
สุขใดเสมอสงบไม่มี ธรรมท่านสอนให้รู้ว่า นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง
สุขอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี ข้อนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า ถ้าใครอยากมีความสุขที่แท้จริง ก็เพียงแค่ทำใจให้สงบเท่านั้น มิฉะนั้น ก็จะหาความสุขไม่เจอเลย
.
ถ้าสงบด้วยสมาธิได้ก็เป็นสุขแบบหนึ่ง ถ้าสงบด้วยปัญญาได้ก็เป็นสุขอีกแบบหนึ่งที่ประณีตกว่า แต่ทั้งสองอย่างต้องอาศัยซึ่งกันและกัน
.
ถ้ายังทำใจให้สงบไม่ได้ ก็ต้องหมั่นฝึกทำใจให้มีสติอยู่กับพุทโธไปนาน ๆ พอใจเริ่มมีความสงบได้บ้าง ก็จึงฝึกคิดค้นทางด้านปัญญา ถ้ามีอารมณ์ทางภายนอกมากระทบสัมผัสใจ แล้วใจเกิดมีความทุกข์ฟุ้งซ่านขึ้น ให้รู้ว่า สมุทัยเกิด จงค้นคว้าหาเหตุแห่งทุกข์นั้นให้ได้ว่า เกิดจากความอยาก หรือไม่อยากไปในสิ่งใด
.
พยายามดับความอยากอันเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ที่ใจให้ได้ สอนจิตด้วยปัญญาให้เข้าใจความจริง ให้เห็นโทษของความอยากอันนั้น ถ้าใจเป็นทุกข์ก็แสดงว่า ความอยากนั้นต้องเป็นสมุทัย พยายามฝึกฝืนทำลายความอยากอันนั้นให้ได้ด้วยสติปัญญา แล้วทุกข์ใจก็จะดับไปเอง
.
ส่วนทุกข์กายก็ให้กำหนดรู้เพื่อหาสาเหตุ แล้วแก้ไขเยียวยารักษาไปตามสมควรแก่เหตุ ฝึกใจให้ยอมรับความจริงว่า กายมันเป็นทุกข์ได้ตลอดเวลา อย่าไปอยากให้ทุกข์กายมันหายไป ถ้าทุกข์กายมันจะหายก็ต้องหายด้วยการกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์กายนั้น ทุกข์กายจะไม่หายไปด้วยความอยากของใจ
.
ในขณะที่ทุกข์กายกำลังปรากฏอยู่นั้น ต้องทำใจยอมรับ และคอยตั้งสติระวังอย่าให้ใจคิดปรุงแต่งเป็นสมุทัย คือคิดไปตามความอยากของใจ จะทำให้ใจเป็นทุกข์หนักยิ่งขึ้น
.
ตรงนี้ที่ทำได้ยาก เพราะใจไปยึดเอาความรู้สึกทุกข์นั้น มาเป็นเรา เหมาเอาเองว่าเราเป็นทุกข์ ใช่แต่เท่านั้น ใจยังไปยึดเอากายมาเป็นเรา ไปยัดเยียดหาเรื่องว่า กายเราเป็นทุกข์ จึงเกิดความอยากให้ความรู้สึกทุกข์มันหายไป และไม่อยากให้กายเกิดเจ็บปวด เพราะเหตุที่ใจไม่ยอมรับทุกข์ตามที่เป็นจริง ใจจึงเป็นทุกข์เร่าร้อนเสียเอง
.
ทางแก้คือ ฝึกฝืนทำลายความอยากที่เป็นสาเหตุของทุกข์ใจให้ได้ ค่อย ๆ ฝึกสติฝืนใจไปเรื่อย ๆ ใจจะค่อย ๆ ลดความอยากลง จนสามารถดับความอยากที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ใจให้หมดสิ้นไปได้เป็นพัก ๆ ไป เมื่อใจเกิดความสงบมีสติมากขึ้น ใจย่อมเห็นความจริง ทุกข์ใจก็จะดับไปเอง
.
ให้รู้ว่า ความอยากมี 2 อย่างคือ
.
1.ความอยากที่เป็นสมุทัย คือความอยากในทางที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ อยากแล้วทำให้ใจเป็นทุกข์ เช่น ทุกข์กายมันเกิด ก็ไปอยากให้มันไม่ทุกข์ ก็ยิ่งทำให้ใจเป็นทุกข์หนักยิ่งขึ้น
.
2.ความอยากที่เป็นมรรค คือความอยากในทางที่เป็นสัมมาทิฏฐิ อยากแล้วทำให้ใจดับทุกข์ได้ เช่น อยากให้ทาน อยากรักษาศีล อยากเจริญภาวนา แต่อยากแล้วต้องทำเหตุให้สอดรับกัน จึงจะเป็นอริยมรรคแท้ ที่สามารถแก้กิเลสได้
.
ถ้าทำใจให้สงบไม่ได้ ต่อให้มีทรัพย์สมบัติ เงินทองกองเท่าภูเขา ก็อย่าหวังว่าใจจะมีความสุข ถ้าหากใจมีความสุข ก็ต้องตรวจตรองให้แน่ใจว่า เป็นสุขที่เกิดจากการฝึกฝืนทรมานกิเลส ไม่ใช่ความสุขที่เกิดจากการยอมทำตามความอยากของกิเลสที่เป็นสมุทัย
.
ดังนั้น ถ้าอยากได้เงินทอง ก็ทำการงานชอบเป็นสัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว ทำไปตามสมควรแก่เหตุ ขอให้ได้มาด้วยความชอบธรรม อย่าทำผิดศีลผิดธรรม ใจก็ไม่เกิดโทษ
.
ถ้าอยากได้มากก็ทำเหตุให้ได้มาก เมื่อทำเหตุดีแล้ว หากได้ผลอย่างไร ก็ให้พอใจตามนั้น ถ้าอยากได้มากกว่านั้นอีก ก็ต้องทำเหตุให้มากยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าพอใจจะทำ ก็ทำได้ หากขยันอดทนทำงานสุจริต ก็จัดเป็นสัมมาวายาโม คือมีความเพียรชอบ ไม่ทำให้เกิดโทษ
.
ธรรมท่านสอนไว้เฉียบขาด
สันตุษฐี ปะระมัง ธะนัง
ความสันโดษคือ ความพอใจในสิ่งที่ตนมีตนได้ เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง ให้รู้จักนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์
.
ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา จะดีก็ตาม จะชั่วก็ตาม ล้วนมาจากกรรมดี กรรมชั่วของเราทั้งนั้น เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว จงทำใจให้ยอมรับ เพราะมันเป็นผลมาจากกรรมของเราเอง
.
หน้าที่ของเราคือ ต้องอยู่กับมันให้ได้ ไม่ใช่ไปรังเกียจ หรือขับไล่ไสส่ง มิฉะนั้น ใจจะเป็นทุกข์มากขึ้นทันที เพราะใจไม่พอใจในสิ่งที่ตนมีตนได้ คือมีอย่างนี้ก็จะเอาอย่างโน้น ใจจะเป็นทุกข์เพราะไม่สมหวัง
.
สื่งที่ควรทำคือ ทำใจให้สงบนิ่ง ยอมรับทุกสิ่งที่เกิดกับเรา และพยายามแก้ไขด้วยการทำเหตุในปัจจุบันให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
.
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเรา ให้ทำใจยอมรับ และจะตอบโต้ด้วยการทำดีเท่านั้น เมื่อทำเหตุดีแล้ว มันได้จะได้ผลอย่างไร ก็ต้องยอมรับผลตามเหตุที่ทำ อย่าไปรังเกียจผล การยอมรับผล นั่นคือ การชดใช้กรรมเก่าที่ไม่ดีของตนเองให้หมดสิ้นไป เมื่อชดใช้หนี้กรรมหมดแล้ว กรรมนั้นจะมาส่งผลไม่ดีแก่เราอีกไม่ได้
.
ถ้าได้รับผลที่ไม่ดีอีก ก็ทำใจยอมรับชดใช้หนี้กรรมไปเรื่อย ๆ ในขณะที่ปัจจุบันก็ทำเหตุดีไปเรื่อย ๆ เช่นกัน เมื่อปัจจุบันเราหยุดทำความชั่วได้ ต่อไปก็จะไม่ต้องไปรับผลชั่วอีก เมื่อเราทำแต่ความดี วันหนึ่ง ผลดีก็จะปรากฏขึ้นมาให้เห็นเอง
.
จึงสมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า ให้ละชั่ว ทำดี ทำใจให้สงบผ่องใสและบริสุทธิ์ จึงไม่ควรมีเหตุผลอันใดเลยแม้เพียงขณะจิตเดียว ที่จะส่งเสริมให้ใจเรา คิดชั่ว ทำชั่ว พูดชั่ว อันเป็นเหตุทำให้ใจเรา ไม่สงบ ไม่ผ่องใสและไม่มีทางถึงความบริสุทธิ์พ้นทุกข์ได้เลย
.
#ดอยแสงธรรม_๒๕๖๗_๐๗
|
สายธารธรรม โดย...เจ้าอาวาส