ReadyPlanet.com


ระหว่างครอบครัวใหม่กับพ่อแม่


 เป็นปัญหาที่กลุ้มใจอยู่มาก ณ ขณะนี้คะ 

ดิฉันแต่งงานกับสามีซึ่งภูมิลำเนาของเราอยู่ไกลกัน มีลูกชายหนึ่งคนได้เดือนกว่าๆ ดิฉันคลอดที่ภูมิลำเนาของดิฉันเองและอยู่กับพ่อแม่เป็นเวลาหนึ่งเดือน สามีเทียวมาดูแล พอครบหนึ่งเดือน ดิฉันต้องไปรายงานตัวเพื่อทำงานที่ภูมิลำเนาของสามี (ทำเรื่องย้ายไว้ตั้งแต่ก่อนคลอด เดิมทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ คะ) พอครบเดือนต้องไปรายงานตัว เลยขนย้ายของพร้อมลูกชายกลับไปบ้านของสามี เพื่อรอทำงานและขณะนี้ก็ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านสามี ปล่อยให้พ่อแม่อยู่บ้่าน กับน้องชาย (ที่ไม่เอาไหนเลย) ปัญหามันมีดังนี้คะ

พ่อกับแม่คิดถึงหลานมาก อยากให้ดิฉันและหลานอยู่กับท่าน แต่สามีและทางปู่ย่าก็ต้องการให้ไปอยู่ด้วย เพราะมันไกลกันมาก ทีแรกก็คุยกับพ่อแม่ดิฉันเข้าใจแล้วนะคะ ว่าเหตุผลความจำเป็นมันคือยังไง... พอวันที่เดินทาง พ่อกับแม่ดิฉันร้องไห้อย่างที่ใครเห็นก็ต้องร้องตาม เพราะความที่ว่าไม่อยากให้ลูกและที่สำคัญ หลาน จากไปอยู่ที่อื่น แต่ที่สุดแล้วก็ต้องปล่อยให้ไป

หลังจากที่มาอยู่บ้านสามีแล้ว ดิฉันได้คุยกับพ่อแม่ทางโทรศัพท์เรื่อยๆ ทุกครั้งที่คุยกัน แม่จะร้องไห้ และพูดเพื่อสื่อในทางที่ว่า แม่เป็นทุกข์ ไม่รู้จะหาทางออกให้ตัวเองยังไง เหมือนลูกจะไม่มีโอกาสมาเลี้ยงดูปรนนิบัติตนเองอีกแล้ว เหมือนลูกกำลังจะทิ้งพ่อแม่ แม่บอกอยากไปบวชในป่าในเขาไม่ให้ใครรู้ ตัดขาดจากโลกภายนอกไปเลย แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะภาระทางครอบครัวก็ยังมีอยู่ ที่บ้านดิฉันมีกัน 4 คนคะ มีพ่อแม่ ดิฉันแล้วก็น้องชาย 

ซึ่งดิฉันได้คุยกับพ่อแม่แล้วก่อนที่จะย้ายมาบ้านสามีว่า จะหมั่นกลับไปหาบ่อยๆ จะไปดูแลไร่นา ทรัพย์สมบัติ จะไม่ทิ้งพ่อแม่เด็ดขาด เพราะดิฉันก็คงทำได้ดีที่สุดแค่นี้ จะให้ดิฉันปล่อยลูกไว้ให้พ่อกับแม่เลี้ยง แล้วดิฉันมาทำงานใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวสามีแบบนั้น ดิฉันกับสามีก็คงอดคิดถึงลูกไม่ได้ และที่สำคัญ ลูกก็ต้องอยู่กับพ่อแม่ใช่มั๊ยคะ? 

คำถามนะคะ 

- ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองทำให้พ่อแม่ร้องไห้ เป็นทุกข์ขนาดนี้ แต่ดิฉันไม่มีทางเลือกอื่น พยายามทำดีที่สุดแล้ว จะบาปมากมั๊ยคะ  แล้วถ้ามีทางออกให้กับปัญหานี้ ทางออกนั้นคือ...? ช่วยชี้แนะทีคะ รู้สึกเป็นทุกข์มาก



ผู้ตั้งกระทู้ คุณแม่ลูกหนึ่ง (panichakorn_ssk-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2014-08-25 15:29:24


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3007638)

