
วันนี้ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๔ เป็นวันโกน ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีฉลู เป็นวันเยาวชนแห่งชาติด้วย พรุ่งนี้เป็นวันพระใหญ่มีสวดปาติโมกข์
…
ก็มีหลายเรื่องเป็นคำถามประดังเข้ามา ทั้งเรื่องของเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีพฤติกรรมแปลกประหลาด หลายคนเป็นห่วงว่า เยาวชนของเราจะถูกล้างสมองทำให้ทัศนคติผิดเพี้ยนไป ทั้งเรื่องของพระที่ออกมารีวิวสินค้า ถามว่า เหมาะสมหรือไม่?
…
ถ้าเราจะตอบ ก็ต้องเอาเหตุผลที่เป็นธรรมถูกต้องมาตอบ ไม่เอาความรู้สึกส่วนตัว แต่มันจะยาวมาก บางทีก็ขี้เกียจพิมพ์ ถ้าตอบสั้น ๆ มันก็ไม่ได้เนื้อความที่ชัดเจน คำตอบไม่ครอบคลุมปัญหาที่จะทำให้หายสงสัยได้ ถ้ามีเวลามากพอ จะอัดเป็นคลิปวีดีโอมาอัพโหลดให้ฟัง หรือจะพิมพ์ตอบก็ได้ ดูก่อนว่า จะเอาแบบไหนดี
…
วันนี้อยากจะพูดเรื่องเตาต้มแก่นขนุนพลังไฟหมุนวน ได้ทำคลิปวีดีโอถ่ายให้ดูวิธีการทำเตาไปแล้ว ก็มีพระสนใจอยากเอาไปทำบ้าง ก็ให้ทำตามที่บอกในคลิปได้เลย ที่จะบอกวันนี้ก็คือ สมรรถนะของเตาหลังจากทำเตาสำเร็จบริบูรณ์แล้ว
…
วันนี้ก็ต้มแก่นขนุนเป็นปฐมฤกษ์ ใช้หม้อสแตนเลส 304 หนา 1.2 มม. ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 50 ซม. สูง 60 ซม. ความจุ 118 ลิตร ใส่แก่นขนุนถุงใหญ่ ใส่นำ้เต็มหม้อ จับเวลาตั้งแต่เริ่มจุดไฟ ต้มน้ำเดือดใช้เวลา 40 นาที เตาเก็บความร้อนได้ดีมาก เอามือจับข้างเตาแทบไม่ร้อนเลย ถ้าเตาร้อนแล้ว ต้มหม้อสอง หม้อสาม ไม่ถึง 20 นาที น้ำก็เดือดแล้ว
…
ปกติวัดป่าฯ จะต้มแก่นขนุนซักผ้าจีวรย้อมสีพร้อมกันในวันโกน การซักจีวรด้วยน้ำต้มเคี่ยวแก่นขนุนนี้ เป็นปฏิปทาที่พ่อแม่ครูอาจารย์ใหญ่ องค์หลวงปู่มั่น และองค์หลวงตาพระมหาบัว พาทำมานานล่ะ จะไม่ซักผ้าจีวรแบบทำใครทำมัน พระป่าท่านมักใช้จีวรตัดเย็บด้วยผ้าขาว แล้วมาย้อมสีเอาเอง ไม่ใช้จีวรย้อมสีสำเร็จรูปจากโรงงาน
…
การต้มแก่นขนุนแต่ละทีถือเป็นงานใหญ่ ต้มหม้อหนึ่งก็ต้องซักผ้าได้หลายรูป มิฉะนั้น จะเปลืองแก่นขนุนแย่ แก่นขนุนก็ต้องต้มเคี่ยวจนสีจางแล้ว จึงจะเปลี่ยนแก่นขนุนใหม่ ผ้าจีวรเมื่อถูกซักด้วยน้ำต้มเคี่ยวแก่นขนุน สีก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีแก่นขนุน สีเคมีจะค่อย ๆ จางไป ถ้าซักย้อมด้วยแก่นขนุนไปนาน ๆ สีแก่นขนุนก็จะเข้าไปจับในเนื้อผ้า แม้ผ้าถูกน้ำสีก็ไม่ลอกออก
…
ผ้าจีวรที่ซักย้อมด้วยน้ำต้มเคี่ยวแก่นขนุนนี่แล คือผ้ากาสาวพัสตร์ หรือที่เรียกว่า ผ้ากาสายะ คือ ผ้าย้อมด้วยน้ำฝาดแก่นไม้ ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้ไม้แก่นขนุน เพราะยังพอหาได้ และสีไม่สดใสฉูดฉาดจนเกินไป ถือว่าเป็นสีจีวรที่ถูกต้องตามพระวินัยอย่างแท้จริง ไม่ใช่สีที่ย้อมสำเร็จมาจากโรงงาน
…
เพราะการที่ศาสนาจะตั้งอยู่ได้ยืนนาน นอกจากพระสงฆ์จะต้องปฏิบัติเคร่งครัดในพระธรรมวินัยแล้ว การที่พระสงฆ์จัดทำบริขารใช้เองได้ ก็จะทำให้สามารถทำเครื่องอัฏฐบริขารให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยได้ตลอดไป ไม่ต้องไปพึ่งพาโรงงานร้านค้า ซึ่งบางทีก็มักง่าย ผลิตบริขารพระออกมาขายในแบบที่ไม่ถูกต้องตามพระวินัย ก็มีให้เห็นเยอะแยะไป เพราะเขาต้องประหยัดต้นทุน เพื่อหวังผลทางด้านกำไร
…
แต่ก็มีหลายที่ที่ตั้งใจทำบริขารพระได้ถูกต้องตามพระวินัย มีฝีมือตัดเย็บผ้าจีวรประณีต ไม่เอาเปรียบผู้ซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ้าไตรจีวร ก่อนที่จะไปซื้อผ้าไตรจีวรมาถวายพระ ผู้ซื้อควรไปถามพระท่านเสียก่อนว่า ท่านใช้จีวรขนาดกว้างเท่าไหร่ ยาวเท่าไหร่ สูงเท่าไหร่ ใช้สีแบบไหน จะต้องตัดเย็บอย่างไร เป็นแบบมหานิกาย หรือธรรมยุต เพราะทั้งสองคณะใช้ผ้าจีวรไม่เหมือนกัน
…
ส่วนพระบวชใหม่ ถ้าใช้จีวรตัดเย็บย้อมสำเร็จรูป มันก็ใช้ได้ล่ะนะ แต่ถ้าจะให้ถูกต้องตามพระวินัยแท้ ก็ต้องเอาไปซักย้อมด้วยน้ำต้มแก่นขนุนอีกทีก่อน จึงจะได้ชื่อว่า เป็นผ้ากาสายะ คือผ้าย้อมน้ำฝาดแก่นไม้ ถูกต้องตามพระบรมพุทธานุญาตแท้
…
ผ้าจีวรที่ไม่เคยซักย้อมด้วยน้ำฝาดแก่นไม้เลย จะเรียกว่า ผ้ากาสายะได้อย่างไร ก็ขอฝากให้พระวินัยธรทั้งหลายลองพิจารณาดูเอาเอง ถามว่า ถ้าไม่ซักย้อมด้วยน้ำต้มแก่นขนุนจะใช้ได้ไหม ก็ตอบว่า ใช้ได้ ถ้าอยู่ในที่ที่ไม่สามารถทำได้ และสีไม่ผิดเพี้ยนจนเกินไป
…
เราเข้าใจเอาเองว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ส่วนใหญ่ท่านจะพอใจรักษาพระธรรมวินัย อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วนี้ ด้วยความสุขใจสบายใจ เท่าที่ท่านจะสามารถทำตามได้อย่างสุดกำลังความสามารถ ท่านจะไม่มีจิตเจตนาคิดที่จะทำอะไรที่ผิดแปลกแหวกแนวไปจากพระธรรมวินัยเลย เว้นไว้แต่เป็นเหตุสุดวิสัยจริง ๆ เท่านั้น ดังเช่น เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือเกิดเหตุร้ายไม่เป็นปกติ เป็นต้น
…
#ดอยแสงธรรม_๒๕๖๔

๒๐ กันยายน ๒๔๖๔ วันเยาวชนแห่งชาติ