ReadyPlanet.com


เนกขัมมวิตก


ในมรรคมีองค์8 ในส่วนสัมมาสังกัปปะ ซึ่งมี3ข้อ 1. เนกขัมมวิตก 2. อพยาบาทวิตก 3. อวิหิงสาวิตก 

 

โยมสงสัยว่าในส่วนของเนกขัมมวิตก 4 ข้อ ดังนี้

 

1. จะต้องออกบวชเท่านั้นหรือปล่าวคะ คนไม่บวชไม่สามารถบรรลุมรรค8ได้เหรอคะ

 

2. แล้วละโลภะ ละราคะ ขอบเขตมันอยู่ตรงไหนคะ ละความอยากทุกอย่างเลยเหรอคะ หรือละเฉพาะความอยากที่ไม่ดี หรือความอยากได้ละโมบความโลภในของคนอื่นที่ผิดหรือที่ไม่ถูกต้องคะ

 

3. เคยได้ยินว่า ในขณะอภัยทานเป็นขณะที่มีมรรคครบองค์8 แล้วแบบนี้ถ้ายังไม่ดำริออกบวชก็มีโอกาสปฏิบัติธรรมและบรรลุมรรคมีองค์8ได้หรือปล่าวคะ

 

4.สำหรับคนที่ไม่บวชจะปฏิบัติอย่างไรกับข้อ เนกขัมมวิตกคะ

 

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงล่วงหน้าคะ

 

จิราภรณ์ พงษ์ศิริ

 



ผู้ตั้งกระทู้ จิราภรณ์ พงษ์ศิริ (crytala-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2021-06-21 17:27:51


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (4271035)

๑. ทางกายจะบวช หรือไม่บวช ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยของแต่ละคนที่ทำมาไม่เหมือนกัน ที่สำคัญคือ ใจต้องดำริที่จะออกจากกาม คือ พิจารณาเห็นโทษของกาม พยายามฝึกใจที่จะไม่ยินดียินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส และธรรมารมณ์ ที่มาสัมผัสใจ ซึ่งคนที่ไม่บวชย่อมมีภารกิจเกี่ยวข้องอยู่กับอารมณ์เหล่านี้ จึงยากที่จะตัดใจได้ ส่วนผู้ที่บวชก็อาจอยู่ห่างไกลจากอารมณ์เหล่านี้ ย่อมมีโอกาสที่จะฝึกใจได้ง่ายกว่า ส่วนการบรรลุมรรค ผล ใด ๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการบวชหรือไม่บวช แต่ขึ้นอยู่กับบารมี ๑๐ ทัศ บำเพ็ญมามากพอหรือยัง?

๒. การละความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็ละได้ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา สำหรับขั้นต้นไม่ว่าจะโลภ โกรธ หลงขนาดไหน ก็อย่าทำผิดศีล ถือว่า อยู่ในมัชฌิมาปฏิปทา คือ พอดี เบื้องต้นต้องเอาศีลเป็นขอบเขต จากนั้นเข้าสู่ขั้นกลางก็เอาสมาธิเป็นขอบเขต ข่มกลั้นใจไว้ จะโลภ โกรธ หลง แค่ไหน ก็อย่าให้จิตฟุ้งซ่านวุ่นวายไปกับมันทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในสมาธิให้ได้ ให้มีสติระงับความโลภ โกรธ หลงไว้ได้ ก็ถือว่า พอดีในระดับกลาง ส่วนในขั้นสูง ก็ทำลายความโลภ โกรธ หลง ด้วยอำนาจของปัญญาพิจารณาเห็นแจ้งตามความเป็นจริง สามารถดับความโลภ โกรธ หลง ได้ ไม่ปล่อยใจให้หลงไปตามมัน คือ ไม่ปล่อยให้ระบาดออกมาเป็นความคิด เป็นการกระทำ เป็นคำพูด ที่เป็นไปตามอำนาจของโลภ โกรธ หลง ครอบงำ พยายามฝึกให้ได้ตามขั้นของจิตของตัวเองจะพึงทำได้

๓. มรรคทั้ง ๘ นั้น ต้องฝึกให้ได้ในแต่ละมรรค ไล่ไปตั้งแต่สัมมาทิฎฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ที่ย่อลงเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าฝึกได้ใจก็จะเป็นอภัยทานได้เอง เช่น ศีล ถ้าไม่มีอภัยทาน ก็รักษาศีลไม่ได้

๔. ไปอ่านคำตอบข้อ ๑ ถึง ๓

ผู้แสดงความคิดเห็น พระวิทยา กิจฺจวิชฺโช วันที่ตอบ 2021-06-23 01:38:05


ความคิดเห็นที่ 2 (4271043)

 ขอบคุณคะ

ผู้แสดงความคิดเห็น จิราภรณ์ พงษ์ศิริ (crytala-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2021-06-23 02:14:24



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล