ReadyPlanet.com


ผู้มีบุญคุณมีสิทธิกับชีวิตเรามากขนาดไหน


1. ผมคิดสงสัยครับว่า ผู้ที่มีบุญคุณกับผม เช่น ช่วยหางานให้ทำ ให้ยืมเงิน ช่วยเหลืออะไรที่เราไม่มี ทำให้เราสบายใจ เขาเหล่านี้มีสิทธิกับชีวิตเรามากขนาดไหนครับ สมมุติว่าคนที่มีบุญคุณกับเรา เค้ากลับมาดูถูกเรา เกลียดเรา หรือบอกว่าเราไม่ดี ผมก็ควรจะทำตามเขาเพราะว่าเขามีบุญคุณรึป่าวครับ ถ้าเกิดเรื่องที่เขาบอก มันขัดกับตัวตนของเราที่เราเชื่อ  ผมควรจะเชื่อเค้า ยอมเค้า หรือเชื่อมั่นในตัวเอง เถียงกลับไป พูดในสิ่งที่ตัวเองคิด เอาตัวเองเป็นหลักดีครับ ผมกลัวว่าผมจะเป็นคนอกตัญญู

ซึ่งในใจผมตอนนี้ คิดเสมอว่าไม่เคยลืมบุญคุณของเขา และถ้ามีโอกาสช่วยเหลือหรือตอบแทน ใช้คืน ผมก็จะทำ แต่ผมกลัวแค่ว่าถ้าพูดความคิดของเราไป แล้วเกิดทะเลาะกัน ผมจะกลายเป็นคนอกตัญญู

 

2. ผมอยากรู้ว่าตลอดชีวิตของเรา มันขึ้นอยู่กับตัวเราเองมากขนาดไหน ในเมื่อหลายครั้งเราขอความช่วยเหลือคนอื่น แล้วมันจะเรียกว่า ขึ้นอยู่กับตัวเองได้อย่างไร ผมควรจะคิดแบบไหนดี เพราะตอนนี้ผมรู้สึกไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ไม่เชื่อว่าที่ผ่านมาทั้งหมดเป็นเพราะตัวเองเป็นคนทำครับ กลัวทำบาป เชื่อแค่ว่ามันเป็นเพราะคนอื่นหมดเลย ""


คนที่เชื่อมั่นในตัวเอง พูดในสิ่งที่ตัวเองคิด กับคนที่่อหังการ์ มีความทะนง มันแตกต่างกันยังไงหรอครับ

ผมขอโทษด้วยนะครับถ้าคำถามมันเข้าใจยาก ผมแค่ไม่รู้จพอธิบายมันออกมายังไง


 


 



ผู้ตั้งกระทู้ ชาวพุทธ :: วันที่ลงประกาศ 2013-07-20 22:59:35


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2974210)

1. คุณสงสัยว่าคนที่เคยช่วยคุณ มีบุญคุณกับคุณ จะมีสิทธิในชีวิตของคุณมากขนาดไหน และถ้าเขากลับมาเกลียดคุณ ดูถูกคุณ บอกว่าคุณไม่ดี คุณควรจะทำตามเพราะเขามีบุญคนกับคุณไหม และถ้าเรื่องที่เขาบอกมันขัดกับความเชื่อของคุณ คุณควรทำอย่างไร? คุณกลัวว่าคุณจะกลายเป็นคนอกตัญญู เกิดสงสัยว่า จะทำตามเขาดี หรือจะเชื่อมั่นในตนเองดี ไม่อยากให้เกิดการทะเลาะกัน

ตอบ :   คุณต้องแยกแยะ ระหว่างบุญคุณ กับ ความถูกต้อง เขาเคยมีบุญคุณกับคุณ เคยช่วยเหลือคุณ คุณก็ยอมรับและจดจำไว้ วันหนึ่งคุณก็ต้องตอบแทนบุญคุณของเขา ตามที่คุณคิดว่ามันสมควรกัน ในเมื่อคุณมีโอกาสที่จะตอบแทนบุญคุณของเขาได้  ไม่มีใครมีสิทธิ์มาก้าวก่ายในชีวิตของคุณ แม้เป็นพ่อเป็นแม่ ก็ยังแค่เลี้ยงลูกให้โต ส่งเสียให้เล่าเรียน แต่ลูกจะเป็นคนดีหรือไม่ ก็อยู่ที่ตัวลูกเอง พอ่แม่ยังไปบังคับไม่ได้ คนที่มีบุญคุณกับคุณ  จะมาบังคับให้คุณทำตามที่เขาต้องการไม่ได้  เว้นไว้แต่ตัวคุณจะยอมทำตามเขาเอง  ถ้าคุณไม่ทำตาม เขาก็ไม่มีสิทธิ์ จะมาว่ากล่าวอะไรคุณได้  เพราะมันเป็นสิทธิ์ของคุณ คุณไม่ได้เป็นลูกจ้างเขา  หรือไม่ได้ไปทำสัญญากับเขาไว้ ว่า ถ้าเขาช่วยคุณแล้ว คุณจะต้องตอบแทนเขาด้วยการกระทำอย่างนั้นๆ ตามที่เขาต้องการ

แต่คุณต้องตระหนักให้ดีว่า คุณจะยืนอยู่บนความถูกต้อง มีบุญคุณก้ค่อยทดแทนกันไป แต่คุณจะไปทำอะไรผิดๆ เพราะความมีบุญคุณไม่ได้  และ การที่คุณจะทำตามเขา หรือไม่ทำตาม  หรือเอาตามความเชื่อมั่นของตนเอง  ขอให้พิจารณาด้วยใจที่เป็นธรรมว่า ความถูกต้องมันอยู่ตรงไหน ก็เดินตามนั้น ไม่ขึ้นอยู่กับ ความต้องการของเขา หรือความต้องการของคุณ หรือของใครทั้งนั้น  ความถูกต้องเหมาะควรอย่างไร ก็ทำอย่างนั้น  ถ้าคุณลังเลตัดสินไม่ได้ว่า อะไรผิด อะไรถูก ก็ต้องปรึกษาผู้รู้ให้ชัดแจ้งอีกทีก็ได้  บางครั้งคุณอาจต้องเสียสละเพื่อตอบแทนบุญคุณคนอื่น ถ้าคิดว่า เขามีบุญคุณกับคุณมากมาย คุณต้องตัดสินใจด้วยตัวเองว่า บุญคุณที่เขามีต่อคุณนั้น มากมายแค่ไหน แล้วคุณจะยอมเสียสละให้กับเขาได้แค่ไหน เรื่องเช่นนี้ก็ตอบยาก ว่าคุณควรจะเสียสละเพื่อเขาได้แค่ไหน คงต้องว่าเป็นกรณีไป  บางคนยอมตายเพื่อช่วยชีวิตของคนอื่่นก็ยังมี แม้ไม่มีบุญคุณกันเลยก็ตาม

พระพุทธองค์เมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์สร้างบารมีอยู่ เพียงได้ยินเสือร้องอยู่ที่ก้นเหวด้วยความหิวโหย ก็ยอมกระโดดลงไปในเหวสละชีวิตตัวเองให้เป็นทานแก่เสือนั้น คุณจะทำอะไรก็ตาม ขอให้เดินอยู่บนความถูกต้อง และ อยู่บนความเสียสละ  จะสละมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับตัวคุณเอง แต่ต้องอยู่บนความถูกต้อง จะไปทำความชั่วเพื่อตอบแทนแก่ผู้มีพระคุณอย่างนั้นก็ใช้ไม่ได้  แต่ถ้าสิ่งที่เขาต้องการให้คุณทำมันเป็นความดี เป็นความถูกต้อง  อย่างนั้นคุณก็สมควรทำตามอยู่แล้ว  ไม่ต้องมีบุญคุณต่อกันก็ทำได้  เพราะหน้าทีของคุณคือ ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใสและบริสุทธิ์

2. คุณอยากรู้ว่า ตลอดชีวิตของคุณ ขึ้นอยู่กับตัวคุณมากแค่ไหน ในเมื่อคุณต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น คุณรู้สึกไม่เชื่อมั่นในตนเอง ไม่รู้ว่าจะคิดแบบไหนดี ไม่เชื่อว่าเป็นการกระทำของตนเองคิดว่าเป็นเพราะคนอื่นหมดเลย

ทุกอย่างในชีวิตของคุณย่อมขึ้นอยู่กับตัวคุณเอง จะไปคิดว่าเป็นเพราะคนอื่นไม่ได้  เพราะถึงแม้คุณจะทำอะไรตามความต้องการของคนอื่น แต่นั้นก็ต้องเป็นสิ่งที่คุณยอมรับที่จะทำแล้ว เมื่อทำลงไปคุณก็ต้องรับผลแห่งการกระทำนั้นด้วยตัวคุณเอง จะไปโทษคนอื่นไม่ได้ ดังเช่น ถ้ามีคนสั่งให้คุณไปฆ่าคน คุณมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธได้ แต่เมื่อคุณยอมทำตามคำสั่งเขา ก็ต้องถือว่าคุณเห็นดีเห็นงามกับการทำเช่นนั้น คุณก็ต้องรับผิดเต็มที่ จะไปอ้างว่าเป็นเพราะคนอื่นใช้ให้คุณทำไม่ได้ ดังนั้น ก่อนที่คุณจะทำอะไร จะทำด้วยตัวเอง หรือทำด้วยเพราะคนอื่นก็ตาม คุณมีส่วนในการกระทำด้งกล่าวอย่างเต็มที่ ทำดีก็ได้รับผลดี ทำชั่วก็ได้รับผลชั่ว แม้คนที่บอกให้คุณทำก็ต้องมีส่วนร่วมด้วย คุณไม่จำเป็นต้องเชื่้อมั่นในตัวเอง หรือคนอื่น  แต่ขอให้คุณเชื่อมั่นในความดี เพราะบางครั้งตัวเราเองอาจคิดอะไรผิดๆ แล้วทำผิดก็ได้ โดยสำคัญไปเองว่า เป็นความถูกต้อง  บางคนจึงทำผิดเพราะคิดว่ามันถูกก็ได้  แต่ที่แย่กว่านั้น คือ ทำผิดทั้งๆที่รู้ว่ามันผิด อันนี้สิ ที่ควรตำหนิ ดังนั้น คุณต้องใคร่ครวญให้ดีเสียก่อนที่จะทำอะไร ไม่วาจะตามใจตนเอง หรือตามใจผู้อื่นก็ตาม ให้แน่ใจว่า สิ่งนั้นถูกต้อง สิ่งนั้นควรทำ

คนที่เชื่อมั่นในตนเอง คือมักทำอะไรตามที่ตนคิดว่าสมควร บางทีอาจผิดก็ได้ เชื่อมั่นตนเองเกินไปก็ไม่ดี ไม่เชื่อมั่นในตนเองเลยก็ไม่ดี ให้เชื่อมั่นในตนเองในระดับที่สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องลังเลสงสัยว่า มันจะผิด หรือมันจะถูกก็แล้วกัน ถ้ายังลังเลอยู่ ก็อย่าเชื่อมั่นในตนเองนัก ปรึกษาท่านผู้รู้ให้หายสงสัยเสียก่อนก็ได้

ส่วนคนทะนงตัวนั้น คือคนหยิ่งยะโสโอหัง ใครบอกก็ไม่ฟัง เอาแต่ใจตัวเองเป็นหลัก ย่อมไม่ดีเลย เพราะจะทำผิดได้ง่าย คนเราเกิดมาไม่มีใครฉลาดไปเสียหมด และไม่มีใครโง่ไปเสียทุกอย่าง  ย่อมมีโง่บ้าง ฉลาดบ้างปะปนกันไป  หน้าที่ของเราคือ พยายามสั่งสมความฉลาดให้มากขึ้น และ ลดความโง่ให้น้อยลง ทำแค่นี้ก็พอ

ผู้แสดงความคิดเห็น เว็บมาสเตอร์ วันที่ตอบ 2013-07-21 14:17:24


ความคิดเห็นที่ 2 (2974230)

 ขอบคุณมากเลยครับ
มันช่วยให้เข้าใจได้มากจริงๆ 

ความกลัวต่อบาปบางทีทำให้ผมรู้สึกตื่นตระหนกคิดมากนู้นนี้ ทั้งที่มันเป็นปัญหาเล็กๆ แต่ผมกลับทำให้มันวกวน
จนรู้สึกแย่ที่หาคำอธิบายไม่ได้ ผมจะรู้สึกว่ามันต้องหาคำอธิบายให้ได้เดี๋ยวนั้นเลย บางที่นอนไม่หลับ  จะได้เริ่มเดินถูกทางและจัดการความคิดให้ถูก

มันเป็นกรรมรึป่าวครับแบบนี้ที่ทำให้ผมรู้สึกกลัวต่อบาปขนาดนี้ 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ชาวพุทธ วันที่ตอบ 2013-07-21 18:49:43


ความคิดเห็นที่ 3 (2974233)

การกลัวต่อบาปเป็นสิ่งที่ดี ในธรรมท่านสอนให้ทุกคนต้องมี หิริ โอตตัปปะ  หิริ คือ ความละอายต่อบาป โอตตัปปะ คือ ความสะดุ้งกลัวต่อบาป เป็นคุณธรรมที่จะทำให้ไปเกิดเป็นเทวดา ส่วนกรรมแปลว่าการกระทำเป็นคำกลางๆ  ถ้าเป็นการทำดี ก็เป็นกรรมดี ถ้าทำชั่วก็เป็นกรรมชั่ว ถ้าทำไม่ดีไม่ชั่ว ก็เป็นกรรมกลางๆ การจะเป็นบาป ต้องมีเจตนาทำกรรมชั่ว  ถ้าไม่ทำกรรมชั่ว ก็ไม่ต้องกลัวบาป สำคัญที่เจตนาของเรา อย่ากลัวบาปแบบหาเหตุหาผลไม่ได้

ถ้าไม่อยากให้เป็นบาป ก็อย่าทำผิดศีลห้า ก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับฆราวาส รักษาศีลห้าไว้ด้วยดี ก็ไม่มีอะไรจะเป็นบาปจากการกระทำ  ทางกาย  นอกนั้นก็รักษาใจ ให้คิดดี ดูความคิดของตัวเอง ว่ามันคิดไปแบบใด ดีหรือชั่ว ถ้าคิดไม่ดีก็ห้ามและกำจัดเสีย  ส่งเสริมความคิดที่ดีให้มาก ฝึกหัดภาวนาพุทโธทำใจให้สงบเป็นสมาธิ  แล้วหัดพิจารณาเรื่องราวต่างๆที่มาเกี่ยวข้อง ให้รู้จักผิด ถูก ดี ชั่ว อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่ใช่ประโยชน์ อะไรควรละ อะไรควรบำเพ็ญ ให้เห็นว่าทุกสรรพสิ่งในโลกไม่มีอะไรยั่งยืน อนิจจัง คือความไม่เที่ยงแปรปรวนตลอด ทุกขัง เป็นทุกข์บีบคั้นทรมาน อนัตตา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่เรา ทุกสิ่งต้องแตกทำลายหมดสิ้น  พิจารณาให้เห็นความเป็นจริงอย่างนี้เรื่อยๆ จิตใจจะค่อยๆเปลี่ยนสภาพดีไปเอง

ผู้แสดงความคิดเห็น เว็บมาสเตอร์ วันที่ตอบ 2013-07-21 19:18:45


ความคิดเห็นที่ 4 (2974698)

       กลัวก็ตาย ไม่กลัวก็ตาย ตายแน่ๆ ง่ายๆครับเลิกกลัวเลิกคิดก็จบจะไปคิดกังวลอะไรมากมายให้ยุ่งยาก สบายๆเบิกบานไปวันๆ ชีวิตง่ายๆ ครับ จบข่าว

        ถ้ายังไม่เข้าใจต่อ

        อยู่กับปัจจุบัน เราเกิดมาเพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่มาจมกับปัญหา 

        คิดไม่ออกก็ไม่ต้องคิด เพราะคิดไปก็ปวดหัวคิดไม่ออก ใช่ไหม!!! แล้วจะไปเสียเวลาคิดมากอยู่ทำไม  นั่งหลับตานิ่งๆ สงบๆ สบายๆ มีความสุขดีออก ถ้าใจสงบเดี๋ยวก็คิดออกเอง

         อดีตที่ผิดพลาดลืมไปให้หมด อยู่กับปัจจุบัน อย่าเสียเวลาจมอยู่กับอดีต มันผ่านไปแล้วจบไปแล้วไม่มีประโยชน์ย้อนเวลากลับไปไม่ได่้ อดีตผ่านไปแล้วอนาคตยังมาไม่ถึงและไม่แน่นอน เริ่มต้นใหม่ อยู่กับปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด แล้วอนาคตจะดีเอง ปัจจุบันไม่ดีอนาคตจะดีมีความสุขได้อย่างไร นึกถึงแต่สิ่งดีๆ เรื่องดีๆเป็นบุญกุศล

        

        อย่าเอาความผิดพลาดซึ่งเปรียบเหมื่อนมีดมาแทงตัวเองซ้ำแล้วซ้ำอีกยังเจ็บไม่พอหรือ เขาแทงเราทีเดียวก็เกือบตาย ถูกแทงทีเดียวก็พอแล้ว อย่าจมอยู่กับบาป ถ้ายังจมอยู่กับมันก็เหมือนเอามีดเล่มเดิมมาแทงตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า แบบนี้ไม่ใช่เกือบตาย แต่จะตายทั้งเป็น

        เริ่มต้นใหม่ครับ รักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์  คุณทำได้ ทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา การทำสมาธิสำคัญมากใจคุณจะสงบไม่ฟุ้งซ่าน สวดมนต์เป็นยาทา ภาวนาเป็นยากิน  สวดมนต์ช่วยให้ใจสงบระดับหนึ่งก่อน แล้วทำสมาธิต่อ ถ้าทำสมาธิเลยอาจฟู้งซ่านเกินไป ถ้าคุณทำได้ทุกวันรับรองมีความสุข ข้าวยังกินทุกวัน ทานศีลภาวนา ก็ต้องทำทุกวัน เติมบุญทุกวันไม่ให้บาปเข่้ามาอยู่ในใจเราได้

        จะตอบแทนไครจะช่วยเหลือไครก็อย่าให้ตัวเองเดือดร้อนและคนอื่นก็ไม่เดือดร้อนด้วย ต้องสุขทั้งเราทั้งเขา แบบนี้ถึงจะถูกหลัก 

        จะทำอะไรก็ให้อยู่ในศีล ชีวิตง่ายๆ แค่นี้เอง ไม่มีอะไรมาก

        ที่มันวุ่นวายอยู่ในปัจจุบันก็เพราะวิบากกรรมในอดีต และกรรมใหม่ในปัจจุบันที่เราทำบาปทำชั่วมาผสมกัน ก็สู้กันไป

                           

                           ถ้าหาคนมีศีลเสมอกัน หรือสูงกว่าเดินไปด้วยกันไม่ได้ พระพุทธองค์ทรงให้เลือก  ..."เดินไปคนเดียว"...

                                                                    เพราะเลื่อกคบคนอย่างไร เราก็จะเป็นอย่างนั้น

                             ถ้าคบคนพาล โกง หลงโลก หลงกามคุณ ถ้าสติเราไม่พอ อีกไม่นานเราก็จะซึมซับสิ่งเหล่านั้นได้โดยไม่รู้ตัว

                      คนฉลาดใช้ชีวิต จึงเลื่อกคบกัลยาณมิตร ถ้าไม่มีศีลมีธรรมรอบตัวเลย จงเลือกเดิน..คนเดียว...และมี...สติ..เป็นเพื่อน

ไปนิพพานดีกว่าครับสวัสดี สุขอย่างเดียวไม่มีทุกข์

         

        

ผู้แสดงความคิดเห็น แวะมาดู (pdej072-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2013-07-25 16:50:30



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล