
หลวงปู่ชา สุภัทโท
พระโพธิญาณเถร วัดหนองป่าพง บ้านพงสว่าง ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวักอุดรราชธานี "พระอริยเจ้าผู้ก้าวล่วงความสงสัยในนิกาย"
พระเดชพระคุณหลวงปู่ชา สุภทฺโท พระอริยเจ้าศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต รูปหนึ่ง ที่ไม่ได้ญัตติเป็นพระฝ่ายธรรมยุต ท่านเป็นผู้ทรงธรรม เก่งในเทศนาโวหารและการเปรียบเปรย ข้ออรรถข้อธรรมของท่านชวนให้คนได้คิดเสมอ สติปัญญาไว ดัดนิสัยสานุศิษย์ได้ฉับพลัน มีบุญญาบารมีมาก มีหลวงพ่อพุธฐานิโย เป็นสหธรรมิก ท่านเล่าว่า "มีนิสัยโน้มเอียงมาในทางธรรมตั้งแต่วัยเด็ก กลัวบาป เป็นคนซื่อสัตย์ไม่โกหก รักความยุติธรรม เกลียดความอยุติธรรม ชอบเล่นแต่งตัวเป็นพระ มีความพอใจภูมิใจที่ได้แสดงเป็นพระ ยินดีในผ้ากาสาวพัสตร์และเพศพรหมจรรย์" ท่านมีความสามารถในการสอนธรรมให้ชาวต่างชาติ มีศิษย์เป็นชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก มีวัดสาขาทั้งใน และต่างประเทศ มีกฎระเบียบจากวัดป่าหนองพง เป็นต้นแบบเสมอภาคทุกสาขาทั่วโลก ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๑ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย ณ บ้านก่อ หมู่ที่ ๙ ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายมา และนางพิมพ์ ช่วงโชติ เมื่ออายุ ๑๓ ปี หลังจากลาออกจากโรงเรียนประถมศึกษาแล้ว โยมบิดาได้นำไปฝากเป็นเด็กวัดกับเจ้าอาวาสวัดบ้านก่อ เพื่อเรียนรู้บุพกิจเบื้องต้นเกี่ยวกับบรรพชาวิธี จึงได้รับอนุญาตให้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ ณ วัดบ้านก่อ โดยมีพระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง) เป็นพระปัพพชาจารย์ ได้อยู่จำพรรษาและศึกษาพระปริยัติธรรมตลอดจนอยู่ปฏิบัติครูอาจารย์เป็นเวลา ๓ ปี ได้เอาใจใส่ต่อภารกิจของสามเณรท่องสวดมนต์ ทำวัตร ศึกษาหลักสูตรนักธรรม จากนั้นจึงได้ลาสิกขาบทมาช่วยบิดามารดาทำไร่ทำนา ทั้งนี้ด้วยความจำเป็นของครอบครัวแบบชาวไร่ชาวนาอีสานทั่วไป อุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ เวลา ๑๓.๕๕ น. ณ วัดก่อใน ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี พระครูอินทรสารคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิรุฬสุตการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการสวน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้ว พรรษาที่ ๑-๒ จำพรรษาที่วัดก่อนอก ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมและสอบนักธรรมชั้นตรีได้ นับแต่ได้อุปสมบทมาเมื่อมีโอกาสไปเยี่ยมโยมบิดามารดา โยมพ่อมักจะวกเข้าสู่เรื่องความเป็นอยู่ในสมณเพศของท่านว่า "อย่าลาสิกขานะ อยู่เป็นพระอย่างนี้แหละดี สึกออกมามันยุ่งยากลำบาก หาความสบายไม่ได้" ปีพุทธศักราช ๒๔๙๐ ได้เดินทางไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่น ภูริตฺโต มีพระไปด้วยกัน ๔ รูป เดินทางถึงสำนักหนองผือนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์ใจความสั้นๆ ว่า "การประพฤติปฏิบัตินั้น ถ้าถือพระธรรมวินัยเป็นหลักแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยในนิกายทั้งสอง" และท่านพระอาจารย์มั่นได้อธิบายเรื่อง พละ ๕ อิทธิบาท ๔ ให้ฟัง ในคืนที่ ๒ ท่านได้แสดงปกิณกธรรมต่างๆ จนจิตท่านคลายความสงสัย มีความรู้สึกลึกซึ้ง จิตหยั่งลงสู่สมาธิธรรม เกิดธรรมปีติประหนึ่งว่าตัวลอยอยู่บนอาสนะ นั่งฟังท่านพระอาจารย์มั่นอยู่จนเที่ยงคืน ท่านพักอยู่สำนักท่านพระอาจารย์มั่นได้ไม่นานนัก แต่เป็นที่พอใจในรสพระธรรมที่ได้ดื่มด่ำเป็นอย่างยิ่ง ท่านเทียบว่า "คนตาดีพบดวงไฟก็มองเห็นแสงสว่าง ส่วนคนตาบอดถึงจะนั่งเฝ้าดวงไฟ ก็ไม่เห็นอะไร" หลังจากกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น และศรัทธาของท่านแกร่งกล้าขึ้นพร้อมที่จะเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการทำความเพียร เพราะแนวทางปฏิบัติที่ต้องดำเนินก็ชัดเจนขึ้น จากนั้นท่านก็เดินธุดงค์รอนแรมพักภาวนาตามป่าเขามาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม มีความรู้สึกว่าท่านพระอาจารย์มั่น คอยติดตามให้คำแนะนำตักเตือนอยู่เสมอ การเดินธุดงค์แต่ละแห่งล้วนแต่เป็นสถานที่ทุกข์ยากลำบาก ต้องผจญภัยอันตรายต่างๆ บางครั้งท่านก็ได้รับทุกขเวทนาจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น ไข้ป่า มาลาเรีย นิ่งสมัยก่อนหยูกยารักษาโรคก็ไม่มี ต้องอาศัยธรรมโอสถช่วยเหลือตนเอง ยอมเป็นยอมตาย จนจิตใจของท่านกล้าแกร่ง จิตมีธรรมเป็นที่พึ่งเป็นลำดับ บางครั้งก็ติดปัญหาคาใจ มีอาการสะดุดในการเจริญสมาธิภาวนา เวลานั้นท่านพาคณะลูกศิษย์เดินธุดงค์ไปทางอำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม ท่านจึงได้เดินทางขึ้นภูลังกาเพื่อกราบนมัสการท่านพระอาจารย์วัง หลังจากสนทนาแล้ว ท่านก็เกิดความเข้าใจในความละเอียดลึกซึ้งของธรรมปฏิบัติมากขึ้น พักอยู่ภูลังกา ๓ วันจึงได้เดินทางลงมาถึงวัดแห่งหนึ่งอยู่เชิงเขา พอดีฝนตก ได้หลบฝนเข้าไปนั่งใต้ถุนศาลา จิตกำลังพิจารณาธรรมะอยู่ ทันใดนั้นจิตก็ตั้งมั่นขึ้นแล้วเปลี่ยนไป มีความรู้สึกเหมือนอยู่คนละโลก ดูอะไรก็เปลี่ยนไปหมดเหมือนหน้ามือเป็นหลังมือ เหมือนแดดจ้าที่มีก้อนเมฆเคลื่อนมาบดบัง แสงแดดก็วาบหายไป เปลี่ยนขณะจิตไปวาบๆ ตั้งขึ้นมาก็เปลี่ยนวาบ เห็นขวด ก็ไม่ใช่ขวด ดูแล้วไม่เป็นอะไร เป็นธาตุ เป็นของสมมุติขึ้นทั้งนั้น ไม่ใช่ขวดแท้ ไม่ใช่กระโถนแท้ น้อมเข้ามาหาตัวเอง ดูทุกสิ่งในร่างกายไม่ใช่ของเรา มันล้วนแต่ของสมมุติ ด้วยอารของจิตที่เกิดขึ้นนี้ท่านจึงสรุปว่า "ผมเห็นว่าพระอริยบุคคลกับคนบ้านี่ ดูไม่ออก คล้ายๆ กัน เพราะมันผิดปกติ อริยจิตนี้ ถ้ามันตกกระแสแล้ว ผมเห็นว่ากับคนบ้าแยกกันออกไม่ได้ง่ายๆ คล้ายกันแต่มีคุณธรรมต่างกัน" ในเดือนมีนาคมปีพุทธศักราช ๒๔๙๗ ท่านเดินธุดงค์มาวิเวกที่ดงป่าพง เห็นเป็นที่สัปปายะธรรม ท่านจึงปักหลักและสร้างเป็น "วัดหนองป่าพง" ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ท่านละสังขารเข้าสู่แดนอนุปาทิเสสนิพพาน ณ วัดหนองป่าพง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ สิริอายุได้ ๗๔ ปี ๕ เดือน ๑ วัน ๕๒ พรรษา |