
ปฏิบัติธรรมภาวนา ณ สังเวชนียสถาน 4 ตำบลระหว่าง 5-17 มีนาคม 67 ![]() 5-17 มีนาคม 2567 ไปกราบนมัสการสังเวชนียสถาน 4 ตำบล และถ้ำอาชันต้า เอ็ลโลร่า 12 คืน 13 วัน พาคณะลูกศิษย์ไป 61 ชีวิต ไปปฏิบัติธรรมภาวนา ถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา คงมีเรื่องอะไรดี ๆ มาเล่าให้ฟังเยอะ ใครสนใจก็คอยติดตาม เครื่องออกจากสุวรรณภูมิ 18.55 น.
Day-1
5 มี.ค.67 เวลา 18.55 น. เครื่องออกจากสุวรรณภูมิไปมุมไบใช้เวลาบินประมาณ 4 ชม.
เวลาของอินเดียช้ากว่าไทย 1.30 ชม. ถึงมุมไบเครื่องลงเวลาท้องถิ่น 22.00 น. รอต่อเครื่องอินดิโกไปออรังกาบัด เครื่องออกเวลา 05.30 น. ของวันที่ 6 กว่าจะผ่านด่าน ตม.ไปได้ก็ใช้เวลาเป็นชั่วโมงสำหรับคณะทั้งหมด
.
สนามบินมุมไบก็แออัดยัดเยียดน่าจะพอ ๆ กับสุวรรณภูมิ แต่ของเขาตกแต่งภายในดูจะอลังการสวยงามกว่าของบ้านเรามากทีเดียว ร้านค้าตลอดทางเดินไปประตูขึ้นเครื่องก็ดูหรูดูแพง คนที่จะเข้าไปซื้อน่าจะต้องกระเป๋าหนักพอควร คืนนี้ก็นั่งพักกันที่ประตูขึ้นเครื่องรอเวลาเครื่องออก ก็มีทั้งคนนั่งรอ นอนรอ
.
เวลาคุยกับคนอินเดีย ถ้าเขาส่ายหน้าให้รู้ว่า นั่นคือการตอบรับ แต่ถ้าเขาพยักหน้า นั่นคือการปฏิเสธ ภาษากายจะไม่เหมือนของบ้านเรา ดังนั้น อย่าสับสน
Day-2
6 มีนาคม 2567 เมืองออรังกาบาด-ถ้ำเอลโลร่า-ป้อมดาลาตาบาด
.
ถ้ำเอลโลร่า อยู่ห่างเมืองออรังกาบาดไป 30 กม. รถวิ่งประมาณ 1 ชม. ถ้ำมี 3 ศาสนา คือ พุทธ ฮินดู เชน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 2526 ตั้งอยู่ในเทือกเขาจรนันทรี ถูกสร้างในระหว่าง พ.ศ.1200-1500 โดยการเจาะเข้าไปในภูเขา คล้ายกลุ่มถ้ำอาชันต้า ภายในมีแกะสลักพระพุทธรูปอยู่ในถ้ำมีความวิจิตรงดงามมาก แต่ถูกเผาทำลายเสียหายไปเยอะเหมือนกัน (ถ้ำจะปิดทุกวันอังคาร)
.
ถ้ำเอลโลร่ามีทั้งหมด 34 ถ้ำ เป็นของพุทธ 12 เป็นเทวาลัยของชาวฮินดู 17 ถ้ำ เป็นของลัทธิเชน 5 ถ้ำ บรรยายไม่ถูกให้ภาพถ่ายบรรยายแทนละกัน ในระหว่างทางผ่านป้อมดาลาตาบาด เป็นป้อมโบราณอยู่รอบภูเขาดัลคีรี เคยเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ยารวะ แต่ถูกกษัตริย์อลาอุดดินคัลจิ ชาวมุสลิมยึดได้ในปี 1839 ตกอยู่ภายใต้ปการปกครองของมุสลิมอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไป ยังมีซากเสามัสยิด 106 ต้น มีป้อมปราการพระราชวังบนเสาอายุกว่า 700 ปี เรียกพระราชวังลอยฟ้า
.
แต่คณะเราไม่ได้ขึ้นไปชมหรอก เกรงว่าจะหมดเรี่ยวหมดแรงเสียก่อน เพราะเมื่อคืนไม่ได้นอนกันทั้งคืน ทำได้แค่นั่งพักรอเครื่องที่สนามบินมุมไบ พอถึงเมืองออรังกาบัดใช้เวลาบินเกือบช้่วโมง รับประทานอาหารเช้าทำธุระส่วนตัวเสร็จก็เดินทางต่อเลย
.
จุดสุดท้ายไปนั่งภาวนากันที่ชั้น 3 ของถ้ำที่ 12 เป็นถ้ำที่ใหญ่ที่สุด มีแกะสลักพระพุทธรูป 28 พระองค์ ซึ่งก็ถูกเผาทำลายไปเป็นส่วนใหญ่ ก็มองให้เป็นเรื่องธรรมดาไปเสีย ถึงจะไม่มีการเผาทำลาย ทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องแตกทำลายด้วยตัวเองอยู่แล้ว
.
คนที่ยังติดอยู่ในความเชื่อ ยังเข้าไม่ถึงความจริง ก็ต้องทำไปตามความเชื่อของตัวเอง ถ้าเชื่อถูกก็ทำถูก ถ้าเชื่อผิดก็ทำผิด ต่างต้องได้รับผลแห่งกรรมของตัวเอง จะเชื่ออย่างไรก็ตาม ถ้าทำดีก็ต้องได้รับผลดี ทำชั่วก็ต้องได้รับผลชั่ว ไม่เป็นอย่างอื่น ไม่ขึ้นอยู่กับความเชื่อหรือไม่เชื่อของใคร เพราะความจริงย่อมเป็นความจริงอยู่ตลอดกาล
.
เราพาคณะนั่งภาวนา 30 นาที เทศน์ให้ฟังถึงหลักเบื้องต้นว่า เรามาไกลกว่าจะมาถึงที่นี่ได้ ไม่ใช่ของง่าย ตั้งใจจะมาปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า แล้วรู้ไหมว่า การปฏิบัติบูชาที่ถูกต้องทำอย่างไร ต้องวางจิตไว้แบบไหน มิใช่ดีแต่พูดว่า ปฏิบัติบูชา แต่การกระทำคำพูด กลับเป็นตรงกันข้าม ไม่ใช่อย่างนั้น
.
เทศน์ไม่นานเพื่อให้พอดีกับเวลา แต่ได้รายละเอียดครบถ้วนพอเหมาะพอดีกับสถานการณ์ตรงจุดนั้น มีพระอาจารย์สิทธิโชค ท่านกรุณามาเป็นพระวิทยากรให้ความรู้แก่คณะเกี่ยวกับถ้ำเอลโลร่า ถ้ำอาชันต้าด้วย ท่านมีความรู้แน่นมากทีเดียว ขอขอบคุณท่านไว้ ณ ที่นี้
Day-3
7 มีนาคม 2567 ถ้ำอาชันต้าอยู่ห่างจากเมืองออรังกาบาด
ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 110 กม. รถวิ่ง 2.30 ชม. (ถ้ำปิดทุกวันจันทร์) เป็นถ้ำที่เป็นประติมากรรมในพระพุทธศาสนาที่งดงามและเก่าแก่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่บนเทือกเขาอินทิยาทรี เมืองออรังกาบาด มีถ้ำทั้งหมด 30 ถ้ำ ถ้ำยุคแรก ๆ เป็นพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ยุคหลังเป็นของฝ่ายมหายาน
.
ถูกสร้างขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.350-1200 ค้นพบโดยจอห์น สมิธ ในปี พ.ศ.2362 และองค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี พ.ศ.2527
.
เราเคยมาที่นี่ครั้งหนึ่งแล้วเมื่อ ปี 2559 มาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ปี 2567 ได้พระอาจารย์สิทธิโชค เป็นพระวิทยากรนำชมแต่ละถ้ำที่เป็นจุดสำคัญ ท่านบรรยายให้ความรู้แก่คณะได้ดีมาก ได้พาคณะนั่งภาวนา 30 นาที ถวายเป็นปฏิบัติบูชา เทศน์เน้นย้ำเรื่องของการทำจิตให้สงบที่จำเป็นต้องมีศีลเป็นพื้นฐานแห่งคุณธรรมเบื้องต้น ให้กำลังใจที่จะปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ได้อย่างไร
.
ถ้ำที่เป็นไฮไลท์ของที่นี่ คือ ถ้ำ 26 เป็นถ้ำใหญ่แกะสลักพระพุทธรูปเล่าเรื่องราวพุทธประวัติไว้พอสังเขป พาคณะเดินทำประทักษิณรอบพระพุทธรูป 3 รอบ พร้อมสวดอิติปิโส สวากขาโต สุปฏิปันโน เป็นบทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ถวายเป็นพุทธบูชา นั่งภาวนาที่นี่ได้ไม่นาน เพราะเป็นจุดสำคัญที่มีคนเข้าชมเรื่อย ๆ
.
มีภาพถ่ายที่มีลายเซ็นของ จอห์น สมิธ ผู้ค้นพบถ้ำแห่งนี้ด้วย ใครสนใจก็ดูในภาพที่ลงไว้ จะทยอยนำภาพมาลงเรื่อย ๆ
.
กราบนมัสการถ้ำสุดท้ายแล้ว ก็กล่าวคำขอขมาพระรัตนตรัย ลาแล้วถ้ำอาชันต้า ถ้ามีบุญมีวาสนาค่อยมาใหม่ ทุกสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอนอบน้อมถวายความเคารพอย่างไม่มีวันจืดจาง
.
จากนั้นก็เดินกลับลงมาขึ้นรถเดินทางกลับที่พักที่โรงแรม Fern Hotel คณะได้รวบรวมปัจจัยถวายพระอาจารย์สิทธิโชค เพื่อช่วยท่านซื้อที่ดินสร้างวัดที่หน้าถ้ำอาชันต้า 32,000 บาท จากนั้นก็ร่ำลากันไป
.
ถึงเวลาก็ต้องจากกัน มีบุญวาสนาร่วมกันจึงได้มาเจอกัน ถ้าไม่มีบุญวาสนาร่วมกัน ต่อให้เดินชนกันก็ไม่รู้จักกันหรอก ทุกอย่างในโลกเกิดขึ้นเพราะมีเหตุ เมื่อหมดเหตุก็ต้องดับไปเป็นธรรมดา ถ้าเราเข้าใจความจริงของทุกสิ่ง ก็จะรู้ว่า ไม่มีอะไรให้เรายึดถือไว้ได้เลย
Day-4
8 มีนาคม 2567 ออกจากออรังกาบาดบินตรงไปนิวเดลี
เครื่องออก 8.00 น. ถึง นิวเดลี 9.45 น. ถึงเวลาต้องจากกัน ขอบคุณถ้ำอาชันต้า ถ้ำเอลโลร่า เมืองออรังกาบาด ขอบคุณทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้เราได้มาเยือนดินแดนแห่งนี้ ที่ซึ่งมีความประทับใจอย่างไม่มีวันจืดจาง มีโอกาสค่อยมาใหม่
.
คณะรับประทานอาหารเช้าบนเครื่องบิน เราไม่ฉันบนเครื่องบิน ไปฉันเอาตอนเพลทีเดียวที่ภัตตาคารจีนจำชื่อร้านไม่ได้ จากนั้นทางทัวร์จะพาไปชมวัดฮินดูที่ใหญ่ที่สุดในเดลี ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย เขาว่าเป็นไฮไลท์ของที่นี่ พอไปถึงปรากฏว่า มีคนเข้าชมเยอะมากต้องต่อแถวยาวเหยียด รู้สึกว่าไม่ค่อยเหมาะนักเกรงว่าจะเสียเวลามาก ก็เลยกลับออกมา ไม่มีแก่ใจที่จะเข้าชม จากเดลีออกเดินทางต่อไปที่เมืองอัครา ใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมง ก็เหนื่อยไปถึงก็เข้าที่พักเลย พักที่โรงแรม Retreat Hotel พรุ่งนี้จึงไปที่ทัชมาฮาล
Day-5
9 มีนาคม 2567 ทัชมาฮาล-อัคราฟอร์ท
.
ทัชมาฮาล ต้องนั่งรถกอล์ฟเข้าไป เขาบริการฟรี ต้องผ่านด่านสแกนหลายชั้น กว่าจะหลุดเข้าไปได้ คนเยอะมาก ปกติเราไม่ค่อยชอบที่มีคนแออัดอยู่แล้ว ถ้าเลี่ยงได้ก็จะเลี่ยง อันนี้ไปตั้งแต่ตี 5.30 น. ต้องเอาผ้าครองไปด้วย มันยังไม่ได้อรุณ เขาบอกว่า ไปตอนเช้ามันได้บรรยากาศตอนพระอาทิตย์ขึ้น ก็เห็นแก่คณะที่ไปด้วย ก็ปล่อยตามใจ เพราะหลายคนไม่เคยมา
.
คนเยอะแบบนี้ เราไม่กล้าเอามือถือมาถ่ายรูปเอง โยมว่าจ้างให้ช่างภาพแขกช่วยถ่ายให้ สื่อภาษากันไม่เข้าใจ คิดว่า 100 รูปี กลายเป็นรูปละ 100 รูปี เขาก็กดถ่ายไปเยอะละ พอมาคิดตังค์ เขานับจำนวนรูป เล่นไปหลายพันรูปี เห็นว่าโหดไป ลดก็ไม่ยอมลด สุดท้ายก็เลยให้ลบรูปทิ้งทั้งหมดเลย ใครไปก็ระวังด้วยละกัน ถ้าจะให้เขาถ่ายรูปให้
.
เราเดินดูแถวรอบนอก ไม่ได้เข้าไปข้างใน เคยเข้าไปครั้งหนึ่งแล้ว สมัยนั้น ปี 38 คนไม่เยอะขนาดนี้ ก็มีโลงอยู่สองโลงวางคู่กัน แต่ตอนนี้ ถ้าจะเข้าไปข้างในต้องจ่ายเพิ่มอีกคนละ 200 บาท ต้องไปต่อคิวยาวเหยียด ก็ให้คณะเดินชมกันไปตามอัธยาศัย ใครจะถ่ายรูปก็ปล่อยให้ไปตามสบาย ใครไม่เคยมาเขาก็อยากได้รูปถ่ายเก็บไว้ ก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับที่ถูกยกให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกนี่ ก็น่าจะทำรายได้ปีหนึ่งไม่ใช่น้อย
.
เราเดินหลบคนไปหาที่นั่งรอเวลาคณะพร้อมก็กลับออกมาไปที่ อัคราฟอร์ท ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน สมัยนี้เรียกป้อมปราการแดง สมัยก่อนเรียกพระราชวังแดง เราจะไม่พูดถึงประวัติของทั้งสองที่ ใครอยากรู้ก็ไปหาอ่านเอาเองในกูเกิ้ล
.
กว่าจะออกจากที่นี่ก็บ่ายมากล่ะ นั่งรถต่อไปพาราณสีระยะทางประมาณ 600 กว่า กม. ใช้เวลา 8-9 ชั่วโมง โชเฟอร์ขับรถใจเย็นมาก ก็แวะเข้าห้องน้ำกันเป็นจุด ๆ เพื่อลงไปเดินยืดเส้นยืดสายกันบ้าง กว่าจะเข้าถึงที่พักฟาดไปตี 2.00 น. พักที่ Pristine Hotel ตี 5.30 น. ทัวร์พาไปชมแม่น้ำคงคา ก็ปล่อยตามสบาย ใครอยากไปก็ไป ใครไม่ไปก็นอนต่อ เราขอไม่ไปล่ะ เหนื่อย!!
Day-6
10 มีนาคม 2567 ธัมเมกขสถูป-พิพิธภัณฑ์สารนาถ
.
ช่วงเช้าตี 5.30 น. คณะใครอยากไปล่องเรือในแม่น้ำคงคา ชมบ้านเรือนริมฝั่งแม่น้ำก็เอาตามอัธยาศัย เสร็จแล้วกลับมารับประทานอาหารเช้าที่โรงแรม ฉันเช้าเสร็จก็ออกเดินทางไปธัมเมกขสถูปซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นเหตุให้พระอัญญาโกญธัญญะมีดวงตาเห็นธรรมบรรลุพระโสดาบัน พร้อมกับพระรัตนตรัยปรากฏครบถ้วนบริบูรณ์ทั้ง 3 ประการ
.
เราพาคณะนั่งทำวัตรเช้า และสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เอาเสียงบูชา พระพุทธเจ้าจากนั้นนั่งสมาธิทำใจให้สงบถวาย เป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา และเทศน์เรื่องอริยสัจ 4 ภาคปฏิบัติ ให้ฟังพอได้ใจความสำคัญประมาณ 40 นาที เนื่องจากมีผู้คนมาจากหลายประเทศมาถวายสักการะบูชากันตลอดเวลา
.
เมื่อทำทุกอย่างสมดังที่ตั้งใจมาแล้ว ก็กราบลาขอขมาพระรัตนตรัย จากนั้นไปที่พิพิธภัณฑ์สารนาถ กราบถวายสักการะเคารพพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่งดงามที่สุดสมบูรณ์ที่สุดในโลกประดิษฐาน ณ ประเทศอินเดีย ที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันโดยที่ไม่ถูกทำลายไป มีเสาอโศกที่สมบูรณ์ที่สุดอยู่ในพิพิธภัณฑ์นี้ด้วย จากนั้นให้คณะพักรับประทานอาหารกลางวันที่วัดไทยสารนาถ
.
พอได้เวลาสมควรก็เดินทางต่อไปที่ลุมพินีวัน ประเทศเนปาล ไปถึงด่านก็ 2 ทุ่มกว่า ต้องผ่านด่าน ตม.ออกจากอินเดีย ตม.ส่วนกลาง ตม.เข้าเนปาล กว่าจะหลุดจากด่าน ตม.เข้าเนปาลได้ฟาดเข้าไปเกือบ 5 ทุ่ม ดีที่มาถึงมืดค่ำแล้ว ไม่ค่อยมีคนเยอะ เขาบอกว่า ถ้าเป็นตอนกลางวัน คนเยอะกว่านี้ มีหลายคณะ บางทีอาจเสียเวลา 4-5 ชม. เพราะเจ้าหน้าที่มีแค่ 2-3 คน คณะเรามี 60 คน ตรวจคนละ 1 นาที ก็ชั่วโมงกว่าแล้ว 3 ด่านก็ 3 ชั่วโมง แขกใจเย็นมาก ๆ
.
ใครติดตามบทความเราอยู่ แจ้งให้ทราบว่า เราจะอัพเดตบทความเพิ่มเติมไปตามเหตุการณ์แต่ละช่วงวัน รวมทั้งมีอัพโหลดรูปภาพเพิ่มเติมเรื่อย ๆ จากที่คณะถ่ายรูปส่งกันเข้ามา ภาพถ่ายส่วนใหญ่จะอยู่ในกล้อง Full Frame บางที่เขาไม่ให้เอามือถือเข้าไป ต้องรอเข้าที่พักใช้ไวไฟจึงจะอัพโหลดภาพได้ ตอนเดินทางใช้คลื่นมือถือโรมมิ่งจากเมืองไทยได้ข้อมูลแค่ 14 GB ต้องประหยัดไปใช้ไวไฟของโรงแรมอัพโหลดรูปภาพตอนกลางคืน
Day-7
11 มีนาคม 2567 ลุมพินีวัน-กุสินารา
.
สถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างพระวิหารมายาเทวีครอบไว้ ในปี พ.ศ. 243 ตรงบริเวณที่พระนางสิริมหามายาทรงให้กำเนิดพระราชกุมาร ก่อนพุทธศักราช 80 ปี มีเสาอโศกที่จารึกอักษรพราหมณีไว้ มีความหมายว่า
.
“ในปีที่ 20 แห่งการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าปิยทัสสี ทรงเสด็จมาโดยพระองค์เองเป็นที่ประสูติของพระศากยมุนี โปรดให้งดเก็บภาษีโดยจ่ายเพียง 1 ใน 8 ส่วน”
.
ภายในพระวิหารมายาเทวี เขาให้เข้าไปไหว้แล้วก็ออกมา โดยเข้าแถวเรียงหนึ่งต่อกันไป เขาห้ามไม่ให้เอาโทรศัพท์มือถือเข้าไปด้วย ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพภายในพระวิหาร คงถ่ายภาพได้แต่เพียงด้านนอกเท่าที่นำมาลงให้ดูเท่านั้น
.
หาได้มุมสงบร่มรื่นพาคณะนั่งทำวัตรเช้าแล้วแผ่เมตตาไม่มีประมาณ จากนั้นก็พานั่งสมาธิอีกประมาณ 50 นาที เทศน์ให้ฟังถึงการสร้างบารมีของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์นั้นยากนักหนา เพียงเพื่อปรารถนาที่จะรื้อขนสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ กว่าจะตรัสรู้อริยสัจ 4 นำธรรมมาสอนพวกเราได้ พระองค์ต้องสร้างบารมีถึง 20 อสงไขยเศษแสนมหากัปป์
.
พวกเราเพียงได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าก็ย่นระยะการเวียนว่ายตายเกิดไปถึง 20 อสงไขย เหลือเพียงเศษแสนมหากัปป์เท่านั้น ดังนั้น เมื่อมีโอกาสได้สดับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว อย่าพึงเห็นเป็นของไร้ค่า ให้ตั้งใจนำธรรมมาปฏิบัติทำศีล สมาธิ ปัญญาให้เกิดขึ้นที่ใจของตนให้ได้
.
ได้เวลาพอสมควรก็ไหว้พระ ขอขมาพระรัตนตรัย กราบลาสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าอันเป็นมงคลสูงยิ่ง จากนั้นก็นั่งรถตุ๊ก ๆ ออกมาขึ้นรถทัวร์ที่จอดรออยู่ด้านนอก แวะให้คณะรับประทานอาหารกลางวันที่วัดไทยลุมพินี แล้วไปเผชิญกับด่าน ตม. อีก 3 ด่าน ขากลับดูเหมือนจะเร็วกว่าขามานิดหน่อย
.
ถ้าเขาปรับปรุงการบริการให้เร็วกว่านี้ได้ ก็คงจะประหยัดเวลาไปได้มากทีเดียว คณะไหนมาตรงกับช่วงที่คนเยอะ ๆ มีหวังชีวิตเปลี่ยนแน่ ๆ เพราะแขกเขาทำงานใจเย็นมาก โปรแกรมการเดินทางอาจต้องเลื่อน เพราะไปไม่ทันตามที่กำหนด บางคณะเสียเวลาอยู่ตรงนี้ 5-6 ชั่วโมง ถ้าใครจะไปกราบสักการะลุมพินีที่ประสูติ ต้องเผื่อเสียเวลาที่ด่าน ตม. 3 ด่านนี้ไว้ด้วย
.
ผ่านด่าน ตม.ไปได้ก็แวะเข้าห้องน้ำที่วัด 960 จากนั้นก็ไปต่อกุสินารา เดินทางอีก 3 ชั่วโมง ถึงที่พักประมาณ 2 ทุ่ม คืนนี้พักที่ Hotel Om Residency
Day-8
12 มีนาคม 2567 กุสินารา-สาลวโนทยาน-มกุฏพันธนเจดีย์
.
คณะออกจากที่พัก 8.00 น. ไปที่สาลวโนทยาน สถานที่ปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นตรงที่มีพระพุทธรูปนอน ที่จริงเป็นตรงพระสถูปที่อยู่ด้านหลังของวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูป
.
พอคณะเราไปถึงที่ตรงนั้นก็ว่างพอดี ปูอาสนะทำวัตรเช้ากัน แล้วแผ่เมตตาไม่มีประมาณ จากนั้นก็นั่งภาวนาต่อไป ก็ตั้งใจมาเพื่อภาวนาโดยตรง ถ้ามาแล้วไม่นั่งภาวนา ก็ขาดทุนเท่านั้นเอง คิดว่า จะพานั่งสมาธิสัก 40 นาที ให้นั่งท่านักรบ ถ้าจะฟัดกับกิเลสก็มีแต่ต้องท่านี้เท่านั้น ท่าพระพุทธเจ้าปราบมาร เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งตัวตรง ตั้งสติมั่น กำหนดพุทโธ ๆๆ ไว้ในใจ ให้มีสติอยู่กับพุทโธเพียงอย่างเดียว
.
เวลาเทศน์ธรรมไม่รู้มาจากไหน ไหลออกมาเหมือนสายน้ำตกจากหน้าผา ไม่มีขาดวรรคขาดตอนเลย ทั้ง ๆ ที่ก่อนแต่จะเทศน์ ก็ยังไม่รู้ว่า จะเทศน์เรื่องอะไร มันเหมือนไม่มีความรู้อะไรเลย เทศน์ภาคปฏิบัติมันต้องเป็นปัจจุบันสด ๆ ร้อน ๆ เท่านั้น จะไปนึกคิดเอาไว้ก่อนไม่ได้เลย มันจะกลายเป็นสัญญาไป ถ้าใช้สัญญาเทศน์ก็ไปไม่รอดหรอก เพราะไม่ใช่ภาคปฏิบัติ มันกลายเป็นปริยัติไป
.
พูดเรื่องอริยสัจ 4 เน้นต่อสู้กับความทุกข์และความตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินมรรค 8 จะออกนอกลู่นอกทางไม่ได้เลยแม้แต่น้อย เทศน์ให้อุบายในการวางจิตเพื่อต่อสู้กับทุกข์ ทำอย่างไรให้จิตไม่ทุกข์ในยามที่ต้องเผชิญกับทุกข์ทางกายอย่างหนัก ๆ ปลุกปลอบใจเร้าใจให้อาจหาญในการประกอบความเพียรเพื่อเอาชนะกิเลส เป็นครั้งเป็นคราวไป อย่างน้อยให้มีชนะบ้าง อย่าเอาแต่แพ้กิเลสท่าเดียว ใครทำได้ก็มีหวังจะพ้นทุกข์ได้ เทศน์ไปแป๊บเดียวหมดไป 1 ชั่วโมง
.
จากนั้นไหว้พระกราบขอขมาพระรัตนตรัย กราบลาสถานที่ปรินิพพานอันเป็นมงคลอย่างยิ่งยวด พอเริ่มสายคนก็เริ่มทยอยมากันมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งไต้หวัน เวียตนาม ศรีลังกา คณะออกจากตรงนั้นก็ไปถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก แล้วเดินทางต่อไปที่มกุฏพันธนเจดีย์ อันเป็นสถานที่ถวายเพลิงพระสรีระของพระพุทธเจ้า ทำประทักษิณ 3 รอบ เดินสวด อิติปิโส สวากขาโต สุปฏิปันโน อันเป็นบทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ
.
พออิ่มอกอิ่มใจกันแล้วก็เดินทางต่อไปแวะรับประทานอาหารกลางวันที่วัดไทยกุสาวดี คณะรวบรวมปัจจัยทอดผ้าป่าถวายวัดไป 24,110 บาท แล้วเดินทางต่อไปเมืองเวสาลี ระยะทาง 100 กว่ากิโล ใช้เวลาเดินทาง 3-4 ชั่วโมง ในระหว่างทางผ่านพระสถูปเกสริยา อันเป็นสถานที่่ประดิษฐานบาตรของพระพุทธเจ้า แต่ปัจจุบันถูกนำไปประดิษฐานที่อื่น ซึ่งรัฐบาลอินเดียกำลังทำเรื่องขอคืนมา
.
คณะถึงที่พักประมาณ 6 โมงเย็น คืนนี้พักที่ Blue Lotus Hotel
Day-9
13 มีนาคม 2567 ปาวาลเจดีย์-กูฏาคารศาลา วัดป่ามหาวัน-วัดเวฬุวัน
.
ปาวาลเจดีย์ เป็นสถานที่พระพุทธองค์ทรงปลงพระชนมายุสังขาร โดยตั้งพระทัยว่าจะดับขันธปรินิพพานในอีก 3 เดือนข้างหน้าต่อจากนี้ วันนั้นตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 คือ วันมาฆบูชา เคยมีพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ ณ ที่นี้ แต่ปัจจุบันถูกนำไปประดิษฐานที่พิพิธภัณฑ์ปัตนะ ที่ตรงนี้จึงมีเพียงฐานของพระสถูปเป็นรูปวงกลม ที่มีหลังคาสังกะสีสีเขียวรูปโดมสร้างครอบเอาไว้
.
คณะเดินทำประทักษิณ 3 รอบ เอาเสียงบูชาพระพุทธเจ้า สวดบทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ จากนั้นกล่าวคำไหว้พระ กล่าวคำขอขมาพระรัตนตรัย กราบลาสถานที่อันเป็นมงคลนี้ ให้คณะถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก
.
แล้วเดินทางต่อไปที่กูฏาคารศาลา วัดป่ามหาวัน สถานที่นี้มีความสำคัญหลายอย่าง ในตอนที่เกิดทุพพิกขภัยที่เมืองเวสาลี พระพุทธองค์ทรงสอนให้สวดบทรัตนสูตร ประพรมน้ำพุทธมนต์ กำจัดโรคภัยทั้งหลายให้หมดสิ้นไป
.
ที่ตรงนี้ยังมีเสาอโศกที่สมบูรณ์ที่สุดเสาหนึ่งยังเหลืออยู่ มีสิงห์ตัวหนึ่งอยู่หัวเสาหันหน้าไปทางทิศเหนือ พาคณะทำวัตรเช้า แล้วนั่งภาวนาทำความสงบใจได้ประมาณ 30 นาที เทศน์ให้ฟังถึงการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอันยาวไกลไม่มีที่สิ้นสุด
.
สัตว์โลกทั้งหลายล้วนแหวกว่ายลอยคออยู่ในมหาสมุทรที่มองไม่เห็นฝั่ง แต่สัตว์โลกผู้มีบุญวาสนายังมีโอกาสได้เห็นเรือธรรมของพระพุทธเจ้าลอยอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร ผู้มีสติปัญญาก็แหวกว่ายไปขึ้นเรือธรรมนั้นได้ ก็มีสิทธิ์ที่จะขึ้นฝั่งรอดพ้นจากความตายไปได้
.
ผู้ไม่มีบุญวาสนาก็อาจมองไม่เห็นเรือธรรม หรือมองเห็นแต่ไม่สนใจที่จะแหวกว่ายไปขึ้นเรือธรรม ก็จมน้ำตายอยู่ในมหาสมุทรเสียเป็นจำนวนมาก
.
เรือธรรมก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่เอง สัตว์โลกรายใดได้สดับพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้ชื่อว่า มองเห็นเรือธรรมนั้น เมื่อทำความพยายามแหวกว่ายไปที่เรือธรรมนั้นอยู่ จนสามารถขึ้นไปบนเรือได้ ก็คือ ผู้ที่นำศีล สมาธิ ปัญญา มาปฏิบัติจนบรรลุธรรมพ้นทุกข์ไปได้นั่นเอง
.
พวกเราก็เป็นเพียงจิตวิญญาณดวงหนึ่งในจิตวิญญาณหลายล้านดวงอันนับประมาณไม่ได้ เวลานี้มาถูกคุมขังอยู่ในกายมนุษย์ ได้ยินได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว จะฝึกฝนอบรมจิตด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นธรรมปราบกิเลสชั้นยอดเยี่ยม จะฝึกหนักฝึกเบาอย่างไรก็ทำได้ตามอัธยาศัย ก็รีบทำเสีย ถ้ารอให้กายนี้แตกสลายแล้ว ถึงแม้อยากจะทำอีกก็ทำไม่ได้แล้ว
.
ลำพังความคิดที่เป็นมิจฉาทิฏฐิมันมีแต่หลอกลวงต้มตุ๋นให้เราหลงทางเท่านั้น อย่าไปคิดว่า มันเป็นเรา อย่าไปยึดถือเอาเป็นจริงเป็นจัง อย่าไปหลงเชื่อทำตามมัน ให้เชื่อธรรมของพระพุทธเจ้า อันนั้นจึงเป็นความคิดที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ที่สามารถชักนำดวงจิตเราไปสู่ความดับทุกข์ได้ คือ หนทางแห่งอริยมรรคมีองค์ 8 นี้ เท่านั้น อันใดที่ผิดทางอริยมรรคให้งดเว้นอย่างเด็ดขาด
.
จากนั้นกล่าวคำไหว้พระ กล่าวคำขอขมาพระรัตนตรัย กราบลาสถานที่อันเป็นมงคลยิ่งนี้ พาคณะกลับไปรับประทานอาหารกลางวันที่โรงแรม แล้วออกเดินทางต่อไปกรุงราชคฤห์ ระยะทางประมาณ 160 กม.ใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมง รถติดมาก
.
ไปถึงวัดเวฬุวันอันเป็นวัดแห่งแรกในสมัยนั้นเวลาประมาณบ่าย 5 กว่า ๆ ทำวัตรค่ำ แผ่เมตตาเสร็จ ก็มีเวลานั่งสมาธิได้ประมาณ 40 นาที เพราะเขาปิดเวลา 18.30 น. ให้นั่งท่านักรบทำความสงบใจตามกำลังของแต่ละคน เราเทศน์ให้ฟังถึงเรื่องสาระสำคัญของการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร
.
ให้ทำใจให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสในคุณของพระพุทธเจ้า คุณของพระธรรม คุณของพระสงฆ์ เมื่อมีศรัทธาแล้ว ก็จะเกิดวิริยะความเพียรในการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็จะมีสติแก่กล้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป ใจก็จะมีสมาธิหนักแน่นมั่นคง ก็จะหนุนเนื่องให้เกิดปัญญาแก่กล้าจนสามารถกำจัดอาสวะกิเลสให้หมดสิ้นจากใจได้
.
อินทรีย์ 5 พละ 5 นี้ คือบารมีธรรมที่หนุนส่งให้ศีล สมาธิ ปัญญา แก่กล้าบริบูรณ์จนสามารถดับสังโยชน์ 3, 5 หรือ 10 ให้ขาดสะบั้นจากใจได้
.
การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา ได้มีโอกาสฟังธรรมอันล้ำเลิศประเสริฐของพระพุทธเจ้าแล้ว นับเป็นการยากแสนยากนักหนากว่าจะได้พบเจอในแต่ละสมัย จึงไม่ควรปล่อยโอกาสทองให้ล่วงเลยผ่านไปเปล่า ๆ โดยมิได้นำธรรมมาปฏิบัติให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมทั้งปวงได้ ก็นับว่า สูญเสียโอกาสอันยิ่งใหญ่ไปอย่างน่าเสียดาย
.
พอได้เวลาก็กล่าวคำอำลา ไหว้พระ และกราบขอขมาพระรัตนตรัย จากนั้นก็ปล่อยให้คณะถ่ายรูปเก็บเป็นที่ระลึกกันตามสบาย คืนนี้พักที่ โรงแรม Indo Hokke
|