ReadyPlanet.com
dot

dot
dot
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
bullet สมัครสมาชิก
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
ชมคลิปวีดีโอน่าสนใจ
ยังไม่มีสมาชิกที่ล็อกอินในขณะนี้
bulletบุคคลทั่วไป 7 คน
dot
dot

dot


ฟัง F.M. 103.25 MHz.
ชมทีวีช่องหลวงตา
ฟังวิทยุออนไลน์ วัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน
ชมคลิปวีดีโอน่าสนใจ
ขอเชิญสมัครสมาชิกอุปถัมภ์สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน วัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน
เข้าชม face book วัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน
เข้าชม twitter วัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน


* สุดรัก...สุดอาลัย... พ่อแม่ครูอาจารย์

  

 

 

 

  

 

  

 

   

 

   

 

  

 

   

 

  

ด้วยจิตสำนึกในพระคุณของพ่อแม่ครูอาจารย์
ฝึกตนเองดีแล้ว จึงฝึกผู้อื่น ชื่อว่า ทำตามพระพุทธเจ้า

 

       หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ถือเป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา เป็นผู้มีคุณูปการต่อชาวไทยอย่างใหญ่หลวง ข้อวัตรปฏิปทาอันหมดจดงดงามย่อมเป็นเนติแบบอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลังได้เจริญรอยตาม การทำอัตตัตถจริยา คือ การบำเพ็ญประโยชน์ตน ก็ถึงที่สุดแล้ว โดยอยู่จบพรหมจรรย์เสร็จกิจในพระพุทธศาสนาบรรลุคุณธรรมขั้นสูงสุด การทำญาตัตถจริยา คือ การสงเคราะห์ญาติมิตร ก็ถึงที่สุดแล้ว โดยเทศนาอบรมพระเณร และโปรดโยมมารดา จนตั้งอยู่ในอริยภูมิ การทำโลกัตถจริยา คือ การบำเพ็ญประโยชน์ต่อโลก ก็ถึงที่สุดแล้ว ด้วยเมตตาธรรมอันเปี่ยมล้นแผ่ไปในเหล่าสรรพสัตว์ ดังเช่น การช่วยเหลือ โรงพยาบาล หน่วยงานราชการ โรงเรียนต่างๆ ผู้ด้อยโอกาส ผู้ประสบทุกข์ภัย การทำนุบำรุงพุทธศาสนา การจัดตั้งเครือข่ายสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน และที่สำคัญยิ่งคือ เทศนาธรรมที่ตรงแน่วต่อมรรคผลนิพพาน ถือเป็นธรรมสมบัติอันล้ำค่า ที่องค์หลวงตาได้มอบไว้แก่ปวงศิษย์ทุกคน

       แม้ในวาระสุดท้าย ที่ดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน กระแสแห่งเมตตาธรรมขององค์หลวงตา ยังคงแผ่ซ่านปกคลุมไปทั่วผืนแผ่นดินไทย หลวงตาเคยพูดไว้ “ศพของเราจะเผาด้วยฟืน ส่วนเงินให้เอาไปซื้อทองคำเข้าสู่คลังหลวง” พวกเราเคยได้ยินคำพูดเช่นนี่ที่ไหนบ้าง? ไม่เคยได้ยินใครพูดเช่นนี้มาก่อนเลย แต่หลวงตาซึ่งอยู่ในวัยอันชราภาพมากแล้ว กลับพูดได้อย่างองอาจกล้าหาญ และไม่สะทกสะท้าน

       ท่านเป็นพระมหาเถระที่มีคุณูปการต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง มีลูกศิษย์ลูกหาเคารพนับถือมากมาย ใช่แต่เท่านั้น หลวงตา ยังเป็นท่านพ่อ “ของทูลกระหม่อมน้อย” เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ดังนั้น หากจะกระทำการใดๆ เพื่อความยิ่งใหญ่แบบโลกๆแล้ว จะให้ยิ่งใหญ่ขนาดไหนก็สามารถทำได้

       แต่มาบัดนี้ สิ่งที่ปรากฏท้าทายต่อสายตาของพวกเราทุกคน กลับเป็นเชิงตะกอนแบบสมถะเรียบง่าย แต่สง่างามและภูมิฐานอยู่ในที จิตกาธานอันเป็นที่ตั้งสรีระสังขารขององค์หลวงตา จะกลายเป็นภาพความงามที่ประทับอยู่ในความทรงจำของปวงศิษย์ทุกคน และตรึงทุกสายตาให้หยุดนิ่ง เมื่อยามได้ประสบพบเห็น

       หลวงตาได้ใช้สรีระสังขารของท่าน หล่อหลอมหัวใจของคนไทยทั้งชาติ ให้เป็นหนึ่งเดียว กลายเป็นทองคำศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานในคลังหลวง เปล่งรัศมีเหลืองอร่ามงามตระการตา มอบเป็นของขวัญชิ้นสุดท้าย คือ “หัวใจทองคำ” แก่ลูกหลานชาวไทย ให้ช่วยกันปกป้องคุ้มครอง “คลังหลวง” ให้อยู่คู่ชาติไทย ไปตลอดอนันตกาล

       บัดนี้ หลวงตาได้ละสังขาร เข้าสู่แดนอมตะมหานฤพาน ลาลับจากพวกเราไป ไปแล้วไปลับไม่หวนคืนกลับ พวกเรามาส่งท่าน ณ จุดสุดท้ายปลายแดน อันเป็นรอยต่อระหว่างสมมุติ กับ วิมุติ เมื่อหวนรำลึกถึงคำกล่าวขององค์หลวงตาที่ว่า

“เวลามีชีวิตอยู่นี้ เราจะทำความดีให้โลกทั้งหลายได้เป็นคติตัวอย่างอันดีงาม
และทำด้วยความเมตตาสงสารต่อโลก เพราะหลังจากนี้แล้ว...เราตายแล้ว...
เราจะไม่กลับมาเกิดในโลกนี้อีกต่อไป เป็นตลอดอนันตกาล”

       นี้...ช่างเป็นคำกล่าวที่องอาจกล้าหาญ ดุจพระยาไกรสรสีหราชผู้เป็นจอมไพร บันลือสีหนาทด้วยอานุภาพอันยิ่งใหญ่ ภิกษุผู้เฒ่าในวัยอันชราภาพมากแล้ว ได้ประกาศแสนยานุภาพแห่งพระพุทธศาสนา ดัวยเมตตาธรรมอันบริสุทธิ์ล้ำค่าไม่มีประมาณ ก่อให้เกิดคุณูปการแผ่ไปในเหล่าสรรพสัตว์ เปรียบหยาดน้ำฝนตกจากนภากาศ รดราดผืนพสุธาอันแห้งผาก...ให้ชุ่มฉ่ำเย็น ฉะนั้น

       พ่อแม่ครูอาจารย์... องค์หลวงตา...ของปวงศิษย์ทุกคน ผู้เปรียบประดุจ ร่มโพธ์แก้ว ร่มไทรทอง ที่ให้ความร่มเย็นแก่ปวงศิษย์มาช้านาน พลันมาละสังขาร ลาลับจากพวกเราไป ช่างยากเย็นยิ่งนัก ที่จะข่มจิตหักใจ หักห้ามน้ำตามิให้หลั่งไหล ศิษย์ทั้งหลายจะขอปฏิบัติบูชา ตามรอยบาทขององค์หลวงตา เข้าสู่พระนิพพานเมืองแก้วให้จงได้

พ่อแม่ครูอาจารย์... ได้ดับขันธ์ปรินิพพานจากไปแล้ว
เหลือไว้แต่พระคุณนามอันเพริศแพร้วบรรเจิดจ้า
กิตติศัพท์อันงามเฟื่องฟุ้งทั่วไตรโลกา
เปล่งรัศมีธรรมงามสง่า ให้โลกนี้ได้ร่ำลือว่า...

นี่คือ หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
ผู้เป็นมหาบุรุษรัฐอัศจรรย์ยิ่งใหญ่
ผู้ทรงคุณธรรมอันล้ำเลิศ
ผู้มีคุณูปการแผ่ไปในไตรโลกธาตุไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน
ผู้เหยียบแผ่นดินสะท้านสะเทือน...

เอวัง.

ข้อมูลจำเพาะ
วันเกิด : วันอังคารที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๔๕๖
วันละสังขาร : วันอาทิตย์ที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๔ เวลา ๓.๕๓ น.
รวมสิริอายุ : ๙๗ ปี ๕ เดือน ๑๗ วัน พรรษา ๗๗
วันบรรลุธรรมสิ้นกิเลส : วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ เวลา ๒๓.๐๐ น.

 

       คำว่า "พ่อแม่ครูอาจารย์" นี้ เราเคยได้ยินเป็นครั้งแรก เมื่อก้าวเท้าเหยียบย่างเข้าสู่วัดป่าบ้านตาด ประมาณปลายปี พ.ศ.๒๕๒๙ เป็นช่วงออกพรรษาที่สองของเรา พระที่วัดป่าบ้านตาด เรียกหลวงตาว่า "พ่อแม่ครูอาจารย์" แรกๆเราฟังแล้วไม่เข้าใจ แต่เมื่อได้รับอรรถาธิบายว่า "ท่านเป็นเหมือน พ่อ แม่ ครู อาจารย์ ของพวกเรา" พอฟังปั๊บก็ลงใจทันทีว่า "เออ! จริงอย่างนั้น เรามาที่นี่ ก็ไม่ใช่เพื่อสิ่งอื่นใด มาเพื่อต้องการ พ่อ แม่ ครู อาจารย์ ที่สามารถชี้ทางพ้นทุกข์ให้แก่เราได้นั่นเอง"  แต่นั้นมา เราก็พอใจจะเรียกหลวงตาว่า "พ่อแม่ครูอาจารย์" และเรียกได้อย่างสนิทปากสนิทใจอย่างยิ่ง แม้ว่า เราจะเข้ามาสู่วัดป่าบ้านตาดในฐานะพระอาคันตุกะก็ตาม ที่จริงเราก็ยังไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียกท่านว่า "พ่อแม่ครูอาจารย์"  เพราะท่านยังไม่ได้รับเราเป็นศิษย์ แต่เพราะความที่เราเคารพเลื่อมใสท่านอย่างสุดจิตสุดใจ มุ่งมั่นมาเพื่อฝากตัวเป็นศิษย์อย่างแท้จริง เราก็ลงใจที่จะเรียกท่านอย่างนั้น

