ReadyPlanet.com
dot

dot
dot
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
bullet สมัครสมาชิก
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
ชมคลิปวีดีโอน่าสนใจ
ยังไม่มีสมาชิกที่ล็อกอินในขณะนี้
bulletบุคคลทั่วไป 7 คน
dot
dot

dot


ฟัง F.M. 103.25 MHz.
ชมทีวีช่องหลวงตา
ฟังวิทยุออนไลน์ วัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน
ชมคลิปวีดีโอน่าสนใจ
เข้าชม face book วัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน


พระชาติที่ ๑๐ พระเวสสันดร ตอน ๒

 

พระเวสสันดร ๒ 

ทุก ๆ บ้านในระแวกนั้นทีแต่เสียงฮึด ๆ ฮือ ๆ ของเมีย ซึ่งถูกบรรดาสามีลงทัณฑ์เข้าให้อย่างสมรัก และต่างก็ได้รับคำสั่งสอนให้เอาอย่างอมิตดาทั้งนั้น
เมื่อสั่งสอนจนหอมปากหอมคอแล้ว เรื่องก็สงบ เงียบจริง ๆ เสียงดุด่าอย่างทุก ๆ วันไม่ปรากฎอีกเลย พรรคผัวธิปไตรก็จัดการพรรคภริยาธิปไตรลงอย่างราบคาบอย่างไม่มีเงื่อนไขใด ๆ

รุ่งขึ้น หลังจากฝ่ายผัวออกเดินทางไปปฎิบัติการงานแล้ว แม่ภารยาคนดีก็มาชุมนุมกัน คนหนึ่งกล่าวขึ้นว่า
“เมื่อวานนี้หลังจากบ่อนแตกแล้ว ฉันก็กลับไปบ้าน ไปเห็นพ่อเจ้าประคุณผัวยืนรอคอยอยู่ เรานึกว่าจะแหวใส่ให้สักหน่อยแก้กลุ้มที่บ้านที่บ่อนแตกไป พ่อไม่ยอมให้พูด ตรงรี่เข้ามาซัดตุ้บเข้าให้ที่สีข้าง เล่นเอาหน้าอกหน้าใจแทบพังแน่ะ ปากก็ร้องว่า ดีแต่เข้าบ่อน การบ้านการเรือนก็ไม่เอา ไม่ดูเยี่ยงอย่างแม่อมิตดาเขาเลย” ไอ้เราจะสู้ก็สู้ไม่ไหว พ่อแล่นทั้งถีบทั้งเตะ จนน่วมไปทั้งตัว”

อีกคนก็เอ่ยเสริมว่า
“ของฉันก็เหมือนกันแหละย่ะ พ่อทั้งเตะทั้งถีบไม่ให้เราตั้งตัวได้เลย พอเงื้อมมือว่าจะตบ ที่ไหนได้พ่อถีบเสียแอ่น จนต้องบอกว่ายอมนั้นแหละจึงหยุด ยังแถมสั่งสอนให้เอาเยี่ยงอย่างอีอมิตดาเมียไอ้แก่ขอทานชูชกเสียด้วยสิ”
“ของฉันก็พอ ๆ กัน พอเจอหน้าก็กรากเข้าใส่ยังกับมวยคู่อาฆาต เราไม่ทันจะตั้งตัวสักหน่อยพ่อก็ซัดเปรี้ยง ๆ ยังกับฟ้าผ่า เห็นดาวกลางวันแสก ๆ ไปหมด เราจะสู้ก็ไม่ไหวต้องยอมให้ซ้อม ถามว่าเรื่องอะไรก็ไม่บอก แถมหมัดเอย ศอกเอย จนเราถามไม่ออก ลงไปนอนหมอบนั่นแหละ พร้อมกับเอ่ยให้เอาเยี่ยงเมียไอ้ขอทาน อพิโธ่เอ๋ย..ก็เมียขอทานเราเป็นเมียมันเสียเมื่อไหร่ จะได้ทำอย่างนั้น”
“พวกเรานี่น่าเห็นใจนะ แต่ก่อน แต่ไรผัวของเราไม่เคยจะฮึดสู้ แม้ถูกเฆี่ยนตีอย่างลูกก็ยังยอมให้เฆี่ยนตีเลย ให้นอนนอกมุ้งก็ยอม แถมอ้อนวอนท่าโน้นท่านี้จนกว่าเราจะใจอ่อนแต่เดี๋ยวนี้สิไม่ได้ ถนัดแต่ศอกถัดมวย เท้าอย่างไรพ่อไม่เลือก เหตุที่เห็นเช่นนี้เพราะที่สามใช่ไหม”
“แล้วพวกเราควรจะทำอย่างไรดีล่ะ”
“เรื่องไม่เห็นจะยากเลย ก็พ่อเจ้าประคุณที่ลุกขึ้นมาตบตีพวกเราแล้วยังไม่พอแถมสั่งสอนว่าให้เอาเยี่ยงอย่างเมียไอ้แก่ขอทาน อีนางนั้นแหละตัวการสำคัญที่ทำให้ผัวของพวกเราลุกขึ้นมาเล่นงานเราล่ะ”
“เออ จริงสินะ เมียไอ้แก่นั่นแหละตัวสำคัญ ตั้งแต่มันเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านเรานี้ เหมือนความไม่ดีทั้งหลายจะไหลตามมันมาด้วย แต่แล้วไม่ยักจะอยู่กับมัน ผ่ามาอยู่กับพวกเราเสียฉิบ”
“แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะปลอดภัยจากมือเท้าของสามีของพวกเราล่ะ”
“ถ้าเมียตาแก่ขอทานยังอยู่ พวกเราก็จะไม่มีวันที่จะปลอดภัยเป็นแน่ บางทีอาจจะได้กินอย่างอื่นทั้งเช้าทั้งเย็นแทนข้าวก็ได้”
“ถ้าเช่นนั้นพวกเราไปจัดการให้มันอยู่ไม่ได้”
“ตบเลยดีใหม?”
“ไม่พอ ต้องกระทืบด้วย”
“เอ๋ะ ไม่ได้ ๆ บ้านเมืองมีขื่อมีแป พวกเราใช้กฎหมายเถื่อนไม่ได้”
“งั้นทำไงดีล่ะ”
“พวกเราต้องช่วยกัน เจอมันที่ไหนก็เสียดสีด่าว่ากระแนะกระแหนมันไปเรื่อย ๆ สักวันมันก็อายจนต้องหลบหนีไปเอง”
“เออ อย่างนี้ค่อยยังชั่ว เป็นอันว่าที่ประชุมตกลงเอาตามนี้นะ”

เมื่อที่ประชุมของภรรยาพราหมณ์ทั้งหลายตกลงกันแล้ว พอถึงเวลาไปตักน้ำทุก ๆ คนต่างพากันไปคอยที่ท่าน้ำ คอยที่จะพบกับผู้ที่ทำให้ตนต้องทนเจ็บช้ำ เพราะน้ำมือสามีของตัวเอง เข้าแบบโบราณแท้ที่ว่า “รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง” ตัวเองไม่ดีสิโทษเขาผู้นั้นผู้นี้ อนิจจา...อย่างนี้มีมาแล้วชั่วกัปป์ชั่วกัลป์
พอได้เวลาตักน้ำ อมิตดาสาวน้อยผู้น่าสงสารก็ยกหม้อน้ำขึ้นแบกตรงมาหมายจะอาบน้ำชำระร่างกายและตักน้ำไปใช้สอยในกิจอื่น
“เมียอ้ายขอทานมาแล้ว” เสียงเขาบอกกระซิบต่อ ๆ กัน และจิ๊จ๊ะเสียงฮาป่าก็เริ่มขึ้น จากนั้นเสียงใครต่อใคร....ใส่คะแนนไม่ทันจากแม่พวกนั้น
“รูปร่างก็สะสวย ไม่น่ามาอยู่กับไอ้คนขอทานเลย หรือว่าแกไปเก็บมาจากสำนักไหนกระมัง”
“โอ้ย รูปนี้ร้อยทั้งร้อย เป็นนางกลางเมืองแน่ ๆ ทีเดียว”
“อยากเป็นคุณนาย ที่แท้ก็เดนเขาเลือกแล้ว จึงตกมาถึงตาแกขอทาน”
“หนุ่ม ๆ ไม่มีหรือยังไงแม่เอ๋ย หน้าด้านมาอยู่กับอ้ายแก่คราวพ่อได้”
“แม่ดูอ้ายสารรูปขอทานหรือเปล่า อุตสาห์ยอมให้มันก่ายเกย แต่ฉันยังงี้อดขยะแขยงมิได้เลย”
“ตาแก่มันมีอะไรดีกระมัง แม่ยังเป็นสาวจึงยอม”
“ไม่มีพ่อหรืออย่างไร จึงเอาอ้ายคนชนิดนี้”

เรื่องการด่าก็เป็นที่รู้กันแล้วว่าผู้หญิงน่ะเวลาจะด่าไม่รู้ว่าสรรหามาจากไหน ปทานุกรมเล่มใหญ่ ๆ น่ะอย่าไปเปิดหาเลยไม่พบหรอก ที่แจ้งที่ลับที่ไหน ๆ แม่ก็เอามาไขหมด อมิอตดาถูกด่าเข้าเช่นนั้น ชะงักไม่กล้าลงไปตักน้ำ มองไปทางไหนก็ล้วนแต่ยื่นหน้ายื่นปากเป็นชักใยไปตาม ๆ กัน บางคนแถมขยับไม้ขยับมือจะเล่นงานเอาเสียด้วย
“ตบเอาฟันไปทำลูกเต๋าดีไหมพวกเรา”
“เอาซี่โครงไปเหน็บฝาเรือนบ้านฉันดีกว่า” อมิตดาเจอเข้าอย่างนี้เข้าได้แต่น้ำตาไหลนองหน้า
“เป่าปี่แล้วพวกเรา แม่สาวน้อยเขาเก่งอย่างนี้ แล้วอ้ายเฒ่าจะไม่หลงได้ยังไง”
“เอ้า พวกเราช่วยกันเชิดหน่อย” ปากก็ทำเสียงล้อเลียนต่าง ๆ นา ๆ หันหลังกลับบ้านน้ำตาของอมิตดาสาวน้อยอาบหน้าสะอึกสะอื้นขึ้นเรือนได้ก็ปิดประตูเงียบ จนเสียงแม่ค้าปากตลาดเหล่านั้นเงียบไปแล้ว ก็ได้แต่นั่งนึกถึงตัวเองว่าทำอะไรผิดไป


พอดีในขณะนั้นชูชกก็กลับมาจากการปฎิบัติภารกิจประจำวัน คือการขอทาน พอเห็นสาวน้อยเมียรักสะอึกสะอื้นอยู่ก็เข้าไปถาม
"หนูเป็นอะไร ร้องไห้ทำไม ใครทำอะไรบอกมา อ้ายเฒ่าคนนี้จะไปจัดการให้”

ถามทีไรสาวน้อยก็ได้แต่นิ่ง ตาผัวเฒ่าก็เฝ้าอ้อนวอนถามไถ่ จนสาวน้อยยอมบอกความ
“ต่อไปฉันจะไม่ออกไปตักน้ำอีกแล้วล่ะ เพราะแม่พวกชาวบ้านพากันมารุมด่าฉันที่ท่าน้ำ แม้น้ำฉันก็จะไม่ลงไปอาบ ฉันจะอาบมันที่บนเรือนนี่แหละ”
“ไม่เป็นไรแม่หนู พี่เฒ่าจะจัดการให้เสร็จ อย่าไปฟังยาย

 ปากปลาร้าเหล่านั้น จะทำให้แม่หนูหม่นหมองเศร้าใจเสียเปล่า ๆ พี่เฒ่าจะทำให้ทั้งตักน้ำ ปูที่หลับ ปัดที่นอนแม่หนูนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่เฉย ๆ พี่เฒ่าจะทำให้แม่หนูทุกอย่าง”
“ไม่เอา ตระกูลฉันไม่เคยใช้ผัว”
“อ้าว แล้วจะให้พี่เฒ่าทำอย่างไร”
“ไม่รู้ล่ะ แกต้องไปหาคนใช้มาให้ฉัน ม่ายยังงั้นฉันจะกลับบ้าน”
“เบา ๆ แม่อย่าเพิ่งพูดว่าจะกลับบ้าน จะทำให้พี่เฒ่าเป็นลมตายเสียก่อน”
จะพูดอย่างไรก็ตาม อมิตดาสาวเจ้าก็ไม่ยอมโอนอ่อนผ่อนตาม แม้จะอ้างว่าไม่มีเงินที่จะไปซื้อทาสและทาสีมาใช้สอย แต่อมิตดาก็กลับบอกว่า
“จะต้องไปเสียเงินทองอะไรกันเล่า พระเวสสันดรออกไปจำศีลอยู่ที่เขาวงกต พระราชโอรสและธิดาก็ออกไปด้วย ก็ไปขอโอรสธิดานั้นแหละมาใช้สอยสิ เรื่องมันก็ง่ายจะตายไป” โอ้ย ตายแล้วแม่ เขาวงกตน่ะมันไม่ใช่ใกล้ ๆ เดินกันเป็นเดือนทีเดียว ถ้าพี่เฒ่าไปก็คงไม่มีหวังจะได้กลับมา คงจะตายเสียกลางทางเป็นแน่ทีเดียว”
“ฉันไม่รู้ด้วย ถ้าหาคนใช้มาให้ฉันไม่ได้ก็ต่างคนต่างอยู่เถอะ อย่าอยู่ร่วมกันเลย ฉันลำบากใจเหลือเกิน”
“เอาก็เอา จะตายหรือเป็นก็ช่าง เพราะเห็นแก่ความรักต่อแม่อมิตดา พี่เฒ่าจะพยายามเดินทางไปจนกว่าจะได้กลับมา”

เมื่อตกลงว่าจะไปแล้ว ชูชกก็จัดแจงเรือนชานเตรียมเสบียงอาหารทุกชนิด ออกเดินทางมุ่งหน้าไปยังเขาวงกต ดูเอาเถอะ เรื่องการมุ้งกับการเมืองมักจะแยกกันไม่ออกอย่างนี้แหละ ถูกด่าข้างนอกก็มาไล่เบี้ยเอากับตาแก่ และเรื่องมันก็สำเร็จด้วย
ตาเฒ่าจอมขอก็ดั้นด้นเดินมุ่งหน้าไปยังเขาวงกต พบใครก็ถามถึงเขาวงกต แทนที่จะได้รับคำตอบ กลับได้ทั้งคำพูดให้เจ็บใจและแถมศอกเข่าก้อนดินเป็นของแถมพอหอมปากหอมคอ แต่แกก็ไม่ยอมย่อท้อ ถูกทุบตีก็หลบหลีกพอพ้นไปเฉพาะหน้า อ้ายพราหมณ์ขอทาน เพราะพวกมึงขอไม่เลือก จึงทำให้เจ้านายกูต้องถูกเนรเทศ ไป ๆ ให้พ้น เดี๋ยวพ่อ..” ว่าแล้วก็มีอะไรลอยปลิวมาจนตาพราหมณ์เฒ่าต้องรีบแจวต่อไปข้างหน้า ตราบจนกระทั่งเข้าเขตป่าที่เจตบุตรรักษาการอยู่

นึกว่าจะหมดอุปสรรคหรือยังก่อนหรอก เพราะพอย่างเข้าไปยังไม่ทันไร เสียงหมูหมาก็เห่าหอนมาแต่ไกล ตาแก่ก็เป็นคนช่างหัวดี หลบก่อนดีกว่า แต่จะหลบหน้าไปทางไหนดีเล่า ขึ้นไปบนต้นไม้สิ แล้วแกก็ตะเกียกตะกายขึ้นไป ยังไม่ทันจะถึงคบเลย เสียง โฮ้ง ๆ ดังใกล้ ๆ ตาเฒ่าเหลียวไปดู โอ้โฮ หมาขนาดใหญ่ตั้ง 4 – 5 ตัว โดดขึ้นจะกัดแก เล่นเอามือเท้าอ่อนแทบจะพลัดตกลงไปให้ได้ แต่ต้องพยายามม่ายงั้นเป็นตายแน่ ๆ แต่ก็ไม่วายเจอบางตัวงับเอาผ้าหลุดลุ่ย

โล่งใจเมื่อขึ้นไปถึงคบที่หมาโดดไม่ถึง แกหันหลังลงมาตวาดไล่มัน แต่มันก็ไม่ยอมไปแถมยังนอนเฝ้าต้นไม้นั้นเสียด้วย บางตัวเดินวน ๆ เวียน ๆ ตะกียกตะกายจะปีนขึ้นไปเล่นงานแกให้ได้ บางตัวก็ส่งเสียงเห่าขรม ตายจริง ทำไงถึงจะเดินทางไปได้ล่ะ อดไม่ได้ถึงกับรำพึงออกนามพระเวสสันดรออกมาดัง ๆ ถ้าพบพระองค์เป็นรอดแน่ ๆ

เสียงคนย่างเหยียบมาตามทาง พอโผล่มา โอโอ้อ้ายเจ้าของหมาพวกนั้นล่ะสิ หน้าตาขมึงทึงท่าทางดุร้าย มือกุมธนู เพ่งจ้องมองมาที่แก พร้อมกับยกธนูขึ้นเล็งตรงมายังแก
“ช้า ๆ พ่อเอ๋ย ช้าก่อน”
“อ้ายตาเฒ่าทำไมมาที่นี้ ออกตามเจ้านายจะเบียดเบียนอีกหรือ ไม่ได้ ไอ้พวกนี้ต้องให้หมากินก่อน”
“อย่าทำใจเร็วใจร้อนไปหน่อยเลยพ่อหลานชาย หลานน่ะยังไม่รู้อะไร ตานี่แหละเป็นราชทูตจะไปเฝ้าพระเวสสันดรล่ะ”
“ฮ้า ๆ ขี้ทูตน่ะสิ”
"อย่าพูดอย่างนั้นหลานชาย ตาเป็นปุโรหิตเชียวนะ”
“มีอะไรเป็นเครื่องหมายราชทูตบ้างล่ะ” อ๋อ มีสิ แล้วแกก็ล้วงลงไปในย่ามอันเต็มไปด้วยเสบียงกรัง คว้าเอากระปุกใส่น้ำพริกออกมาชูขึ้น พลางร้องบอกว่า
“อ้ายหลานชาย นี่เป็นกลักพระราชสาส์นซึ่งจะต้องถวายต่อพระองค์” พอเห็นเจตบุตรลดหน้าไม้ลง แกก็เริ่มวัธยายต่อไป
“เดี๋ยวนี้น่ะในเมืองเขาหายโกรธพระองค์แล้ว จึงได้ส่งตามาให้ไปทูลเชิญ เมื่อตกลงกันแล้วจะได้แต่งขบวนเกียรติยศออกมารับ”
“งั้นลงมาคุยกันก่อนดีกว่าตา”
เจตบุตรบอก แล้วจัดแจงผูกหมาให้เรียบร้อยแล้วก็รับตาชูชกซึ่งจัดเจนโลกกว่า หลอกเสียจนหลงเชื่อว่าเป็นทูตจะมาเชิญเสด็จพระเวสสันดรกลับไปครองราชสมบัติดังเดิม จึงได้จัดเสบียงกรังมอบให้ตาชูชก พร้อมกับนำทางผ่านไปในป่าอันเป็นบริเวณที่ตนรักษาอยู่ เมื่อถึงแดนป่าใหญ่ก็ชี้ทางให้ตาชูชก ผ่ านเข้าไปในป่า และได้พบฤาษีผู้บำเพ็ญฌาณอยู่ แล้วถามทางจากท่านก็เดินไปอย่างถูกทาง แล้วอำลาตาชูชกกลับยังสำนักของตน ตาชูชกแกออกเดินทางไปตามที่เจตบุตรชี้ให้ทราบ

จนกระทั่งพบกับอจุตฤาษี ซึ่งก็ถูกตาเฒ่าหลอกให้หลงเชื่อ อจุตฤาษีก็นำไปชี้ทางให้
“โน้น ที่เห็นเป็นทิวแถวอยู่นั้นแหละ เขาคุนธมาทน์ ต่อจากนั้นจะมีทางเดินอย่างสะดวกสบายไปสู่เขาวงกต ซึ่งพระเวสสันดรบำเพ็ญพรตอยู่ ไม่ต้องกลัวหลง เพราะมีเส้นทางเดียวเท่านั้น” แล้วอจุตฤาษีก็กลับสำนัก ตาแกก็เดินมุ่งไปทางที่อจุตฤาษีชี้ให้ ตราบจนผ่านเข้าเขตเขาวงกตเป็นเวลาจวนพลบ ตาแกจึงคิดว่า
“ถ้าเราไปขอสองพระกุมารในตอนนี้ ซึ่งพระนางมัทรีกลับจากป่าเรื่องก็จะไม่สำเร็จแน่ เพราะธรรมดาสตรีน่ะเลือดในอกยากที่จะยกให้ใครไปได้ ต้องรอพรุ่งนี้พอมัทรีเข้าป่าไปเสียก่อนจึงเข้าไปขอจะดีกว่า” เมื่อแกคิดเช่นนี้แล้วก็หาที่พักอาศัยหลับนอน

และในคืนที่ตาเฒ่าแกมานอนใกล้ ๆ บริเวรอาศรมนั้นเอง เวลาดึกสงัดพระนางมัทรีก็เกิดฝันประหลาดพิศดารแสนน่ากลัวสยดสยองยิ่งนัก ในฝันนั้นมีบุรุษผู้หนึ่งรูปร่างกำยำล่ำสัน ทัดดอกไม้แดงทั้งสองหู ถือดาบอันคมกริบวิ่งวู่วามเข้ามาที่พระนาง จิกพระเกศาพร้อมกับเอาดาบผ่าพระอุระของพระนาง หยิบเอาหัวใจของพระนางไป แม้พระนางจะร่ำร้องสักเพียงไร บุรุษผู้นั้นก็ไม่สงสารเวทนา ได้หัวใจแล้วก็ปล่อยพระนางให้เป็นอิสระแล้วก็หันไป
พระนางได้แต่ร้อง ๆ จนตกใจตื่นเหงื่อชุ่มโชกไปทั่วพระวรกาย ใจยังเต้นไม่รู้หาย ไม่รู้ว่าเป็นอะไร คิดอะไรไม่ออก ต้องไปถามพระฤาษีเจ้าดูจะรู้เห็น พระนางมัทรีก็ค่อย ๆ เดินไปยังอาศรมของพระเวสสันดร เคาะประตูพระอาศรม ในขณะนั้นพระเวสสันดรก็ตื่นบรรทมแล้วเช่นกันเมื่อได้ยินเสียงเคาะก็ร้องถามออกมาว่า
“ใครนั่นน่ะ?”
“หม่อมฉันเอง”
“มัทรีเรอะ”
“เจ้าข้า กระหม่อมฉัน”
“เอ๋ะ ก็เราเคยสัญญากันไว้ยังไงล่ะ ว่ากลางค่ำกลางคืนเราจะไม่ไปหากัน เจ้าลืมสัญญาแล้วหรือไร”
“มิได้พระเจ้าข้า ที่กระหม่อมฉันมาเพราะมีเรื่องร้อน”
“เรื่องอะไรล่ะ นั่งอยู่แต่ข้างนอกเถอะ แล้วเล่ามาดูหรือ”
“คือว่าหม่อมฉันฝันไป”
“ฝันว่าอย่างไร”
“ฝันว่ามีบุรุษกำยำล่ำสัน ทัดดอกไม้แดงทั้งสองหู ถือเอาดาบอันคมกล้า วิ่งมาแหวะหทัยหม่อมฉัน แล้วควักเอาดวงใจหนีไป กระหม่อมฉันจึงต้องมาขอให้พระฤาษีเจ้าช่วยทำนายทายทักด้วย ว่าเป็นอย่างไร ใจของหม่อมฉันยังเต้นไม่หายเลย”

พระเวสสันดรได้สดับฟังพระสุบินที่พระนางมัทรีเล่าก็ทราบได้ทันทีว่าพรุ่งนี้จะมียาจกมาขอพระลูกเจ้าทั้งสอง แต่จะบอกไปตามตรงก็กลัวมัทรีจะไม่ไปป่า จะเป็นอันตรายแก่พระโพธิญาณที่พระองค์ประสงค์ จึงเบี่ยงบ่ายเสียว่า
“ไม่มีอะไรดอกพระนาง ธาตุวิปริตจึงทำให้ฝันร้าย เธอ เคยอยู่แต่ในที่อันมีแต่ความสุข มาอยู่ในอาศรมอันกระด้าง อาหารก็มีแต่เผือกกับมันผลไม้ ธาตุเธอจึงวิปริตไป อย่าตกใจอะไรเลย”

พระมัทรีไม่ยากจะเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อ เพราะผู้ทำนายได้ในที่นี้ก็ไม่มีใครนอกจากพระเวสสันดรเท่านั้น จึงทูลลากลับไปยังอาศรมบทของพระนาง

เวลารุ่งเช้าพระนางไม่อยากออกไปป่าเลย ให้ห่วงพระราชโอรสและธิดาทั้งสอง แต่ก็ไม่สามารถจะอยู่ได้ เพราะผลไม้เผือกมันทั้งหลายก็ดูจะเหลือเพียงเล็กน้อย จึงตระเตรียมเสียมและไม้ขอไม้คาน และกระเช้าเสร็จเรียบร้อยก็จูงมือสองพระกุมารเข้าไปฝากพระเวสสันดรไว้
ถึงอย่างนั้นพระนางก็กลับไปกลับมาตั้งหลายหน ดูจะเป็นลางสังหรณ์หรืออย่างไรแน่ ก่อนจะไปก็เฝ้าฝากแล้วฝากอีก เพราะพระนางยังนึกถึงนิมิตร้ายอันนั้นไม่หาย

หลังจากพระนางออกไปแล้ว พระเวสสันดรทราบดีว่าวันนี้จะมียาจกมาถึงสำนัก จึงตรัสให้พระชาลีและกัณหาไปคอยดูต้นทางที่จะมีใครไปมา

ตาเฒ่าชูชกเล่า พอตื่นล้างหน้าล้างตาคะเนว่าพระมัทรีคงจะออกไปแล้ว ตาแกก็เดินดุ่มตรงรี่เข้ามายังอาศรมบท ซึ่งขณะนั้นเองพระเวสสันดรก็ทอดพระเนตรเห็น จึงบอกให้เจ้าชาลีต้อนรับ แต่ก็ถูกตาชูชกตะเพิดกลับเพราะเข้าลักษณะตวาดป่าให้ว่าเสือกลัวไว้ก่อน

เมื่อเข้ามาถึงก็ทักทายปราศรัยกันเรียบร้อยแล้ว ตาแกก็เริ่มอารัมภบท ชักแม่น้ำทั้ง ๕ มาปรารภว่าเป็นดินแดนแห่งความสุขของประชาชน และเป็นต้นแห่งเกษตรกรรม และไม่รู้จักจะเหือดแห้งในการทำทาน เสมือนแม่น้ำทั้ง ๕ อำนวยความสุขแก่พลเมืองฉะนั้น และที่แกมานี่ก็เพื่อจะขอพระชาลีกัณหาไปเป็นทาสี ซึ่งพระเวสสันดรก็อำนวยให้ด้วยใจโสมนัสอย่างยิ่ง
แต่ในขณะนั้นเอง พอพระชาลีและกัณหารู้ว่าพระบิดายกตนให้แก่พราหมณ์ผู้ร้ายกาจ บังเกิด ความกลัว ก็หลบลี้หนีเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในสระบัว เอาใบบัวบัวศรีษะไว้ ตาชูชกพอขอได้แล้วก็เหลียวไปดูไม่เห็นสองพระกุมาร ก็เริ่มบริภาษพระเวสสันดรเป็นการใหญ่
“ทำเป็นคนใจดี พอขอปุ๊บก็ยกให้ปั๊บ แต่พอจะเอาเข้าจริงสิขายหน้า เด็กสองคนก็ร้ายเหลือพอพยักหน้าหมับก็โดดผลับ หายไปเลย เขาว่าพระเวสสันดรใจดี เห็นจะไม่จริงเสียกระมัง”

 พระเวสันดรก็มิได้โกรธเคือง ทรงพิจรณาเห็นว่าสองกุมารคงจะกลัวจึงไปหลบซ่อนกายอยู่ภายนอก จึงพูดปลอบใจชูชกแล้วออกติดตามสองกุมาร เพื่อนำมามอบให้ตาชูชก เสด็จออกไปเที่ยวค้นหา ตราบจนกระทั่งถึงสระบัวเห็นรอยเท้าขึ้นแต่ไม่เห็นรอยเท้าลง ก็รู้แน่ว่าสองกุมารอยู่ในสระ
จึงตรัสเรียกชาลี เตือนให้รู้ว่าเป็นลูกกษัตริย์และจะช่วยให้พระราชบิดาได้บำเพ็ญบารมีเพื่อโพธิญาณ โดยเปรียบ พระชาลีเหมือนเรือ ซึ่งจะขี่ข้ามห้วงน้ำให้สำเร็จประโยชน์

พระชาลีได้คิดก็เปิดใบบัว แล้วขึ้นมากราบกับพระบาท ทรงถามถึงกัณหา ซึ่งพระชาลีก็บอกเป็นนัย ๆ พระเวสสันดรก็ตรัสเรียกโดยในเดียวกับชาลี พระกัณหาก็ได้ขึ้นมากราบพระบาททรงนำสองกุมารไปมอบให้ตาชูชก

ตาแก่ชูกเมื่อได้รับพระราชทานสองพระกุมารจากพระเวสสันดรแล้วก็คิดว่า.." เออ....สองกุมารเด็กน้อยนี้เป็นลูกเจ้าลูกนายจำเป็นเราต้องข่มขวัญให้สองพระกุมารนี้กลัวเสียก่อนมิฉนั้นแล้วแทนที่เราจะเป็นนายกับเป็นอันว่าเราต้องไปคอยรับใช้สองพระกุมารเสีย.."คิดได้ดั่งนี้แล้วจึงได้เอาเถาวัลย์มาผูกข้อหัตถ์ของสองพระกุมารที่น่าสงสารแล้วขู่ตระคอกต่อพระพักต์ของพระเวชสันดร
**มาถึงตรงนี้บางท่านได้รจนาไว้ว่าพระเวสสันดรถึงกับชักพระขรรค์ออกจะปริดชีพเจ้าพราหมณ์เฒ่า " เราอุตสาห์เลี้ยงดูกล่อมเกลี้ยสองลูกน้อยแต่น้อยมามิเคยได้ตบตีให้ระคายเคืองแม้แต่น้อยและสองพระกุมารก็มิได้เดื้อดึงขัดขื่นพูดว่านอนสอนง่าย

แต่แล้วด้วยอำนาจของกุศลกรรมความดีที่พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญเพื่อสัมพุทธโพธิญาณก็มาดลใจให้พระเวสสันดรกลับคิดขึ้นมาได้ว่าพระองค์ได้ทรงมอบพระลูกน้อยทั้งสองแด่พราหมณ์เฒ่าไปแล้วพระเวสสันดรจึงได้เข้าหลบเข้าไปข้างในบรรณศาลา.. และก็ทรงระลึกถึงมหาทานในครั้งนี้..คือทรงมุ้งหวังจะเป็นพระพุทธเจ้าที่จำเป็นจะต้องเสียสละซึ่งแห่งทานนี้ ...พระเวสสันดรก็ระงับเสียซึ่งโทสะนี้ได้ ฝ่ายตาแกชูชกก็รีบพาจากไปเพราะกลัวจะพบพระมัทรี

พระมัทรีที่อยู่ในป่า วันนี้ดูวิปริตผิดไปทุกอย่างทุกประการ เดี๋ยวเสียมหลุดมือ เดี๋ยวกระเช้าหล่น เดี๋ยวไม้ขอไม้คานพลัด อะไรต่อมิอะไรดูมันวุ่นวายไปหมด ที่ ๆ เคยมีผลไม้เผือกมันก็บังเอิญไม่มี ซึ่งพระนางก็ต้องบุกไกลออกไปกว่าที่เคย ได้มาบ้างพอสมควรแล้วก็รีบกลับอาศรม เพราะห่วงสองกุมาร แต่พอมาถึงกลางทางซึ่งเป็น ทางแคบเดินได้เฉพาะตัว ก็พบสัตว์ ๓ ตัวคือ ราชสีห์ เสือเหลือง และเสือโคร่ง นอนขวางทางอยู่ นางไม่สามารถจะไปได้

ก็วางสิ่งของยกมือวอนไหว้ขอทาง แต่ทั้งสามสัตว์ซึ่งเทวดาแปลงกายมาเพื่อสกัดทางไม่ให้พระมัทรีไปทันสองพระกุมาร ก็แกล้งนอนขวางหนทางอยู่เฉย ๆ จนกระทั่งเวลาจวนพลบ ตาชูชกและสองกุมารพ้นประตูป่าไปแล้ว ทั้งสามสัตว์ก็หลีกทางหายไป พระมัทรีก็ดุ่มเดินกลับบรรณศาลา อะไรมันผิดดูแปลกตาไปเสียหมดทุกอย่าง ทุก ๆ วันทั้งสองเคยมาดักหน้าดักหลัง

“แม่ขา แม่ได้อะไรมา” กัณหาจะฉะอ้อนถาม ส่วนพ่อชาลีก็จะรับเสียมบ้าง ไม้ขอบ้าง ไปตามต้องการ

แต่มาวันนี้ช่างเงียบเสียจริง ๆ คงเล่นเพลินอยู่ที่พระบิดาก็เป็นได้ พระนางก็รีบด่วนเดินเข้าไปยังบรรณศาลาของพระเวสสันดร ก็ไม่เห็นพระสองลูกรักก็ใจหายวาบ ตายจริงนี่อะไรกัน สอบถามพระเวสสันดรก็ไม่ตรัสด้วย ยิ่งทำให้กลุ้มมากขึ้น พระนางออกตามหาสองพระกุมารสักเท่าใดก็ไม่มีเสียงขาน จึงกลับมายังบรรณศาลา จะถามสักเท่าใดพระเวสสันดรก็นิ่งเฉย แต่พอพูดขึ้นมาก็ยิ่งทำให้กลุ้ม

“ทุก ๆ วันเคยกลับแต่วัน วันนี้คงชมดงชมป่าเพลินไปนะ จึงกลับเอามืดค่ำ ในป่าไม่ใช่มีแต่สัตว์ วิชาธรณ์คนธรรพ์ตลอดจนพรานป่าก็มีมากมาย เห็นจะสมใจเจ้าแล้วสินะ”

** ทำไมพระเวสสันดรจึงตัดพ้อเช่นนี้ไปอ่านบุพกรรมของพระนางมัทรีได้ที่** (เจ้าหญิงนกกระจาบ )

พระนางถึงกับสอึก แต่ความทุกข์เรื่องลูกทั้งสองมีมากกว่า ก็คร้านจะต่อปากต่อคำ ก็วนเวียนค้นหาไปเรื่อยไป พร้อมกับร้องไห้สะอึกสะอื้น ทุกข์อะไรเล่าจะมีล้นไปกว่าทุกข์ของแม่ที่ลูกหาย ไม่ทราบว่าตายหรือเป็น หาแล้วหาอีก ร้องไห้ตะโกนไป เรียกไปเสียงแหบเสียงแห้ง จนกระทั่งจวนสว่างพระนางก็หมดกำลัง พอกับมาถึงหน้าพระอาศรมก็สลบหมดสติแน่นิ่งไป

พระเวสสันดรแสนจะตกใจ เพราะเกรงว่านางจะตายเสีย จึงตรงเข้าไปจับต้องตัวนางก็เห็นว่าร่างยังอบอุ่นอยู่ ก็สงสารเห็นความทุกข์ของนาง ลืมตัวว่าเป็นฤาษีก็ยกเศียรนางขึ้นพาดตัก แล้วนวดแฟ้นเท่าที่จะทำได้ เป็นครู่ใหญ่ พระนางก็รู้สึกตัว

พระเวสสันดรก็บอกเรื่อง ให้ลูกเป็นทานไปแล้ว เพราะเห็นว่านางเหนื่อยมาแต่ป่าจึงยังไม่บอก และขอให้นางอนุโมทนา ซึ่งพระนางก็ได้อนุโมทนาบุตรทานด้วยความยินดี



ทีนี้ก็ถึงเรื่องจะกล่าวบทไปถึงท้าวสหัสนัยไตรตรึงสาทิพย์อาสน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา กลับกระด้างดังศิลาก็ให้ประหลาดใจ จะมีเหตุมั่นแม้นในแผ่นดิน อมรินทร์เร่งคิดสงสัย จึงสอดส่องทิพย์เนตรดูเหตุภัย ก็แจ้งใจ...พระเวสสันดร ถ้าไม่ไปช่วยเห็นทีจะแย่เสียกระมัง
เพราะถ้าใครรู้แกวแบบมาขอพระมัทรีไปเสีย พระองค์จะเหลือเพียงองค์เดียว การบำเพ็ญพรตภาวนาก็คงไม่สะดวกไปได้ ต้องลงไปช่วยเห็นจะดีเป็นแน่ พระอินทร์ซึ่งมาชื่อเยอะแยะก็แต่งองค์ทรงเครื่องเหาะลงไป พอลงมาถึงโลกมนุษย์ก็แปลงตัว เป็นพราหมณ์แก่เดินกระย่องกระแย่งเข้าไปหาพระเวสสันดร ซึ่งนั่งอยู่หน้าพระอาศรมมีพระมัทรีเฝ้าสนทนาอยู่ด้วย พอเข้าไปถึงก็ขอพระมัทรี โดยอ้างเหตุผลอย่างที่พูดกันว่า
“ลุงนะแก่แล้ว ขอลุงเถอะ” ซึ่งพระเวสสันดรก็อำนวยให้ทันอกทันใจเลยทีเดียว พร้อมกับจูงมือพระมัทรีมามอบให้เดี๋ยวนั้น พราหมณ์เห็นได้ดังประสงค์ แลดูหน้าพระเวสสันดรและพระมัทรีก็เห็นยิ้มแย้ม เต็มอกเต็มใจในการบริจาค จึงได้ทูลว่า

 
พระเวสสันดรซึ่งมาบำเพ็ญพรตอยู่ป่า ก็คิดจะกลับบ้านเมืองอยู่แล้ว จึงได้ขอพรพระอินทร์ ๘ ประการ คือ
๑. ขอให้พระบิดาหายโกรธเคือง มารับไปครองสมบัติดังเก่า
๒ . หากจะมีการฆ่าขอให้มีปัญญาที่จะปลดปล่อยไป
๓ .ขอให้ข้ามีเมตตากรุณาแก่ช่วยคนทุกทั่วหน้า และประชาชนเหล่านั้นได้อาศัยข้าอยู่เป็นสำราญ
๔ .ขอให้ข้ามีน้ำใจอยู่ในภรรยาแต่ผู้เดียว ไม่เกาะเกี่ยวด้วยหญิงอื่น
๕ .ขอให้ข้าได้มีโอกาสสืบสันติวงศ์ และปรากฎชื่อเสียงเลื่องลือแก่คนทั่วไป
๖ .เมื่อข้าได้เสวยราชย์แล้ว พอรุ่งเช้าให้มีอาหารพอที่ข้าจะให้ทานได้โดยสะดวก
๗. เมื่อข้าได้ให้ทานมากน้อยเท่าใด ๆ ก็ตาม ของสิ่งนั้นอย่าได้รู้จักหมดสิ้นไปเลย
๘. เมื่อแตกกายสลายชีพขอข้าได้ไปสู่สวรรค์

“ข้าแต่พระเวสสันดร ข้าพเจ้ามิใช้พราหมณ์ขอทาน”
“ท่านเป็นอะไรล่ะ”
“ข้าพเจ้าเป็นพระอินทร์ ผู้เป็นใหญ่ในดาวดึงส์สวรรค์"
“ท่านลงมาทำไมล่ะ”
“เพื่อให้พระบารมีของพระองค์บริบูรณ์เนื่องด้วยการบริจาคภรรยาร่วมใจ” และได้ตรัสต่อไปอีกว่า “พระมัทรีนี้พระองค์ได้ให้ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าขอฝากไว้ก่อน พระองค์จะให้ใครอีกไม่ได้”
“ทำไมไม่เอาไปล่ะ”
“ฝากปฎิบัติพระองค์ก่อน และที่ข้าพเจ้าลงมานี้พระองค์ประสงค์อะไรโปรดบอก ข้าพเจ้าจะประสิทธิ์ให้ดังปรารถนา”

รวมเป็นพร ๘ ประการ ซึ่งท้าวมัฆวานก็ประสิทธิ์ให้ดังใจปรารถนา แล้วท้าวอมรินทร์ก็เลื่อนลอยคืนสู่ยังนิเวสสถานของพระองค์ สองกษัตริย์ก็โสมนัสในพระทัย และตั้งใจอยู่ว่าเมื่อใดจะได้พบสองกุมารที่ท้าวเธอได้ให้ทานไป และเมื่อใดพระพรทั้ง ๘ นี้ จะอำนวยผลให้ตามท้าวหัสนัยประสิทธิ์

แม่อมิตดาว่างามแล้วก็ยังต้องชิดซ้าย พูดจาก็อ่อนหวานเอาอกเอาใจยามกินก็คอยป้อนให้ถึงปาก พี่จ๊ะ พี่จ๋าน้องป้อน อันนี้อร่อยอันนั้นก็น่าทาน มีดนตรีขับกล่อมตลอดเวลา จนพี่แกลืมแม่อมิตดาเมียรักเสียสนิท และด้วยตาเฒ่าชูชกแกไม่เคยกินของอร่อยที่วิเศษอย่างนี้มาก่อน แกก็เลยกิน ๆ จนเกินกระเพาะที่จะรับได้ จนท้องแตกตาย

 พระเจ้ากรุงสญชัยก็เลยทำศพให้ แล้วป่าวร้องให้ญาติของแกมารับทรัพย์สมบัติไป แต่ก็ไม่มีใคร เพราะแกไม่ใช่คนในแคว้นนั้นเป็นคนมาจากที่อื่น ถ้าเป็นสมัยนี้จะน่าคิดทีเดียว ขนาดคนรุ่นมหาเศรษฐีอย่างชูชก ไม่มีญาติมีหรือ คงจะมีคนมาอ้างเป็นญาติข้างพ่อบ้าง ข้างแม่บ้าง ตั้งร้อยตั้งพันแจกกันไม่หวาดไม่ไหวเป็นแน่ แต่นี่ดีที่เป็นสมัยก่อน เลยไม่มีคนมารับสมอ้าง ทรัพย์ทั้งหลายก็เลยเข้าท้องพระคลังอย่างเดิม ตาชูชกก็ได้ตายไปแล้วหมดเรื่องปิดฉากเสียที ยังเหลือแต่พระชาลีกัณหา ซึ่งพระเจ้าปู่ได้ไถ่ออกมาจากการเป็นทาสทาสี ตอนนั้นพระเจ้ากรุงสญชัยคิดถึงพระเวสสันดรมากแล้ว คิดดูง่าย ๆ สมัยพระเวสสันดรยังอยู่ราชการงานเมืองทั้งหลายพระเวสสันดรรับภาระไปทั้งนั้น
เดี๋ยวนี้สิพระองค์ต้องโดดเข้ามาทั้งร้องทั้งรำเองเสร็จ เหนื่อยทั้งกายทั้งใจ พอเห็นสองพระกุมารก็ดีพระทัย ข้อโกรธเคืองทั้งหลายก็หมดไปหมด เมื่อไถ่สองกุมารเสร็จเรียบร้อย ก็ให้จัดการรับมิ่งสู่ขวัญ มีการสมโภชเฉลิมฉลองต้อนรับสองกุมารเป็นการใหญ่

ซึ่งเรื่องทั้งหลายก็เป็นไปอย่างงามเกียรติของกษัตริย์ที่จัดทุกประการ แล้วสั่งให้เตรียมพล โยธาออกไปรับพระเวสสันดรคืนพระนคร โดยจัดให้พระชาลีเป็นทัพหน้ายกไปก่อน

พระเวสสันดรได้ยินเสียงไพร่พลช้างม้าอื้ออึงก็ตกพระทัยแต่พระนางมัทรีทูลเตือนให้สตินึกถึงพรที่ขอพระอินทร์ไว้ ก็ค่อยพินิจดูก็รู้ชัดว่าเป็นไพร่พลของพระบิดาของพระองค์ เมื่อตั้งสติก็คอยต้อนรับอยู่ที่หน้าบรรณศาลา

พอกษัตริย์ทั้ง ๖ ไปพบกันพร้อมหน้า คือพระเจ้ากรุงสญชัย พระนางผุสดี พระชาลี กัณหา พระเวสสันดร และพระนางมัทรีก็โศกโศกา เพราะพลัดพรากกันมานานหลายเดือน ได้รับความลำบากต่าง ๆ ถึงกับสลบลงทั้ง ๖ กษัตริย์ ไพร่พลก็พากันร่ำร้องไห้ไปหมดทั้งกองทัพ ถึงกับสลบสไสลไปหมดด้วยกัน
พระอินทร์เห็นว่าจะไม่เป็นการแน่ ต้องช่วยอีกแล้ว ในเรื่องพระอินทร์บันดาลให้ห่าฝนโบกขรพรรษตกลงมา ฝนนี้ก็แปลกประหลาดเหลือ เพราะใครอยากไม่ให้เปียกก็ไม่เปียก เขาว่าเหมือนน้ำตกบนใบบอนหรือบัว แล้วก็ตกลงพื้นดินไป ต่อเมื่อใครอยากให้เปียกจึงจะเปียก และแถมมีสีแดงเสียด้วยสิ

กษัตริย์ทั้ง ๖ และไพร่พล ได้รับความชุ่มชื่นก็ฟื้นจากสลบ พระเจ้ากรุงสญชัยก็เชิญให้พระโอรสลาผนวชเข้าไปครองราชสมบัติดังเก่า พระนางผุสดีก็ให้พระมัทรีลาเพศดาบทสินี (ฤๅษีผู้หญิง) กลับไปอยู่เวียงวังตามเคย

สุดท้ายของเรื่องก็คือ พระเวสสันดรลาเพศดาบถคืนเข้าเสวยราชสมบัติให้ทานต่อไปตามเคย ชาวกลิงคราชซึ่งขอช้างปัจัยนาเคนทร์ไป จนพระเวสสันดรถูกเนรเทศ หลังจากแว่นแคว้นเข้าสู่สภาพปกติสุข ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาลแล้ว ก็นำช้างกลับมาถวายคืนไว้ตามเดิม

บุพพกรรมของพระเวสสันดร พระนางมัทรี พระกัณหา พระชาลี บุพพกรรมของพระเวสสันดรทรงหวาดกลัวเสียงไพร่พลช้างม้าที่พระเจ้ากรุงสญชัยยกทัพมารับกลับยังกรุงพระนคร ก็เป็นเพราะว่าครั้งหนึ่งพระเวสสันดรเสวยพระชาติเป็นมหากษัตริย์ พระองค์ทรงยกกองทัพออกจากพระนครเป็นกองทัพที่ใหญ่โตมโหราญและได้มีพระภิกษุองค์หนึ่งเดินผ่านมาพระมหาษัตริย์ทรงเกรงว่าพระภิกษุองค์นั้นจะได้รับอันตรายจึงให้อำมาตย์ไปนิมนต์พระภิกษุหลบไปก่อน... พระภิกษุองค์นั้นตกใจกลัวก็หลบไป..ด้วยผลกรรมอันนี้มาในชาติพระเวสสันดรพระองค์ก็เลยตกใจกลัวด้วยประการฉะนี้..

ส่วนบุพกรรมของพระนางมัทรีนั้นที่ถูกพระเวสสันดรทรงตัดพ้อให้เจ็บช้ำพระหฤทัยนั้นก็เพราะในพระชาตินั้นทรงเป็นเกิดนกกระจาบแล้วได้ต่อว่าต่อขานแก่สามีซึ่งเป็นพ่อนกติดอยู่ในดอกบัวไม่สามารถที่จะกลับมาได้จึงเป็นเหตุให้ลูกน้อยต้องตายไปในกองไฟป่าทั้งหมด....

บุพพกรรมของพระกัณหา ชาลี ในอดีตชาตินั้นเกิดเป็นกุมารแลกุมารีของชาวนา บิดามารดาใช้ให้กุลบุตรทั้ง ๒ ดูแลควายมิให้เข้ากัดกินข้าวกล้าในนาข้าว ควายแก่นั้น ดื้อ ด้าน ทาน ขืน ก้าวลงสู่ท้องนาเพื่อกัดกินข้าวกล้า กุลบุตรทั้ง ๒ จึงเฆี่ยนตีควายนั้นให้เข็ดหลาบ ด้วยบุพพกรรมนั้นแล ควายนั้นกำเนิดเกิดเป็นตาพราหมณ์ชูชกในชาตินี้ กุลบุตรทั้ง ๒ เกิดเป็นพระกัณหาชาลีร่วมภพชาติ ด้วยบุพกรรมอันนั้นส่งผลให้สองพระกุมารต้องมาถูกชูชกผูกมัดมือเฆียนตีดังกล่าว


บุพพกรรมของตาชูชกที่ได้ภรรยาสาวสวยวัยรุ่นนั้นเป็นเพราะในชาติหนึ่งได้บูชาพระด้วยดอกไม้สดแรกแย้มมาในชาตินี้จงมีภรรยาสาววัยรุ่นดังกล่าว
บุพพกรรมของนางอมิตดานั้นในชาติหนึ่งนางได้บูชาพระด้วยดอกไม้เหี่ยวแห้ง.. .ส่วนดอกไม้สดนางก็นำมาประดับตัวเอง..จนกระทั้งนางได้นึกขึ้นว่าไม่ดีงามนางจึงได้กลับใจบูชาพระด้วยดอกไม้สดตูมสวย... พอตาชูชกจากไปไม่นานนางก็มีชายหนุ่มรูปงามมาเกี่ยวพาราสี...นางจึงได้หลบหนีไปอยู่ด้วยกันจึงเป็นอันว่าตอนหลังนางก็มีสามีหนุ่มไม่ใช่ตาเฒ่าแก่เช่นตาชูก...ดังนี้แล.....

**เพิ่มเติม**
พระเวสสันดร = มาเป็นพระพุทธเจ้า

พระนางมัทรี = มาเป็นพระนางพิมพายโสธราพระชายาของเจ้าชายสิทธัตถะ(พระพุทธเจ้า) ออกบวชบรรลุอรหันตผล ได้เป็นเอตทัคคะทางด้านระลึกชาติ

พระชาลี = มาเป็นพระราหุล ได้บวชตั้งแต่ ๗ ขวบ บรรลุอรหันตผล เมื่ออายุ ๒๐ ปี

พระกัณหา = มาเป็นพระอุบลวรรณา ออกบวชได้เป็นอัครสาวิกาฝ่ายซ้าย เป็นเอตทัคคะด้านอิทธิฤทธิ์

อัจจฤๅษี = มาเป็นพระสารีบุตร พระสาวกฝ่ายขวา เป็นเอตทัคคะผู้มีปัญญามาก

ช้างปัจจัยนาค = มาเป็นพระโมคคัลลาน พระสาวกฝ่ายซ้าย เป็นเอตทัคคะผู้มีฤทิธ์มาก

ชูชก = มาเป็นพระเทวทัต

นางอมิตตดา = มาเป็นนางจิญจมานวิกา

พรานเจตบุตร = มาเป็น นายฉันนะ

พระเจ้าสญชัย = มาเป็นพระเจ้าสุทโธทนะ (พุทธบิดา)

พระนางผุสดี = มาเป็นพระนางสิริมหามายา(พุทธมารดา)

เทวดาที่มาช่วยดูแลพระกุมารตอนกลางคื

ตนหนึ่งมา = เป็นพระอนุรุธ

และอีกตน = มาเป็นพระมหากัจจายนะ

พระอินทร์ = มาเป็นพระมหากัสสปะ

เรื่องพระเจ้าสิบชาติก็จบลงเพียงเท่านี้ สุขสวัสดีจงเป็นของทุกท่าน -.-

เหตุใด ?? พระเวสสันดรจึงบริจากบุตร-ภรรยาเป็นทาน และอ่านเรื่องบุพพกรรมในอดีตชาติของพระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน อ่านได้ที่นี่

 

 

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: sawanbanna




พระเจ้าสิบชาติ

พระชาติที่ ๑ พระเตมีย์
พระชาติที่ ๒ พระมหาชนก
พระชาติที่ ๓ พระสุวรรณสาม
พระชาติที่ ๔ พระเนมีราช
พระชาติที่ ๕ พระมโหสถ ตอน ๑
พระชาติที่ ๕ พระมโหสถ ตอน ๒
พระชาติที่ ๕ พระมโหสถ ตอน ๓
พระชาติที่ ๕ พระมโหสถ ตอน ๔
พระชาติที่ ๕ พระมโหสถ ตอน ๕
พระชาติที่ ๕ พระมโหสถ ตอน ๖
พระชาติที่ ๖ พระภูริทัต
พระชาติที่ ๗ พระจันทรกุมาร
พระชาติที่ ๘ พระพรหมนารท
พระชาติที่ ๙ พระวิธูร
พระชาติที่ ๑๐ พระเวสสันดร ตอน ๑