
ธุดงค์ตามรอยบาทพระศาสดา ธุดงค์ตามรอยบาทพระศาสดา เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีข่าวดังเกรียวกราว กรณีมีพระอุตริมาเดินธุดงค์อยู่กลางใจเมืองหลวงของประเทศไทย จำนวนพันกว่ารูป ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกระหึ่มไปทั่วบ้านทั่วเมือง มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย กรณีว่าเหมาะสมหรือไม่? มันถูกธรรมถูกวินัยแล้วหรือ? มันใช่ธุดงค์ของพระพุทธเจ้าหรือเปล่า? เพราะมันเป็นการเดินธุดงค์ที่ค่อนข้างจะวิจิตรพิสดาร เพราะพระท่านเดินกันเป็นแถวยาวเหยียด สะพายบาตร แบกกลด แต่งองค์ทรงเครื่องแบบเดียวกันหมด เรียกว่า จัดหนัก จัดเต็ม มาตรฐานเดียว หนึ่งไม่มีสอง ว่างั้นเถอะ มองดูแล้วก็เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามเสียนี่กระไร มีการจัดฉากประดับประดาถนนหนทางอย่างประณีต ให้คนแต่งชุดขาวโรยกลีบกุหลาบ ให้พระท่านเดินเหยียบย่ำด้วยความสำรวม ฟังว่าเป็นกลีบกุหลาบระดับอินเตอร์ด้วย เพราะวัดนี้เขาทำอะไรต้องมีระดับทั้งนั้น ฟังว่าอิมพอร์ตตรงมาจากดูไบ เอ๊ย!!! ไม่ใช่ จากประเทศจีนโนน่!! ที่เด็ดไปกว่านั้น คือการสำแดงความยิ่งใหญ่ ถึงขั้นสามารถปิดถนนอำนวยความสะดวกให้พระเดินธุดงค์กันเลยทีเดียว งานนี้ว่ากันว่า ถ้าผู้ยิ่งใหญ่ของบ้านเมือง ไม่ไฟเขียวคงทำไม่ได้ ฮ่าๆๆๆ อันที่จริงเรื่องนี้ถ้าว่าไปแล้ว ก็เป็นเรื่องไร้สาระอย่างสิ้นเชิง ไม่มีค่าคู่ควรแก่การสนใจ และไม่มีราคาควรแก่การจะหยิบยกมาเอ่ยถึงอีกต่างหาก แต่เผอิญมันมีความพยายามที่จะบิดเบือน และโน้มน้าวให้คนเข้าใจไปว่า การเดินธุดงค์ดังกล่าวนั้น เป็นความชอบด้วยธรรมวินัย และเป็นบุญใหญ่ ที่มีพุทธศาสนิกชน ไปแสดงความเคารพนบนอบ ถวายสักการะแก่พระธุดงค์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ จำนวนตั้งพันกว่ารูป ซึ่งหาโอกาสมิได้ง่ายๆ ที่พระท่านจะมาเดินธุดงค์ร่วมกันจำนวนมากเพียงนี้ แน่นอนสิ!! ถ้าไม่มีตังค์ในกระเป๋าถึงขั้นระดับมหาเศรษฐี ก็ไม่มีทางที่จะนิมนต์พระมาเดินทำท่าสำรวมได้มากมายขนาดนี้ และไม่รู้ว่าจะมีพระปฏิบัติดีที่ไหน จะถึงขนาดต้องนิมนต์ให้มาเดินธุดงค์ โดยต่างมีอัธยาศัยเดียวกัน คือชอบเดินธุดงค์อยู่กลางใจเมืองหลวงเป็นจำนวนพันเช่นนี้ เพราะพระปฏิบัติจริงๆ โดยมากท่านนิยมเดินธุดงค์ไปตามอัธยาศัยของท่าน ในป่าในเขาไม่คลุกคลีเกลื่อนกล่นด้วยผู้คน และไปกับผู้มีจริตนิสัยเช่นเดียวกัน อย่างมากก็ไม่เกิน ๓ หรือ ๔ องค์ ถ้าเกินนั้นไป ท่านว่า อยู่ที่วัดเสียดีกว่า ยิ่งการไปแบบเดินอวด หรือเดินโชว์อะไรเนี่ย ท่านยิ่งไม่ทำกันอย่างแน่นอน ดังนั้น การเดินธุดงค์แบบพิสดาร มีการจัดฉากปูพรมโรยกลีบกุหลาบอย่างนี้ ตั้งแต่ออกจากท้องพ่อท้องแม่มา ก็เพิ่งจะได้เห็นเป็นครั้งแรกนี่แหละ มันช่างเป็นเหมือนธุดงค์ในฝันเอาเสียจริงๆ ดูภาพที่ออกมา ช่างเป็นความงามอันวิจิตรตระการตา อย่างหาที่ใดเสมอเหมือนมิได้ เพราะไม่มีที่ไหนเขาคิดทำกันได้ขนาดนี้ ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ แต่เขาไม่ทำกัน ไม่รู้ว่าเรื่องนี้มันบรรจงเอ็กซ์พอร์ตออกไปจากหัวกระโหลกของท่านผู้ใด นะจ๊ะ ต้องขออภัยที่ใช้ศัพท์ภาษาต่างประเทศ เพื่อให้มันเข้ากับบรรยากาศ สื่อบางสำนักถึงกับขนานนามว่า "ธุดงค์แคทวอล์ค" เลยทีเดียว คือทำยังกะเดินแฟชั่นโชว์ มันดูออกจะหรูเริดเกินไปหรือเปล่า? หลวงพี่เอ๋ยยยย จะว่าไปแล้ว การเดินท่องเที่ยวดังกล่าว เขาก็มีสิทธิ์ที่จะทำได้ จะสำแดงแสนยานุภาพ ว่าข้านี้คือผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุทธจักรดงขมิ้น ก็ทำไปเถอะ ไม่ว่ากัน เพราะจะใหญ่แค่ไหน มันก็ใหญ่เหนือพญามัจจุราชไปไม่ได้หรอก อยู่ไปไม่นานประเดี๋ยวก็ตายกันหมดแล้ว ไม่รู้ว่าจะอยากใหญ่ไปหาพระแสงด้ามยาวอะไร การเดินเช่นนั้น จะเรียกว่า เดินปฏิบัติธรรม หรือเดินตามหาแก่นธรรม หรือ จะเดินท่องเที่ยวโปรดสัตว์ อย่างไรก็ว่าไป แต่นี่ดันทะลึ่งมาใช้คำว่า "เดินธุดงค์" มันก็เลยเป็นเรื่องขึ้นมาทันที มันมีคำถามเกิดขึ้นว่า "ธุดงค์" พรรค์อย่างนี้มันเป็นธุดงค์ของพระพุทธเจ้าหรือเปล่า? คำตอบก็คือ "ไม่ใช่แน่นอน" เพราะพระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้พระลูกศิษย์ตถาคตมาเดินธุดงค์แบบนี้ ไม่มีธรรมบทบาทไหน สอนให้พระมาเดินธุดงค์เพ่นพ่านอยู่ในย่านกลางใจเมือง วัตถุประสงค์ทำเพื่ออะไร??? คำว่า "ธุดงค์" มาจาก "ธุดงควัตร ๑๓" อันเป็นวัตรปฏิบัติ ๑๓ ข้อ ที่ให้พระยึดถือไว้ปฏิบัติเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส พระที่มีข้อวัตรปฏิบัติเช่นนี้ จึงควรเอ่ยขานขนานนามให้ว่า "พระธุดงค์" และพระผู้เช่นนี้ เดินไปที่ไหน นั่นก็คือ การเดินธุดงค์ เพราะมีเครื่องขัดเกลากิเลสอยู่ในตัว จะอยู่ในป่า หรืออยู่ในเมือง ท่านก็ปฏิบัติในธุดงควัตรของท่านได้ ตามควรแก่กาล และสถานที่นั้นๆ พระผู้เช่นนี้ ท่านย่อมมีวิจารณญาณรู้ได้ว่า ที่ใดสมควรไป ที่ใดไม่สมควรไป และควรจะปฏิบัติอย่างไรต่อสถานที่นั้นๆ อันจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อข้อวัตรปฏิบัติของท่านเอง ไม่ใช่การเดินธุดงค์เพื่อแสวงหาลาภสักการะ มันเข้ากันไม่ได้กับธุดงค์ตามแบบของพระพุทธเจ้า ขอถามว่า ถ้าไม่มีฎีกานิมนต์มา จะมีพระมาขนาดนี้ไหม??? จะนิมนต์พระมาทำอะไร จำนวนกี่พันกี่หมื่นกี่แสนก็ทำไปเถอะ แต่อย่าบิดเบือนพระธรรมวินัย นักปราชญ์สมัยใหม่พยายามบิดเบือนว่า ธุดงควัตร ท่านไม่ได้บังคับว่า พระจะต้องปฏิบัติตามนั้น จะไม่ปฏิบัติก็ได้ เพราะธุดงควัตร เหมาะสำหรับพระผู้มุ่งปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส ที่ชอบปฏิบัติแบบเข้มข้น มุ่งหวังความหลุดพ้นโดยเร็วพลัน พระไม่จำเป็นต้องถือธุดงควัตร ก็สามารถปฏิบัติจนถึงวิมุติหลุดพ้นได้เช่นเดียวกัน อยู่ในบ้าน หรืออยู่ในเมืองก็ปฏิบัติได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ป่าเสมอไป เรียกว่า พูดซะจนจะเก่งกว่าพระพุทธเจ้าไปแล้ว คงอาจจะลืมไปว่า เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ก็เสด็จออกจากพระบรมมหาราชวัง อันมีปราสาทราชมณเฑียรที่วิจิตรงดงาม ก็คือ ออกจากบ้านจากเมืองนี่่เอง ท่านเล็งเห็นประโยชน์อันใดล่ะ??? ยามประสูติก็ประสูติในป่า ยามตรัสรู้ก็ตรัสรู้ในป่า แม้ปรินิพพานก็เสด็จปรินิพพานในป่า พระองค์ได้ทอดสะพานไว้เพื่อให้ใครเดินตามเล่า??? ก็จริงอย่างนั้น หากจะบอกว่า ท่านก็ไม่บังคับว่า พระทุกองค์จะต้องถือปฏิบัติในธุดงควัตร เพราะพระพุทธองค์ทรงเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ย่อมรู้นิสัยวาสนาของสัตวโลก ว่ามีหนัก มีเบาไม่เท่าเทียมกัน จะไปบังคับให้ปฏิบัติเหมือนๆกันย่อมไม่ได้ แต่เจตนาที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน ธุดงควัตร ๑๓ ขึ้นมา ก็เจตนาจะให้พระนำไปประพฤติปฏิบัติกันนั่นแหละ ถ้าไม่ให้พระปฏิบัติ จะให้สุนัข หรือโค กระบือ ที่ไหนมันมาปฏิบัติได้เล่า ครูบาอาจารย์ที่ท่านทรงมรรค ทรงผล ทรงนิพพาน ส่วนใหญ่ท่านก็จะมีธุดงควัตร ติดไม้ติดมือไปด้วย อย่างน้อยก็คนละสองข้อ สามข้อ สี่ข้อ ตามจริตนิสัย อย่างท่านพระอาจารย์ใหญ่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ถือปฏิบัติเป็นประจำ ถึงหกข้อ เจ็ดข้อไม่มีใครเทียบได้ในยุคนี้ ธุดงควัตร ๑๓ ข้อ นั้นคือ ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร, ถือผ้าสามผืนเป็นวัตร, ถือบิณฑบาตเป็นวัตร, ถือฉันในบาตรเป็นวัตร จะมีภาชนะเดียว หรือมีภาชนะที่สองบ้างก็ได้, ถือฉันอาสนะเดียวเป็นวัตร คือ มื้อเดียว, ถือเดินบิณฑบาตไปตามแถวเป็นวัตร, ถือไม่รับภัตที่นำส่งมาภายหลังเป็นวัตร, ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร, ถืออยู่ป่าเป็นวัตร, ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร, ถืออยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร, ถืออยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดให้อย่างไรเป็นวัตร, ถือเนสัชชิก คือไม่นอนเป็นวัตร เหล่านี้ ล้วนเป็นข้อปฏิบัติที่ให้เลือกปฏิบัติ ได้ตามความสามารถ และความเหมาะสมแก่กาลสมัย เพราะธุดงค์บางข้อ ไม่อาจถือปฏิบัติได้ตลอดไป พระธุดงค์มีความจำเป็นต้องเข้าไปในเมืองก็ไปได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ป่าตลอดไป หรือพระในเมืองจำเป็นต้องเข้าป่าบ้าง ก็เข้าได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเมืองตลอดไป เพราะธุดงค์บางข้อ อยู่ในเมืองก็ถือปฏิบัติได้ก็มื บางข้อต้องอยู่ในป่าจึงถือปฏิบัติได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับจริตนิสัยของผู้ปฏิบัติจะเห็นสมควรว่าจะถือปฏิบัติในข้อใด จึงเหมาะกับความสามารถของตนเอง และถูกกาลเทศะ แต่ธุดงควัตรทุกข้อ ล้วนมีจุดประสงค์ ให้เกิดความสันโดษมักน้อย ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ และจ้องกำจัดกิเลสความโลภ โกรธ หลง โดยแท้ ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมมายาสาไถยใดๆแอบแฝงในการปฏิบัติ ทั้งนั้น นี่!! จึงได้ชื่อว่า เป็นธุดงค์ของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ธุดงค์แบบให้กิเลสมันสนตะพายจูงจมูก จนรูจมูกแทบฉีกขาด แล้วยังไม่รู้ตัว ยังละเมอเพ้อพกอีกว่า "เป็นการเดินธุดงค์ตามเยี่ยงอย่างของพระบรมศาสดา" เฮ้อ!! อะไรมันจะ.....ซะขนาดนี้ พระที่สามารถปฏิบัติได้ จนถึงขั้นบรรลุมรรค ผล นิพพาน โดยไม่ต้องปฏิบัติในธุดงควัตรเลยก็มีอยู่ และยอมรับว่า จริงอย่างนั้น จะอยู่ในเมือง หรืออยู่ป่าก็ได้ทั้งนั้น ในครั้งพุทธกาล ก็มีเป็นจำนวนไม่น้อย แต่ท่านเหล่านั้น ย่อมเปี่ยมล้นด้วยวาสนาบารมีที่่สั่งสมมาแล้วอย่างเพรียบพร้อมบริบูรณ์ คือ เป็นประเภท สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา เรียกว่า ทั้งปฏิบัติได้ง่าย ทั้งรู้ได้เร็ว หากเป็นเช่นนั้น ก็เข้าใจเอาเองว่า ผู้เช่นนั้น ท่านก็คงปฏิบัติจนสำเร็จมรรค ผล นิพพาน พ้นทุกข์ ตามเสด็จพระพุทธองค์กันไปหมดแล้ว คงไม่หลงเหลือเวียนตายเวียนเกิดค้างคาโลกมาจนถึงทุกวันนี้ แล้วมาทำอะไรประหลาดๆ ทำท่าพิเรนๆ หรือแสดงธรรมแบบพิลึกพิลั่น ให้โลกสมัยใหม่ได้พิศวงงงงวยกันอย่างนี้แน่นอน พระธุดงค์ส่วนใหญ่ ท่านก็เลือกไปในที่สงบสงัด เหมาะแก่การที่จะปฏิบัติในธุดงควัตรตามอัธยาศัยของท่าน และไม่จำเป็นต้องให้ใครมานิมนต์ท่านไปเดินธุดงค์ ท่านเต็มใจไปของท่านเอง ไปในป่าในเขาลำเนาไพรเพื่อดื่มรสวิเวกแห่งธรรมอย่างแท้จริง ไอ้แบบที่ต้องมีฎีกานิมนต์ให้ไปเดินธุดงค์กลางใจเมืองจำนวนเป็นพันเนี่ย พระที่ท่านปฏิบัติธุดงค์กันจริงๆ ถามว่า ท่านจะไปกันอยู่หรือ??? ถ้าอยากจะเดินแห่ หรือจะเดินอัญเชิญอะไร ก็ว่าไปสิ มันคนละเรื่องกันกับการเดินธุดงค์ อย่าเอามาเป็นเรื่องเดียวกัน แต่นี่!!! เล่นสะพายบาตร แบกกลด แบบเต็มยศ แต่ดันมาเดินอยู่กลางใจเมือง แถมมีโปรยกลีบกุหลาบอีกต่างหาก เฮ้อ!! หมดท่าเอาซะจริงๆ!!!! ใช้อะไรคิดเนี่ย!!! บทความนี้ อยากจะบอกว่า คำว่า "ธุดงค์" นี้ เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ เปรียบเสมือน เป็นใบเบิกทาง ของพระนักรบลูกศิษย์พระตถาคต ที่มุ่งจะสังหารกิเลส เพื่อก้าวไปสู่ประตูพระนิพพาน หากไม่ได้ตั้งใจปฏิบัติจริงๆ ก็อย่าใช้คำนี้ ให้เป็นเสนียดหู เสนียดตา แก่กุลบุตรสุดท้ายผู้มาภายหลังเลย จะเป็นพระดี หรือพระเลวๆก็ตาม ก็ให้นึกถึง ผ้ากาสาวพัตร์อันเป็นธงชัยแห่งพระอรหันต์ที่ตัวเองสวมใส่อยู่ ว่าเป็นของทรงคุณค่าอันประเสริฐเลิศล้ำ อย่าได้ย่ำยีให้ด้อยคุณค่าไป ด้วยข้อประพฤติ วัตรปฏิบัตรอันเป็นที่ติฉินนินทา อันจักทำความเป็นมนุษย์ของตนให้ต่ำทรามลงไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ไม่สมควรอย่างยิ่งที่พระจะกระทำตนเช่นนั้น ควรจะกระทำในสิ่งที่สมควรกับการกราบไหว้บูชาของพุทธศาสนิกชน เพื่อเชิดชูพระพุทธศาสนา และเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างถูกต้องบริสุทธิ์บริบูรณ์ การเผยแผ่ธรรมะ แม้จะมีอานิสงส์มาก แต่ถ้าเผยแผ่ธรรมะอย่างผิดวิธี ทั้งบิดเบือนคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกต่างหาก เห็นว่า นอกจากจะไม่มีอานิสงส์ใดๆเกิดขึ้นแล้ว ยังจะเป็นการเหยียบย่ำทำลายพระพุทธศาสนาไปในตัว ด้วยการทำให้เกิดสัทธรรมปฏิรูป คือธรรมะปนเปื้อนกิเลส เป็นเหตุทำให้ธรรมอันบริสุทธิ์ต้องมีมลทินเศร้าหมองไปโดยปริยาย ไม่มีใครในโลกสามารถทำลายพระพุทธศาสนาได้ นอกจากพุทธบริษัท ๔ ทำลายกันเอง พระบรมศาสดาทรงตรัสไว้ พระพุทธศาสนาย่อมเสื่อมลงจากหัวใจของสัตวโลกเป็นบางยุคบางสมัย แต่พระพุทธศาสนายังคงมีอยู่โดยธรรมชาติอย่างสมบูรณ์บริบูรณ์ไม่ว่ายุคใดสมัยใด พระพุทธศาสนาจะไม่มีวันเสื่อมไปจากโลกเป็นตลอดอนันตกาล ดังนั้น บุคคลใดกระทำความเพียรพยายามที่จะทำลายพระพุทธศาสนา ก็เท่ากับ เป็นการทำความพยายามที่จะทำลายความดีให้หมดไปจากใจของตนเองโดยถ่ายเดียวเท่านั้น บุคคลผู้นั้น ย่อมถึงซึ่งกาลวิบัติหายนะในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน การตั้งบริษัทขายบุญ ทำความพยายามที่จะเอาบุญในพระพุทธศาสนามาดัดแปลงเป็นสินค้า แปรเปลี่ยนศรัทธาอันบริสุทธิ์ ของพุทธบริษัทมาเป็นกระดาษ ที่สมมติค่าเรียกว่า เงินหรือธนบัตรนี้ รวมทั้งการเทศนาบิดเบือนพระธรรมวินัย ย่อมบ่งชี้ถึงเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ และเป็นมลทินต่อพระพุทธศาสนาอย่างร้ายแรง อันแสดงให้เห็นถึงความโลภ และความหลงในวัตถุเงินทอง ตลอดจนความไม่เอื้อเฟื้อในพระธรรมวินัย แม้ฝ่าฝืนทำลงไป โดยไม่มีใครคัดค้านและท้วงติง แต่ในระยะยาว จะต้องประสบภัยพิบัติไปเอง เพราะเงินทองที่ได้มา เป็นของไม่บริสุทธิ์ จะเอาไปทำอะไรก็ไม่บริสุทธิ์ทั้งนั้น เพราะได้มาอย่างมีเล่ห์เหลี่ยมแอบแฝง มิใช่ได้มาโดยชอบด้วยธรรมด้วยวินัย ซึ่งหาเป็นประโยชน์แก่การพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงได้ไม่ เมื่อตนเองยังกระทำการแสวงหาเงินทองอยู่ โดยทางที่มิชอบ แล้วจะสั่งสอนบุคคลอื่นให้ตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิ และมีสัมมาปฏิบัติที่ตรงแน่วต่อ มรรค ผล นิพพาน นั้น ย่อมสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง หากสอนผู้อื่นเช่นไร ตนเองควรปฏิบัติให้ได้เช่นนั้นก่อน หรือตนเองปฏิบัติเช่นไร ก็ควรสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติได้เช่นนั้น เรียกว่า ฝึกตนเองดีแล้วจึงฝึกผู้อื่น ชื่อว่าทำตามพระพุทธเจ้า และเป็นศิษย์พระตถาคตแท้ มิใช่ว่า ตนเองปฏิบัติแบบหนึ่ง สอนเขาปฏิบัติไปอีกแบบหนึ่ง ทำนองว่า จงทำตามที่ข้าพเจ้าพูด แต่อย่าทำตามอย่างที่ข้าพเจ้าทำ อย่างนี้มันก็ใช้ไม่ได้ เพราะบางคนดีแต่พูด แต่เวลาทำเข้าจริงกลับไม่เอาไหน ดังเช่น การปรุงอาหาร ถ้าพ่อครัวไร้ฝีมือ จะบรรยายสรรพคุณรสชาติดีเลิศอย่างไร ก็ไม่ทำให้คนฟังเกิดความเอร็ดอร่อยขึ้นมาได้ แต่ถ้าพ่อครัวมีฝีมือ ไม่จำเป็นต้องพูดอะไรมากก็ได้ ปรุงอาหารขึ้นมา คนกินแล้วเขาก็สรรเสริญเอง รสชาติเป็นอย่างไร เขาก็รู้ได้เอง คนเรามิใช่จะปล่อยให้ความโง่เขลาครอบงำไปเสียหมด ถึงกาลอันควรฉลาด ก็ต้องให้ฉลาดบ้างสิ จึงอยากจะฝากเรื่องนี้ไว้ให้เป็นคติเตือนใจแก่ท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย อย่าเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา ปล่อยให้เขาสนตะพายจูงจมูกไปแบบโง่ๆเซ่อๆอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว ศาสนาพุทธสอนให้คนฉลาด และมีปัญญาแท้ๆ จะกระทำการใดๆ จึงควรคิดอ่านไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ด้วยเหตุและผลที่ถูกต้องตรงกัน มิใช่ให้เขาเอาลมมาเป่าหู ก็หลงเชื่อไปตามเขาเสียหมดสิ้น ฉะนั้น การจะกระทำการใดๆ หากมุ่งหวังความบริสุทธิ์ มันต้องมีเหตุผลที่ถูกต้องชอบด้วยธรรมวินัย อันสมควรกับการกระทำนั้นๆเป็นองค์ประกอบ จึงสมกับเป็นผู้มีสติปัญญาควรแก่การสั่งสอนผู้อื่น ตนเองยังกระทำการแบบโง่เขลาอยู่ แล้วจะสอนให้ผู้อื่นเกิดปัญญาเฉลียวฉลาดแยบคายกว่าตน จะเป็นไปได้อย่างไร? ท่านสาธุชน ผู้เปี่ยมด้วยศรัทธาในพระพุทธศาสนา หวังให้เกิดประโยชน์แก่การพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง จะกระทำการสิ่งใด ก็ควรจะพิจารณาให้รอบคอบด้วยว่า อันใดใช่ประโยชน์ อันใดมิใช่ประโยชน์ หากจะเสียเงินทำบุญ ๑๐๐ บาท แล้วเกิดประโยชน์เพียงแค่ ๑ บาท ทำไมเราต้องเสียเงินทำบุญตั้ง ๑๐๐ บาทด้วยล่ะ ทำแค่ ๑ บาทก็พอ นี่คือ เหตุผล ก็มันได้ผลแค่ ๑ บาท จะพูดให้เวอร์ไปแค่ไหน ก็พูดไปเถอะ มันก็ได้ผลแค่ ๑ บาทเท่าเก่า ลมปากจะไปเปลี่ยนแปลงสัจธรรมที่มีอยู่จริงไม่ได้อย่างแน่นอน และอีกอย่างหนึ่ง นาบุญประเภทที่ ทำบุญ ๑ บาท แต่ได้ผลตอบแทน ๑๐๐ บาท นาบุญเช่นนี้ ยังมีอยู่อีกมากในพระพุทธศาสนา ในท่านผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ทรงศีล ทรงสมาธิ ทรงปัญญาอันบริสุทธิ์อย่างแท้จริง มิใช่การประพฤติวัตรปฏิบัติ แบบจัดฉาก สร้างภาพหลอกลวง หรือ แบบผักชีโรยหน้า อย่างที่พวกเราเห็นกันอยู่อย่างเกลื่อนกล่นในทุกวันนี้ ที่มีการโฆษณาขายบุญกันอย่างเอาเป็นเอาตายเสียจริงๆ อยากแต่จะให้คนมาทำบุญ แล้วทำไมจึงอยากยัดเยียดบุญกุศลให้กับญาติโยมไปทำอะไรกันนักกันหนา จนญาติโยมจะสำลักบุญตายกันอยู่แล้ว ทำไมไม่ยัดเยียดบุญกุศลให้กับตัวเองบ้าง ด้วยข้อวัตรปฏิบัติอันเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น ญาติโยมเขาเอาข้าวใส่บาตรให้ขบฉันก็น่าจะเพียงพอต่อการดำรงชีพแล้ว กุฏิก็อยู่ฟรีไม่ได้ต้องเสียค่าเช่า การงานอาชีพอันใดก็ไม่จำเป็นต้องทำ เพียงทำหน้าที่เป็นพระที่ดีให้เขากราบไหว้เท่านั้น พระลูกศิษย์ตถาคตทำไมจะทำไม่ได้?? จึงขอฝากให้ท่านสาธุชนทั้งหลายได้คิดอ่านกัน เรื่องอย่างนี้คงไม่ต้องให้ถึงครูอังคณาก็ได้ (ฮ่าๆ มุขๆๆๆซะหน่อย ) ชาวพุทธเราควรพิจารณาได้เอง |