ปัญหาของคุณ ก็เป็นปัญหาที่ครอบครัวไทยโดยทั่วไปมักเป็นกัน คือ เมื่อลูกสาวแต่งงานก็ต้องจากครอบครัวไปอยู่กับครอบครัวของสามี ซึ่งถือเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยแต่โบราณ เป็นมาอย่างนี้ มีน้อยที่สามีจะมาอยู่กับครอบครัวของภรรยา

พ่อแม่ย่อมเสียใจเป็นธรรมดา เมื่อลูกสาวที่เลี้ยงมาแต่อ้อนแต่ออก ต้องจากร้างลาไปไกล พ่อแม่คนไหนจะทำใจได้ล่ะ ยิ่งได้เห็นหลานน้อยๆอยู่ต่อหน้าต่อตา ก็ยิ่งเป็นความอบอุ่นในครอบครัวอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จะมีพ่อแม่คนไหนที่จะไม่ร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ เมื่อลูกสาวและหลานรักต้องจากไปอยู่ในที่ไกลๆ อย่างที่จะไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นได้เจอกันบ่อยๆ

คุณเองเพิ่งคลอดลูกได้แค่เดือนเดียว คุณยังรักลูกและเป็นห่วงลูกอย่างมากมาย คิดถึงหัวอกของพ่อแม่ ที่มีคุณและเลี้ยงดูคุณซึ่งเป็นลูกสาวคนเดียวมาจนบัดนี้ กี่ปีแล้ว พ่อแม่จะรักคุณสักแค่ไหน จะไม่ให้พ่อแม่เป็นห่วงอาลัยอาวรณ์เศร้าโศกเสียใจในการที่ต้องอยู่ห่างไกลลูกสาวคนเดียว ไม่มีโอกาสได้เห็น ไม่มีโอกาสได้เลี้ยงดูทำหน้าที่ของพ่อแม่อีกแล้ว ก็คงมีแต่พ่อแม่ใจไม่ไส้ระกำเท่านั้นที่จะไม่รู้สึกอะไรเลย

แต่มันก็ไม่ใช่ความผิดของคุณ เพราะมันก็เป็นหลักธรรมชาติของโลกเป็นมาอย่างนี้ สิ่งที่คุณควรทำก็คือ พยายามปลอบประโลมเอาอกเอาใจพ่อแม่ให้มากเข้าไว้ หมั่นโทรศัพท์มาพูดคุยกับท่านทุกวัน ทำเสมือนหนึ่งว่า คุณไม่ได้อยู่ไกลจากท่านเลย ตื่นเช้าก็โทรมาสวัสดีทักทาย พูดคุยกับท่านเหมือนอยู่ไม่ไกลกัน ไปทำงาน กลับจากทำงาน กินข้าว ก็โทรมาคุยกับพ่อแม่สอบถามสารทุกข์สุกดิบ แสดงความรักและห่วงใยท่านอยู่เสมอ มีอะไรก็เล่าให้ท่านฟัง ทำให้ท่านเห็นว่า คุณยังเป็นห่วงและเอาใจใส่ท่าน คิดถึงท่านอย่างมาก ไม่แพ้ที่พ่อแม่เป็นห่วงคุณ แม้ตัวจะอยู่ห่างไกลก็ตาม ถ้ารักและคิดถึงกัน อยู่ไกลแค่ไหนก็ดูเหมือนอยู่ใกล้กันนะ ก่อนนอนก็โทรมาคุย แสดงความรักและเป็นห่วง พูดคุยอวยพร พ่อแม่หลับฝันดีนะคะ หนูรักพ่อค่ะ หนูรักแม่ค่ะ พูดจาปลอบประโลมให้ท่านสบายใจ อย่าให้ท่านมีความรู้สึกเหมือนว่า ท่านถูกทอดทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยวคนเดียว

คำพูดอะไร ที่จะปลุกปลอบให้ท่านเบาใจ ก็หาอุบายนำมาพูดกับท่าน พ่อคะ แม่คะ เป็นอย่างไรบ้างคะ หนูคิดถึงพ่อแม่มากเลยนะคะ พ่อแม่ไม่ต้องเป็นห่วงหนูนะคะ หนูสบายดีค่ะ พ่อทานข้าวหรือยังคะ แม่ทานข้าวหรือยังคะ ทานข้าวกับอะไรคะ อร่อยไหมคะ? พ่อแม่อาบน้ำหรือยังคะ อากาศเย็นไหมคะ ร้อนไหมคะ พ่อแม่ดูแลสุขภาพด้วยนะคะ อากาศเย็นอย่าลืมห่มผ้านะคะ อะไรที่จะทำให้พ่อแม่สบายใจ ก็หาอุบายพูดคุยกับท่าน นานไปท่านก็คงเบาใจ เมื่อเห็นคุณโทรมาแสดงความรักและเป็นห่วงบ่อยๆ พ่อแม่ก็ปลื้มใจ คราวนี้พ่อกับแม่ อาจจะเป็นฝ่ายปลอบใจคุณเอง เพราะกลัวลูกจะไม่เป็นอันทำการทำงาน และหมดสิ้นเปลืองค่าโทรศัพท์มากเกินความจำเป็น ธรรมดาของพ่อแม่ย่อมเป็นห่วงลูก มากกว่าเป็นห่วงตัวเองอยู่แล้ว

ส่วนน้องชายที่ไม่เอาไหนนั้น คุณก็ต้องหาอุบายพูดคุย ให้เขาเห็นพระคุณของพ่อแม่ และรู้จักตอบแทน อย่าทำให้พ่อแม่ต้องเดือดร้อนเพราะเขาอันเป็นการเพิ่มความทุกข์ให้กับพ่อแม่หนักเข้าไปอีก เขาควรช่วยทำให้พ่อแม่สบายใจ และปรนนิบัติพ่อแม่อย่างไร สอนให้เขาทำตัวเป็นลูกที่ดี รู้จักกตัญญูต่อพ่อแม่ เมื่อมีโอกาส คุณก็มาเยี่ยมพ่อแม่ มาปรนนิบัติดูแลท่านบ้างตามแต่โอกาสจะอำนวย ถ้าจำเป็น ก็ลางานมาเยี่ยมเยียนท่านบ้าง เพราะพ่อแม่จะอย่างไรก็ต้องมาก่อนสามีนะคุณ สามีก็ไม่แน่ว่า เขาจะดีกับเราไปนานแค่ไหน พ่อผัวแม่ผัวกับลูกสะใภ้ ก็มักจะเป็นไม้เบื่อไม่เมากันเสมอ ถ้าครอบครัวสามีคุณอยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่น มีความสุข ไม่กระทบกระทั่งกัน ก็นับว่าโชคดี

แต่อย่าลืมว่า พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก  และเป็นผู้มีพระคุณอันสูงสุดต่อลูก คุณควรทำทุกอย่างเพื่อตอบแทนพระคุณท่านอย่างดีที่สุด เท่าที่อยู่ในฐานะที่ลูกที่ดีจะพึงทำได้

เพื่อทำให้พ่อแม่สบายใจ จงใช้สติปัญญาทำในสิ่งที่ควร ทั้งเพื่อพ่อแม่และเพื่อครอบครัวสามี โลกมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นโลกแห่งความพลัดพรากจากกัน ไม่มีใครจะอยู่ร่วมรวมกันไปได้ตลอด พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า "พลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ ประสบกับสิ่งที่ไม่รักเป็นทุกข์ ปรารถนาแล้วไม่สมหวังก็เป็นทุกข์"

ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ ที่จะห้ามคนที่ต้องพลัดพรากจากของรักไม่่ให้ใจเป็นทุกข์ แม้คุณเอง วันหนึ่ง ก็ต้องพลัดพรากจากของรักเช่นเดียวกันกับที่พ่อแม่ของคุณกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

สิ่งที่คุณจะต้องทำ จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณเอง จงทำตัวเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่เท่าที่คุณจะสามารถทำได้ โดยที่คุณจะภูมิใจว่า "คุณได้ตอบแทนพระคุณของพ่อแม่อย่างดีที่สุดแล้ว"

เมื่อคุณทำดีที่สุดแล้ว การที่พ่อแม่จะหายทุกข์หายโศกหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับใจของพ่อแม่เอง ว่าจะมีธรรม มีความเข้าใจในความเป็นจริงของธรรมชาติแค่ไหน จงพยายามเอาธรรมะมาปลอบใจพ่อแม่บ้าง ก็ยิ่งจะเป็นการดีการชอบแท้ และเป็นวิธีการปลดเปลื้องทุกข์ได้อย่างถาวร

ผู้แสดงความคิดเห็น เว็บมาสเตอร์ (webmaster-at-doisaengdham-dot-org)วันที่ตอบ 2014-08-26 20:49:42



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล