
พระมหากัสสปะ ให้ไว้เป็นข้อคิดแก่ผู้ใฝ่ธรรม!!
.
พระมหากัสสปะ เป็นพระสาวกองค์เดียวที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่า มีคุณธรรมอันเป็นเครื่องอยู่เสมอด้วยพระองค์ ไม่ว่า ฌาน สมาบัติ ใด ๆ พระพุทธองค์ทรงเข้าได้อย่างไร พระมหากัสสปะก็เข้าได้อย่างนั้น เป็นพระสาวกรูปเดียวที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแลกผ้าสังฆาฏิของพระองค์กับพระมหากัสสปะ ทรงมอบตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศในทางถือทรงธุดงควัตร
.
พระมหากัสสปะ ถือธุดงควัตรตลอดชีวิตอยู่ ๓ อย่าง คือ ๑. ถือทรงผ้าบังสุกุลจีวรเป็นวัตร ผ้าจีวรของท่านปะแล้วปะเล่าถึง ๕๐๐ ชั้น ๒. ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถ้าไม่บิณฑบาต คือ ไม่ฉัน ๓. ถืออยู่ป่าเป็นวัตร
.
เมื่อบิดามารดาจากไปแล้ว พระมหากัสสปะเป็นผู้สืบทอดมรดก ต้องบริหารจัดการกิจการต่าง ๆ มากมาย แม้ไม่ได้ทำเองก็ต้องจ้างคนอื่นทำให้ ใครทำงานขาดตกบกพร่องไม่ดีตรงไหน ก็เดือดร้อนผู้เป็นนายจ้างที่ต้องคอยสอดส่องดูแลแก้ไข จนเกิดธรรมสังเวชว่า
.
“การอยู่ครองเรือนเป็นฆราวาสนั้น ต้องคอยรับบาปกรรม จากการงานที่คนอื่นทำไว้ไม่ดี”
.
จึงเกิดความเบื่อหน่ายสลดสังเวชใคร่จะออกบวช นี่! ถ้าไม่ใช่ผู้มีสติปัญญาแก่กล้าอย่างยิ่งแล้ว ก็ไม่อาจคิดได้อย่างนี้ ดีไม่ดีจะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟที่คนอื่นมาทำอะไรไม่ดีให้กับตน
.
จึงชักชวนภรรยา คือ นางภัททกาปิลานี ออกบวช ทั้งสองเห็นพ้องต้องกัน คงเป็นคู่สามีภรรยาที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก ที่แต่งงานกันด้วยภาระจำยอมที่ต้องตามใจพ่อแม่ จึงมิเคยถูกเนื้อต้องตัวกันเหมือนคู่สามีภรรยาทั่ว ๆ ไป แม้นอนเตียงเดียวกัน ก็ทำข้อตกลงแบ่งเขตกั้นแดนไว้ ห้ามมิให้ฝ่ายหนึ่งล่วงล้ำเขตแดนนี้ไป
.
ทั้งสองจึงไม่มีบุตรด้วยกัน แต่มีทรัพย์มากถึง ๘๐ โกฏิ เมื่อตกลงใจจะออกบวช จึงเปิดคลังสมบัติบริจาคทรัพย์ให้แก่บริวารทั้งหมดใช้เวลา ๗ วัน แจกทรัพย์จนหมดเกลี้ยง แล้วจัดหาบริขารเครื่องแต่งกายของนักบวชเดินทางไปด้วยกัน พอไปถึงทางสองแพร่งก็ตกลงแยกทางกัน
.
พระมหากัสสปะ จึงบอกกับภรรยาว่า เราสองออกบวชถือเพศพรหมจรรย์ จะมาเดินตามกันเช่นนี้ หาควรไม่ เราแยกกันตรงนี้เถิด ฝ่ายภรรยาก็เห็นดีเห็นงามด้วย จึงบอกว่า ท่านเป็นบุรุษ จงถือเอาทางขวา ข้าพเจ้าเป็นสตรี จะถือเอาทางซ้าย แล้วทั้งสองก็แยกทางกัน
.
คราทีนั้น มหาปฐพีที่หนาสองแสนสี่หมื่นโยชน์ ก็มิอาจรองรับคุณธรรมอันหนักแน่นของทั้งสองได้ แสดงอาการหวั่นไหว พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งที่พระคันธกุฎี ได้ยินเสียงแผ่นดินไหวด้วยพระโสตธาตุอันเป็นทิพย์ จึงเสด็จไปประทับนั่งที่โคนต้นไทรใหญ่อันเป็นทางมาของพระมหากัสสปะ พร้อมเปล่งฉัพพรรณรังสีพวยพุ่งฉวัดเฉวียนงดงามตระการตา
.
พระมหากัสสปะเห็นแล้วก็รู้แน่แก่ใจว่า ท่านผู้นี้คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแน่แท้ จึงเข้าไปถวายบังคมแล้วเอ่ยวาจาขออุปสมบท พระพุทธเจ้าทรงประทานการบวชให้ด้วยโอวาท 3 ข้อ เรียกโอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา อันเป็นการเฉพาะแก่พระมหากัสสปะแต่เพียงผู้เดียว ดังนี้
.
๑. กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจักเข้าไปตั้งความมีหิริ คือความละอาย ความมีโอตตัปปะ คือความเคารพยำเกรงในภิกษุผู้เป็นพระเถระ ภิกษุนวกะ และภิกษุมัชฌิมะ
.
๒. กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจักฟังธรรมบทใดบทหนึ่งซึ่งประกอบด้วยกุศล ด้วยความตั้งใจ โดยเคารพ และพิจารณาเนื้อความในธรรมนั้นให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
.
๓. กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจะไม่ละสติที่เป็นไปในกาย คือกายคตาสติ พิจารณากายเป็นอารมณ์อยู่โดยสม่ำเสมอ
.
พระมหากัสสปะน้อมนำโอวาทธรรมไปปฏิบัติ บวชได้ ๘ วัน ก็สำเร็จพระอรหันต์ ส่วนนางภัททกาปิลานี ภายหลังไปบวชเป็นภิกษุณีในสำนักของพระนางปชาบดีโคตมี ก็ได้สำเร็จพระอรหันต์เช่นกัน
.
จะเห็นได้ว่า ทั้งสองเป็นคู่บุญบารมีที่สร้างสมบุญกุศลมาเต็มเปี่ยมแล้วจริง ๆ จึงสามารถเปิดทางพระนิพพานได้จนโล่งเตียน แทบจะไม่มีอุปสรรคขวากหนามใด ๆ เลย ต่างฝ่ายต่างเข้าถึงพระนิพพานไปด้วยกัน ซึ่งยากนักที่จะเป็นไปได้อย่างนี้
.
ดังนั้น ถ้าใครมีคู่รักที่รักกันมาก ๆ ก็จงบำเพ็ญบุญกุศลให้เสมอกันให้มีอินทรีย์บารมีธรรมเท่าเทียมกัน คือ มี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ทั้ง ๕ นี้ ให้แก่กล้าเสมอกัน ก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้ ได้เกิดร่วมทุกข์ร่วมสุขเกื้อกูลอุดหนุนกันไปทุกภพทุกชาติจนกว่าจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ คือ พระนิพพานอันเป็นแดนเอกันตบรมสุขของพระขีณาสวะเจ้าทั้งหลาย นั่นเอง
.
#ดอยแสงธรรม_๒๕๖๔
๙ ธันวาคม ๒๕๖๔ |
สายธารธรรม โดย...เจ้าอาวาส