       ตอนแรกที่เข้ามาสู่วัดป่าบ้านตาดนั้น กล่าวได้ว่า เป็นช่วงที่ทรมานใจไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะช่วงนั้น หลวงตายังมีกำลังวังชาเข้มแข็ง และเข้มงวดกวดขันกับการปฏิบัติของพระเณรอย่างหนักหนาสาหัส เดินตรวจวัดวันละหลายๆรอบ ใครจะได้อยู่ ใครจะได้ออกไป หลวงตาเป็นผู้ชี้นิ้วสั่งการแต่เพียงผู้เดียว องค์ไหนที่ดูแล้วไม่เข้าท่า คือขี้เกียจขี้คร้านไม่ทำข้อวัตรปฏิบัติ ไม่เดินจงกรมภาวนา กินอิ่มแล้วนอนเหมือนหมูขึ้นเขียง ไม่นานก็ต้องได้สะพายบาตรแบกกลดเดินออกจากวัดไป พระใหม่ที่เข้ามาสู่วัดป่าบ้านตาดยุคนั้น ต้องมีความอดทน มีความมุ่งมั่นที่จะมาอยู่เพื่อรับการอบรมจากท่าน เรียกว่าต้องยอมลงให้กับท่านอย่างศิโรราบจริงๆ ถึงจะได้อยู่ กว่าจะถึงวันนั้น วันที่ท่านรับไว้เป็นศิษย์ คือ ท่านยอมให้ขอนิสัยได้ ก็แทบขาดใจตาย สำหรับองค์อื่น เราไม่ทราบว่าท่านจะรู้สึกอย่างไร แต่สำหรับเรา แทบขาดใจตายเอาเสียจริงๆ เพราะความมุ่งมั่นที่จะมาศึกษาอบรมกับท่าน มีมากมายล้นพ้นสุดจะพรรณนา ไม่ใช่เพราะว่า ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งยุค ไม่ใช่เพราะต้องการแอบอ้างชื่อเสียงของท่านมาประดับบารมีตัวเอง แต่เนื่องเพราะธรรมภายในของท่านที่แสดงออกในภาคปฏิบัตินั้น เป็นสิ่งตายใจชนิดที่เราไม่มีข้อโต้แย้ง แม้ท่านจะพาเราเหยียบย่ำลงบนหลุมถ่านเพลิงที่มีไฟลุกโชติช่วงอยู่ เราก็จะไม่หน้านิ่วคิ้วขมวดด้วยความลังเลในอันที่จะก้าวเท้าตามท่านไปเลย

        ทำไมเราจึงบอกว่า กว่าจะได้อยู่วัดป่าบ้านตาด มันทรมานแทบขาดใจ ก็เพราะเรามีความตั้งใจอย่างแรงกล้าตั้งแต่ก่อนบวช ว่าจะมาศึกษาข้อวัตรปฏิปทาของท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน เพื่อความปฏิบัติที่ตรงแน่วต่อมรรคผลนิพพาน ซึ่งในยุคนั้น กิติศัพท์ความเคร่งครัดในธรรมในวินัยของวัดป่าบ้านตาดเป็นที่ลือเลื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำกล่าวขานว่า หลวงตาบัวดุ ช่างมีพลัง และมีมนต์ขลังที่จะหยุดทุกหัวใจเมื่อยามได้อยู่ใกล้  ยิ่งเรามีความมุ่งมั่นที่จะมาอยู่กับท่านมากเท่าไร ยิ่งถูกท่านทรมานเอาหนักๆมากเท่านั้น  ตอนมาวันแรก ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่จะต้องเข้ากราบครูบาอาจารย์เพื่อฝากเนื้อฝากตัวเป็นศิษย์ แต่สำหรับกับหลวงตา ไม่ใช่เช่นนั้น  ต้องดูด้วยว่า ท่านอยู่ในโอกาสที่ควรจะกราบได้หรือไม่  ถ้าเข้าไปกราบแบบไม่ดูกาลเทศะ ก็ถูกท่านตะเพิดออกมาเสียผู้เสียคนไปก็เยอะ แต่อันนี้ก็เป็นกับบางคน  เพราะอุบายของหลวงตาในการทรมานศิษย์แต่ละราย จะไม่เหมือนกัน และเอาอย่างกันไม่ได้เด็ดขาด  เรามีตาก็ต้องคอยดู มีหูก็ต้องคอยฟัง มีปากก็ไว้ถามในสิ่งที่จำเป็น ก็ถามพระเก่านั่นแหละ พระเก่าก็คือพระที่ได้จำพรรษาอยุ่วัดป่าบ้านตาดในปัจจุบัน พระใหม่ก็คือพระอาคันตุกะที่เพิ่งเข้ามาใหม่ แม้พรรษาจะเยอะก็คือพระใหม่ของที่นี่

       ก็ถามพระเก่าได้ความว่า โอกาสอันควรจะเข้าไปกราบหลวงตาได้ ก็ตอนท่านฉันเสร็จแล้ว ยังไม่มีแขกเข้าไปรุมมาก ก็ควรเข้าไปกราบได้ เราก็ครองจีวรเตรียมพร้อมไว้ พอได้โอกาสอันควร ก็คลานเข่าเข้าไปขอโอกาสกราบท่าน พอกราบเสร็จก็พูดว่า "กระผมมาจากวัดถ้ำกลองเพล จะขอมาจำพรรษาอยู่ที่นี่ครับผม" ท่านปรายสายตามองเราแว่บหนึ่ง แล้วพูดว่า "มาจากถ้ำกลองเพล มาอยู่พอสมควรแล้วก็ไปนะ ที่นี่พระเยอะแล้ว เรารับไว้ไม่ได้หรอก" เราฟังแล้วเหมือนหัวใจตกวูบลงมาอยู่ที่ตาตุ่ม ก็ไปถามพระเก่าว่า "นี่ๆครูบา พ่อแม่ครูจารย์บอกผมว่า ที่นี่พระเยอะแล้ว ท่านรับไว้ไม่ได้ ให้อยู่พอสมควร แล้วให้ไป ผมจะทำยังไงดีเนี่ย"

        พระเก่าท่านก็ปลอบใจดีเหมือนกัน ท่านบอกว่า "ก็ไม่ต้องทำยังไง ให้อยู่ไปเรื่อยๆ หลวงตาไม่เคยบอกว่าจะรับพระองค์ไหนสักที ก็มีแต่รับไม่ได้ทั้งนั้นแหละ  ถ้าท่านจะให้ไปจริงๆ ท่านจะให้อาจารย์ปัญญา หรืออาจารย์สุดใจมาบอกเอง" เราต้องร้องอุทานอยู่ในใจว่า "โห! มีอย่างนี้ด้วยหรือเนี่ย" ก็ถามท่านต่อไปอีกว่า " แล้วทำยังไง ถึงจะรู้ได้ว่า จะได้อยู่หรือได้ไปล่ะ" ท่านก็บอกว่า "ถ้าผ่านวิสาขบูชาไปแล้ว ยังไม่ถูกให้ออกไป ก็แสดงว่าอาจจะได้อยู่" เพียงแค่อาจจะ นะ ถ้าจะให้แน่ๆ ก็โน่นล่ะ ได้อธิษฐานพรรษาละได้อยู่ชัวร์  พอฟังแล้วมันรู้สึกอย่างไรก็บอกไม่ถูก เราจะต้องหวาดหวั่นขวัญผวาไปจนกว่าจะถึงวันเข้าพรรษาเลยทีเดียวหรือนี่

       อันที่จริง ก็ไม่ได้มีเราคนเดียวที่รู้สึกอย่างนั้น  พระใหม่ที่ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะมาอยู่ที่นี่ก็ล้วนเป็นเช่นเดียวกัน ต่างคนต่างก็คิดว่า ไม่รู้ว่าวันไหนจะถูกให้ออกจากวัดไป ถ้าออกไปแล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน เรื่องที่จะได้อยู่นั้น ไม่ค่อยกล้าคิด เพราะรู้อยู่ว่า จำนวนพระมีมากกว่าจำนวนกุฏิ แล้วกุฏิก็ไม่มีทางจะเพิ่มแน่ๆ พระแต่ละองค์ก็มีความขยันหมั่นเพียร มีความประพฤติปฏิบัติดีๆด้วยกันทั้งนั้น เพราะต่างก็ตั้งใจมาศึกษากันจริงๆ ดูราวกับว่าต้องแข่งกันทำข้อวัตรปฏิบัติให้ดีกว่าเขา ถ้าอยากจะได้อยู่ที่นี่ องค์ไหนขี้เกียจขี้คร้าน ไม่นานก็ได้เห็นสะพายบาตรแบกกลดออกจากวัดไป ก็หลวงตาเล่นเขย่าขวัญพระเณรอยู่อย่างนี้ ใครจะไม่หวาดผวา  "นี่ๆครูบา ท่านองค์นั้นไปไหนแล้ว" "ก็ถูกให้ออกไปแต่เมื่อวาน" "แล้วครูบาอีกองค์ล่ะ ก็ไปแล้วเหมือนกัน" ทั้งที่เราเองก็ตั้งใจทำข้อวัตรปฏิบัติ อดนอน ผ่อนอาหาร อดอาหาร เดินจงกรมภาวนากันอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่วายจะอดคิดไม่ได้ว่า "เราจะโดนให้ออกไปไหมนา?  เมื่อไรจะถึงตาเราเสียที เอ้า! ออกก็ออกเถอะ เป็นไรเป็นกัน ให้มันรู้แล้วรู้รอดไป"

       ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ เมื่อถึงที่สุดแล้ว ก็ต้องกลับคืนสู่สถานะเดิม คือความจริงในหลักธรรมชาติ ไม่มีใครจะแบกอะไรไว้ได้ตลอดกาล แม้อยากจะแบกแค่ไหนก็ตาม ถึงจุดหนึ่งก็ต้องวางอยู่เอง  คนตายจะแบกอะไรไปได้เล่า ต่อให้มีทรัพย์สมบัติล้นฟ้าล้นแผ่นดินก็ตาม ถึงที่สุดก็ต้องวางไว้ทั้งหมด ความกลัวเมื่อถึงที่สุดแล้ว มันก็หายกลัวไปจนได้นั่นแหละ ก็ไม่รู้จะกลัวไปทำไมนักหนา  ความกลัวไม่ช่วยทำให้เกิดคุณงามความดีใดๆเลย มิหนำซ้ำ ยังจะกลายเป็นผลร้าย หากกลัวมากเกินไป ครั้นจะไม่กลัวเสียเลย ก็กลายเป็นผยองลำพอง ซึ่งก็เป็นความไม่ดีอีก  ซวยทั้งขึ้นทั้งล่อง เอาเป็นว่า กลัวในสิ่งที่ควรกลัว  และกล้าในสิ่งที่ควรกล้าดีกว่า คิดได้ดังนั้น ก็ตัดความกลัวออกไปเสียได้  หากมีบุญวาสนาจะได้อยู่กับท่าน ยังไงก็ได้อยู่ แต่ถ้าไม่มีบุญวาสนาจะได้อยู่กับท่าน อยากอยู่ยังไงก็ต้องถูกให้ออกไปจนได้  ทำความเพียรให้ดีที่สุด แล้วยอมรับตามความเป็นจริง ไม่ต้องคิด ไม่ต้องคาด ไม่ต้องกล้า  ไม่ต้องกลัว  หากได้อยู่ก็อยู่ ไม่ได้อยู่ก็ไป โลกนี้แผ่นดินยังมีที่ว่างอยู่อีกเยอะ กลัวอะไรนักหนา พอคิดได้ดังนั้นแล้ว รู้สึกจิตใจมันปลอดโปร่งเบาสบายเอาเสียจริงๆ แต่แม้กระนั้น ก็ไม่วายเกรงกลัวอยู่อย่างลึกๆ  เฮ้อ! การจะได้เป็นพระวัดป่าบ้านตาดในยุคนั้น มันช่างทุรนทุรายทรมานเอาเสียจริงๆ

       เรากำลังจะบอกว่า พ่อแม่ครูอาจารย์ ท่านมีอุบายทรมานศิษย์อย่างร้ายกาจจริงๆ ศิษย์คนไหนได้รับการทรมานจากท่านแล้ว  อย่างน้อยก็ต้องมีอะไรที่ดีๆมากกว่าที่ไม่ดีแน่นอน  ก็คนเราใครจะดีไปเสียหมดทุกอย่างได้ล่ะ มันก็ต้องมีไม่ดีบ้างนั่นแหละ  สำหรับเราที่มาบวชอยู่จนถึงทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะว่าหมดทางทำมาหากิน หรือไม่มีอันจะกิน แล้วจึงมาบวช แต่เรามาด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าหวังพ้นทุกข์อย่างเดียวเท่านั้น และไม่ใช่แค่พ้นทุกข์ธรรมดาๆ แต่ตั้งความปรารถนาใหญ่ไม่น้อยเลยทีเดียว  แต่ไม่จำเป็นต้องมาพูดในที่นี้ก็ได้ ดังนั้น เมื่อเราเหยียบย่างเข้าสู่วัดป่าบ้านตาด  เราตั้งท่ามาเรียนรู้จริง และตั้งใจปฏิบัติจริงเท่านั้น  บรรยากาศของพระวัดป่าบ้านตาดตอนนั้น พระไม่ค่อยคุยกัน เจอกันก็ทำเหมือนไม่รู้จักกัน ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องคุยกัน ก็ไม่พูดกันเลย ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเอง เราเป็นพระอาคันตุกะเข้าไปใหม่ๆ ก็ไม่เข้าใจความปฏิบัติของพระที่นั่น และก็ไม่เคยเจออย่างนี้มาก่อนในชีวิต ทำให้มีความรู้สึกว่า  " เอ! พระที่นี่ทำไมจึงเล่นตัวเอานักหนา พูดด้วยก็ไม่ค่อยจะยอมพูดด้วย"  "นี่ๆ ครูบา ผมมาใหม่ ถ้าผมทำอะไรไม่ถูกครูบาช่วยแนะนำผมด้วยนะครับ"  "อ๋อ! ก็ไม่มีอะไรหรอก ดูๆหมู่คณะไปก็แล้วกัน"

       เราเองก็ยิ่งกลัวจะทำผิด กลัวจะถูกไล่ออก ยิ่งกลัวเท่าไร ก็ยิ่งพยายามนอบน้อมถ่อมตน บอกองค์นั้น บอกองค์นี้ หวังให้ท่านช่วยชี้แนะ แต่คำตอบที่ได้  ท่านก็พูดเป็นแผ่นเสียงตกร่องแบบเดียวกันหมด ว่า "ก็ค่อยๆดูกันไปก็แล้วกัน" ทำให้เราชักฉุนอยู่ภายในใจว่า " อะไรวะ นี่! จะไม่ยอมบอกอะไรกันมั่งเลยเชียวหรือ? กลัวดอกพิกุลร่วงหรือไง? ก็มันชักโมโหล่ะสิ พูดกับใคร ถามอะไรใคร ก็ได้คำตอบเดียวนี่แหละ"  แต่พอตอนหลัง เราได้เป็นพระวัดป่าบ้านตาดแล้ว เราจึงเข้าใจ พอมีพระใหม่มาถามเรา มาบอกกับเราว่า ให้ช่วยแนะนำ เรื่องนั้นบ้าง เรื่องโน้นบ้าง เราก็ต้องพูดประโยคเดียวกับที่เราเคยว่าเขานั่นแหละ  "ดูๆกันไปก็แล้วกัน"  เรารู้สึกนึกขอบคุณคำพูดประโยคนี้เอาเสียจริงๆ เมื่อพิเคราะห์ดูลึกๆ แล้ว มันช่างเป็นคำพูดธรรมดาๆ ที่ดูไม่ธรรมดาเอาจริงๆ  ๕๕๕ พูดอย่างนี้ หลายคนฟังแล้วอาจจะงง ก็งงไปเถอะ

      ธรรมดาคนเราเกิดมานั้น ก็มีแต่หวังพึ่งคนอื่น  เริ่มแรกก็พึ่งพ่อแม่ ต่อมาก็พึ่งครูอาจารย์  พึ่งญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง   ไม่ค่อยจะหวังพึ่งตนเอง  มัวแต่ให้คนอื่นมาบอกมาสอนจึงค่อยรู้ จนเกิดเป็นความเคยชิน ไม่ค่อยรู้จักคิดอะไรเอง อันที่จริง ถ้าเรารู้จักคิดขึ้นมาเองได้บ้าง ก็คงจะมีปัญญาแตกฉานได้รวดเร็ว และเข้าใจละเอียดละออ ยิ่งกว่าให้คนอื่นมาบอกเป็นไหนๆ  จงจำไว้เถิดว่า หากเราไปที่ไหน ไม่รู้ว่าจะทำอะไรอย่างไร และไม่รู้จักกับใคร ที่พอจะไว้ใจกันได้   หรือเชื่อถือได้  ทางที่ดีที่สุดก็คือ ดูๆเขาไปนั่นแหละ โบราณจึงสอนสืบๆกันมาว่า "เขาเมืองตาหลิ่ว ก็ให้หลิ่วตาตามนั่นไง " มันเป็นหลักง่ายๆโดยแท้ เอ! มันจะง่ายจริงไหม? ถ้าดูแบบโง่ๆล่ะ  เห็นเขากินขี้ ก็เลยจะไปคว้าขี้มากินตามเขา มีหวังยุ่งตายห่ะ

       ก็เพราะไอ้คำพูดที่ว่า "ดูๆกันไปนี่แหละ" ทำให้เราหูตาสว่างขึ้นอีกมาก  มีตาก็คอยสังเกตดูว่า เขาทำอะไรกันแบบไหนอย่างไรเมื่อไรและที่ไหน ก็ทำตามเขาไปอย่าให้ผิดอย่าให้พลาด มีหูก็คอยฟังว่า เขาพูดอะไรกันยังไงผิดถูกดีชั่วอย่างไร  มีปากก็ไว้ถามไว้พูดในสิ่งจำเป็น อะไรควรถามก็ค่อยถาม อะไรควรพูดค่อยพูด  ไม่ควรถามก็อย่าไปถาม ไม่ควรพูดก็อย่าพูด  หัดคิดเองเสียก่อน ฟังด้วยหู ดูด้วยตา แล้วคิดใคร่ครวญอยู่ภายในใจด้วยดี ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็อย่าเพิ่งบีบคั้นกดดันให้มากเกินไป  ปล่อยเวลาใคร่ครวญให้ยาวนานออกไปอีกนิด บางทีก็เข้าใจได้เองโดยไม่ต้องไปถามใคร เรารู้สึกเหมือนกับว่า  เดินทางผ่านดงขวากหนามหนาทึบ มาพบทางอันโล่งเตียนราบเรียบ  จิตใจรู้สึกมีพลัง มีความมั่นใจขึ้นอีกอักโขอักขัง  กิริยาอาการก็สงบเสงี่ยมสำรวม จิตใจก็เยือกเย็นไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึง

       แต่ก็เพราะไอ้คำว่า "ดูๆกันไปนี่แหละ" ทำให้เราต้องงงเป็นไก่ตาแตก ทำอะไรไม่ถูกเอาซะเลย  ได้แต่ดูเอาจริงๆ ใครจะไปคิดว่า อะไรมันจะรวดเร็วกันซะขนาดนั้น เดี๋ยวจะค่อยๆเล่าให้ฟัง  ตอนที่เราเข้าไปใหม่ๆ  ก็โชคดีเหมือนบุญหล่นทับ เพราะพอไปถึงก็ได้กุฏิอยู่เลยทีเดียว  อ้อ! อย่าเรียกว่ากุฏิดีกว่า  มันไม่ควรจะเป็นกุฏิ  เราได้ยินพระที่นี่เรียกมันว่า "ร้าน" ไอ้สิ่งที่ถูกเรียกว่า "ร้าน" นี้  ตอนที่เราได้ยินใหม่ๆ ก็งง ทำไมมีร้านอยู่ด้วย  พาลนึกไปถึงร้านขายของตามตลาดทำนองนั้น แต่พอไปเห็นตัวจริงของมันแล้ว  ก็บอกไม่ถูกแหละนะ  ได้แต่คิดว่า "อะไรกันเนี่ย! วัดป่าบ้านตาด มีชื่อเสียงลือเลื่องคับประเทศ แต่ทำไมกุฏิพระ ถึงกระจอกเอานักหนา แบบนี้ก็อยู่กันไปได้" ก็มันเป็นโต๊ะสี่เหลื่ยมขนาด ๒ x ๒ เมตร มีเสาสี่เสา มุงสังกะสีเก่าๆเป็นหลังคา  มีจีวรเก่าๆขาดๆล้อมรอบสี่ด้านเป็นฝา  ทำเป็นแบบม่านรูดปิดเปิดได้  พอเราไปเห็นกุฏิอันเป็นนิวาสถานที่เราจะต้องพำนักอยู่ที่นี่  ก็ต้องร้องอุทานว่า  "โห! ออกจากท้องแม่มาเพิ่งจะมีวาสนาได้อยู่ กุฏิอย่างนี้เป็นครั้งแรกในชีวิตจริงๆ"  อยากจะบอกว่า "หากจะเรียกมันเป็นกุฏิ ก็คงเป็นกุฏิประเภทปราบเซียน คือใช้สำหรับเด็ดหัวกิเลสโดยแท้"  "นี่หรือ ที่อยู่ของพระวัดป่าบ้านตาดที่มีชื่อเสียงลือลั่นสนั่นโลก"  "นี่หรือท่านอาจารย์พระมหาบัว ที่ว่า ดุ ดุ และดุ"

       แทนที่จะรู้สึกรังเกียจว่า "ที่อยู่มันช่างอนาถาเสียเหลือเกิน ไฉนพระนี่ จึงให้เรามาอยู่ในที่เช่นนี้ได้เล่า" กลับมีความรุ้สึกว่า "เหอๆ มันช่างสะใจเอาเสียจริงๆ ที่อย่างนี้แหละ เป็นที่ที่กิเลสมันจะตาย หากไม่ตาย มึงก็คงโตลำบากหรอกวะ" คิดอย่างนั้นแล้ว ก็นึกไปถึงว่า  "พ่อแม่ครูอาจารย์นี่ ท่านช่างยอดเยี่ยมหาที่เปรียบไม่ได้จริงๆ อุบายปราบกิเลสให้กับลูกศิษย์แบบนี้  คงหาดูได้ยากมากในยุคนี้"  เราเปิดม่านเข้าไปดูข้างใน เห็นพื้นถูกขัดเป็นมันวาวสะอาดสะอ้าน มีที่ตั้งเทียน มีตู้ไม้เก่าๆสำหรับเก็บเสื่อหมอนผ้าห่ม และผ้าเช็ดเท้า มีกาน้ำอลูมิเนียมเก่าๆ แต่ขัดจนขึ้นเงา มีแก้วสแตนเลสเก่าๆก็ขัดจนขึ้นเงาอีกเช่นกัน เพราะพระเก่าท่านเพิ่งลาไปเที่ยวเช้านี้ เราก็เข้ามาพอดี  ทั้งกุฏิมีแค่เนี้ย มันช่างดูสมถะเอาซะจริงๆ เราลงจากกุฏิ ขอเรียกมันว่ากุฏิก็แล้วกัน ถึงมันจะไม่เหมือนก็ตาม แต่จะยกย่องให้เกียรติมันสักนิดก็คงไม่เป็นไร

       เราเห็นทางเล็กๆเข้าไปในป่าห่างกุฏิไปสัก ๒๐ กว่าเมตร  "เอ! นี่มันทำทางไปไหนหว่า ไปดูสักหน่อยซิ" เดินไปดูก็ปรากฏเห็นเป็นทางจงกรม เป็นเนินดินโล่งเตียนราบเรียบสะอาดสะอ้าน กว้าง ๒ เมตร ยาวประมาณเกือบ ๒๐ เมตร หลบมุมซุกอยู่ในป่า เราต้องออกอุทานอีกครั้งว่า "โห! กุฏิซอมซ่ออนาถา แต่ทางจงกรมช่างหรูหราสุดยอดจริงๆ มันต้องอย่างนี้สิ  กูจะเดินให้มันฉ่ำใจเลยทีเดียว นึกอยู่ในใจ" ต้องขออภัยที่ดูเหมือนจะพูด (พิมพ์) ไม่ค่อยมีความสุภาพไพเราะ ก็เพื่อให้มันเป็นธรรมชาติที่สมจริง  เพราะนิสัยของเรา เป็นคนที่พูดจาแบบดุเดือดรุนแรง เฉียบขาดและคม  แถมหนักหน่วง เหมือนขวานผ่าซาก ไม่มีคำว่าอ้อม โดยเฉพาะในเวลาที่ฟัดกับกิเลส  ถึงขั้นขึ้นมึงขึ้นกู โดยจำเป็นต้องขอยืมภาษาของพ่อขุนรามคำแหงมาใช้ชั่วคราว  ถ้าใช้ภาษาสมัยใหม่ ก็ออกจะสุภาพเกินไป ไม่ค่อยถึงอกถึงใจถึงลูกถึงคน เพราะฉะนั้น จึงต้องขออภัยไว้ก่อน หากจะมีคำที่ไม่ค่อยสุภาพ หรือสุภาพน้อย จนถึงกับหาความสุภาพไม่ได้เลย หลุดออกมาบ้าง

(คอยติดตามไปเรื่อยๆ ว่างๆจะมาเขียนต่อ)




สายธารธรรม โดย...เจ้าอาวาส

* ข้อวัตรปฏิปทาในพ่อแม่ครูอาจารย์
* บริขารพระป่าในปฏิปทาพ่อแม่ครูอาจารย์
* ประกาศวัดป่าบ้านตาด เรื่อง หนังสือภูริทัตตะ อัครเถราจารย์
* พระประวัติย่อ สมเด็จพระญาณสังวร ฯ
* ชมวีดีโอชิวิตที่วัดป่าบ้านตาด
* 100 ปี ชาตกาลองค์หลวงตา
* ชมวีดีโองานพระราชทานเพลิงสรีระสังขารองค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
* ประวัติหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน (ย่อ)
* ทำเนียบพระสังฆาธิการจังหวัดเชียงใหม่
* สมัครสมาชิกอุปถัมภ์สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ วัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน article
* คำพระอุปัชฌาย์สอนนาค
* สวดปาติโมกข์เมื่อ 30 พ.ค. 2546 ณ.วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
* สวดปาติโมกข์เมื่อ 1 มิ.ย. 2554 ณ.วัดพทธธัมมธโร สหรัฐอเมริกา
* เทศน์อบรมนักศึกษา ที่หอพระ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต 29 มิถุนายน 2555
* เทศน์อบรมนักศึกษา ที่ชมรมพุทธธรรมกรรมฐาน มช. 9 ส.ค. 2556
* เทศน์ที่เวที คปท. ๑๖ ก.พ. ๒๕๕๗
* เทศน์ที่วัชรธรรมสถาน ๒๕ เม.ย.๒๕๕๗
* เทศน์งานหลวงปู่เขียน ฐิตสีโล 5 ก.พ.2561
* เทศน์งานหลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต 8 มี.ค.2561
* เทศน์งานหลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป 12 มี.ค.2561
* เทศน์งานหลวงปู่ท่อน ญาณธโร 11 ส.ค.2561
* เทศน์งานหลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป 11 ก.พ.2562
* เทศน์งานวัดอโศการาม 17 มี.ค. 2562
* เทศน์งานหลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป 15 พ.ย. 2562
* เทศน์งานวัดเจริญสมณกิจ 16 ธ.ค. 2562
* เทศน์งานวัดป่าภูผาสูง 8 ม.ค. 2563
* เทศน์งานบำเพ็ญกุศลศพ พระปลัดอนุพุทธ 12 ม.ค. 2563
* เทศน์งานประชุมเพลิง พระปลัดอนุพุทธ 13 ม.ค. 2563
* เทศน์งานวัดเจดีย์หลวง 20 ม.ค. 2563
* เทศน์งานวัดป่าสุขใจ ชะอม 23 ส.ค. 2563
* เทศน์งานผูกพัทธสีมา วัดป่ากิ่วดู่ 27 ก.พ. 2564
* เทศน์อบรมที่ วัดสำปะซิว 26 ธ.ค. 2564
* เทศน์งานหลวงปู่ไม อินทสิริ วัดป่าเขาภูหลวง 27 ม.ค. 2566
* เทศน์ที่วัดป่าบ้านตาด 29 มกราคม 2566
* เทศน์อบรมมูลนิธิบ้านอารีย์ วันที่ 5 ก.พ. 2566
* เทศน์สวนแสงธรรม 26 ก.พ.2566
* เทศน์คอร์สอบรมปฏิบัติภาวนา ณ.วัชรธรรมสถานวันที่ 24-26 มี.ค. 2566
* เทศน์คอร์สอบรมปฏิบัติภาวนา ณ.วัชรธรรมสถานวันที่ 26-28 พ.ค 2566
* เทศน์อบรมมูลนิธิบ้านอารีย์ สายธรรมวันสว่าง วันที่ 18 มิ.ย. 2566
* เทศน์สวนแสงธรรม 29 มิ.ย. 2566
* พระธรรมเทศนา ณ.วัดเกาะทอง ในพิธีอุปสมบทประจำปี ๒๕๖๖ ณ.วันที่ ๒ ก.ค. ๖๖
อาสาฬหบูชารำลึก ๑ สิงหาคม ๒๕๖๖
วิสาขบูชารำลึก ๓ มิถุนายน ๒๕๖๖
มาฆบูชารำลึก ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
แม่นี้มีคุณอันใหญ่หลวง
วันเข้าพรรษา
ชมภาพบรรยากาศพิธีอุปสมบท ณ.พัทธสีมา วัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน
ทำอย่างไรให้งามชาตินี้ ยันชาติหน้า ต่อไปชาติโน้น
เป็นห่วงชาติ
ถ้าโลกนี้มีแต่คนดี
คู่มือส่องพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
กฎธรรมชาติ
ไม่มีใครอยู่เหนือกรรม
ที่สุดแห่งความงาม
เลือกผู้แทนดีเท่ากับทำบุญใหญ่ให้ประเทศ
ศาสนกิจที่อินโดนีเซีย-EP.3
ศาสนกิจที่อินโดนีเซีย-EP.2
มาฆบูชารำลึก_๖_มีนาคม_๒๕๖๖
ภารกิจที่อินโดนีเซีย-EP.1
วิถีแห่งจิตในภาคปฎิบัติธรรม ตอน ๒
วิถีแห่งจิตในภาคปฎิบัติธรรม ตอน ๑
วันแห่งความรัก พ.ศ.2566
ทำดีอย่าติดดี
หากินแบบผิดศีลผิดธรรม
ตามหาพระอริยเจ้าในใจ
เป้าหมายสูงสุดคือพ้นทุกข์ข่ายเดียว
พระองค์ภา
โลกธรรม ๘ หมวดสรรเสริญ นินทา
เกิดเป็นคนต้องมีความกตัญญูกตเวที
เหตุแห่งการเกิดและตาย
อย่าลืมพระอรหันต์ในบ้าน
ความจริงที่ยากจะมองเห็น
ทุกข์คือความจริงอันประเสริฐ
ปฏิบัติธรรมอย่างไร? ภายใต้ปัญหามากมาย
ลอยกระทงปีนี้ ละสิ่งไม่ดีออกไปเลย ชิ้ว
เมื่อพ่อหลวงจากไปครบปีที่๖
ตอบโต้อย่างมีสติรักษาใจ
เอาให้กระอัก
พี่ใหญ่แห่ง 3 ป.
คนชั่วเล่นการเมือง
อุบายแก้ทุกข์ สุก ๆ ดิบ ๆ ต้องอ่าน
ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นทรัพย์อันประเสริฐ
วันดีคือวันที่คิดดี พูดดี ทำดี
ดูคนต้องดูนานนาน
ทานที่แท้
อย่าหลงเชื่อ! บรรดาลูกครึ่ง
รักษาใจไว้ให้ดี
พระธรรมดาจากวัดธรรมดา
ข่าวดังโซเชียล
มันต้องให้ได้อย่างนี้สิ
เมื่อคนพาลมีพื้นที่คนดีจึงต้องหนักแน่น
ปลาโง่ตายเพราะเหยื่อ
หัวน้ำส้มกลั่น สูตรพระกรรมฐาน
เราล่ะ เป็นลูกแบบไหนกัน?
จะดีกว่าไหมถ้าทำดีตอนที่ยังเป็น
ระวังภัยแก็งคอลเซ็นเตอร์
ผู้ว่ามาจากการเลือกตั้งใครอยากเป็นบ้างยกมือขึ้น
รักเธอประเทศไทย
คติธรรมวันนี้



แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล