
มาฆบูชารำลึก_๖_มีนาคม_๒๕๖๖ มาฆบูชารำลึก_๖_มีนาคม_๒๕๖๖ ในวาระที่ วันมาฆบูชามหามงคลเวียนมาบรรจบครบ ซึ่งปีนี้ตรงกับ วันจันทร์ ที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๖ เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีเถาะ เป็นปีกระต่ายทอง เป็นวันพระใหญ่ มีสวดปาติโมกข์ ปักข์ขาด นับเป็นอุโบสถที่ ๘ เป็นวันสิ้นสุดฤดูหนาว
.
ความสำคัญในวันนี้ เป็นวันประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ ที่เรียกว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต"
การประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ นี้ ได้แก่
.
๑. เป็นวันเพ็ญเดือน ๓ เดือนมาฆะ (เดือน ๔ ในปีอธิกมาส) จึงเรียกว่า วันมาฆปูรณมีบูชา ถือเป็นวันกตัญญูแห่งชาติ เป็นวันแห่งความรักอันบริสุทธิ์
.
๒. พระอรหันตสาวกเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ด้วยเพราะต่างรำลึกนึกถึงพระคุณอันประเสริฐของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยใจรัก และเคารพอันประกอบด้วยกตัญญูกตเวทิตาธรรมตักเตือน จึงพร้อมใจกันมาเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร
.
๓. พระอรหันต์เหล่านั้นล้วนเป็น เอหิ ภิกขุ อุปสัมปทา คือเป็นพุทธเวไนย ผู้ที่อันพระพุทธเจ้าเท่านั้นจักพึงบวชให้ได้ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า "เอหิ ภิกขุ" แปลว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด (ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์ให้ปรากฏโดยชอบเถิด -หากผู้นั้นยังไม่สำเร็จพระอรหันต์)
.
การที่พระพุทธองค์จะทรงประทาน "เอหิ ภิกขุ" แก่ผู้ใด ผู้นั้นจักต้องสร้างบารมีมาเต็มเปี่ยมแล้ว และเคยให้ทานผ้าจีวรในสำนักพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสประทาน “เอหิ ภิกขุ” จึงมีจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์มาสวมกายในทันที สำเร็จเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา แม้บวชใหม่ แต่มีศีลาจารวัตรอันหมดจดงดงาม มีสติสำรวมปานพระเถระมีพรรษาตั้ง ๑๐๐
.
๔. พระอรหันต์เหล่านั้นล้วนทรงอภิญญา ๖ อันเป็นคุณธรรมอันยิ่งที่สำเร็จได้ด้วยยาก ประกอบด้วย
.
๑. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ เช่น เหาะเหินเดินฟ้า ดำดินบินบนได้
๒. ทิพพโสต มีหูทิพย์
๓. เจโตปริยญาณ กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้
๔. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติได้
๕. ทิพพจักขุ มีตาทิพย์
๖. อาสวักขยญาณ รู้การทำอาสวะให้สิ้นไป
.
และมีเหตุการณ์พิเศษอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในวันนี้ ครั้งนั้นทีฆนขปริพพาชก ผู้เป็นหลานของพระสารีบุตร เที่ยวเดินตามหาพระสารีบุตรผู้เป็นลุงของตนอยู่ มาพบพระสารีบุตร กำลังถวายงานพัดอยู่เบื้องหลังพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ จึงรู้สึกไม่พอใจนัก จึงกล่าวในเชิงกระทบกระเทียบว่า “พระโคดม ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่พอใจทั้งหมด”
.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตอบโต้ด้วยคำพูดที่แทงใจดำของทีฆนขปริพพาชก จนไม่อาจหาเหตุผลมาโต้แย้งว่า “ถ้าเช่นนั้น เธอก็ควรไม่พอใจความเห็นอันนั้นของเธอเสียด้วย” พร้อมทั้งทรงแสดงธรรมอื่น ๆ อีกเป็นอเนกปริยาย พระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดอยู่ ฟังไปพิจารณาไปก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ ส่วนทีฆขปริพพาชกก็ได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุพระโสดาบัน
.
วันมาฆบูชานี้ จึงเป็นวันถือกำเนิดแห่งพระธรรมเสนาบดี ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศด้านปัญญา ผู้เป็นพลังสำคัญแห่งกองทัพธรรมในการขับเคลื่อนกงล้อแห่งธรรมจักรของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้หมุนไปในไตรโลกธาตุ
.
เมื่อพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ต่างเดินทางมาถึงพระเวฬุวันมหาวิหารในเวลาตะวันบ่าย ก็เข้าสู่ในที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาต นั่งสงบนิ่งเงียบอย่างสำรวม มิได้มีเสียงพูดคุย สนทนาปราศรัยใด ๆ เป็นสังฆโสภณา คือความงดงามพร้อมพรั่งแห่งสงฆ์
.
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าสู่ที่ประชุม และทรงประทับนั่งบนพุทธอาสน์ในท่ามกลางสงฆ์แล้ว แม้จะมีภิกษุสงฆ์ประชุมกันอยู่ถึง ๑,๒๕๐ รูป แต่ในที่ประชุมนั้น นอกจากเสียงธรรมชาติแล้ว กลับมิได้มีเสียงใด ๆ ปรากฏ ยังคงสภาพสงบเงียบ ปานประหนึ่งเป็นสถานที่ว่างเปล่าปราศจากผู้คนใด ๆ
.
นี่คือ ความมหัศจรรย์ของการที่ พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ทรงอภิญญา ๖ ล้วนเป็นเอหิ ภิกขุ อุปสัมปทา ได้มาประชุมพร้อมกันในที่เฉพาะพระพักตร์ โดยมิได้นัดหมาย ไม่มีใครอาราธนาให้มา ต่างมากันเองด้วยดวงใจรักเคารพเทิดทูนในพระผู้มีพระภาคเจ้า
.
เป็นมหาสังฆสันนิบาตอันงาม เช่นนี้ ย่อมปรากฏมีเพียงครั้งเดียว ในสมัยของพระโคดมพุทธเจ้าของพวกเรา เนื่องจากพระองค์มาอุบัติในช่วงที่มนุษย์มีอายุขัยต่ำสุด คือ ๑๐๐ ปี เพราะช่วงอายุขัยของมนุษย์ที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จมาอุบัติตรัสรู้ธรรมได้นั้น ต่ำสุด คือ ๑๐๐ ปี และสูงสุดไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ ปี ดังเช่น พระศรีอริยเมตไตรย มีอายุขัย ถึง ๘๐,๐๐๐ ปี มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ เช่นนี้มากกว่า ๑ ครั้ง
.
และในวาระดิถีที่ ๑๕ นี้ พระผู้มีพระภาคทรงกระทำวิสุทธอุโบสถ คือทรงแสดงพระปาติโมกข์ในท่ามกลางสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ ที่ล้วนเป็นพระอรหันต์ ซึ่งจะมีได้ก็เฉพาะในมหาสังฆสันนิบาตเช่นนี้เท่านั้น และทรงตรัสโอวาทปาติโมกข์ อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
.
ในวันมาฆบูชานี้ พระสงฆ์ทั่วประเทศก็จะกระทำสังฆอุโบสถ แสดงพระปาติโมกข์ เช่นเดียวกับครั้งพุทธกาล เมื่อจบแล้ว ก็จะมีการสวดท้ายปาติโมกข์ด้วยคาถาโอวาทปาติโมกข์ มีใจความดังต่อไปนี้ :-
.
ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา
นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา
นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี
สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโตฯ
.
ขันติ คือความอดทน เป็นตบะอย่างยิ่ง
พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมกล่าวพระนิพพานว่า เป็นเยี่ยม
ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต
ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ
.
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง
กุสะลัสสูปะสัมปะทา
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง
เอตัง พุทธานะสาสะนังฯ
.
การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑
การบำเพ็ญแต่ความดี ๑
การทำจิตของตนให้ผ่องใสและบริสุทธิ์ ๑
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
.
อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต
ปาติโมกเข จะ สังวะโร
มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสสะมิง
ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง
อะธิจิตเต จะ อาโยโค
เอตัง พุทธานะ สาสะนังฯ
.
การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑
ความสำรวมในปาติโมกข์ ๑
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑
ที่นั่งนอนอันสงัด ๑
ความเพียรในอธิจิต ๑
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
.
ดังนั้น ในโอกาสอันเป็นมหามงคลสมัย วันมาฆบูชา เวียนมาบรรจบครบ บรรดาพุทธศาสนิกชนทุกท่าน จงอย่าได้พลาดโอกาสอันดีงาม ต่างมีมือถือดอกไม้ธูปเทียน ของหอม และภัตตาหารหวานคาว ไปสู่อารามที่ตนเลื่อมใสศรัทธา เพื่อกระทำอามิสบูชา ทำบุญตักบาตรในยามเช้า จากนั้น ก็สมาทาน ศีล ๕, ศีล ๘ หรือ ศีลอุโบสถ ตามกำลังความสามารถของตน เป็นปฏิบัติบูชา
.
แล้วนั่งสมาธิ เดินจงกรมภาวนา เป็นปฏิบัติบูชาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ตกเย็นก็มีการเดินทำประทักษิณเวียนเทียนรอบโบสถ์ วิหาร มีทำวัตรค่ำ และสวดมนต์ ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนาน ปิดท้ายด้วยการสวดโอวาทปาติโมกข์ พระเถระผู้ทรงพรรษายุกาล ก็จักแสดงธรรม เพื่อปลุกเร้าใจให้เกิดความอาจหาญ ให้ร่าเริงในสัมมาปฏิบัติสืบไป
.
|