฏิเสธ  ควรศึกษานักปราชญ์ ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ว่าท่านมีความเห็นอย่างไร  อย่างน้อยก็ยังดีกว่า  ด้นเดาเอาเองตามประสาแห่งความไม่รู้ของตน สิ่งใดที่นักปราชญ์ผู้ฉลาดทั้งหลาย  ท่านเห็นเป็นอย่างเดียวกัน  สิ่งนั้นคงพอเชื่อใจได้ว่า  น่าจะเป็นความจริง  อย่างน้อยก็ยังดีกว่า ความเห็นด้วยทิฏฐิดื้อรั้นของเราคนเดียว

แม้ทางโลกเขายังต้องใช้หลายคนประชุมเพื่อตัดสินเรื่องราวต่างๆ  ไม่ฟังความเห็นของคนๆเดียว  เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางปฏิบัติก็คือ  อยากรู้จริงๆ ก็ต้องปฏิบัติให้รู้ด้วยตนเอง  ถ้าปฏิบัติด้วยตนเองไม่ได้  ก็ต้องเชื่อนักปราชญ์ที่ฉลาดกว่าตน   หากตนเองไม่รู้ แล้วยังไปเถียงกับผู้ฉลาดกว่า  ก็ยิ่งไม่รู้ไปเรื่อยๆ จนวันตาย ก็หาความฉลาดไม่ได้เลย

ผู้แสดงความคิดเห็น เว็บมาสเตอร์ วันที่ตอบ 2013-03-16 22:07:21


ความคิดเห็นที่ 4 (3007049)

๐ สาธุๆ ท่านอาจารญ์กล่าวได้แจ่มแจ้งนัก เปนนาบุญอันงามดีในพระพุทธศาสนามิผิดเพี้ยน ...

- ข้าพเจ้า เดมอนิคั้ส -

ผู้แสดงความคิดเห็น I'am Daemonicus (demonic_punisher-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2014-08-10 09:40:35


ความคิดเห็นที่ 5 (3026554)

 เข้าใจเหตุ ผล ก็เข้าใจธรรม(ชาติ)

ผู้แสดงความคิดเห็น อาต (artthanayut-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2015-10-26 23:24:56



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล