ReadyPlanet.com
dot

dot
dot
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
bullet สมัครสมาชิก
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
ชมคลิปวีดีโอน่าสนใจ
ยังไม่มีสมาชิกที่ล็อกอินในขณะนี้
bulletบุคคลทั่วไป 12 คน
dot
dot

dot


ฟัง F.M. 103.25 MHz.
ชมทีวีช่องหลวงตา
ฟังวิทยุออนไลน์ วัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน
ชมคลิปวีดีโอน่าสนใจ
ขอเชิญสมัครสมาชิกอุปถัมภ์สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน วัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน
เข้าชม face book วัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน
เข้าชม twitter วัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน


สวดปาติโมกข์ โดย พระวิทยา

กราบสมเด็จพระสังฆราชที่โรงพยาบาลจุฬา

 ไปกราบสมเด็จพระสังฆราชที่โรงพยาบาลจุฬา  ๘ สิงหาคม ๒๕๕๔ 

 

 

ที่วัดพุทธธัมมธโร สหรัฐอเมริกา ๑ มิถุนายน ๒๕๕๔

 

 

 

สวดปาติโมกข์ ณ วัดพุทธธัมมธโร สหรัฐอเมริกา ๑ มิถุนายน ๒๕๕๔

 

.............................................

 

 

สวดปาติโมกข์ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๔ ณ วัดพุทธธัมมธโร  สหรัฐอเมริกา

 

 

ดาวน์โหลด ไฟล์ MP3 ได้ที่นี่

ไฟล์ MP3 สวดปาฏิโมกข์ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๔ USA

 

.........................................................

 

 สวดปาติโมกข์ ณ วัดป่าบ้านตาด  ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๖

 

 

สวดปาติโมกข์ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ณ วัดป่าบ้านตาด  จังหวัดอุดรธานี

 

 

ดาวน์โหลด ไฟล์ MP3 ได้ที่นี่

ไฟล์ MP3 สวดปาฏิโมกข์  ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๖
 

หากจะพูดถึงบรรดาการสวดมนต์ทั้งหลายในพระพุทธศาสนา  จะสวดบทไหน ๆ ก็ช่างเถอะ  ไม่ได้ยุ่งยากลำบากอะไรนัก  และก็ไมใช่เรื่องยาก  แต่การสวดปาติโมกข์นี้  ถือว่าเป็นสุดยอดแห่งความยากของการสวดมนต์ในพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว ไม่มีอะไรจะยากยิ่งไปกว่าการสวดปาติโมกข์อีกแล้ว  อยากจะบอกว่า มันยากที่สุดในโลกนั่นแหละ  ถ้าไม่เก่ง และไม่เพียรพยายามจริง ๆ  ไม่มีทางจะสวดได้  เพราะเหตุนั้น  จึงมีพระที่จะทรงพระปาติโมกข์ไว้ได้ มีจำนวนน้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับจำนวนพระทั้งหมดในพระพุทธศาสนา

แม้การสวดปาติโมกข์ให้ได้ จะว่าเป็นการยากแล้วก็ตาม  แต่การจะสวดปาติโมกข์ให้ได้ดี และรักษาไว้มิให้เสื่อมยิ่งยากกว่าอีกเป็นร้อยเท่า  เพราะการสวดปาติโมกข์เป็นวินัยสงฆ์  พระสงฆ์ต้องประชุมฟังปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน โดยต้องสวดออกเสียงเป็นภาษามคธให้ถูกต้องตามอักขระวิธี (มีบางแห่งอุตริสวดปาติโมกข์เป็นภาษาไทย นัยว่าเก่งกว่าพระพุทธเจ้า คือบัญญัติวินัยขึ้นมาใช้เอง) การจะสวดปาติโมกข์ให้ได้คล่องแคล่ว และออกเสียงให้ถูกต้องตามอักขระฐานกรณ์ ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็จะทำได้ 

การสวดปาติโมกข์ คือการสาธยาย ศีล ๒๒๗ ข้อ เป็นภาษาบาลีล้วน ๆ ตั้งแต่ข้อ ๑ ไปจนกระทั่งจบหมดทุกข้อ และต้องสวดไม่ให้ผิดอีกต่างหาก มีผู้คอยตรวจทานไม่ให้สวดผิด หากสวดผิดก็ต้องทักท้วง สวดใหม่ให้ถูกต้อง จึงจะสวดต่อไปได้ กว่าจะสวดจนจบ ต้องใช้เวลาไม่น้อย เวลามาตรฐานก็ประมาณ ๔๕ นาที ขึ้นอยู่กับคุณภาพความสามารถของผู้สวดว่า มีอยู่ระดับใด

สำหรับพระปาติโมกข์ที่เก่ง ๆ นั้น สามารถจะสวดปาติโมกข์ได้อย่างคล่องแคล่ว และออกเสียงอักขระได้อย่างถูกต้องชัดเจน โดยสวดปาติโมกข์ไม่ผิดแม้แต่สักตัวเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ เรียกว่า ฟังกันเพลินเลยทีเดียว แต่พระปาติโมกข์ ผู้เช่นนั้น ค่อนข้างจะหายากในยุคสมัยปัจจุบันนี้

ส่วนใหญ่ก็สวดกันพอฟังไปได้ แบบพอถู ๆ ไถ ๆ ไปอย่างนั้น กว่าจะจบเล่นเอาผู้ฟังจนรำคาญ แต่ก็ต้องเห็นใจกัน เพราะเหตุที่การสวดปาติโมกข์เป็นของยากนั่นเอง สวดได้ไม่ดี ก็ยังดีกว่าสวดไม่ได้เอาเสียเลย ตอนแรกสวดได้ไม่ดี แต่ถ้าพยายามฝึกฝนอยู่เรื่อย ๆ ก็ค่อยดีไปเอง

พระปาติโมกข์ถือว่า เป็นที่พึ่งของหมู่คณะ ถ้ามีพระสงฆ์อยู่ด้วยกันตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป พระวินัยบัญญัติให้ต้องสวดปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน คือ ขึ้นและแรม ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ หรือ ๑ ค่ำ แล้วแต่ปักข์ถ้วน หรือปักข์ขาด ถ้าไม่มีพระปาติโมกข์ในท่ามกลางสงฆ์เลย ถึงวันปาติโมกข์ พระสงฆ์ต้องแยกย้ายกันไปอยู่ที่อื่น จะอยู่ด้วยกันตั้งแต่ ๔ รูป ขึ้นไปไม่ได้เมื่อถึงวันลงอุโบสถ พอผ่านวันลงปาติโมกข์ไปแล้ว จึงค่อยกลับมาอยู่ด้วยกันใหม่ หากวัดไหนพระสงฆ์ต้องแยกย้ายกันไป ๆ มา ๆ อย่างนี้ คงยุ่งยากน่าดู ดังนั้น พระผู้สวดปาติโมกข์ได้จึงมีความสำคัญอยู่มากเลยทีเดียว หากจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระวินัย ซึ่งในฝ่ายธรรมยุตยังคงรักษาวินัยข้อนี้ไว้ได้อย่างเคร่งครัด

และอานิสงส์แห่งการสวดปาติโมกข์นั้น โบราณาจารย์กล่าวว่า แม้บิดามารดาตกนรก ก็สามารถฉุดรั้งขึ้นมาจากหลุมนรกได้ หากใครมีบุตรชายได้บวชในพระพุทธศาสนา และได้โอกาสขึ้นสวดปาติโมกข์ในท่ามกลางสงฆ์ การบวชจึงถือได้ว่า เป็นการสนองบุญคุณของบิดามารดาได้อย่างสูงสุด ไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่า แต่มิใช่เพียงสักแต่ว่าบวชเหมือนทุกวันนี้  บวชพระบวชเณรทีละร้อย ละพัน เรียกว่า บวชแล้วรวยไม่รู้เรื่อง จนกลายเป็นธุรกิจหากินกับการบวชพระไปในตัว  ส่วนผู้บวช เมื่อบวชเสร็จแล้วจะปฏิบัติไปแถวไหน ก็ไม่มีใครจะรู้ได้  ไม่ใช่ว่าบวชแล้วจะเป็นบุญไปเสียทั้งหมด ถ้าบวชแล้วทำไม่ดี ก็ไปนรกหลุมลึกกว่าคนที่ไม่ได้บวชเสียอีก

ยิ่งในสมัยปัจจุบัน มีการโปรโมทให้ไปบวชกันถึงประเทศอินเดีย พุทธคยาโน้น ก็เลยเกิดธุรกิจจัดทัวร์บวชพระจาริกแสวงบุญท่องเที่ยวไปในตัว ทำเอาคนจัดทัวร์ทำธุรกิจนี้รวยแบบบุญหล่นทับเลยทีเดียว เป็นเหตุให้วัตถุประสงค์ของการบวช  ถูกบิดเบือนจนเลอะเทอะไปกันใหญ่ น่าสมเพชยิ่งนักกับผู้ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร ถูกเขาเป่าหูว่า เป็นบุญใหญ่ ถ้าได้ไปบวชที่อินเดีย ก็แห่กันไป หมดเปลืองเท่าไรก็ไม่ว่า เพราะมีศรัทธาอยากได้บุญเต็มเปี่ยม แต่หารู้ไม่ว่า การบวชให้เป็นบุญ มันไม่ได้อยู่ที่สถานที่ มันอยู่ที่การปฏิบัติรักษาพระวินัยให้ถูกต้อง และตรงตามวัตถุประสงค์แห่งการบวช ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้

พระบวชใหม่แล้วไปเที่ยวเนี่ย มันยังไม่รู้พระวินัย บางทีก็ไปทำผิดพระวินัยเข้าโดยไม่รู้ตัว  ยิ่งการบวชแบบมีธุรกิจแอบแฝง อุปัชฌาย์อาจารย์ คงไม่มีเวลามาใส่ใจดูแลการปฏิบัติของพระใหม่ ว่าจะทำผิดทำถูกอย่างไร แค่ไหน เพราะจุดประสงค์ของการบวชมันผิดเพี้ยนไปแล้ว ถึงจะบอกจะสอนบ้างก็คงไม่ได้ละเอียดลออมากมายอะไรนัก  เพราะเวลามันจำกัด ทั้งบวชแล้วไม่นาน เดี๋ยวก็จะสึกไปล่ะ ก็เลยอาจจะคิดว่า อาบัติกินหัวบ้างก็ช่างหัวมันเถอะ

ก็พระพุทธเจ้าทรงสอนให้บวชเพื่อตั้งใจปฏิบัติสมถวิปัสสนา ศึกษาพระธรรมวินัย ชำระจิตให้หมดจดจากกิเลสนี่หว่า!! และไม่ได้บอกด้วยว่า ต้องไปบวชที่อินเดีย แล้วไปกราบสังเวชนียสถานสี่ ถึงจะได้บุญมาก ไอ้นั่นท่านสอนญาติโยมต่างหาก ผู้ที่ยังไม่มีหลักฐานทางด้านจิตใจเพียงพอ จะไปกราบสังเวชนียสถานทั้งสี่ เพื่อน้อมรำลึกนึกถึงคุณของพระบรมศาสดา ก็เป็นบุญใหญ่ ส่วนพระเณรหากมีโอกาสได้ไปกราบสังเวชนียสถานสี่ ก็เป็นบุญใหญ่เช่นกัน แต่ทั้งนี้ต้องอยู่บนรากฐานของการปฏิบัติที่ไม่ผิดในพระธรรมวินัยด้วย ควรเป็นพระที่ได้ผ่านการศึกษาและเรียนรู้พระธรรมวินัยดีพอสมควรที่จะเอาตัวรอดได้แล้ว ไม่ใช่พระบวชใหม่แล้วแห่กันไป โดยที่ยังไม่รู้พระธรรมวินัยเพียงพอที่จะรักษาตัวให้รอดพ้นจากอาบัติได้

เพราะฉะนั้น จึงอยากจะบอกว่า อย่าหลงเชื่อพวกทำทัวร์จัดธุรกิจบวชพระ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถ้าอยากไปกราบสังเวชนียสถานที่อินเดีย ก็ไปเถอะ ไปแบบเป็นโยมนี่แหละ ดีแล้ว ถ้าเมื่อไรอยากจะบวชพระ ก็จงตั้งใจบวชเพื่อปฏิบัติศึกษาพระธรรมวินัยอย่างจริงจัง  ชำระจิตให้สงบ ขัดเกลากิเลสภายในใจ และบวชในไทยนี่แหละดีที่สุด เพราะพระที่นั่งหัตถบาส ทั้งพระอุปัชฌาย์ ทั้งพระอันดับ เราเลือกได้ อย่าลืมว่า ถ้าเอาพระประเภทที่ไม่เต็มพระมาเป็นพระอุปัชฌาย์ และนั่งในหัตถบาสด้วย  บางทีก็พลอยทำให้การบวชของเราไม่สมบูรณ์ ดีไม่ดีจะกลายเป็นสังฆกรรมวิบัติไปด้วยก็ได้

การบวชพระไม่ใช่ของทำเล่น ยิ่งถ้าได้บวชทีละเป็นร้อย เป็นพัน อย่างที่นิยมทำกันในสมัยนี้ ถ้าเป็นเรา จ้างก็ไม่ไปบวชแบบนั้น สู้หาพระอุปัชฌาย์ดี ๆ หาพระอันดับดี ๆ หาวัดที่สงบสงัด เหมาะแก่การปฏิบัติสมถวิปัสสนา แล้วบวชมันเงียบ ๆ สบาย ๆ นี่แหละ บวชแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติ ศึกษาพระธรรมวินัย ฝึกหัดข้อวัตรปฏิบัติอันควร เราเข้าใจเอาเองว่า บวชแบบนี้แหละเป็นบุญใหญ่ บวชแบบบิดเบือนคำสอนของพระพุทธเจ้า คือบวชแล้วไปเที่ยว จะเที่ยวที่ไหนก็ช่างเถอะ  เราว่า มันอาจจะพลาดท่าเสียทีเอาขาแหย่ลงไปในหลุมนรกเมื่อไรก็ไม่รู้ ยิ่งบวชทีละเป็นร้อย เป็นพัน ก็จงระวังไว้ให้ดี ใครมันจะขยันมาดูแลเอาใจใส่บอกสอนพระธรรมวินัยให้กับพระบวชใหม่จำนวนมาก ๆ ได้อย่างทั่วถึง

อันนี้ ไม่ได้ตั้งใจจะไปทุบหม้อข้าวหม้อแกงของใครหรอกนะ แต่สงสารกุลบุตรผู้อยากได้บุญ ก็ทำบุญให้มันถูกที่ถูกทาง ทำไม่ถูกก็กลัวว่า แทนที่จะได้บุญ มันเลยจะกลายเป็นไปได้อย่างอื่นแทน เราพูดให้เป็นข้อคิดเตือนใจเฉย ๆ ใครอยากทำอย่างไร ก็จงทำไปตามอัธยาศัย ตามที่ตนเห็นสมควร คนเราไม่จำเป็นต้องเห็นเหมือนกัน ใครจะเห็นผิดเห็จถูก ก็ต้องไปพิจารณาเอาเอง สุดท้ายก็ต้องเป็นไปตามที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ ใครทำดีก็ได้ดีเอง ใครทำไม่ดีก็ได้ไม่ดีเอง เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

 
___________________________________________
 
 
เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับพระปาติโมกข์

คําต่อไปนี้ ที่ขีดเส้นใต้ ให้ออกเสียงสระ “อะ” เพียงครึ่งเสียง คือออกเสียงให้เร็วและเบากว่าปกติ
“อุตฺตริทฺวิรตฺตติรตฺตํ”   สวดว่า    “อุด-ตะ-ริ-ด๎วิ-รัด-ตะ-ติ-รัด-ตัง” 
“มุขทฺวารํ”                    สวดว่า    “มุ-ขะ-ด๎วา-รัง” 
“เสนาพฺยูหํ”                  สวดว่า    เส-นาบ-บ๎ยู-หัง” 
“นฺหาเยยฺย”                  สวดว่า    “ห๎นา-เยย-ยะ” 
“เทฺว”                            สวดว่า    “ด๎เว” 
“กมฺยตํ”                        สวดว่า    “กํา-ม๎ยะ-ตัง”
“กลฺยาณํ”                     สวดว่า     “กัน-ล๎ยา-ณัง”
“พฺรหฺมจาริํ”                  สวดว่า     “บ๎ระ-ห๎มะ-จา-ริง” 
“ตสฺมา”                        สวดว่า     “ตัด-ส๎ม่า” 
“อายสฺมา”                    สวดว่า     “อา-ยัด-ส๎ม่า” 
“ทิสฺวา”                         สวดว่า     “ดิด-ส๎ว่า” 
“ทตฺวา”                         สวดว่า     “ดัด-ต๎วา” 
“อนฺวฑฺฒมาสํ”              สวดว่า     “อัน-น๎วัด-ฒะ-มา-สัง” 
“เชตฺวา”                        สวดว่า     “เช็ด-ต๎วา”
 “เปตฺวา”                       สวดว่า     “เป็ด-ต๎วา”
 “เหตฺวา”                       สวดว่า     “เห็ด-ต๎วา”

คําที่สะกดด้วย “เ-ย” เช่น อุทฺทิเสยฺย, อาทิเยยฺย, ปพฺพาเชยฺยุํ ฯลฯ จะออกเสียงเป็น “เอ” สะกดด้วย “ย” เป็นเสียงกล้ำกันระหว่าง “เอ” กับ “ไอ”

คําว่า สุทฺธกาฬกานํ, เอฬกโลมานํ, กวเฬ, เขฬํ, ฯลฯ จะออกเสียง “ฬ” เป็น “ล” แต่ให้มีเสียงก้องขึ้นจมูก หรือเพดานปาก

คําว่า กณฺฑุปฏิจฉาทึ, ปริมณฺฑลํ, ปิณฺฑปาตํ, ทณฺฑปาณิสฺส, ฯลฯ จะออกเสียง “ฑ” เป็น “ด” แต่ให้มีเสียงก้องขึ้นจมูก หรือเพดานปาก

คําที่สะกดด้วย “ฬ” แล้วตามด้วย “ห” เช่น มูฬฺโหสิ, ปาทุการูฬฺหสฺส, อุปาหนารูฬฺหสฺส, อมูฬฺหวินโย, ฯลฯ จะไม่ออกเสียง “ห” ให้ออกเสียง “ฬ” แทน แต่ให้มีเสียงลมมากขึ้น

สระที่มีเสียงสั้นก็ออกเสียงให้สั้นจริง สระที่มีเสียงยาวก็ออกเสียงให้ยาวจริง และควรให้เสมอภาคกันไปตลอดทุกคํา ไม่ลากเสียงยาวจนเกินเลย เช่น “สังฆาทิเสโส” คําว่า “สัง”, “ทิ” เป็นสระเสียงสั้น ก็ออกเสียงสั้นพอกัน คําว่า “ฆา”, “เส”, “โส” เป็นสระเสียงยาว ก็ออกเสียงยาวพอ ๆ กัน ทั้งไม่เล่นเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ควรสวดให้น้ำเสียงราบเรียบเสมอกันไปตลอด

คําว่า “กเรยฺย” ก็อย่าสวดจนกลายเป็น “กาเรยฺย” และให้ต่างจาก “การย”
คําว่า  “วิปฺปวาสาย”      ให้ต่างจาก  “วิปฺปวเสยฺย” 
คําว่า  “อายสฺมนฺโต”     ให้ต่างจาก  “อายสฺมโต” 
คําว่า  “ปนายสฺมนฺโต”  ให้ต่างจาก  “ปนายสฺมโต”
คําว่า  “โหติ”                ให้ต่างจาก  “โหนฺติ”
คําว่า  “อญฺญตฺรํ”          ให้ต่างจาก  “อญฺญตฺร” 
คําว่า  “อาคจฺฉนฺติ”       ให้ต่างจาก  “อาคจฺฉติ”

และคําต่อไปนี้ ต้องพยายามเน้นเสียงให้ชัดเจนมาก ๆ ด้วย ถ้าหวังจะสวดปาติโมกข์ให้ได้ดี
จีวรการ - จีวรกาล, ปริสุทฺ - ปาริสุทฺ, ปฏิ - ปาฏิ, นิสฺสชฺ - นิสชฺ, อตฺต - อตฺตา, ยุวา - ยุว, อิตฺถิ - อิตฺถี, อสฺสามิกํ - สสฺสามิกํ, สปริกฺ - อปริกฺ, โณ - โน, โฆ - โค, รชา - ราชา - ราช, มโน - มาโน, ณํ - นํ, เฆ - เค, ฯลฯ

การหยุดหายใจ ควรหยุดตามเครื่องหมายวรรคตอน เช่น . , ; : ? เป็นต้น และควรกําหนดจุดหยุดให้สัมพันธ์กับลมหายใจ ไม่ใช่หมดลมตรงไหนก็หยุดตรงนั้น ถ้ากําหนดจุดหยุดให้ดี จะช่วยในการสวดได้มากทีเดียว

ถ้ายังท่องจําพระปาติโมกข์ไม่ได้ ควรฝึกหัดอ่านออกเสียงให้ถูกต้องและชัดเจนตามอักขรฐานกรณ์ให้คล่องแคล่วและชํานาญ จะช่วยให้ท่องจําได้ง่ายและเร็วขึ้น
 
ถ้าท่องจําพระปาติโมกข์ได้บ้างแล้ว ต้องพยายามฝึกฝนทบทวนส่วนที่ได้แล้วนั้นเอาไว้ทุกวัน และทุ่มเทความเพียรท่องจําส่วนที่ยังไม่ได้สมทบเข้าเรื่อย ๆ แม้วันละเล็กละน้อยก็จัดว่าดี ใครทําได้อย่างนี้ เป็นมีหวังเรียนจบพระปาติโมกข์อย่างแน่นอน ขอเพียงแต่อย่าเลิกละความเพียรไปเสียอย่างเดียวเท่านั้น

ภิกษุผู้สวดปาติโมกข์ได้นั้น ใช่ว่าจะได้มาเพราะโชคช่วยก็หาไม่ ต่างต้องได้ทุ่มเทความพยายามจนสุดกําลังสติปัญญาของตัวเลยทีเดียว ฟันฝ่าอุปสรรค คือความขี้เกียจและความท้อแท้อ่อนแอของตัวเอง กว่าจะคว้าเอาชัยชนะในบั้นปลายไว้ได้ ก็แทบจะเอาชีวิตไม่รอด ไหนเลยจะได้มาอย่างง่าย ๆ ผู้ที่ท่านง่าย ก็ยอมรับว่ามี แต่นั่นเป็นบุญวาสนาของท่าน ไม่ใช่ของเรา จะไปเอาอย่างท่าน เห็นทีจะไม่ได้

เคยได้ยินพระบางองค์พูดว่า “ผมก็พยายามแล้ว ไม่ใช่ไม่พยายาม แต่มันปึก มันโง่ ท่องเท่าไร ก็ไม่ยอมจําสักที พอท่องไปข้างหลังก็มาลืมข้างหน้า พอย้อนกลับมาทวนข้างหน้า ก็ไปลืมข้างหลังเสีย สุดท้ายก็เลิกท่อง...”

ถ้าเป็นอย่างนี้ก็คงยากที่จะได้ เพราะขนาดพยายามท่องอยู่ก็ยังไม่ได้ ครั้นเลิกท่องไปเสียแล้ว จะทําให้ได้ขึ้นมาซะที่ไหน จะท่องได้หรือไม่ได้ ก็จงเพียรท่องไปเถิด อย่างน้อยก็เอาไว้เป็นนิสัยปัจจัยติดตัวไปในภายหน้าภพหน้าก็ยังดี ทั้งเป็นสีลานุสสติ เห็นมีแต่ทางได้กับได้ ไม่มีทางเสีย ไฉนจะเลิกละความเพียร ยอมแพ้กิเลสอย่างง่าย ๆ ถ้าพระท่องปาติโมกข์ไม่ได้แล้ว จะให้ใครที่ไหนมาท่องได้เล่า ?

อันพระปาติโมกข์นั้นเป็นของสูง กว่าที่ใคร ๆ จะท่องได้ก็แสนยาก ครั้นได้แล้วก็ยังยากอีก คือยากแก่การบริหารรักษา แต่อานิสงส์แห่งการสวดปาติโมกข์นั้น ก็ไม่ใช่ของเล็กน้อย ได้ยินว่า แม้บิดามารดาตกนรกก็จักอาจสามารถฉุดรั้งขึ้นมาจากหลุมนรกได้

แม้ภิกษุผู้สวดปาติโมกข์ได้นั้น จักเป็นผู้มีจิตตั้งมั่น ทั้งอาจหาญในท่ามกลางภิกษุบริษัท ผู้ที่ฝึกฝนปาติโมกข์จนถึงขั้นช่ำชองสุดยอดนั้น อาจสวดปาติโมกข์ได้ไม่ผิดเลยแม้แต่สักตัวเดียว ตั้งแต่ต้นจนจบเป็นปกติธรรมดา

ทั้งอาจทําปฏิภาคนิมิตในพระปาติโมกข์ ให้เกิดขึ้นภายในใจของตัว ด้วยกําหนดจิตทวนปาติโมกข์ ในใจล้วน ๆ ไม่ให้ปากและลิ้นขยับเขยื้อน ปรากฏเสียงสวดอยู่ในใจชัดเจน ประหนึ่งว่าได้ยินด้วยหู ดูราวกับว่า คล้ายเห็นด้วยตา กําหนดชัดอย่างนั้นไม่ขาดวรรคขาดตอน แม้เสียงเพลงมากระทบโสตประสาท จิตก็ไม่สะท้านหวั่นไหวไปตาม จิตตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว นี้ เป็นผลแห่งสมาธิธรรมที่เกิดขึ้นจากเหตุ คือการปรารภพระปาติโมกข์เป็นอารมณ์ของใจ.

เคล็ดลับทวนปาติโมกข์ที่ได้ผล
 
ให้ทวนปาติโมกข์ในใจล้วน ๆ อย่าให้ปากและลิ้นขยับเขยื้อน ฝึกหัดทุกวันให้ได้ ๑ รอบ แรก ๆ จะรู้สึกอึดอัดสวดไปได้ช้า บางทีก็สวดไปไม่ได้เลย แต่อย่าท้อถอย จงอดทนฝึกฝนต่อไปอย่างนั้น จนคล่องแคล่วชํานาญ ถ้าชํานาญดีแล้ว จึงจะรู้หรอกว่าอานิสงส์แห่ง การสวดปาติโมกข์นั้นเป็นอย่างไร

จากนั้นให้แบ่งพระปาติโมกข์ออกเป็น ๒ ภาค โดยภาคแรกเริ่มตั้งแต่ต้นจนจบนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ภาคสองเริ่มตั้งแต่ปาจิตตีย์ไปจนกระทั่งจบ แล้วทวนสลับภาคในแต่ละวัน เช่น วันคี่ ทวนภาค ๑ วันคู่ ทวนภาค ๒ และในแต่ละภาคให้ทวนดังนี้ เปิดแบบอ่านในใจจนจบภาค แล้วปิดแบบทวนออกเสียงจนจบภาค ฝึกหัดอยู่อย่างนี้ให้ได้ทุกวันนานหลายปีติดต่อกัน ถ้าท่านไม่เลิกละความเพียรไปเสีย บางทีท่านอาจจะเป็นพระปาติโมกข์ที่เห็นการสวดปาติโมกข์ไม่ผิดกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปก็ได้
 
 
____________________________________

 

 

หนังสือภิกขุปาติโมกข์เล่มนี้เก่ามากเลย มันพิมพ์ครั้งที่ ๑๓/๒๕๓๓ นับถึงวันนี้ก็ ๒๕ ปีแหละ ไม่ใช่เก่าแบบเก็บไว้จนเก่านะ แต่มันเก่าเพราะผ่านการใช้งานมาอย่างโชกโชนทีเดียว ลองดูแต่ละหน้าสิ มันมีรอยนิ้วมือจับแบบเดียวกันหมดทุกหน้า นั่นแสดงถึงว่า ผู้เป็นเจ้าของต้องหยิบต้องจับต้องพลิกต้องอ่านมันอยู่เป็นประจำตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายเลย  มันจึงเป็นสภาพอย่างที่เห็นอยู่นี้ ก็ ๒๕ ปีล่วงไปแล้ว ถ้าเจ้าของไม่ทะนุถนอม ไม่ซ่อมแซม ไม่ปะชุนเอาไว้ มันคงจะเปื่อยหลุดลุ่ย และฉีกขาดไปแบบไม่เหลือซากแล้วล่ะ

หนังสือปาติโมกข์เล่มใหม่ ๆ เล่มหนึ่งก็ราคาไม่ถึง ๑๐ บาทหรอก  ทำไมจะต้องใช้จนเก่าซะขนาดนี้ เราคิดว่า บางครั้งของเก่ามันก็ดูมีคุณค่ามากกว่าของใหม่เสียอีกนะ และมันยังให้ความรู้สึกอะไรบางอย่าง ที่อยู่นอกเหนือเหตุผลที่ว่า "ก็มันยังใช้ได้อยู่ และก็ใช้ได้ดีไม่ต่างอะไรจากของใหม่ ถ้าอยากได้ของใหม่จะเอาเมื่อไรก็ได้ มันมีอยู่เกลื่อนตลาด แต่ของเก่าอย่างนี้ ต้องใช้เวลาเดินทาง ๒๕ ปีเชียวนะ กว่าจะได้มา"

ที่หยิบยกเรื่องนี้มาพูด มิใช่ว่าอยากจะอวดสมถะซอมซ่ออะไรหรอก แต่จะมีใครรู้เหตุผลบ้างว่า "ทำไมหนังสือนี้ มันจึงเก่าขนาดนี้ แถมมีรอยนิ้วมืออยู่ทุกหน้า และในตำแหน่งเดียวกัน" นั่นเป็นเพราะว่า พฤติกรรมการทวนพระปาติโมกข์ของผู้เป็นเจ้าของนั่นเอง สำหรับพระที่สวดปาติโมกข์ได้ทุกรูป ถ้าอยากจะฝึกสวดปาติโมกข์ให้ช่ำชอง ชนิดที่สวดปาติโมกข์ไม่ผิดเลยแม้แต่สักตัวเดียว ตั้งแต่ต้นจนจบ จำต้องฝึกอ่านหนังสือปาติโมกข์ให้ได้ทุกวัน อ่านจนกระทั่งมันจำได้ ว่า คำนี้เขียนอย่างไร และอยู่ตรงไหนของหน้าทีเดียว มันจะช่วยให้การสวดเป็นไปอย่างแม่นยำ และไม่สวดผิดได้ง่าย ๆ ทั้งออกเสียงได้อย่างถูกต้องชัดเจน ตามอักขระฐานกรณ์ของบาลี ซึ่งเป็นการยากไม่ใช่น้อย ที่จะออกเสียงให้ได้อย่างถูกต้องชัดเจน และรวดเร็ว

การท่องจำพระปาติโมกข์จนสามารถสวดปาติโมกข์ได้ ก็ถือว่ายากที่สุดแล้ว แต่การสวดปาติโมกข์ให้ได้ดี และรักษาพระปาติโมกข์ที่ได้แล้วนั้นอย่าให้เสื่อม กลับเป็นการยากยิ่งกว่า เพราะพระผู้จะสวดปาติโมกข์ให้ได้ดีนั้น จะต้องทำความพยายามฝึกซ้อมทบทวนทั้งการอ่านออกเสียง และการฝึกสวดอยู่ภายในใจอย่างสม่ำเสมอแทบจะทุกวันทีเดียว จึงจะสามารถสวดปาติโมกข์ให้ดีได้ ไม่ใช่แค่พอสวดให้จบ ๆ ไปเท่านั้น

เราเองก็เคยใฝ่ฝันถึงขั้นจะต้องสวดปาติโมกข์ให้ได้ดี และคล่องแคล่วชนิดที่เรียกว่า จะไม่ให้สวดปาติโมกข์ผิดแม้แต่สักตัวเดียว เราบอกกับตัวเองว่า "เราจะไม่ยอมขึ้นธรรมมาสน์แล้วสวดปาติโมกข์แบบตะกุกตะกักผิด ๆ พลาด ๆ อย่างเด็ดขาด" เราจึงต้องทุ่มเทความพยายามอย่างยิ่งยวดในการฝึกซ้อมสวดปาติโมกข์ อย่างสุดกำลังความสามารถทั้งหมดเท่าที่จะสามารถทำได้ มันจึงไม่ใช่ของง่าย และไม่ใช่เรื่องที่จะได้มาเพราะโชคช่วย มันต้องอาศัยความสามารถอย่างที่เรียกว่า ฝีมือล้วน ๆ ทีเดียว ถ้าครั้งไหนสวดผิด หนึ่งคำ สองคำ หรือสามคำ เราจะเอาคำที่ผิดนั้น มามัดติดกับใจ และสำทับกับตัวเองว่า "มึงต้องไม่สวดผิดคำนี้อีก"

"การสวดปาติโมกข์ ถือเป็นการแสดงพระวินัยแทนองค์พระศาสดา ใครจะมาทำเล่น ๆ ไม่ได้นะ  อย่ามาเรียนปาติโมกข์บนธรรมมาสน์ ถึงวาระของใครที่จะสวด ต้องเตรียมตัวให้พร้อม"

นี่! คำพูดขององค์หลวงตาที่ยังคงดังก้องกังวาลอยู่ในโสตประสาท เราสวดปาติโมกข์ได้ในปี ๒๕๒๙ เป็นพรรษาที่ ๒ พรรษานั้น จำพรรษาที่วัดถ้ำกลองเพล หนองบัวลำภู พรรษานี้ ฝึกท่องปาติโมกข์อย่างเดียว โดยตั้งสัตย์อธิษฐานว่า "ต้องได้พระปาติโมกข์ภายในพรรษานี้ ถ้าไม่ได้ ขอให้มีอันเป็นไป อย่าได้เจริญในศาสนานี้เลย อย่าอยู่ให้หนักศาสนา" ดังนั้น จึงจำต้องทุ่มเทความเพียรอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช ก็ท่องพระปาติโมกข์ได้สมดังหวัง พอออกพรรษาแล้ว ก็ขึ้นธรรมมาสน์สวดปาติโมกข์เป็นครั้งแรกในชีวิต ที่วัดถ้ำกลองเพล ใช้เวลาแค่ ๔๔ นาที

หลังจากออกพรรษาแล้ว ก็เข้าวัดป่าบ้านตาด จำพรรษาที่นั่น ปี ๒๕๓๐ - ๒๕๓๒ เป็นเวลา ๓ ปีเต็ม นอกเหนือจากการฝึกภาวนาแล้ว ก็ทุ่มเทฝึกฝนสวดปาติโมกข์อย่างหนัก จนคิดว่า หมดปัญญาที่จะสวดให้ได้ดีไปกว่านี้อีกแล้ว การสวดปาติโมกข์แบบฉายรวดเดียวจบ ไม่ผิดแม้แต่สักตัวเดียว อักขระฐานกรณ์ชัดเปรี๊ยะ ทุกถ้อยทุกคำ ก็นับครั้งไม่ถ้วนแหละนะ ถ้าจะสวดผิดอย่างมากก็หนึ่งคำ สองคำ หรือสามคำ เท่านั้นเอง ในสมัยที่ยังหนุ่มยังแน่นความจำยังดีอยู่ ไอ้ที่สวดปาติโมกข์แบบตะกุกตะกัก ผิด ๆ พลาด ๆ ต้องบอกกันไปตลอดทางนี่ ไม่มีในปฏิปทาของเราเลย

หนังสือปาติโมกข์ ที่มันเก่าขนาดนี้ มันบ่งชี้ถึงว่า ได้ผ่านกาลเวลาอันยาวนาน และผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ มามากมาย มันมีสิ่งที่มีคุณค่าที่หาประมาณมิได้ซุกซ่อนอยู่ในนั้น แต่ไม่มีใครจะรู้ได้หรอก นอกจากผู้ลงมือกระทำเอง การที่สวดปาติโมกข์ได้แล้ว กลับปล่อยให้พระปาติโมกข์เสื่อมสลายไปจากใจ นั่นคือ ความหายนะทางด้านจิตใจอย่างร้ายแรง การทรงพระปาติโมกข์ไว้ในใจ ย่อมถือเป็นคุณความดีอันยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณูปการต่อพระพุทธศาสนา ทั้งเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อคณะสงฆ์อย่างหาประมาณมิได้ ขอให้พระสงฆ์จงขวนขวายในเรื่องนี้ให้มาก ๆ ทุกวันนี้ จะหาพระที่สวดปาติโมกข์ได้ นับวันก็จะมีน้อยลงไปเรื่อย ๆ ยังมิพักต้องกล่าวถึง พระที่จะสวดปาติโมกข์ให้ได้ดี ยิ่งมีน้อยกว่าน้อย

พระวิทยา กิจฺจวิชฺโช