
ข่าวดังโซเชียล มีคำถามเข้ามาว่า เรื่องที่กำลังเป็นข่าวดังอยู่ในโซเชี่ยลเวลานี้ พระอาจารย์คิดเห็นอย่างไร?
.
เป็นคำถามหนักทีเดียว เราก็คิดอยู่นานยังหาคำตอบที่ดีไม่ได้ เพราะมันตอบยาก เราเองก็ไม่เคยได้พบเห็น ไม่เคยเรียนรู้ข้อวัตรปฏิปทาของท่าน จะไปตอบสุ่มสี่สุ่มห้าด้นเดาเกาหมัดเอาตามความคิดความเชื่อของตัวเองไม่ได้
.
ถ้าจะตอบก็ต้องตอบไปตามพระธรรมวินัยเป็นบรรทัดฐาน และต้องเป็นผลดีไม่ก่อให้เกิดโทษ เพราะเรื่องราวมันมีลึกมีตื้น มีหยาบมีละเอียด มีได้มีเสีย ไม่ใช่จะตอบแบบพูดเอามัน พูดพล่อย ๆ พูดเกาะกระแส พูดไปตามความรู้สึกของตัวเอง
.
ต้องยึดถือเอาตามพระธรรมวินัย และปฏิปทาในฝ่ายพระธุดงคกรรมฐานที่พ่อแม่ครูอาจารย์องค์หลวงตาพระมหาบัว พาดำเนินมาด้วย เพราะอันนี้เป็นที่ตายใจได้
.
เราเห็นหลายคนโพสต์อธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ราวกับเป็นนักปราชญ์ผู้ฉลาดแหลมคม การตอบโดยใช้ศรัทธาและความคาดเดาของตัวเองนั้น มันอันตรายมาก ก็อดเป็นห่วงไม่ได้
.
ถ้าสิ่งที่คุณคิดมันเป็นความจริงที่ถูกต้อง ก็แค่เสมอตัว แต่ถ้ามันไม่เป็นความจริง ก็จะได้ตีตั๋วไปเที่ยวนรกกันเลยทีเดียว
.
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “สุทธิ อะสุทธิ ปัจจัตตัง นาญโญ อัญญัง วิโสธะเย” แปลว่า “ความบริสุทธิ์ หรือไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตัว บุคคลจะยังคนอื่นให้บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ หาได้ไม่”
.
ใครมีคุณวิเศษอันใด จึงจะไปรับรองว่า ผู้นี้จะเป็นพระอรหันต์ หรือผู้นั้นจะไม่ใช่พระอรหันต์ ผู้ที่จะรู้ได้ว่า ใครเป็นพระอรหันต์ หรือใครไม่เป็นพระอรหันต์ ก็มีแต่พระอรหันต์ด้วยกันเองเท่านั้น
.
ถ้าท่านเป็นพระอรหันต์ แต่เราไปตำหนิว่า ท่านไม่เป็นพระอรหันต์ ความหายนะก็จะพึงบังเกิด
.
หรือถ้าท่านไม่เป็นพระอรหันต์ แต่เราไปยกย่องว่า ท่านเป็นพระอรหันต์ ความหายนะก็จะพึงบังเกิดเช่นเดียวกัน สรุปแล้วก็มีแต่เสียกับเสีย
.
ดังนั้น ผู้มีปัญญาก็จงอย่าเอาความรู้สึกของตัวเองไปพยากรณ์ความเป็นพระอรหันต์ หรือไม่เป็นพระอรหันต์ของใครเลย ถ้าไม่รู้จริงด้วยตัวเอง ก็จงอยู่เฉย ๆ นั่นแหละดีกว่า ถือหลักปลอดภัยเอาไว้ก่อนจึงเป็นการสมควรแท้
.
อันนี้พูดไปตามพระธรรมวินัย ไม่เจตนาจะให้กระทบกระทั่งท่านผู้ใด ถ้าเราอยากฟังธรรมเพื่อให้รู้ธรรมเห็นธรรม ก็จงฟังด้วยใจเป็นกลาง แล้วใคร่ครวญไปตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ดีแล้วนั้น พิจารณาให้มาก ทำให้มาก
.
ถ้าเราพิจารณาพระธรรมวินัยให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ก็จะเข้าไปเห็นความจริงด้วยสติปัญญาของตัวเอง ว่าเป็นจริงดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ทุกประการ อย่างไม่มีผิดพลาดคลาดเคลื่อนแม้แต่เพียงนิดเดียว
.
อะไรที่มันขัดกับพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว แม้มันจะถูกใจเรา หรือเราเชื่อว่า เป็นอย่างนั้น หรือจะฟังใครพูดมาก็ตาม ให้เรายกไว้ก่อน อย่าเพิ่งเชื่อหรือไม่เชื่อ จนกว่าเราจะหาทางพิสูจน์ได้ บทพิสูจน์ก็มีดังนี้ :-
.
๑. ต้องไม่ผิดไปจากพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ไม่ใช่ไปคิดเอาเอง ลักษณะตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการ นั้นชัดเจนที่สุดแล้ว
.
๒. เป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ที่ตายใจได้จริง ๆ บอกต่อกันมา คำว่า ตายใจได้ คือ ท่านเป็นพระอรหันต์แท้ เราได้ไปศึกษาอยู่กับท่าน ได้ยินได้ฟังคำสอนของท่าน ได้เห็นวัตรปฏิบัติของท่าน ได้เห็นปฏิปทาความเพียรในการชำระกิเลสของท่าน
.
ที่สำคัญคือ ดูอุบายวิธีปฏิบัติที่ท่านใช้ในการชำระกิเลสของท่าน ผู้สิ้นกิเลสจะพูดได้อย่างอาจหาญในกลอุบายที่ท่านใช้จัดการกับกิเลส ท่านทำความเพียรสู้ทุกข์อย่างไร ท่านใช้อุบายปัญญาประเภทใด จึงเอาชนะทุกขเวทนาอันแรงกล้าที่เกิดขึ้นภายในกายได้ โดยที่ใจสงบนิ่งไม่หวั่นไหวไปกับทุกขเวทนาอันเผ็ดร้อน
.
ที่กล่าวมานี้ คือด่านอริยสัจ ๔ ที่พระอรหันต์ทุกประเภทต้องผ่านไปให้ได้เป็นเบื้องต้น เว้นแต่ผู้ที่จะบรรลุธรรมได้ในแบบที่เป็นขิปปาภิญญา คือ รู้ได้อย่างรวดเร็วจึงไม่ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากลำบากมากนัก แต่ท่านก็เข้าใจวิธีการเอาชนะทุกข์ได้อย่างแจ่มแจ้ง และเอาชนะทุกข์ได้จริงอย่างไม่มีข้อสงสัย
.
ไม่ใช่ดีแต่พูดอวดรู้อวดฉลาดเอาเองเฉย ๆ แต่ไม่มีข้อปฏิบัติเป็นเครื่องรับรอง พอกายเจอทุกขเวทนาเผ็ดร้อน ใจก็เป็นทุกข์กระวนกระวาย กายก็ดิ้นก็ร้องปานเสือถูกปืน อย่างนี้มันก็ใช้ไม่ได้
.
ผู้ที่จะผ่านอริยสัจ ๔ ขั้นสุดท้าย ยังต้องกำจัดความหลงอย่างละเอียดอันเป็นมิจฉาทิฏฐิที่สุขุมลุ่มลึกที่ฝังจมอยู่ภายในใจให้หมดสิ้นไปอย่างไม่เหลือซากอีกต่างหาก ใจจึงจะเปิดเผยให้เห็นธรรมอันบริสุทธิ์ขึ้นมาแทน
.
การจะเป็นพระอรหันต์ได้นั้น แต่ละองค์ล้วนต้องผ่านความเพียรขั้นเดนตายมาแล้วทั้งนั้น มิใช่อยู่ ๆ ใคร ๆ ก็จะมาคิดนึกเอาเองตามใจชอบ หรือตามความเชื่อว่า องค์นั้นเป็นพระอรหันต์ องค์โน้นเป็นพระอรหันต์ โดยไม่รู้ข้อวัตรปฏิบัติอะไรเลย
.
ดังนั้น ถ้าอยากจะรู้ว่าใครจะเป็นพระอรหันต์ หรือไม่เป็นพระอรหันต์ ก็ต้องเข้าไปศึกษาข้อวัตรปฏิบัติของท่าน ศึกษาคำสอนของท่าน ดูอุบายวิธีการชำระกิเลสของท่าน ท่านชำระกิเลสให้หมดสิ้นไปได้อย่างไร ได้แค่ไหน ท่านก็รู้ได้แค่นั้น พูดได้แค่นั้น พูดเลยนั้นไป ก็มีแต่ผิดกับผิด อย่างนี้เป็นต้น
.
เราเองไม่ได้อยากรู้เลยว่า ใครจะเป็นพระอรหันต์ หรือไม่เป็นพระอรหันต์ ยกให้เป็นเรื่องของท่าน ไม่ใช่เรื่องของเรา ถึงรู้ไปก็ไม่ช่วยทำให้เรามีคุณธรรมเหมือนท่านได้ นอกเสียจากเราจะเร่งทำความเพียรด้วยตัวเอง ปฏิบัติไปตามศีล สมาธิ ปัญญา ทำให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ก็จะพอมีทางให้ได้บรรลุธรรมตามสมควรแก่วาสนาบารมีในชาตินี้
.
หรืออย่างน้อยก็ให้มี ศีล สมาธิ ปัญญา เจริญรุดหน้ามั่นคงยิ่ง ๆ ขึ้นไป เป็นต้นทุนหนุนส่งบารมีธรรมให้สูงส่งยิ่ง ๆ ขึ้นไปในภพหน้าชาติหน้า อยากได้อย่างไหนก็เลือกทำเอาเอง
.
พระอริยเจ้าทุกประเภท นับตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ แม้ท่านจะอยู่เหนือสมมติแล้ว แต่ท่านก็ยังเคารพพระธรรมวินัยอันเป็นสมมตินี้ยิ่งชีวิต เพื่อทอดสะพานให้กุลบุตรผู้มาสุดท้ายภายหลังได้ก้าวเดินตาม
.
มิใช่ว่า เป็นพระอริยเจ้าแล้ว จะทำอะไรก็ได้ไม่จำเป็นต้องถือพระธรรมวินัยอีกแล้ว เลยไปทุบสะพานทิ้งเสีย หากเป็นเช่นนั้น กุลบุตรผู้มาสุดท้ายภายหลังจะก้าวเดินตามพระธรรมวินัยได้อย่างไร แล้วใครจะเป็นศาสนทายาทสืบทอดพระพุทธศาสนาได้
.
อีกประการหนึ่ง ใครก็ตามถ้าไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ก็ไม่มีทางที่จะผ่านด่านอริยสัจ ๔ ที่มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ไปได้เลย คือไม่มีทางที่จะได้บรรลุมรรค ผล นิพพานใด ๆ ได้นั่นเอง
.
มิใช่ว่า พอสำเร็จเป็นพระอริยเจ้าแล้ว อยู่เหนือสมมติแล้ว เลยไม่เคารพสมมติ ไม่เคารพพระธรรมวินัย อยากจะทำอะไรก็ทำได้ ไม่ใช่อย่างนั้น
.
ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อมตกอยู่ในกฏแห่งไตรลักษณ์ คือ เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ไม่จีรังยั่งยืนอยู่เสมอ เป็นทุกขัง มีความเสื่อมสิ้นพิบัติแปรปรวนไปเป็นธรรมดา เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
.
พระอรหันต์รูปร่างแปรเปลี่ยนได้ แก่ เจ็บ ตายเหมือนกับทุกคน มีทุกข์กายเจ็บปวดได้ แต่ทุกข์ใจท่านไม่มี ความทุกข์ไม่อาจแทรกซึมเข้าไปในจิตบริสุทธิ์ได้
.
พระอรหันต์มีความจำเสื่อมได้หลงลืมได้ คิดอะไรไม่ออกได้ ตาฝ้าตาฟาง หูตึงหูหนวกได้ การรับสัมผัสทางกายก็ผิดเพี้ยนไปได้ ก็เป็นไปตามสุขภาพร่างกายเหมือนคนทั่วไป เหล่านี้ ถือเป็นเรื่องของขันธ์ ๕ เป็นเรื่องของสมมติ ต้องตกอยู่ในกฏแห่งไตรลักษณ์
.
ดังนั้น ถ้าครูบาอาจารย์ทุพพลภาพช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรืออาจทำอะไรไปตามสภาพของขันธ์ ถ้าล่อแหลมจะผิดต่อพระธรรมวินัย ลูกศิษย์ลูกหาที่ฉลาดก็ต้องคอยป้องกัน สิ่งใดที่ไม่เหมาะไม่ควร แม้เพียงอาหารการกินที่แสลงต่อโรค ไม่ถูกกับธาตุขันธ์ ยังต้องมีการคัดกรองออกไป อย่าว่าแต่สุภาพสตรีที่เป็นภัยร้ายแรงต่อพรหมจรรย์ ไฉนจะปล่อยให้เข้าไปใกล้ชิดจนเกินขอบเขตได้ เรื่องเช่นนี้ลูกศิษย์ลูกหาที่ฉลาดต้องรู้จักคิดเองได้อยู่แล้ว
.
ส่วนเรื่องการหลงลืมนั้นก็มีได้เป็นธรรมดา เพราะสัญญาขันธ์ เป็นความจดความจำมันก็ไม่เที่ยง แต่สิ่งหนึ่งที่พระอริยเจ้าทั้งหลายจะไม่มีวันลืม ก็คืออริยสัจ ๔ ที่ท่านรู้แล้วเห็นแล้ว เพราะอันนี้คือความจริงที่เกิดขึ้นที่ใจ มิได้อยู่ในวงของขันธ์ ๕ พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ท่านไม่มีเจตนาที่จะกระทำชั่วใด ๆ อีกเลย นับตั้งแต่วันที่ได้ตรัสรู้อริสัจ ๔
.
เว้นไว้แต่สิ่งที่ท่านเคยทำเป็นนิสัยวาสนาสั่งสมมาตั้งแต่ครั้งยังมีกิเลส ก็อาจยังหลงเหลืออยู่บ้าง เพราะภูมิสาวกละนิสัยวาสนาไม่ได้ มีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่ละนิสัยวาสนาได้เพียงพระองค์เดียว
.
ดังนั้น เรื่องราวของพระอรหันต์เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนยิ่งนัก ไม่ใช่เรื่องที่ใคร ๆ จะไปด้นเดาเกาหมัดคิดเอาเองตามใจที่ยังหนาแน่นด้วยกิเลส
.
ในครั้งพุทธกาลพระสารีบุตรเคยเกิดเป็นลิงมา ๕๐๐ ชาติ นิสัยของลิงจึงฝังมา พอท่านเห็นหนองน้ำ เห็นขอนไม้ท่านก็นุ่งโจงกระเบนทำท่ากระโดดเหมือนลิง บรรดาพระหนุ่ม ๆ เห็นแล้ว ก็ตำหนิติเตียนว่า เป็นถึงพระอัครสาวก เหตุไฉนมาแสดงพฤติกรรมอันน่าเกลียดเช่นนี้
.
พระพุทธเจ้าจึงต้องตรัสเตือนเหล่าสาวกให้เข้าใจ ว่าท่านมิได้มีเจตนาที่จะทำเช่นนั้น แต่หากเป็นด้วยนิสัยวาสนาเก่าที่สั่งสมมาหลายภพหลายชาติบันดาลให้เป็นไป
.
หรือพระสันตกายเคยเกิดเป็นราชสีห์ถึง ๕๐๐ ชาติ ท่านจะยืนจะเดินจะนั่งจะนอน ก็ล้วนมีกิริยาสง่าสงาม มีสติสำรวมปานพระอรหันต์ จนพระหนุ่ม ๆ ก็สงสัย ท่านจะเป็นพระอรหันต์หรือเปล่าหนอ? พระพุทธเจ้าต้องตรัสบอกว่า ยังเป็นปุถุชนอยู่ แต่ท่านติดนิสัยสำรวมของราชสีห์มา จึงเป็นแบบนั้น
.
นี่! ยกตัวอย่างให้ฟังพอให้เข้าใจ ก็แค่อยากจะบอกว่า ใครทำดีก็ได้ดีเอง ใครทำชั่วก็ได้ชั่วเอง บุคคลจะยังคนอื่นให้ดีหรือชั่ว หาได้ไม่
.
พระท่านจะดีหรือจะชั่วให้ถือตามพระธรรมวินัย ลักษณะตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการก็มีอยู่ อย่าถือเอาตามความเชื่อหรือตามความเห็นของตัวเอง หรือได้ยินได้ฟังจากใครมาก็ไม่รู้
.
พุทธเจ้ายังตรัสเอาไว้อีกว่า ถ้าอยากจะรู้ว่า ใครจะดี ใครจะชั่ว ให้ดูกันไปนาน ๆ ศึกษากันไปนาน ๆ อย่าดูแค่ฉาบฉวย เห็นเขาทำดี พูดดี หรือเห็นใครทำชั่ว พูดชั่ว นิด ๆ หน่อย ๆ ก็หลงเชื่อ ว่าดี ว่าชั่ว จนหัวปักหัวปำ เป็นเหตุนำมาซึ่งความทะเลาะวิวาทกัน นั่น! ไม่ใช่วิสัยของผู้มีปัญญา
.
จงดูเหตุการณ์อย่างสงบนิ่ง ใคร่ครวญหาเหตุผลด้วยสติปัญญา การจะทำดี ทำชั่ว มันแยกกันอยู่แล้ว ให้ดูเจตนาของการกระทำ ท่านเจตนาที่จะทำเช่นนั้นไหม ทำแล้วเป็นคุณหรือเป็นโทษ ทำเป็นอาจิณหรือเปล่า ทำโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว หรือทำโดยไม่ได้ตั้งใจที่จะทำ ค่อย ๆ ดูไป ปล่อยให้เหตุการณ์มันเปิดเผยตัวเอง ดีก็คือดี ชั่วก็คือชั่ว เราอย่าเพิ่งไปตัดสิน ไปฟันธงว่า ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างโน้น .
ใครทำดีก็จะได้ดีเอง ใครทำชั่วก็จะได้ชั่วเอง บุคคลจะยังคนอื่นให้ดีหรือชั่ว หาได้ไม่ นี้! คือ สัจธรรมที่ไม่มีใครจะปกปิดได้ ไม่มีใครจะไปยัดเยียดให้ใครได้ ไม่มีใครจะเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นได้
.
จงดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยใจที่สงบเป็นกลาง อย่างผู้มีสติปัญญา ไม่ต้องเข้าข้างใคร มีเหตุอันควรทำอย่างไรก็ทำไป ใครจะปกป้องครูบาอาจารย์แบบไหนจึงเหมาะจึงควรก็ทำไป ใครอยากจะสืบค้นหาความจริงก็ทำไป
.
ทุกอย่างมันมีความพอเหมาะพอดีอยู่ในตัวมันเองอยู่แล้ว อยู่ที่ใครจะหาเจอไหม ทำได้หรือเปล่า ถ้ามากไปก็เกิดโทษ ถ้าน้อยไปก็เกิดโทษ จะทำอะไรก็ขอให้ตั้งอยู่บนความพอดีก็แล้วกัน เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา
.
อย่าไปใส่ร้ายป้ายสีกัน อย่าไปประทุษร้ายกัน ให้หาความจริงด้วยจิตเมตตาต่อกัน ถ้าใครรู้ว่าผิดก็ยอมรับว่าผิด ถูกก็ยอมรับว่าถูก ที่ผิดก็อย่าทำอีก ส่วนการที่จะแก้ไขให้ดีงามได้อย่างไรก็ทำไป เราต่างเป็นชาวพุทธด้วยกัน ถ้าต่างคนต่างช่วยกันทำดีเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนา จึงเป็นการดีการชอบแท้
.
จงตั้งใจทำดีให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ต้องไปด่ากัน โกรธกัน ทะเลาะกัน มันจะทำให้เกิดความแตกแยกแตกสามัคคี นั่น! ยิ่งแย่หนักเข้าไปอีก
.
ถ้าอยากให้ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรือง ชาวพุทธต้องรักกันสามัคคีกัน และพร้อมใจกันทำดี ตั้งอยู่ในศีลในธรรม นี้ต่างหาก
.
เรื่องอื่น ๆ ใครจะดี ใครจะชั่ว เราไปตัดสินคนอื่นไม่ได้ มันจะเป็นเหตุให้ทะเลาะกัน ไม่มีใครอยากให้ใครมาว่าตัวเองไม่ดี แม้ตัวเองจะไม่ดีจริง ๆ ก็ตาม แค่ศึกษาให้รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว และจะแก้ไขให้ดีได้อย่างไร เท่านั้นก็พอแล้ว อย่าไปถึงกับเคียดแค้นอาฆาตพยาบาทจองเวรกัน อันเป็นการสร้างทุกข์ให้แก่ใจตัวเองเปล่า ๆ
.
อย่าไปอยากให้กรรมทำงานเร็ว หรือทำงานช้า อย่าไปอยากให้เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างโน้น เป็นเรื่องของกิเลสล้วน ๆ ไม่มีอะไรจะอยู่เหนือกรรมได้ ไม่มีใครไปบังคับกรรมไม่ให้ปรากฏผลได้
.
จงตั้งใจคิดดี ทำดี พูดดีให้มาก ๆ ก็พอ แล้วปล่อยให้เป็นเรื่องของกรรมจะทำงานเอง ใครจะดี ใครจะชั่ว เดี๋ยวกรรมก็เปิดเผยตัวมันเอง อย่าไปเดือดเนื้อร้อนใจกับการกระทำไม่ดีของคนอื่น จนกินอยู่ไม่เป็นสุข จะหาความสุขไม่ได้ไปตลอดชีวิต เพราะเราไปห้ามคนไม่ให้ทำชั่วไม่ได้
.
ทำใจให้สบาย ๆ รักษาศาสนาพุทธในใจเราไว้ให้ดี ศีล สมาธิ ปัญญาในใจเราอย่าให้ขาดตกบกพร่อง อย่าให้เศร้าหมอง ส่วนศาสนาพุทธในใจคนอื่น ก็ยกให้เป็นเรื่องของคนอื่น ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกทำดีทำชั่วได้ แต่ไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกรับผลดีผลชั่วตามใจตัวเอง
.
เอวัง! ก็มีด้วยประการฉะนี้!!
.
#ดอยแสงธรรม_๒๕๖๕_๐๕
|
สายธารธรรม โดย...เจ้าอาวาส