ReadyPlanet.com


ควรภาวนาอย่างไร เมื่อมีอาการปวดเมื่อยในขณะนั่งสมาธิ


สวัสดีค่ะ ขออนุญาตเรียนถามค่ะ อาจจะยาวสักหน่อยนะคะ
ขณะนั่งสมาธิ จะเปิดเสียงพ่อแม่ครูบาอาจารย์เทศน์ไปด้วย เพราะรู้สึกว่าจิตไม่ฟุ้งซ่านมากเท่าตอนที่นั่งโดยไม่มีเสียงพ่อแม่ครูบาอาจารย์ และเป็นการตั้งเวลาการนั่งไปในตัว โดยตั้งสัจจะไว้ว่าหากเสียงเทปที่เปิดยังไม่จบลงจะไม่ลุกจากที่นั่ง โดยขณะนั่งก็กำหนดลมหายใจพุทโธไปด้วยค่ะ ทีนี้พอนั่งไปสักพักรู้สึกเหมือนมือมันใหญ่ขึ้น พองๆ สักพักหนึ่ง เกิดอาการขาชาเหมือนเหน็บชาด้านขา และปวดขาที่ด้านซ้ายมากจนเหงื่ออกสั่นไปหมด แต่ด้วยความที่ตั้งสัจจะไว้แล้ว ก็ไม่ขยับตัวค่ะนั่งภาวนาพุทโธต่อไป รู้ว่าหายใจเข้าปลายจมูกถึงท้องอยู่แต่ก็ยังรู้สึกถึงความเจ็บปวดร่างกายอยู่ ไม่ได้แยกออกจากกันชัดเจนยังอยู่เป็นอันเดียวกันอยู่ (ขอโทษนะคะอธิบายไม่ถูกจริงๆค่ะ) จนสุดท้ายมันปวดมาก พุทโธ ไม่อยู่ค่ะ ก็เลยปล่อย ไม่บังคับกำหนดพุทโธแล้ว หายใจเข้าออกเฉยๆ แล้วมันก็มีความคิดแวบขึ้นมาว่า "นี่ไงเวทนา  นี่ไงสัพเพ สังขาราอนิจจา สัพเพ ธัมมา อนัตตา" ถึงตอนนี้จิตมันไม่อยู่ที่ลมหายใจเลยค่ะ มันคิดอยู่อย่างนี้วนไปวนมา แต่ไม่รู้สึกอึดอัดใจนะคะ มันรู้สึกเหมือนดีใจ ทั้งๆที่ร่างกายเจ็บมากๆแล้วก็ยังรับรู้อยู่ เป็นอย่างนี้จนกระทั่งเทปเสียงพ่อแม่ครูบาอาจารย์จบเลยค่ะ (เสียงธรรมประมาณ 40 นาทีค่ะ)

อยากเรียนถามว่า หากเกิดอาการแบบนี้ขึ้นอีก ควรจะทำอย่างไรดีค่ะ ควรปล่อยจิตไปก่อน หรือพิจารณาที่อาการทางร่างกาย หรือควรบังคับมาอยู่ที่พุทโธดีค่ะ รบกวนขอคำแนะนำด้วยค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ tonenam (design-dot-panita-at-gmail-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก :: วันที่ลงประกาศ 2021-07-27 10:08:12


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (4292365)

เวลานั่งนาน ๆ ย่อมปรากฏเวทนาคือ ความปวดเมื่อย เหน็บชา ปวด ร้อน แสบ ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่ถูกกดทับนาน ๆ ถือเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อทุกข์เกิดจะใช้คำบริกรรมพุทโธ ๆๆ ไปเรื่อย ๆ ก่อนก็ได้ เพื่อไม่ให้จิตคิดฟุ้งซ่าน แต่เมื่อทุกข์เกิดถึงระดับหนึ่งที่ทำให้ใจคิดฟุ้งซ่านไปกับความเจ็บปวด จะไม่สามารถบังคับใจให้อยู่กับพุทโธได้ หรือบังคับให้อยู่กับลมหายใจ ถ้ากำลังสติไม่มากพอ ก็จำต้องใช้ปัญญาพิจารณาระหว่าง ทุกข์กายกับทุกข์ใจ ให้แยกออกจากกัน ให้ใจเห็นว่า มันเป็นคนละอย่างกัน

ทุกข์กายมันเป็นธรรมดาธรรมชาติของกาย ย่อมปรากฏตามเหตุปัจจัยของมัน หนังเนื้อมันถูกน้ำหนักตัวกดทับ มันก็ต้องแสดงอาการแปรปรวนให้จิตรู้สึกได้ ส่วนทุกข์ใจนั้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะอำนาจของความอยาก เช่น อยากให้ไม่มีทุกข์ อยากให้สุขสบาย อยากให้ไม่เจ็บไม่ปวด หรืออยากให้ทุกข์มันหายไป ล้วนเป็นความอยากที่ทำให้ใจเป็นทุกข์ฟุ้งซ่านวุ่นวายได้ทั้งนั้น

เพราะถ้าเรายังนั่งนาน ๆ ทุกข์มันจะไม่หายไปเพราะความอยากของใจ ยิ่งอยากให้ทุกข์หาย ก็ยิ่งจะทุกข์ใจหนักเข้าไปอีก แต่ทุกข์มันจะหายตามเหตุปัจจัยของมันเอง เช่น เราเลิกนั่ง หรือ เราสามารถแยกจิตออกจากทุกข์ได้ ทุกข์เป็นอันหนึ่ง จิตคือผู้รู้ทุกข์เป็นอีกอันหนึ่ง ไม่ใช่อันเดียวกัน หรือจิตสามารถดับความคิดความปรุงที่เกิดขึ้นเพราะความอยาก ก็ทำให้ทุกข์ใจมันดับไปได้ แม้ร่างกายเป็นทุกข์ แต่ใจไม่ทุกข์ หรือจิตดับสัญญาความจำที่ไปหมายเอาว่า กายเป็นทุกข์ ใจเป็นทุกข์ ทุกข์เป็นเรา เราเป็นทุกข์ เหล่านี้ ล้วนเป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้ทุกข์ใจดับไปได้ ส่วนทุกข์กายจะดับหรือไม่ดับ ต้องปล่อยให้เป็นของเป็นเอง เราเอาความอยากไปบังคับให้ทุกข์กายเป็นอย่างที่ใจต้องการไม่ได้

ผู้ภาวนาจึงต้องอาศัยความเพียรพิจารณาทุกข์ คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นที่กายและใจ พิจารณาความจริงของกาย พิจารณาสัญญา สังขาร ที่เป็นความปรุงแต่งของใจ จนถึงพิจารณาใจที่เป็นผู้รู้ทุกอย่าง ให้เห็นความจริงของกาย ความจริงของใจ ดับสังขารความปรุงแต่งของใจได้ ดับความอยากของใจที่อยากให้ไม่มีทุกข์ อยากให้มีสุขสบาย ต้องทำให้ใจเป็นกลางวางเฉย ไม่ยินดียินร้ายในความรู้สึกทางกายที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นสุขหรือทุกข์ ทำใจให้รู้ว่า เป็นเพียงรับทราบความรู้สึกตามความเป็นจริง แล้วปล่อยวางไว้ ไม่ไปยึดถือว่า กายเป็นทุกข์ ใจเป็นทุกข์ หรือทุกข์มาทำให้ใจเราเป็นทุกข์ ถ้ามีสติปัญญาพิจารณาเห็นจริงได้ตามนี้ จิตกับทุกข์ ก็จะแยกจากกันให้เห็นเอง จิตเป็นผู้รู้สักแต่ว่ารู้ ทุกข์ก็เป็นสักแต่ว่าความรู้สึกอันหนึ่งที่กำลังปรากฏอยู่ ต่างอันต่างปรากฏตามเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ ไม่ก้าวก่ายกันเลย

ส่วนการจะบริกรรม สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ สังขารา ทุกขา สัพเพธัมมา อนัตตา ก็ถือเป็นคำบริกรรมที่เป็นวิปัสสนาญาณไปในตัว ถ้าทำให้จิตสงบได้ ก็ทำต่อไป จะใช้สติปัญญาพิจารณาแยกทุกข์ แยกกาย แยกใจ ออกจากกันให้เห็นตามความเป็นจริง หรือจะบริกรรมให้จิตสงบสบาย ก็เลือกทำได้ตามความเหมาะสมของตัวเองในขณะภาวนา ทำอย่างไหนแล้วภาวนาต่อไปได้ ก็ทำไปเถอะ ไม่ผิดทั้งสอง ต่างกันแค่ อันหนึ่งทำให้จิตสงบสบาย อีกอันหนึ่งทำให้เกิดสติปัญญา รู้เท่าและปล่อยวางทุกข์ได้ แต่อันหลังนี้จะยากหน่อย ต้องฝึกสติปัญญาให้แก่กล้า ฝึกความอดทน ต้องขยัน และทำบ่อย ๆ กล้าสู้ทุกข์ ไม่กลัวตาย จึงจะเห็นผล และทำได้สำเร็จ

ตั้งใจภาวนาไปไม่ท้อถอย ก็จะประสบผลสำเร็จเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ได้เอง อย่ามัวเอาแต่นอนจนเสื่อขาด หมอนแตก ที่นอนแตกก็แล้วกัน

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พระวิทยา กิจฺจวิชฺโช วันที่ตอบ 2021-07-29 01:06:39


ความคิดเห็นที่ 2 (4292496)

ขอบพระคุณค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น tonenam (design-dot-panita-at-gmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2021-07-29 08:57:14



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล