ReadyPlanet.com


จู่ๆก็นึกขึ้นได้ สงสัยเรื่องลมครับ


ครั้งนึงผมเคยมีโอกาสทดลองนั่งสมาธิดู  ลองทำ อานาปา ครับ   ผมลองทำครั้งแรก 2-3-4 เรื่อยไป เหมือนการหายใจแปลกผิดปกติ คือเหมือน ต้องอาศัยลมมีชีวิตต่อ แต่ลมเพียงนิดเดียวก็เพียงพอที่จะหายใจ แต่ไม่หายใจก็ไม่ได้

 พอลมจะหายดันกลัวตาย เพราะผมไม่เคยเจอ  ลืมตาซะงั้น เป็นอยู่หลายครั้ง หลายวันมาก ทีนี้ผมก็ฝืนนั่งต่อไป  นึกในใจ วันนี้กูตายเป็นตาย ทีแรกเหมือนสงสัยว่าเรากลั้นหายใจเองรึปล่าว

ลองตั้งสติใหม่กลายเป็นยังมีอยู่ ทีนี้ดูต่อจนมันเบาลงเรื่อยๆ จนอาการนั้นค่อยๆหายไป ความรู้สึกเหมือนค่อยๆหาย หายไล่มาจากช่วงล่าง จนร้อนกลางอกไล่ขึ้นมา จนถึงหัว จนร้อนแต่หัว ร้อนจนทนไม่ไหวกลัวตายรีบลืมตา ซะงั้น

ทำไปเรื่อยเข้าเดือนที่2-3 อาการที่เหมือนไม่หายใจยังไม่หาย  แต่จะมาเร็วมาก เพียงเวลาไม่นานนานก็เริ่มรู้สึกได้  แต่พอดูดีๆ มันมีลมอยู่แต่แผ่วๆ แผ่วมาก ถ้าไม่ดูก็เหมือนไม่มี แต่ถ้ายิ่งดูก็ยิ่งมีลม "อาการหายใจเข้ายาว-ออกยาว" "เข้ายาวแล้วเหมือนจะกลั้น...แต่ไม่กลั้น แต่กว่าจะหายใจออกก็ใช้เวลาซักพัก

เหมือนกับว่าร่างกายไม่ยอมให้มันตายอยู่แล้ว กลายเป็นเราที่วอกแวกไปสนใจมันเอง

พอถึงจุดหนึ่ง มันจะชอบตั้งคำถามมาเองว่าถึงตรงนี้อีกแล้ว ทำยังไงดี ทีนี้ยาวเลยครับ 

อาการนี้แก้ยังไงครับ ผมห่างการภาวนา มานาน รบกวนช่วยชี้แนะผมด้วยครับ

 



ผู้ตั้งกระทู้ Ucri (impossiblez_9-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2014-06-08 02:45:11


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3004185)

ธรรมดาของการฝึกอานาปานสติ เมื่อถึงจุดหนึ่งก่อนที่จิตจะก้าวลงสู่ความสงบอันละเอียดก็มักจะปรากฏอาการเหมือนอย่างที่คุณเจอ ซึ่งแต่ละคนอาจเจอไม่เหมือนกันก็ได้ ไม่มีกฏตายตัว อยู่ที่จริตนิสัยในการฝึกของแต่ละราย

แต่เมื่อจิตจะก้าวลงสู่ความสงบนั้น จิตต้องปล่อยวางลมหายใจ คือลมจะดับในความรู้สึก (แต่จริงๆยังมีลมอันละเอียดหล่อเลี้ยงร่างกายอยู่) เมื่อลมดับ กายก็พลอยดับไปด้วย คือความรู้สึกทางกายดับหมด เหลือแต่ความรู้อันละเอียดของจิตที่เป็นสักแต่ว่ารู้อันเดียว เรียกว่า จิตรวม จะรวมลงลึกละเอียดหรือนานแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับจริตนิสัยของแต่ละคน เอาอย่างกันไม่ได้

แต่ก่อนที่จิตจะปล่อยวางลมได้นั้น แต่ละคนก็เจอเหตุการณ์ต่างๆที่ไม่เหมือนกัน แต่พอประมวลได้ว่า ลมหายใจจะค่อยๆสั้นเข้า และละเอียด หายใจเพียงแผ่วเบา จนเกือบจะไม่หายใจ แต่ก็ยังต้องหายใจอยู่ เพราะจิตยังปล่อยวางลมหายใจไม่ได้ การที่จิตจะปล่อยวางลมหายใจได้นั้น มันต้องเป็นการที่จิตมันปล่อยวางของมันเอง เราจะไปบังคับให้ปล่อยก็ไม่ได้ มันจะเหมือนกับเรากลั้นลมหายใจ ต้องจิตมันปล่อยของมันเอง

การที่จิตจะปล่อยวางลมหายใจได้นั้น เราต้องมีสติ และมีความแยบคาย คือมีปัญญาที่รู้เท่าอาการของจิตได้สมดุลย์กัน คือ สติไม่แก่เกินไป ปัญญาก็ไม่กล้าเกินไป คราวต่อไปถ้าเป็นเช่นนั้นอีก ให้ทำความแยบคายไว้ในใจว่า ลมจะปรากฏอาการเช่นไรก็ตาม เราจงกำหนดดูผู้รู้ลม อย่าไปสนใจกับลม กำหนดสติจ่อลงที่ผู้รู้ลม ส่วนลมจะเป็นเช่นไรนั้น ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน ไม่ต้องไปบังคับ ไม่ต้องไปฝืน หรือไม่ต้องไปคิดปรุงแต่งให้มันเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างโน้น และไม่ต้องกลัวตาย

จงสอนจิตว่า ถ้าผู้รู้คือจิต ยังครองร่างอยู่ตาบใด  ถึงลมจะดับไป ก็เป็นอาการของจิตที่รับรู้ลมดับไปเท่านั้น จิตไม่ได้ดับไปด้วย ผูู้รู้ยังปรากฏอยู่  ร่างกายไม่มีทางตาย  ความกลัวตายเป็นข้าศึกต่อความสงบของจิต  จงตั้งสติกำหนดดูความจริงของลม และรู้ตามที่มันเป็น อย่าให้จิตไปเป็นสองด้วยความคิดความปรุงอื่นๆ ให้มีแต่ลมอันละเอียดกับผู้รู้ลมเท่านั้น ความคิดความปรุงอย่างอื่น ให้ใช้สติบังคับดับให้หมด

ทำใจให้ปล่อยวางความคิดใดๆทั้งปวงที่จะผ่านเข้ามา ให้ทำความรู้อยู่จำเพาะลมอันเดียว เมื่อลมละเอียดเข้าไป จะหายใจแผ่วเบาและสั้น สัมผัสรับรู้กันที่กลางหน้าอก บางทีก็รับรู้ถึงการเต้นของหัวใจด้วย ประคองจิตรู้ตามที่มันเป็นพอแล้ว อย่าปรุงอย่าแต่ง ผู้รู้ลมจะค่อยๆเด่นขึ้น ให้จิตจับผู้รู้นั้นเอาไว้ ฝึกไปอย่างนี้ให้ชำนาญ แล้วจิตจะแสดงความอัศจรรย์ให้เห็นเอง

จิตจะปล่อยวางลมหรือไม่? อย่างไร? ไม่ต้องคิด ให้เป็นเรื่องของจิตจะเป็นเอง หากเราไปคิด มันจะกลายเป็นความคาดความหมาย ไม่ใช่ความจริง จิตก็จะไม่เป็นไป เรียกว่า ต้องฝึกจนปัญญามันรู้เท่าอาการของจิตทั้งหมด ด้วยความมีสติที่สมดุลย์กัน หน้าที่ของคุณมีเพียงเท่านี้  ต่อจากนั้น จิตมันจะทำงานของมันเอง

ผู้แสดงความคิดเห็น พระวิทยา กิจฺจวิชฺโช (webmaster-at-doisaengdham-dot-org)วันที่ตอบ 2014-06-13 20:23:04



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล