ReadyPlanet.com


ถามพระวินัยเรื่อง หมวกไหมพรม, เสื้อไหมพรม, ปัตตาเลี่ยน, รองเท้าแตะแบบสวม พระสามารถใช้ได้หรือไม่ ?


 กราบนมัสการพระอาจารย์วิทยาครับ :

ผมได้ติดตามคำสอนของพระอาจารย์มาเป็นเวลานานแล้ว ทั้งผ่านทาง Facebook และหน้าเพจนี้. ผมตั้งใจว่าจะบวชประมาณปีหน้า 2566, ช่วงระหว่างเตรียมตัวนี้ ก็ฝึกภาวนาโดยเดินจงกรมเป็นหลัก และนั่งสมาธิอานาปานสติทุกวัน นอกจากนี้ยังศึกษาเรื่องภาษาบาลีและพระวินัยไปด้วยพร้อมๆกันด้วย. 

ผมมีข้อสงสัยเรื่องพระวินัยบางประการ พยายามหาคำตอบโดย search หาข้อมูลทั่วไปในเน็ตแล้ว ยังไม่ปรากฏชัด. ผมเคยอ่านการตอบปัญหาของพระอาจารย์แล้ว พบว่า พระอาจารย์ตอบปัญหาได้ง่ายและตรงไปตรงมามาก คลายข้อสงสัยที่เคยสงสัยได้หมดจดดีมากครับ. เช่นเรื่อง เมณฑกานุญาต เรื่องเกี่ยวกับพุทธานุญาตอนุโลมเรื่องปัจจัย, เรื่อง เงินฝาก ในบัญชีก่อนมาบวช, เรื่องการใช้ app ธนาคาร เป็นกัปปิยการก เป็นต้น. พระอาจารย์อธิบายได้อย่างเข้าใจง่ายและไม่คลาดเคลื่อนจากพระธรรมวินัยเลย (ผมไปศึกษาดูแล้ว). ผมมีข้อสงสัยที่จะถามพระอาจารย์ดังนี้

1. พระวินัยเรื่อง หมวก และ เสื้อ. ตามพระวินัยปิฎก เล่ม 5 มหาวรรค ข้อที่ 168 พระพุทธเจ้าทรงห้ามสวมเสื้อ, หมวก, ผ้าโพก ; ถ้าสวม เป็นอาบัติทุกกฏ. ในเรื่องนี้ ผมเห็นพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงตามหาบัว ท่านสวมหมวกไหมพรม (ตอนฤดูหนาว)อยู่เป็นบางครั้ง แต่เสื้อไหมพรมยังไม่แน่ใจว่าท่านสวมหรือไม่ ? แต่พ่อแม่ครูอาจารย์รูปอื่น ผมเห็นใส่อยู่เป็นบางครั้งในฤดูหนาวเช่นกัน.

ข้อนี้ผมไปศึกษาดูจากบาลี ความว่า "น กญฺจุกํ ธาเรตพฺพํ น ติรีฏกํ ธาเรตพฺพํ น เวฐนํ ธาเรตพฺพํ"

คำว่า กญฺจุกํ (กญฺจุก) ดูคำแปลจาก พจนานุกรมสมาคมบาลีปกรณ์ อ.รีสท์ เดวิส แปลว่า เสื้อกั๊ก, เสื้อเกราะ, เสื้อรัดร่าง 

คำว่า ติรีฏกํ แปลว่า เปลือกไม้, ผ้าที่ทำด้วยเปลือกไม้   ***แต่ พระไตรปิฎก กลับแปลว่า หมวก

คำว่า เวฐนํ แปลว่า ผ้าโพกหัว

ความเข้าใจของผมก็คือ ถ้าหากพระสวมหมวกไหมพรม หรือเสื้อไหมพรม เพื่อป้องกันหนาวเพราะเหตุอาพาธ หรือยังไม่อาพาธ แต่ใส่เพื่อป้องกันไม่ให้อาพาธ สามารถทำได้ ไม่อาบัติ, ผมเข้าใจอย่างนี้ถูกต้องไหมครับ ? 

2. พระวินัยเรื่อง ปัตตาเลี่ยน ตัดผม. ในพระวินัยปิฎก เล่ม 7 จุลวรรค 2 ข้อที่ 152 พระพุทธเจ้าทรงห้ามใช้กรรไกรตัดผม. ข้อนี้คือ ผมสงสัยว่า ปัตตาเลี่ยน ไม่น่าจะถูกรวมว่าเป็นกรรไกร เพราะเหตุแห่งการใช้, กรรไกร ใช้แต่งผมให้เป็นรูปทรงได้ ในกรณีปัตตาเลี่ยน ก็สามารถแต่งผมให้เป็นรูปทรงได้ แต่เมื่อนำมาใช้งานในการปลงผมโกนผม ไม่ได้ใช้วิธีแต่ง แต่ใช้การไถให้ติดกับหนังหัว จึงไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการตกแต่ง. ดังนั้น การใช้ปัตตาเลี่ยนโกนผม ไม่น่าจะอาบัติ ผมเข้าใจถูกต้องหรือไม่ครับ ?

3. พระวินัยเรื่อง รองเท้าแตะแบบสวม. ข้อนี้คือ ผมได้ยินพระอาจารย์ท่านหนึ่งท่านบอกว่า รองเท้าแตะสำหรับพระ ที่ถูกต้องตามธรรมวินัย ต้องเป็นแบบ มีหูคีบ(หูคีบ ที่ต้องใช้นิ้วเท้าหัวแม่โป้งกับนิ้วเท้านิ้วชี้คีบ) เท่านั้น, รองเท้าแตะแบบสวมแต่ไม่มีหูคีบ ถือว่า ผิดพระวินัย. ผมตรวจสอบดูแล้ว ในพระวินัยปิฎก เล่ม 5 มหาวรรค ข้อที่ 5 พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ใช้รองเท้าได้ แต่ห้ามรองเท้าที่มีหูคีบสีสันต่างๆเท่านั้น (รวมถึง รองเท้ามีแผ่นปกหลังเท้า, รองเท้าหุ้มส้น, รองเท้าหุ้มหน้าแข้ง) ไม่ปรากฎห้ามรองเท้าที่ไม่มีหูคีบแต่อย่างใด. ข้อนี้ ผมคิดว่า รองเท้าแตะ แต่ไม่มีหูคีบสามารถใช้ได้ ผมเข้าใจถูกต้องไหมครับ ?

 

ขอกราบเรียนถามเท่านี้ ขออภัยพระอาจารย์ที่เขียนยาว 

ขอกราบขอบพระคุณพระอาจารย์เป็นอย่างสูงด้วยความเคารพครับ

 

เล็ก วีระวัฒน์ 

พฤหัสบดี 21 ก.ค. 2565



ผู้ตั้งกระทู้ เล็ก วีระวัฒน์ (hangngore-at-gmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2022-07-21 15:23:01


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (4363309)

1. ถูกแล้ว ขึ้นอยู่กับกาลเทศะ กับเจตนาที่ใช้ และความเหมาะสมแก่สมณเพศ

2. พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยให้พระมีบริขาร 8 อย่าง เรียกง่าย ๆ ว่า ผ้า 4 (สบง จีวร สังฆาฏิ ประคดเอว),  เหล็ก 3 (บาตร เข็ม มีดโกน), น้ำ 1 (เครื่องกรองน้ำ) พระจึงใช้มีดโกนสำหรับปลงผม ไม่มีใครใช้อย่างอื่นที่ไม่ใช่บริขารของพระ ถ้าพระเดินทางไปไหน ต้องพกปัตตาเลี่ยนไปด้วย คงตลกน่าดู พระต้องฝึกหัดปลงผมได้ด้วยตนเอง ในยามอยู่รูปเดียวจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ต้องอาศัยผู้อื่น

3. ต้องใช้รองเท้าที่มีหูคีบ ไม่มีแผ่นปกหลังเท้า ไม่หุ้มส้น และต้องให้เหมาะสมแก่สมณสารูป ปัจจุบันมีแฟชั่นหลากหลาย ใช่ว่ารองเท้ามีหูคีบก็จะใช้ได้ทุกอย่าง ต้องดูความเหมาะสมด้วย

ผู้แสดงความคิดเห็น พระวิทยา กิจฺจวิชฺโช วันที่ตอบ 2022-07-23 01:40:05


ความคิดเห็นที่ 2 (4363312)

 ขอกราบขอบพระคุณพระอาจารย์มากครับ.

เล็ก วีระวัฒน์

ผู้แสดงความคิดเห็น เล็ก วีระวัฒน์ (hangngore-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2022-07-23 08:40:39



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล