ReadyPlanet.com
dot

dot
dot
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
bullet สมัครสมาชิก
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
ชมคลิปวีดีโอน่าสนใจ
ยังไม่มีสมาชิกที่ล็อกอินในขณะนี้
bulletบุคคลทั่วไป 9 คน
dot
dot

dot


ฟัง F.M. 103.25 MHz.
ชมทีวีช่องหลวงตา
ฟังวิทยุออนไลน์ วัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน
ชมคลิปวีดีโอน่าสนใจ
ขอเชิญสมัครสมาชิกอุปถัมภ์สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน วัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน
เข้าชม face book วัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน
เข้าชม twitter วัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน


วิถีแห่งจิตในภาคปฎิบัติธรรม ตอน ๒

 

ที่จริงการรักษาศีล ๕ ก็ไม่ใช่ของยากนะ แต่ก็ไม่ใช่ของง่าย จะว่ายากหรือง่าย มันขึ้นอยู่กับความปฏิบัติของแต่ละคนว่า จะเอาจริงแค่ไหน ทุ่มเทความเพียรได้แค่ไหน เพราะชั้นศีลนี้เป็นเพียงสติปัญญาขั้นหยาบที่คอยควบคุมใจไม่ให้คิดชั่วทำบาปหนักออกมาทางกาย ทางวาจา อันเป็นเหตุให้ใจไปสู่อบายได้เท่านั้น ยังไม่ใช่สติปัญญาขั้นละเอียดที่จะสามารถดับทุกข์ได้
.
ต้องทำความเข้าใจกับตัวเองก่อนว่า การรักษาศีลคือ การรักษาใจของตนให้พ้นจากการคิดที่จะทำบาปหนักด้วยกาย ด้วยวาจา ถ้าใครเข้าใจได้ดังนี้ การรักษาศีลก็จะง่ายขึ้น เพราะรักษาศีลด้วยปัญญาเห็นคุณของศีล มิใช่รักษาศีลด้วยเพียงเป็นพิธีกรรม หรือทำตาม ๆ กันมาอย่างนั้นเอง
.
เพราะเหตุนั้น การปฏิบัติธรรมจึงจำเป็นต้องเริ่มต้นจากการรักษาศีลก่อน คือต้องทำใจให้พ้นจากการทำบาปหนักทางกาย ทางวาจา คนที่ไม่มีเจตนารักษาศีลก็เท่ากับยังพอใจเปิดช่องทางให้ใจตัวเองคิดทำบาปทางกาย ทางวาจาได้อยู่
.
หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า เพียงมีเจตนารักษาศีลไม่คิดล่วงเกินศีล ไม่คิดเบียดเบียนใคร ไม่คิดทำร้ายใคร ก็ถือว่า มีศีลบริสุทธิ์แล้ว บางคนคิดไปไกลจนถึงขั้นว่า ได้บรรลุพระโสดาบันอย่างง่าย ๆ แล้วด้วยซ้ำไป เพราะได้ยินมาว่า พระโสดาบันเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ เลยเหมาเอาเองว่า ตัวเองก็มีศีลบริสุทธิ์แล้ว ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่อย่างนั้น
.
เบื้องต้นต้องมีเจตนารักษาศีลก่อน ถือเป็นก้าวแรกของการปฏิบัติธรรม ต้องเข้าใจด้วยว่า ศีลบริสุทธิ์มี ๒ อย่าง คือศีลบริสุทธิ์ด้วยการตั้งเจตนารักษา เป็นศีลของปุถุชน กับศีลบริสุทธิ์เพราะดับเจตนาที่จะล่วงเกินศีลได้โดยหลักธรรมชาติของจิตเป็นเอง ประเภทหลังนี้จึงเป็นศีลของพระอริยบุคคล นับตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้นไปคือ ต้องดับสังโยชน์ ๓ ได้ด้วย จึงเป็นศีลบริสุทธิ์โดยไม่ต้องรักษาศีลอีกตลอดกาลนาน
.
ถ้าเข้าใจได้ดังนี้ การปฏิบัติธรรมก็จะง่ายยิ่งขึ้น เพราะเห็นคุณของศีลด้วยปัญญาเห็นชอบว่า การรักษาศีลคือการปัดกวาดใจของตนเองให้สะอาด ไม่ยอมให้ใจสั่งสมบาปด้วยการปล่อยให้ใจคิดชั่ว ไม่ยอมให้กายทำชั่ว ไม่ยอมให้วาจาพูดชั่ว เห็นชัดด้วยปัญญาว่า ไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะปล่อยให้ใจตัวเองสกปรกเศร้าหมองด้วยการล่วงเกินศีล
.
ถ้าวางใจได้ถูกต้องอย่างนี้เป็นพื้นฐานแล้ว จากนั้นจึงเป็นภาคปฎิบัติของจริง คือต้องมีสติคอยระมัดระวังควบคุมใจของตนเอง ไม่ให้ใจคิดที่จะทำชั่ว หรือพูดชั่วออกมาทางกาย ทางวาจา ถ้าใจคิดชั่วเมื่อไหร่ก็ต้องตั้งสติคอยกวาดล้างระงับยับยั้งฝืนกันทันทีไม่ยอมปล่อยใจให้ไหลไปตามกระแสกิเลส
.
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาเจอเหตุการณ์ยั่วยุที่จะทำให้ล่วงเกินศีลได้ ต้องปลุกปลอบใจให้เข้มแข็ง จะเป็นจะตายก็จะไม่ขอล่วงเกินศีลให้ใจเป็นบาปอย่างเด็ดขาด เวลาความโลภเกิด ความโกรธเกิด ความหลงเกิด ต้องฝึกฝืนอดทนบังคับใจตนเองอย่างแน่วแน่ว่า จะไม่ยอมคิดผิดศีล จะไม่ยอมทำผิดศีล จะไม่ยอมพูดผิดศีล แม้จะต้องทุกข์ทรมานลำบากแค่ไหนก็จะยอมสู้ยอมอดยอมทน
.
ตอนแรกใจจะยังไม่สงบนิ่ง มันอาจพลุ่งพล่านดาลเดือดทุกข์ทรมานอัดอั้นตันใจด้วยอำนาจแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลงผลักดันออกมา อยากระบายโลภะ อยากระบายโทสะ ก็ต้องตั้งสติพยายามอดทนข่มกลั้นบังคับไว้ให้มันอยู่แต่ในใจ ไม่ให้มีกิริยาแสดงออกมาทางกาย ทางวาจา
.
ต้องฝึกบังคับกันอยู่อย่างนี้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกเหตุการณ์ที่ได้เผชิญ สอนใจตนเองไว้เสมอว่า เราจะไม่ยอมให้ใจเราสั่งสมบาปด้วยการคิดไม่ดี ทำไม่ดี พูดไม่ดี จะไม่คิดทำร้ายคนอื่น จะไม่คิดเบียดเบียนคนอื่น เพราะการทำชั่ว พูดชั่ว มันออกมาจากใจที่คิดชั่วนั่นเอง
.
เบื้องต้นอาจจะยังบังคับใจไม่ได้ แต่ก็ฝึกไปอย่าท้อถอย ถึงแม้ใจยังไม่สงบนิ่ง แต่ถ้าทางกาย ทางวาจาเราสงบนิ่งได้ ก็เรียกว่า มีสติข่มกลั้นได้ในระดับหนึ่ง ก็ยังถือว่าดี
.
ถ้าลำพังใจคิดหงุดหงิดงุ่นง่านอัดอั้นตันใจด้วยโมโหอยากจะทำร้ายเขาอยู่ แต่ไม่ถึงกับแสดงกิริยาออกมาทางภายนอกอย่างนี้เรียกว่า ศีลด่าง เพราะสติยังอ่อนอยู่ก็จำต้องยอม ค่อย ๆ พยายามฝึกฝนอดทนอดกลั้นไป จะให้ศีลบริสุทธิ์ทันทีมันก็ยังเป็นไปไม่ได้ ต้องมีการต่อสู้กับกิเลส จึงเรียกว่าปฏิบัติธรรม
.
ถ้าโกรธแค้นหงุดหงิดรำคาญใจแล้วแสดงกิริยาออกมาทางกาย ทางวาจา ทำร้ายให้เขาเจ็บช้ำลำบากไปบ้าง แต่ไม่เอาถึงตายก็เรียกว่า ศีลพร้อย
.
ถ้ามีเจตนาจะทำร้ายเขากะเอาให้ตาย แต่เขาชะตายังไม่ถึงฆาตจึงไม่ตาย นี่ เรียกว่า ศีลทะลุ ถ้ามีเจตนาทำร้ายเขาให้ตาย และเขาตายไปสมดังเจตนา อย่างนี้ เรียกว่า ศีลขาดบริบูรณ์
.
ถ้ารักษาศีลให้บริสุทธิ์คือ ต้องไม่มีศีลด่าง ศีลพร้อย ศีลทะลุ ศีลขาด ใจต้องสงบนิ่งเป็นกลางวางเฉย ไม่มีความยินดียินร้ายไปกับอารมณ์ใด ๆ ที่มาสัมผัสรับทราบ อย่างนี้ เรียกว่า ศีลบริสุทธิ์
.
จะเห็นได้ว่า การที่จะทำให้ศีลขาดก็ไม่ใช่ของง่าย มันต้องผ่านศีลด่าง ศีลพร้อย ศีลทะลุ มาก่อนจากนั้นมันจึงศีลขาด แต่จะทำให้ศีลบริสุทธิ์ก็ไม่ง่ายเหมือนกัน เพราะต้องไม่ทำให้ศีลด่าง ศีลพร้อย ศีลทะลุ ศีลขาด
.
ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องผ่านการฝึกสติปัญญาเคี่ยวจนสามารถรักษาใจให้เป็นกลางหนักแน่นมั่นคงอยู่ได้เป็นปกติโดยไม่วิปริตแปรปรวนไปตามอารมณ์ จนกระทั่งจิตมันตัดสินของมันเองคือ เกิดสติปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ดับเจตนาที่จะล่วงเกินศีลได้อย่างเด็ดขาด
.
เพราะใจมาเห็นคุณของการรักษาศีลว่า ทำให้ใจเกิดความสงบร่มเย็น มาเห็นโทษของการทำผิดศีลว่า ทำให้ใจดิ้นรนเร่าร้อนอยู่ไม่เป็นสุข สติปัญญาหยั่งลงเห็นแจ้งชัดว่า ร่างกายกับใจนี้เป็นคนละส่วนกัน ถึงแม้ใจมาอาศัยกายอยู่ด้วยกัน ก็ไม่คละเคล้าปะปนกัน ไม่เป็นอันเดียวกัน
.
ใจรู้ชัดว่า กายนี้ไม่นานก็ต้องแตกสลายอย่างที่เรียกว่า ตาย ครั้นตายแล้วก็ถูกเผาเป็นขี้เถ้าไม่เหลืออะไรไว้ให้ใจถือเอาประโยชน์ได้เลย ควรหรือที่ใจจะสั่งสมบาปเพียงเพราะอยากได้ทรัพย์มาปรนเปรอร่างกายอันนี้ ให้มันแก่ เจ็บ ตายไปเปล่า ๆ จะเลี้ยงดูมันดีแค่ไหน มันก็หนีไม่พ้นต้องแก่ เจ็บ ตาย แล้วใจจะสั่งสมบาปเพื่อร่างกายอันนี้ไปทำไม ควรให้ใจสั่งสมบุญให้มากเข้าไว้จึงจะเป็นการดีการชอบแท้
.
เพราะใจดวงนี้ไม่มีวันตาย การทำให้ใจสั่งสมบาปด้วยการคิดชั่ว ทำชั่ว พูดชั่ว ผิดศีลธรรม เพียงเพราะต้องการจะเลี้ยงดูร่างกายให้เป็นสุข ดูเหมือนจะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนไม่คุ้มเหนื่อย พอกายแตกสลายอย่างที่เรียกว่า ตาย ทรัพย์ที่หาได้มาด้วยการทำบาป ก็ต้องละทิ้งไปทั้งหมด ตัวเองคือใจก็ไม่ได้ประโยชน์อันใดจากทรัพย์เหล่านั้น
.
เมื่อสติปัญญาหยั่งลงเห็นความจริงทั้งของกายและใจเช่นนี้แล้ว ใจก็ไม่มีความคิดที่จะทำบาปด้วยกาย ด้วยวาจาอีกเลยตลอดกาลนาน นั่นแล ที่เรียกว่า ศีลบริสุทธิ์โดยหลักธรรมชาติ ผู้เช่นนั้นย่อมไม่จำเป็นต้องรักษาศีลอีกเลยตลอดชีวิต
.