มีคำถามเข้ามาว่า “ใจมีแต่ทุกข์เพราะมีเรื่องหนี้ให้คิดอยู่ตลอดเวลา ทำให้หมดแรง มันเหนื่อย มันหนัก มันท้อใจ ไม่รู้ว่าจะบอกกับตัวเองอย่างไรดี อยากได้คาถาแรง ๆ ได้ไหม เอาแบบเขกหัวแรง ๆ เลย“
.
เห็นว่าคำถามนี้มันเป็นปัญหาของคนส่วนใหญ่แทบจะทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวย มันก็ต้องทุกข์เพราะคำว่า “หนี้” นี่แหละ บางคนถ้าไม่เป็นลูกหนี้ ก็อาจเป็นเจ้าหนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง
.
คนเป็นลูกหนี้ก็ต้องทุกข์เพราะต้องหาเงินมาใช้หนี้เขา ทุกข์เพราะไม่มีเงินใช้หนี้เขา ถ้าไม่ใช้หนี้เขา ก็กลัวว่าจะถูกเขาฟ้องล้มละลาย ถูกยึดทรัพย์สิ้นเนื้อประดาตัว จนถึงอาจต้องติดคุกติดตาราง หรืออาจต้องหนีไปแอบหลบ ๆ ซ่อน ๆ ก็ยิ่งทุกข์หนักเข้าไปอีก มีแต่ความหวาดระแวง กลัวคนเห็น กลัวเขาจับได้
.
คนเป็นเจ้าหนี้ก็ต้องทุกข์เพราะต้องตามทวงหนี้ ทุกข์เพราะกลัวจะไม่ได้เงินคืน กลัวต้องสูญเสียทรัพย์ไปเปล่า ๆ มิหนำซ้ำ ถ้าลูกหนี้เป็นญาติเป็นเพื่อน ก็จะพลอยเสียญาติเสียเพื่อนไปด้วย
.
ในธรรมท่านจึงสอนว่า “อิณาทานัง ทุกขัง โลเก“ แปลว่า ”การกู้หนี้เป็นทุกข์ในโลก“ คือ ทุกข์ทั้งผู้กู้และผู้ให้กู้ มันเป็นสัจธรรมของชีวิต เมื่อมีผู้ต้องการกู้ ก็ต้องมีผู้ปล่อยให้กู้ โดยคิดดอกเบี้ย มีบ้างที่ให้ยืมเฉย ๆ ในฐานะเป็นเพื่อนฝูงคนรู้จักกัน ไม่คิดดอกเบี้ย สุดท้ายก็ต้องมาผิดใจกัน เพราะเพื่อนยืมแล้วไม่จ่ายคืน
.
การกู้เงินจึงต้องทำสัญญากู้เงิน เมื่อกู้แล้วหาเงินมาใช้หนี้คืนเขาไม่ได้ ก็เป็นเหตุให้ทุกข์ใจ เกิดความหวาดกลัวเจ้าหนี้ จิตคิดฟุ้งซ่านจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ ครอบครัวก็อยู่ไม่เป็นสุข เจ้าหนี้ก็คอยมาทวงหนี้จนเกิดเรื่องทะเลาะวิวาทกันขึ้นโรงขึ้นศาลจนถึงกับฆ่ากันตายมาก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไป
.
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินกันนั้น ทุกคนที่เป็นหนี้ย่อมมีเหตุผลของตัวเอง ส่วนใหญ่ก็มีเหตุผลมาจากมีความจำเป็นต้องใช้เงิน เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเล่าเรียนลูก ค่าผ่อนรถ จิปาถะ จึงจำเป็นต้องกู้หนี้ ทั้งกู้จากคนรู้จัก กู้จากธนาคาร ก็จากเงินนอกระบบ สุดแล้วแต่ใครจะได้เงินจากทางไหน เมื่อใดที่คิดกู้หนี้ จุดเริ่มต้นแห่งทุกข์ก็จะปรากฏ
.
แท้จริง ควรดับไฟเสียแต่ต้นลม ถ้าคิดจะกู้หนี้ยืมสินเมื่อไหร่ให้หยุดทันที ให้สอนตนเองว่า ให้ขยันทำงานสร้างรายได้เก็บเงินไว้ก่อน มีเงินแล้วค่อยไปซื้อเอาด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของตนเอง ไม่มีข้าวของใช้ถึงขาดแคลนบ้าง พอมีข้าวกินก็ไม่ตายหรอก แต่เราจะไม่ยอมเป็นหนี้ใคร
.
ในธรรมท่านสอนไว้ว่า
ความสุขของคฤหัสถ์มี ๔ อย่าง
๑.ความสุขเกิดจากการมีทรัพย์บริโภค
๒.ความสุขเกิดจากการจ่ายทรัพย์บริโภค
๓.ความสุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้
๔.ความสุขเกิดจากการทำงานที่ไม่มีโทษ
.
แม้เราจะไม่มีความสุขจากการมีทรัพย์ ไม่มีความสุขจากการใช้จ่ายทรัพย์ แต่เรามีความสุขจากการไม่เป็นหนี้ มีความสุขจากการทำงานที่ไม่เป็นโทษ ก็ถือว่าดีมากแล้ว เป็นความสุขที่ดีกว่า ๒ อย่างแรก ให้จำไว้
.
ในธรรมท่านยังสอนคาถาหัวใจเศรษฐี มี ๔ ตัว คือ อุ อา กะ สะ ถ้าใครนำเอาไปใช้ก็จะเป็นเศรษฐีได้แน่นอน
.
๑. อุ ฏ ฐ า น สั ม ป ท า ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร ทั้งในการศึกษาเล่าเรียนในการประกอบอาชีพการงาน และในการทำธุระหน้าที่ของตน อย่าได้ขี้เกียจขี้คร้าน ไม่มีใครได้ดีเพราะความขี้เกียจขี้คร้าน
.
๒. อ า รั ก ข สั ม ป ท า ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือรักษาทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรนั้น ไม่ให้เป็นอันตราย ตลอดจนรักษาหน้าที่การงานที่ทำไว้ดีแล้ว อย่าให้เสื่อมเสีย
.
๓. กั ล ย า ณ มิ ต ต ตา ความมีเพื่อนเป็นคนดี ไม่คบคนชั่ว เพราะคนดีจะไม่ประทุษร้ายมิตร คอยให้ความช่วยเหลือเมื่อมีภัย ส่วนคนชั่วนั้น ไว้ใจไม่ได้ อาจประทุษร้าย หักหลังจนถึงแทงข้างหลัง นำภัยพิบัติมาให้
.
๔. ส ม ชี วิ ต า เลี้ยงชีพให้เหมาะสมกับฐานะของตน ไม่ฟุ่มเฟือยเกินไปจนกลายเป็นสุรุ่ยสุร่าย ไม่ฝืดเคืองเกินไปจนกลายเป็นตระหนี่ถี่เหนียว พอใจในความมีความเป็นของตนเอง ไม่ใช่มีอันนี้ ก็อยากได้อันโน้น
.
ใครทำได้ตามธรรมท่านสอน วันหนึ่งก็ต้องมีทรัพย์สมบัติมั่งคั่งจนกลายเป็นเศรษฐีได้แน่นอน ส่วนผู้ที่ทำไม่ได้ ก็ต้องเดือดร้อนไปตามสมควรแก่เหตุที่ทำ ทำผิดมากก็ทุกข์มาก ทำผิดน้อยก็ทุกข์น้อย สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม เมื่อทำชั่วแล้วก็ต้องได้รับผลชั่วเป็นธรรมดา หากอยากได้รับผลดี ก็ต้องทำดีเท่านั้นเอง
.
วิธีคิดสำหรับคนเป็นหนี้
.
จะเป็นหนี้เพราะเหตุผลใดก็ตาม เมื่อเป็นหนี้แล้ว ก็ต้องพยายามใช้หนี้เขาให้ได้ ส่วนวิธีการจะใช้หนี้อย่างไร ก็สุดแล้วแต่จะตกลงกัน ถ้ายังพอทำงานมีรายได้มาผ่อนชำระหนี้ได้ก็อดทนทำไป หนักเอาเบาสู้ ผ่อนชำระหนี้หมดแล้วก็สบายใจ
.
แล้วอย่าไปหาก่อหนี้ขึ้นมาอีก อยากได้อะไรก็จงเก็บหอมรอมริบเอาไว้ มีเงินพอแล้วจึงค่อยไปซื้อไปหา อย่าใช้จ่ายให้เกินกำลังทรัพย์ที่หาได้ อย่าไปกู้หนี้ยืมสินใคร ถ้าไม่แน่ใจว่า จะสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
.
ถ้ามีรายได้ไม่พอชำระหนี้ มีทรัพย์สินเท่าไหร่ก็ขายเอาเงินไปชำระหนี้เขาเสียให้หมด ถ้าไม่มีทรัพย์สินพอจะขายได้ จะถูกเขาฟ้องร้องดำเนินคดีติดคุกติดตารางก็จำเป็นต้องยอม ถือเสียว่ากรรมของเรามีอย่างนี้ ก็ต้องยอมรับกรรมอย่างนี้ ใช้หนี้เขาไปเสีย อย่าได้ติดค้างไปถึงภพหน้าชาติหน้า ถ้าชาตินี้ใช้หนี้เขาไม่หมด หรือไม่ยอมใช้หนี้เขา ก็จะเป็นกรรมให้ต้องไปชดใช้หนี้เขาต่อไปในภายภาคหน้า
.
หนี้เงินหนี้ทองอาจหลบหนีกันได้ คดโกงกันได้ แต่หนี้กรรมไม่มีใครหนีพ้น และโกงกันไม่ได้ด้วย การหนีหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ ก็เป็นการคดโกงเจ้าหนี้ มีผลทำให้ตัวเองสร้างกรรมไม่ดีเพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุทำร้ายตัวเองให้เป็นกรรมหนักมากเข้าไปอีก
.
จากนั้นก็เข้าไปแก้ไขภายในใจ ทำใจให้อยู่กับปัจจุบัน ไม่ต้องไปคาดคิดถึงอนาคต กลัวจะเป็นอย่างนั้น กลัวจะเป็นอย่างโน้น กลัวอับอายขายหน้า ก็กลัวไปเสียหมดทุกอย่าง กลายเป็นคนหวาดระแวง ถ้าเราไม่คิดจะหลบหนีเจ้าหนี้ ยอมรับสภาพหนี้ความกลัวทั้งหลายจะเบาลง จำไว้มีหนี้ก็ต้องใช้หนี้ อย่าหลบหนีไปเจรจาทำความตกลงกันด้วยดี เขาเรียกอะไร รีไฟแนนซ์ ใช่ไหม? ก็ไปคุยกัน
.
ให้ทำใจยอมรับความจริง กรรมของเราจะเป็นอย่างไร ก็ยอมรับตามนั้น ไม่ต้องไปอยากให้เป็นอย่างอื่น จะเป็นอะไรก็เป็น อย่างมากก็แค่ตาย ไม่ใช่จะตายแต่คนจนหรอก เศรษฐีก็ตายเหมือนกัน เป็นลูกหนี้ก็ตาย เป็นเจ้าหนี้ก็ตาย เกิดมายังไงก็ต้องตายอยู่แล้ว แต่ตายก็อย่าทำให้ใจเป็นบาปไปด้วย มันจะไปอบาย ให้ตายแล้วใจเป็นบุญ ก็จะได้ไปสวรรค์แทน
.
ตายไม่มีอะไรน่ากลัวหรอก ทำใจให้ยอมรับความจริงอย่างเดียว ถ้าถึงที่ตายก็ต้องตายกันทุกคน กลัวก็ต้องตาย ไม่กลัวก็ต้องตาย ทำใจให้สงบนิ่ง นึกพุทโธ ๆๆๆ ไว้บ้าง ยอมรับตามกรรมของตัวเอง ให้คิดว่า คนจนก็ตาย คนรวยก็ตาย คนรวยตายก็ทิ้งทรัพย์ไว้เยอะหน่อย คนจนตายก็ทิ้งทรัพย์ไว้น้อยหน่อย ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน
.
ใครไม่มีทรัพย์เลยก็ไม่ต้องทิ้งอะไรไว้เลย ลูกหลานอาจจะไม่พอใจที่ไม่มีทรัพย์สมบัติให้มาแย่งกัน ก็ยกให้เป็นเรื่องของเขา ทำใจให้สงบสบาย ๆ นึก พุทโธ ๆๆๆ อยู่ในใจ ชิว ๆ ถ้าใครมีหนี้สินมาก ก็ไปใช้หนี้ใช้สินกันต่อไปในภายภาคหน้าชาติหน้าชาติโน้นก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของกรรม ไม่ต้องไปเดือดร้อนกับอนาคต
.
ไม่ต้องไปคิดถึงอนาคต เพราะอนาคตมันเป็นเพียงความคาดหมาย ซึ่งยังไม่เกิด คิดไปก็สร้างทุกข์ให้กับใจตัวเองเปล่า ๆ ให้รู้ว่า อนาคตก็จะเป็นไปตามกรรมที่เราทำในปัจจุบันนี้แหละ ตั้งหน้าตั้งตาทำกรรมในปัจจุบันให้ดีที่สุดก็พอ
.
ที่สำคัญคือ ทำใจให้เป็นสัมมาทิฏฐิ ตั้งมั่นอยู่ในมรรคมีองค์ ๘ อย่าทำอะไรให้ผิดทางมรรค คือ ให้ใจอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา ได้ชื่อว่า ใจดี ก็คือ ใจคิดดี คิดละกามคุณ ๕ บ้าง ไม่หลงหัวปักหัวปำจนเลยเถิด ไม่คิดพยาบาท ไม่คิดเบียดเบียนใคร
.
ก็จะก่อให้เกิด การกระทำที่ดีคือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่กินเหล้าเมายา จากนั้นก็พูดดีคือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ
.
ถ้าใครทำได้อย่างนี้ ถึงเป็นหนี้เขา ใจก็จะไม่เดือดร้อน วันหนึ่งก็จะหมดหนี้ เพราะใจคิดดี คือ ไม่คิดทำร้ายตัวเอง การกระทำก็ดี คือ ไม่ทำชั่วให้ตัวเองได้รับผลชั่ว คำพูดก็ดี คือ ไม่พูดชั่วให้ตัวเองได้รับผลชั่ว ค่อย ๆ ทำไปอย่างนี้ วันหนึ่งเมื่อหมดหนี้หมดสินแล้วก็สบายทั้งใจและกาย
.
อย่ามัวแต่คิดชั่ว ทำชั่ว พูดชั่ว แล้วจะให้เกิดความสุขความเจริญ มันเป็นไปไม่ได้ ใครเอาธรรมที่กล่าวมานี้ไปประพฤติปฏิบัติก็จะประสบแต่ความสุขความเจริญทุกทิพาราตรีกาล
.