ReadyPlanet.com


การดำริออกจากกามคุณ 5


โยมถามต่ออีกนิดคะ การดำริที่จะออกจากกามคุณ 5 รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส

ในกรณีที่เป็นรูป สมมุติว่าถ้าโยมเห็นว่าเสื้อผ้านี้สวยดี และเห็นแล้วอยากได้และถูกศีลไม่เบียดเบียนใครมีเงินพอที่จะซื้อได้เงินได้มาอย่างถูกต้องทำนองรองธรรม ในกรณี

1. ถ้าโยมซื้อมา แบบนี้ โยมยังติดในรูป 

2. ถ้ายังไม่ซื้อแต่แค่ชอบ แบบนี้ โยมยังติดในรูป

ทั้ง2กรณีหมายถึงโยมยังออกจากกามคุณ รูปไม่ได้ใช่ไหมคะ แล้วที่ถูกต้องเราไม่ควรที่จะอยากได้อะไรเลยที่ดูแล้วสวยน่ารักใช่ไหมคะ  

หรือว่าถ้าดูแล้วชอบหรือไม่ชอบยังไม่เป็นไร แต่ถ้าชอบแล้วติดข้องไม่ได้ ในคำว่าติดข้องขอบเขตมันอยู่ตรงไหนคะ

 

กราบขอบพระคุณล่วงหน้าอย่างสูงคะ

 

จิราภรณ์ พงษ์ศิริ

 



ผู้ตั้งกระทู้ จิราภรณ์ พงษ์ศิริ (crytala-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2021-06-23 02:51:59


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (4272124)

ความอยากได้ในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนิ่มนวล ก็เป็นธรรมดาของปุถุชนที่ยังมีความติดข้องอยู่ ผู้ที่จะไม่ติดไม่ข้องในกามคุณทั้ง ๕ นี้เลย คือใจไม่มีความยินดียินร้าย ปล่อยวางตัดขาดจากกามคุณ ๕ ได้เด็ดขาด ต้องเป็นระดับพระอนาคามีขึ้นไป ส่วนพระโสดาบัน กับพระสกทาคามี ก็ยังยินดียินร้ายในกามคุณ ๕ อยู่ เพียงแต่ ท่านยินดีอยู่ในกรอบของศีล ๕ อยู่ในกรอบของสมาธิ และปัญญา คือ ไม่ยินดียินร้ายจนถึงกับทำให้จิตฟุ้งซ่านวุ่นวายใจ และทำให้ใจเกิดความคิดที่จะสั่งสมกิเลสให้หนาขึ้น คือไม่คิดที่จะให้ได้มาด้วยความไม่ชอบธรรม

การจะได้มาซึ่งกามคุณ ๕ นั้น เบื้องต้นต้องไม่ผิดศีล ถ้าละเอียดกว่าศีล ก็คือต้องไม่ผิดธรรม คือมีเหตุผล มีความจำเป็น มีความเหมาะความควรในการที่จะได้มาสมควรแก่ฐานะของตน มิใช่เพียงแค่อยากได้อยากสวยก็ไปหามาแม้ไม่ผิดศีล แต่ก็ผิดธรรม คือ ถือเป็นความโลภระดับกลาง ไม่สันโดษยินดีในของที่ตนมีตามควรแก่ฐานะ ไม่มักน้อยคือ แม้มีมากธรรมท่านสอนให้พอใจเอาแต่น้อย เพื่อให้รู้จักเฉลี่ยเจือจานแบ่งปันแก่ผู้ที่ยังไม่ได้ไม่มีบ้าง เรื่องธรรมจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดกว่าศีล ผู้ปฏิบัติต้องพิจารณาเพื่อแก้กิเลสในใจตนเอง จะแก้ได้มากได้น้อยก็อยู่ที่สติปัญญาและความเพียรว่า มีความหนักแน่นเพียงใด มันทำยากสำหรับฆราวาส

อย่างเช่น เราเห็นอาหารอร่อย รู้สึกอยากกินมาก ๆ เราจะไปซื้อมากินก็ได้ หรือเราเลือกที่จะไม่กิน แล้วไปกินอาหารที่ไม่อร่อยเพื่อตัดกิเลสความโลภความติดพันในรสอาหารนั้น ก็ย่อมได้ ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นในการปฏิบัติของแต่ละคนว่า จะมีกำลังมากหรือน้อยเพียงไหน นั่นแหละ คือการดำริออกจากกาม

สำหรับพระที่ท่านปฏิบัติเพื่อมุ่งหวังความหลุดพ้น ท่านจะไม่ยอมตามใจกิเลส ถ้ามีความอยากอันใดเกิดขึ้นในจิต ท่านก็จะฝืนความอยากนั้นทันที เช่น บังคับให้อดนอน อดอาหาร ให้กินแต่น้อย ให้กินของที่ไม่ชอบ เพื่อทำลายความอยากให้เบาลง จนมันหมดไป อยากกินไม่ให้กิน อยากนั่งไม่ให้นั่ง อยากนอนไม่ให้นอน อยากเดินไม่ให้เดิน ท่านต้องอยู่ในประโยคพยายามที่จะฝืนกิเลสไปตลอด จึงเรียกว่า ดำริออกจากกามด้วยหวังพ้นทุกข์ สำหรับผู้ปฏิบัติทั่วไป ก็แล้วแต่จะทำแบบไหนก็ได้ ใครจะทำได้แค่ไหนไม่มีใครบังคับ ถ้าใครอยากได้ดี ทุกคนต้องบังคับตัวเองด้วยความสมัครใจ

ผู้แสดงความคิดเห็น พระวิทยา กิจฺจวิชฺโช วันที่ตอบ 2021-06-25 00:41:31


ความคิดเห็นที่ 2 (4272166)

 ขอบพระเป็นอย่างสูงคะ 

 

จิราภรณ์ พงษ์ศิริ

ผู้แสดงความคิดเห็น จิราภรณ์ พงษ์ศิริ (crytala-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2021-06-25 02:44:11



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล