ReadyPlanet.com


ถามปัญหาเกี่ยวกับพระวินัย


 กราบเรียนถามท่านอาจารย์ดังนี้

1. การสวดพระปาฏิโมกข์ ของทางวัดป่าบ้านตาดและบางวัด ทำไมถึงต้องเป็นตี4 (เข้าใจว่ายังไม่เป็นวันใหม่) 

2. ถ้าพระผู้ใหญ่ไม่กล่าวคำอัชเฌสนา แล้วสวดปาฏิโมกข์ ท่านปรับอาบัติทุกกฏผู้สวด ในเมื่อท่านไม่กล่าวเราเป็นพระผู้น้อยก็สุดวิสัยที่จะป้องกันอาบัติได้ จึงต้องจำยอม และท่านเคยดุตอนกำลังจะปูผ้านิสีทนะบนธรรมาส ท่านไม่ให้ปู ขอความเห็นจากท่านอาอาจย์ด้วย

3. พระอุปัชฌาย์ท่านไม่บอกอนุศาสน์ จึงสงสัยว่าการบวชจะสมบูรณ์หรือไม่ เพราะเคยฟังเทศน์หลวงตาเรื่องนี้ท่านจะย้ำเรื่องอนุศาสน์ รุกขมูลเคยคิดจะบวชใหม่ซ้ำอีก แต่ก็คิดว่าไม่ควรเป็นกังวลมากเกินไป

4. การสร้างกุฏิท่านมีข้อห้ามในสังฆาทิเสส ท่านกล่าวเฉพาะกุฏิดินหรือปูน ถ้าเป็นกระต๊อบหรือกุฏิไม้ ต้องแสดงที่หรือไม่ ไม่ทราบว่ามีวิธีการให้ยสงฆ์แสดงที่อย่างไรบ้าง  ต้องทำสังฆกรรมหรือไม่ หรือว่าให้พระ4รูปไปชี่ที่ให้ก็พอ  และบริเวณนั้นต้องไม่มีผู้จองไว้ ท่านรวมถึงพวกปลวกมดด้วย (จะสร้างได้หรือ) ต้องมีชานเกวียนเดินรอบได้ ถ้ามีต้นไม้จำเป็นต้องตัดหรือไม่ ถ้ามีเจ้าภาพสร้างเกินประมาณได้ ถ้าไม่มีเจ้าภาพห้ามเกินประมาณ ในกรณีที่ยังไม่มีเจ้าภาพแล้วเที่ยวหาเจ้าภาพมาสร้าง ดังที่เห็นพระบางองค์ทำมันจะได้หรือ ข้อนี้สงสัยจริงๆ อ่านแล้วอ่านอีกก็ยังไม่หายสงสัย ถามพระผู้ใหญ่ก็มีความเห็นไปต่างๆกัน จึงไม่ลงใจ เรื่องนี้ไม่ค่อยเห็นใครทำกันมีแต่สร้างเอาๆ ก็เลยไม่มีแบบแผน และถ้าทำผิดก็เป็นอาบัติหนักซะด้วย

5. เรื่องผ้าไตรจีวร ถ้ามีหลายผืนต้องวิกัป แต่ผ้าสบงวาตและผ้าอาบน้ำมีหลายผืน ต้องวิกัปหรือไม่ เห็นใช้กันทั่วไป

6. น้ำที่ฉันกับอาหารต้อนเช้า ถ้าเหลือต้องเททิ้งและล้างภาชนะให้สะอาด แต่ถ้าเก็บไว้ฉันหลังเที่ยงหรือวันใหม่จะผิดหรือไม่ ครูบาอาจารย์ก็ทำไม่เหมือนกัน

7. พระจุดไฟเพื่อต้มน้ำ หรือเผาขยะ  แต่ไม่สะดวกเพราะอาจมีสัตว์ในนั้น บางทีก็เห็นอยู่  ถ้าไม่ทำเองแต่ใช้ให้คนอื่นทำก็มีค่าเท่าเดิมเพราะเป็นคนสั่ง จะทำอย่างไรดี

ด้วยความเคารพเทิดทูนในครูบาอาจารย์สายกรรมฐาน 

 

 



ผู้ตั้งกระทู้ สหัสพล (sahatphon-at-hotmai-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2014-04-28 21:23:27


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3001673)

ตอบคุณสหัสพล

๑. วัดป่าบ้านตาดมีกิจที่เกี่ยวเนื่องด้วยผู้คนจำนวนมากในตอนกลางวัน ไม่สะดวกที่จะประชุมสงฆ์เพื่อสวดปาฏิโมกข์ ท่านจึงทำเสียให้เสร็จแต่ตอนเช้า ไม่มีกำหนดตายตัวว่าจะต้องเป็นตี ๔ คงเป็นความเข้าใจผิด หลักการคือ ให้สวดปาฏิโมกข์จบก็พอดีได้อรุณวันใหม่ หรือเผื่อเลยไปเล็กน้อย จะสวดปาฏิโมกข์จบก่อนอรุณไม่ได้  ดังนั้น เวลาสวดปาฏิโมกข์ จึงขึ้นอยู่กับเวลาที่ได้อรุณในแต่ละฤดูอาจไม่เหมือนกัน

๒. ถ้าพระผู้ใหญ่ไม่กล่าว "คำอัชเฌสนา" ตามที่มีอยู่ในหนังสือปาฏิโมกข์ เป็นเพราะอาจกล่าวไม่ได้ ก็ให้พูดเพียงคำว่า "นิมนต์" ก็ใช้ได้เหมือนกัน ถ้าไม่มีใครนิมนต์ ก็อย่าพึงสวดปาฏิโมกข์ นั่งรอจนกว่าจะมีผู้นิมนต์ เพราะพระวินัยย่อมอยู่เหนือความเป็นพระผู้ใหญ่ พระผู้ใหญ่ที่ไม่รู้วินัยเพียงแค่นี้ ไม่จัดว่าเป็นพระผู้ใหญ่หรอก เฒ่าแก่เพราะอยู่นานเฉยๆ ไม่ได้แก่ด้วยธรรมด้วยวินัย ถ้าท่านไม่นิมนต์ด้วยเพราะไม่รู้วินัยหรืออย่างไร?  ก็อาจทำทีเป็นถามเปรยขึ้นในท่ามกลางสงฆ์ ว่า  "การที่กระผมจะสวดปาฏิโมกข์ โดยที่ไม่มีใครนิมนต์เลยนั้น จะสมควรประการใดครับผม?" ถ้าในสงฆ์นั้น มันโง่ขนาดหาพระผู้ฉลาดรู้พระวินัยไม่ได้เลย ก็ยังไม่ต้องสวด นั่งมันอยู่อย่างนั้นแหละ และก็ถามคำถามเดิมซ้ำๆไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีผู้เอ่ยปากนิมนต์ให้สวด ส่วนการปูผ้านิสีทนะบนธรรมาสน์นั้น ก็ปูเพื่อเป็นเครื่องรองรับมลทินกายของเราไม่ให้เปื้อนอาสนสงฆ์เท่านั้น  เพราะก่อนขึ้นธรรมาสน์ก็ได้ขอโอกาสพระเถระแล้ว  อะไรที่มันถูกธรรมถูกวินัย แม้ท่านห้าม เราก็ทำเป็นไม่ได้ยินเสียก็ได้ เราต้องรักษาพระวินัยอยู่เหนือสิ่งอื่นใด แม้แลกด้วยชีวิตก็ยังต้องยอมเลย ถ้าทำได้  ดังนั้น หากพระเถระเซ่อๆซ่าๆ เราไม่จำเป็นต้องไปเซ่อๆซ่าๆตามท่านก็ได้ ไม่ผิดอะไรหรอก ในวินัยท่านให้อุบายให้แกล้งทำทีเป็นถาม เมื่อเห็นว่า พระผู้ใหญ่จะทำอะไรในสิ่งที่ไม่ถูกธรรมไม่ถูกวินัย ไม่ใช่ให้ทำตามท่านไปเสียทั้งหมด ทั้งที่มันผิด พระเถระโง่ๆก๊มีอยู่ สมัยนี้ยิ่งมีเยอะ เพราะความไม่เอาใจใส่ในธรรมในวินัยนั่นเอง

๓. การบวชสมบูรณ์ตั้งแต่ตอนพระสวดญัติจตุตถกรรมวาจาเสร็จแล้ว การบอกอนุศาสน์ ๘ อย่าง นั้น เพื่อให้กุลบุตรได้รู้ถึงกิจอันควรทำ และกิจอันไม่ควรทำเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับความเป็นพระสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ ถ้าพระอุปัชฌาย์ไม่บอกอนุศาสน์ ก็เป็นความผิดของพระอุปัชฌาย์ ไม่เกี่ยวกับเรา เราไปศึกษาเอาเองก็ได้

๔. กุฏิอะไรก็ตาม ก็ต้องแสดงที่ทั้งนั้น และที่นั้นต้องเป็นที่ที่ยังไม่มีเจ้าของ สงฆ์จะไปแสดงที่ในที่ที่มีผู้จับจองเป็นเจ้าของแล้วไม่ได้ เดี๋ยวตีกันตายพอดี ดีไม่ดีเจอข้อหาไปแย่งที่ดินของคนอื่นมีสิทธิ์เป็นปาราชิกได้ ที่ดินที่จะแสดงที่ต้องเป็นที่ที่เขายกให้วัดแล้ว  การแสดงที่ก็นิมนต์พระมาอย่างน้อยสี่รูป แล้วปักหมายเขตอาณาบริเวณที่จะสร้างกุฏี ใช้หมายตอกเป็นหลักไว้ก็ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เคลื่อน  แล้วกล่าวเผดียงสงฆ์ แจ้งให้ทราบแนวหมายเขตที่จะสร้างกุฏีนั้น และถามขึ้นในท่ามกลางสงฆ์ว่า "ถ้าสงฆ์เห็นด้วยกับการสร้างกุฎีในที่นี้ ให้นิ่ง ถ้าสงฆ์ไม่เห็นด้วยพึงคัดค้านขึ้น เมื่อสงฆ์ทั้งปวงนิ่งอยู่ แสดงว่า สงฆ์เห็นด้วยที่จะให้สร้างกุฎีในที่นี้  หากสงฆ์เห็นด้วยจริงแท้ ขอใหสงฆ์ส่งเสียงสาธุการขึ้นโดยพร้อมเพียงกัน  สงฆ์ส่งเสียง "สาธุ" ก็เป็นอันใช้ได้ แล้วก็ต้องสร้างกุฎีอยู่ในเขตที่ปักหมายเขตเอาไว้เท่านั้น ห้ามไปสร้างนอกเขต หากจะสร้างเลยจากที่แสดงที่ไว้ ก็ต้องนิมนต์พระมาแสดงที่เพิ่มเติม ส่วนการไปหาเจ้าภาพหรือหาทุนเพื่อสร้างกุฏี เป็นคนละเรื่องกับการแสดงที่ การหาทุน ถ้าไม่ได้ไปขอคนที่ไม่ได้เป็นญาติ หรือไม่ได้ปวารณาเอาไว้ ก็ไม่ผิดพระวินัย ถ้าเป็นญาติสายโลหิตเดียวกัน หรือเขาปวารณาเอาไว้ ก็ขอได้  แต่ท่านห้ามไม่ให้ไปเอ่ยปากเลียบเคียง หรือขอเขาด้วยวจีวิญญัติ กายวิญญัติ ไปอ่านดูในวินัยมุข 

๕. ผ้าสบง อังสะ หรือ ผ้าอาบน้ำ ท่านก็อธิษฐานเป็น "ปริขาละโจรัง" แล้วเก็บไว้ใช้ได้ แม้จีวรอาศัย ถ้าจำเป็นต้องมี ก็อธิษฐานเป็น ปริขาละโจรัง ได้ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยนิยมวิกัป เพราะเวลาจะใช้มันต้องถอนวิกัปยุ่งยากพอสมควร ก็อธิษฐานเป็นผ้า ปริขาละโจรัง แล้วเก็บไว้ใช้ ก็เท่านั้น หลายสำนักก็ทำกันไปต่างๆนาๆ แต่เราทำแบบนี้แหละ ไม่ผิดวินัยหรอก

๖. น้ำที่ฉันตอนเช้ากับอาหาร ถ้าเหลือให้เททิ้งและล้างภาชนะให้สะอาด เจตนาเพื่อไม่ให้กาน้ำสกปรก หรือมีตะกอน  ส่วนน้ำจะไปใช้ฉันตอนบ่ายก็ไม่ผิด ถ้าน้ำนั้นไม่มีอาหารปนเปื้อนอยู่ ถ้ามีอาหารปนเปื้อนก็เก็บไปฉันตอนบ่ายไม่ได้  ให้ถือเอาตามหลักเรื่อง"กาลิกระคนกัน" ไปเปิดอ่านดู ของแต่ละอย่างมีอายุในการรับประเคน ถ้าไม่ปะปนกัน ก็มีอายุตามสภาพของนั้นๆ เช่นน้ำ ท่านอนุญาตให้ฉันได้ตลอดไป น้ำฝน น้ำธรรมชาติ ไม่ต้องประเคนกรองแล้วก็ฉันได้เลย  แต่ถ้าปนกันกับอาหารก็ให้ถือตามอายุของอาหาร คือฉันได้แค่ก่อนเที่ยง ถ้าไม่ปนกับอะไร ก็ฉันได้ตลอดไป ถ้าปนกับน้ำตาล ก็ฉันได้แค่ ๗ วัน ถ้าปนกับน้ำผลไม้ลูกเล็ก ก็มีอายุแค่วันกับคืนหนึ่ง อรุณขึ้นแล้วห้ามฉัน ดังนี้เป็นต้น

๗. พระจะจุดไฟเองได้ ต้องเป็นที่ที่เคยจุดไฟมาก่อนแล้ว เป็นดินที่ตายแล้ว คือไม่มีสิ่งมีชีวิตหลงเหลืออยู่  หากจะใช้ผู้อื่นให้จุด ท่านให้ใช้ด้วยกัปปิยวาจา  ห้ามพูดตรงๆ เช่น "ช่วยพิจารณากองขยะตรงนี้ให้หน่อย"  "ช่วยพิจารณาไฟต้มน้ำให้ที" หรือว่า "ไปพิจาณาพริกมาให้สักหน่อยสิ" ประมาณนี้ ส่วนเขาจะไปทำอย่างไร เรื่องของเขาไม่เกี่ยวกับเรา เขาย่อมรู้จักเอง ว่าจะทำอย่างไร?

ผู้แสดงความคิดเห็น เว็บมาสเตอร์ วันที่ตอบ 2014-05-04 03:12:51



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล