
พระธาตุอินทร์แขวน พระธาตุอินทร์แขวน (เจดีย์ไจก์ทิโย)
พระธาตุอินทร์แขวน หรือ ไจก์ทิโย ในภาษามอญ หมายถึง หินรูปหัวฤๅษี บนยอดเขา Paung Laung (พวงลวง) หรือ ภูเขาฤๅษี อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 3,615 ฟุต ลักษณะเด่นของพระธาตุอินทร์แขวน คือมีลักษณะเป็นก้อนหินสีทองขนาดใหญ่สูง 5.5 เมตร ตั้งอยู่บนหน้าผาสูงชันอย่างหมิ่นเหม่ เหมือนจะหล่นและท้าทายแรงดึงดูดของโลกโดยไม่ตกลงมาอย่างเหลือเชื่อ ทำท่าเหมือนจะหล่น แต่แท้จริงแล้วไม่ไหวเอนสักนิด ถือเป็นการวางน้ำหนักที่สมดุล โดยมีธรรมชาติเป็นผู้สร้างสรรค์ เจดีย์แห่งนี้ มีลักษณะที่แปลกแตกต่างไปจากเจดีย์องค์อื่น คือ เป็นลักษณะของก้อนหินที่มีลัษณะคล้ายศีรษะฤๅษีปิดทองไว้รอบๆ องค์เจดีย์ มีน้ำหนักประมาณ 5,000 ตัน ตั้งวางอยู่บนปลายหน้าผาได้อย่างน่าอัศจรรย์ บนความสูงจากพื้นดินกว่า 1,200 เมตร และที่สำคัญพระธาตุอินทร์แขวน นับเป็น 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวพม่าต้องไปสักการะ และยังเป็นพระธาตุประจำปีจอ คนเกิดปีนี้น่าหาโอกาสไปนมัสการสักครั้งหนึ่งในชีวิต พุทธตำนานเล่าว่า ฤๅษีติสสะ เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับพระเกศาจากพระพุทธเจ้า ที่ทรงมอบให้ไว้เป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ให้ประชาชนสักการะ เมื่อครั้งมาแสดงธรรมเทศนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ ผู้ที่ได้รับมอบพระเกศาต่างก็นำไปบรรจุในสถูปเจดีย์ แต่ฤๅษีติสสะกลับซ่อนไว้ในมวยผม เมื่อเวลาล่วงเลย ถึงคราวที่ฤๅษีติสสะจะต้องละสังขาร จึงตั้งใจไว้ว่าจะนำพระเกศาไปบรรจุไว้ในก้อนหินที่มีรูปร่างคล้าย “ศีรษะของเขา” ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) จึงช่วยแสวงหาก้อนหินดังกล่าวจากใต้มหาสมุทร และนำมาวางไว้บนภูเขาหิน
การเดินทางไปพระธาตุอินทร์แขวน ห่างจากกรุงย่างกุ้งประมาณ 180 กิโลเมตร นั่งรถผ่านเมืองหงสาวดี สู่เมืองไจก์โท่ ใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง จากนั้นนั่งรถบรรทุกหกล้อเดินทางขึ้นเขาที่มีความสูงชัน ระยะประมาณทาง 8 กิโลเมตร ใช้เวลาอีกครึ่งชั่วโมง ถึงจุดเดินเท้าหรือจุดที่นั่งเสลี่ยง บนเส้นทางก่อนขึ้นไปถึงองค์พระธาตุ มีอาคารสร้างเป็นศาลาให้เข้าไปไหว้สองจุด คือ ด้านขวา เป็นองค์พระธาตุจำลองเเละมีรอยพระพุทธบาท ส่วนอาคารทางซ้าย คือ รูปปั้นพระนางชเวนันจิน นางเป็นส่วนหนึ่งในตำนานของพระธาตุอินทร์แขวน มีความเชื่อกันว่าหากเจ็บป่วยตรงส่วนไหนของร่างกาย เวลาไหว้พระนาง ให้จับ-บีบ-นวดรูปปั้นพระนางตรงส่วนที่เจ็บป่วยแล้วตั้งจิตอธิษฐาน และมาจับร่างกายของเราตรงที่เจ็บป่วยก็จะหายได้
ขอบคุณข้อมูลจาก: ข่าวสดออนไลน์ และ mthai travel รูปภาพทั้งหมดจาก: facebook พระวิทยา กิจฺจวิชฺโช
|