คนมีธรรมคือ คนที่จะพ้นทุกข์ได้ในวันหนึ่ง
คนไม่มีธรรมคือ คนที่จะมีแต่ทุกข์และหาทางออกจากทุกข์ไม่เจอ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่เคยทำให้ใครได้ดี
โลกใบนี้มันมีทั้งสุขและทุกข์ ถ้าไปอยู่ที่ไหนแล้วมันเกิดความรู้สึกทุกข์ใจ อึดอัดใจ ไม่สบายใจ อยู่ไม่เป็นสุข ให้แก้ที่ใจเราก่อน ให้รู้ว่าไม่มีใครมาทำให้ใจเราเป็นทุกข์ได้ ถ้าใจเราไม่สร้างเรื่องทุกข์ขึ้นมาเอง แต่ถ้าแก้ใจตัวเองไม่ได้ ก็จำเป็นต้องพาตัวเองออกไปจากที่นั้นเสียก่อนชั่วคราว
.
โบราณว่าไว้ “คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก” การหลีกหนีไปอยู่ที่อื่น ก็เป็นเหมือนกับหลบเลี่ยงปัญหาชั่วคราว ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดี เดี๋ยวก็ต้องไปเจอปัญหาเดิม ๆในที่อื่นอีก แต่ถ้ามันยังหาวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่านี้ไม่ได้ ก็จำเป็นต้องยอมหลบไปก่อน เมื่อไหร่ที่ใจเราเข้มแข็งพร้อมที่จะสู้กับมัน ก็หันหน้าไปเผชิญกับมันใหม่ ให้พิจารณาจนรู้ต้นเหตุของปัญหา และดับต้นเหตุของปัญหาลงให้ได้ ทุกข์ก็ดับไปเอง อย่างนี้จึงแก้ปัญหาได้อย่างถาวร
.
อันความสุข ความทุกข์ ความรัก ความชัง ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเกิดขึ้นที่ใจเรา และอยู่ที่ใจเรา อย่าไปโทษคนอื่นสิ่งอื่น สาเหตุของมันก็มาจากกิเลสราคะ โทสะ โมหะ ที่ฝังตัวหลบซ่อนอยู่ในใจเรามานานแสนนาน
.
ในธรรมท่านสอนว่า...
.
เกลียดกันชังกันมาอยู่ใกล้กันก็เป็นทุกข์
รักกันชอบกันต้องอยู่ห่างไกลกันก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์
.
เจ้าอำนาจบาตรใหญ่ เจ้ากรรมนายเวร ที่เราชอบพูดกัน ก็คือ กิเลสตัณหา ๓ ที่ฝังจมอยู่ในใจเรานี่เอง ถ้าใครฆ่ามันได้ก็ถือว่า หมดเวรหมดกรรม
.
กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา คือชื่อจริงของมัน รูปโฉมของมันก็ช่างงดงามยิ่งนัก ประหนึ่งสตรีผู้เลอโฉม ใครได้เจอก็ต้องลุ่มหลงงมงายจนโงหัวไม่ขึ้น แต่พวกนางเป็นสตรีที่อำมหิตโหดเหี้ยมเหลือร้ายทีเดียว ใครไปคบหาอยู่กินกับนาง ก็จะถูกพวกนางจับโยนลงไปในอบายเสวยทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส
.
ชื่อเล่นของพวกนางที่เราคุ้นเคยกันก็คือ ไอ้โลภ โกรธ หลง ๓ ตัว นี่แหละ! ท่านให้สมญานามมันว่า สมุทัย เป็นต้นเหตุที่ทำให้ทุกข์เกิด ถ้าใครไม่อยากเป็นทุกข์ ก็ต้องทำใจโหด ๆ ฆ่าแล้วเผาทำลายพวกนางเสียให้สิ้นซากไปจากใจ
.
วิธีการที่จะฆ่ามันได้ ก็ต้องใช้มรรค ๘ อันเป็นธรรมาวุธที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้ให้ ด้วยการย้อนจิตเข้าไปตรวจตรองดูจิตว่า จิตมันสุข มันทุกข์ มันดีใจ เสียใจ มันรัก มันชัง เป็นเพราะเหตุอะไร ถ้ามีสติปัญญาดี เราก็จะเห็นได้ว่า เมื่อใดที่ใจเราเกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา มันจะต้องมีความอยากอันใดอันหนึ่งเป็นต้นเหตุเสมอ
.
ดังนั้น ถ้าใครมีทุกข์ใจ ก็จงตรวจตรองดูที่ใจว่า ใจมันเกิดความอยากอะไรอยู่ ให้เอาความอยากอันนั้น มาเป็นหินลับสติปัญญา หมั่นคิดค้นหาเหตุผลที่จะทำลายความอยากที่ไม่ดีนั้นเสีย พยายามหาเหตุผลในทางที่ดีกว่า มาแก้กันให้ได้
.
ถ้ารู้จักใช้สติปัญญา ก็จะสามารถหาเหตุผลมาทำลายความอยากที่ไม่ดีนั้นเสียได้ ก็ต้องเอามรรค ๘ ออกมากาง แล้วตรวจดูว่า ความอยากอันนั้น มันขัดต่อมรรคข้อไหน ก็เอามรรคนั้นมาเป็นเครื่องมือสังหารความอยากที่ไม่ดีนั้นให้หมดสิ้นไปจากใจได้อย่างหมดจดงดงาม
.
เบื้องต้นถ้ายังกำจัดมันไม่ได้ ก็ต้องอาศัยความอดทนอดกลั้นข่มบังคับไว้ก่อน ในธรรมท่านสอนไว้ “ขันติ ธีรัสสะลังกาโร” ขันติ คือความอดทน เป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์ อย่าปล่อยให้ความอยากที่ไม่ดีนั้น เล็ดลอดออกไปทางกาย ทางวาจา ให้ไปกระทบกระทั่งกับผู้อื่น
.
จากนั้นจึงใช้สติปัญญาคิดค้นใคร่ครวญหาเหตุผลมาหักล้างทำลายความอยากที่ไม่ดีนั้น จะทำได้แค่ไหน ก็อยู่ที่พลังหนุน คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ทั้ง ๕ นี้ ในธรรมท่านเรียกว่า พละ ๕ หรือ อินทรีย์ ๕ จงพยายามฝึกฝนอบรมบ่มเพาะให้เกรียงไกร
.
หากไม่มีสติปัญญามากพอที่จะหาเหตุผลมาทำลายความอยากที่ไม่ดีได้ ความอยากนั้นก็จะเป็นเหตุให้เกิดความรัก ความโกรธ แล้วแปรสภาพไปเป็นความคิดที่ไม่ดี คือคิดโลภอยากได้ของคนอื่น คิดอาฆาตพยาบาทปองร้ายผู้อื่น จนกระทั่งคิดเห็นผิดไปจากคลองธรรม
.
ถ้าปล่อยให้ความคิดที่ไม่ดี มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ความคิดที่ไม่ดีนั้นก็จะแปรสภาพออกไปเป็นคำพูดที่ไม่ดี เป็นการกระทำที่ไม่ดี หากไปกระทบกระทั่งคนอื่น ก็จะเป็นเหตุให้เกิดมีปากมีเสียงทะเลาะกัน ต่อยตีกัน ถ้าไม่ยอมหยุดก็อาจถึงขั้นฆ่าฟันกันได้
.
ถ้าความอยากนั้นมาจากความโกรธ ต้องอดทนไว้ก่อนแล้วใช้สติปัญญากำจัดหรือระงับไว้ให้ได้สถานเดียว เพราะความโกรธไม่เคยส่งผลดีแก่ใคร ถ้ากำจัดไม่ได้ หรือระงับไม่ได้ ก็จะส่งผลร้ายทั้งต่อตนเองและผู้อื่นตามมาในภายหลัง
.
ถ้าความอยากนั้นมาจากความรัก อันนี้แก้ไขได้ค่อนข้างยากมาก ที่จริงมันก็ยากพอกัน แต่ความรักมันขึ้นอยู่กับเนกขัมมะบารมีของแต่ละคนด้วย ผสมผสานกับบุญวาสนาที่เคยสั่งสมร่วมกันมา นับแต่อดีตชาติจวบจนปัจจุบันชาติ
.
วิธีแก้ความโกรธระดับ ๑
ถ้าความโกรธเกิดขึ้น ก็ให้พลิกจิตพิจารณาว่า คนเรามันก็มีทำดีบ้าง ทำชั่วบ้างปะปนกันไป ใครทำดีก็ได้ดีเอง ใครทำชั่วก็ได้ชั่วเอง เราก็ไม่ได้ไปแบกหามรับผลแห่งการกระทำดี หรือกระทำชั่วของใคร เราจะไปเดือดร้อนกับการกระทำของเขาทำไม อันนี้เป็นการทำความแยบคายไว้เป็นส่วนภายในใจก่อน
.
ส่วนทางภายนอก ถ้าหากว่า มันมีผลเสียต่อหน้าที่การงาน หรือความเป็นอยู่ ก็จัดการแก้ไขกันไปตามสมควรแก่เหตุ บ้านเมืองมีกฏ มีระเบียบ มีกติกา มีกฎหมาย ก็ดำเนินการกันไปตามกฏ ระเบียบ กติกา หรือกฎหมาย ถ้าตกลงกันได้ หรือให้อภัยกันได้ ก็ให้อภัยกันไป จะชดใช้ค่าเสียหายกันอย่างไร ก็แล้วแต่จะตกลงกันไป
.
ไม่จำเป็นต้องใช้ความโกรธเข้าไปแก้ไขปัญหา เพราะถ้าความโกรธเกิดขึ้นที่ใจ หากเราปล่อยใจให้เป็นไปตาม มันก็จะเผาใจเราให้เร่าร้อน และทำให้เราตัดสินใจทำอะไรผิดพลาดได้ เรื่องเล็กก็อาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพราะความโกรธไม่เคยช่วยใครให้แก้ปัญหาได้ มีแต่สร้างปัญหาให้มากขึ้น
.
การทำความแยบคายไว้ในใจนั้นสำคัญมาก ให้คิดว่า คนเรามันก็ทำไม่ดีกันได้ทุกคน แม้ตัวเราเองก็อาจทำไม่ดีได้ จงอย่าได้เอาการกระทำที่ไม่ดีของคนอื่น มาเป็นเหตุเพื่อส่งเสริมให้ตัวเราไปกระทำไม่ดีเหมือนเขา
.
คนอื่นทำไม่ดีกับเรา เรายังโกรธเขาได้ แต่เวลาเราไปทำไม่ดีกับคนอื่น ทำไมเราไม่โกรธตัวเอง เราต้องโกรธตัวเอง ต้องห้ามตัวเองว่า อย่าไปทำไม่ดีกับใคร มันถึงจะยุติธรรม เพราะไม่มีใครอยากให้คนอื่นมาทำไม่ดีกับตัวเอง
.
ถ้าเราเห็นว่า ใครทำอะไรไม่ดี เราก็ไม่ควรทำอย่างนั้น ส่วนอันไหนเราเห็นว่า เขาทำดีแล้ว ก็จงทำใจให้ยินดีกับเขา ในธรรมท่านสอนให้เราว่า สาธุ ๆๆ ก็เพื่อว่า เราจะได้มีโอกาสทำดีอย่างนั้นบ้าง นั่นเอง ถ้าเพียงทำใจให้ยินดีในการทำความดีของคนอื่นไม่ได้ แล้วเมื่อไหร่ เราจึงจะมีโอกาสได้ทำความดีด้วยตัวของเราเอง ถ้าใครคิดได้อย่างนี้ ชื่อว่า มีสติปัญญาระดับประถม
.
วิธีแก้ความโกรธระดับ ๒
พิจารณาให้ลึกลงไปอีกว่า ร่างกายมันเป็นเครื่องมือของใจ ใจมันสั่งให้ทำอย่างไร กายมันก็ต้องทำตามอย่างนั้น ร่างกายมันก็เป็นเพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม มาประชุมรวมกันเข้า เดี๋ยวมันก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตายไปเองอยู่แล้ว ไม่ต้องไปทำอะไรมันก็ตาย
.
การไปโกรธร่างกายที่เป็นเครื่องมือของใจ มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ร่างกายมันไม่ผิด ความผิดมันอยู่ที่ใจ เหมือนมีคนขับรถมาชนเรา จะไปโกรธรถเขา มันก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะรถมันไม่ผิด มันผิดอยู่ที่คนขับรถ ขับประมาทเองต่างหาก
.
ร่างกายก็เป็นเหมือนรถ ใจคนก็เป็นเหมือนคนขับรถ ความประมาทมันก็เป็นกิเลสที่บงการใจเราอีกทีหนึ่ง กิเลสความโลภ ความโกรธ ความหลง นี้ เป็นผู้มีอำนาจเหนือใจ เป็นผู้สั่งการให้ใจทำสิ่งที่ไม่ดีต่าง ๆ นานา ทำผิด ๆ พลาด ๆ ถ้าจะโกรธก็ต้องโกรธกิเลสที่อยู่ในใจ
.
แต่การจะไปโกรธกิเลสในใจคนอื่น ก็หามีประโยชน์อันใดไม่ กิเลสในใจเราก็มี สู้โกรธกิเลสในใจเราไม่ได้ เพราะเรายังสามารถกำจัดมันให้ออกไปจากใจเราได้ ส่วนกิเลสในใจคนอื่นก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนอื่นที่จะจัดการเอง เพราะเราไม่สามารถไปจัดการกับกิเลสของคนอื่นได้
.
การที่เราโกรธใครสักคน ก็เพราะเราอยากให้เขาทำดีอย่างที่ใจเราต้องการ พอเขาทำไม่ดี ไม่ถูกใจเรา เราก็โกรธ ที่จริงเราควรอยากให้ตัวเราเองทำดี เพราะเราบังคับตัวเองได้ แต่เราไปบังคับคนอื่นไม่ได้ แม้กระนั้น ตัวเราเองก็ยังทำดีได้ยาก จึงไม่ควรไปอยากให้คนอื่นทำดี เพราะเขาอาจไม่เห็นดีเหมือนกับเรา
.
ชื่อว่า ความดีนั้น คนดีทำดีได้ง่าย คนชั่วทำดีได้ยาก ส่วนความชั่วนั้น คนดีทำชั่วได้ยาก แต่คนชั่วทำชั่วได้ง่าย เราจึงไม่ควรไปอยากให้คนชั่วมันทำดี จะพบกับความผิดหวังตลอดไป ถ้าคนชั่วจะทำดี เขาจะต้องเห็นดีเห็นงามเอง ไม่ใช่ทำดีเพราะความอยากของใคร ถ้าใครคิดได้อย่างนี้ เรียกว่า มีสติปัญญาในระดับมัธยม
.
วิธีแก้ความโกรธระดับ ๓
พิจารณาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก ต้องเข้าใจว่า บุคคล สัตว์ สิ่งของต่าง ๆ ในโลกนี้ ล้วนเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งของธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ที่มีอยู่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ เขามีความเกิดขึ้น เสื่อมสลาย และแตกดับไปเองเป็นธรรมดาอย่างนี้ มานานหลายกัปป์หลายกัลป์จนนับประมาณไม่ได้ ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ใด ๆ อยู่ในธาตุทั้ง ๔ อย่างที่พวกเราเข้าใจกัน
.
แต่ใจมาอาศัยธาตุเหล่านี้อยู่ เลยทำให้ใจต้องรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ผ่านกายอันนี้อย่างมากมาย ในธรรมท่านเรียกว่า รูปขันธ์ ก็เป็นที่เกิดของความรู้ต่าง ๆ เข้าไปสู่ใจ เมื่อใดที่ร่างกายแตกดับไป ความรู้เหล่านี้ก็จะดับไปพร้อมกัน ดังเช่น...
.
ความรู้ทางตาก็ทำให้ใจรู้รูปต่าง ๆ ได้
ความรู้ทางหูก็ทำให้ใจรู้เสียงต่าง ๆ ได้
ความรู้ทางจมูกก็ทำให้ใจรู้กลิ่นต่าง ๆ ได้
ความรู้ทางลิ้นก็ทำให้ใจรู้รสต่าง ๆ ได้
ความรู้ทางกายก็ทำให้ใจรู้สัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งได้
ความรู้ทางใจก็ทำให้ใจรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ได้
.
ความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้ ก็เป็นเพียงนามธรรมเกิดแล้วดับ อยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ท่านเรียกว่า วิญญาณขันธ์ แล้วไหลมารวมกันที่ใจ เป็นความรู้ทางใจ เรียกว่า มโนวิญญาณ เป็นเหตุให้ใจสัมผัสรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ที่ผ่านมาทางกายได้ตลอดเวลา
.
คนที่ตาบอดก็จะไม่สามารถเห็นรูป แม้หูจะได้ยินเสียงก็ตาม แต่ใจก็ไม่สามารถแปลงเสียงไปเป็นรูปได้ เพราะสัญญาที่อยู่ในใจทำงานได้ไม่สมบูรณ์ เพราะขาดข้อมูลภาพมาประมวลผล ด้วยเหตุนี้ คนที่ตาบอดแต่กำเนิดจึงต้องเป็นใบ้ไปโดยปริยาย
.
หรือคนที่ตาดีมองเห็นรูปได้ แต่หูหนวกไม่ได้ยินเสียง ใจก็ไม่สามารถแปลงรูปไปเป็นเสียงได้ เพราะสัญญาที่อยู่ในใจทำงานได้ไม่สมบูรณ์ เพราะขาดข้อมูลเสียงมาประมวลผล ด้วยเหตุนี้ คนหูหนวกแต่กำเนิดก็ต้องเป็นใบ้ไปโดยปริยาย
.
การที่จะพูดภาษาสมมติสื่อสารให้เข้าใจตรงกันได้ ใจจะต้องได้รับข้อมูลจากอายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และต้องได้รับข้อมูล คือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ธรรมารมณ์ จากอายตนะภายนอกตรงกัน เพราะเหตุนั้น ภาษาต่าง ๆ บนโลกใบนี้จึงสามารถแปลไปมาหาสู่กันได้ จึงทำให้มนุษย์สามารถพูดจาสื่อสารกันได้รู้เรื่อง เพราะว่า สิ่งที่ยืนตัวรับสมมติมันเป็นอันเดียวกันนั่นเอง
.
ใช่แต่เท่านั้น ใจยังสามารถรู้สุข รู้ทุกข์ รู้เฉย ๆ ได้อย่างที่เรียกว่า เวทนาขันธ์ คือ ความรู้สึกสุขกาย สุขใจ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ หรือ เฉย ๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ซึ่งก็มีได้ทั้งทางกาย และทางใจ เกิดดับสับเปลี่ยนกันไปอยู่ตลอดเวลา
.
ใจยังสามารถรู้จดรู้จำสิ่งต่าง ๆ เช่น จำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำเครื่องสัมผัสต่าง ๆ จำธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้นที่ใจได้ ที่เรียกว่า สัญญาขันธ์
.
ใจยังคิดปรุงแต่งเรื่องราวต่าง ๆ ได้ด้วย โดยอาศัยความจำ เอาความจำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำเครื่องสัมผัส จำธรรมารมณ์ ต่าง ๆ มาผสมผสานเข้าด้วยกัน ปรุงแต่งขึ้นใหม่เกิดเป็นอุปาทานขันธ์ ที่จิตยึดถือเอาไว้อย่างเป็นจริงเป็นจัง จนเป็นเหตุทำให้จิตหลงสมมติเหล่านี้ว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นวัตถุสิ่งของต่าง ๆ จริง ๆ ทั้ง ๆ ที่ความรู้เหล่านี้ มันเป็นเพียงนามธรรมเกิดแล้วก็ดับไป เรียกว่า สังขารขันธ์
.
ความรู้อย่างที่ท่านเรียกว่า ขันธ์ ๕ นี้ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แท้จริง มีทั้งที่เป็นขันธ์แท้ดั้งเดิมตามหลักธรรมชาติ กับที่เป็นขันธ์เทียมคืออุปาทานขันธ์ที่จิตปรุงแต่งขึ้นแล้วยึดถือเอาไว้ ซึ่งต้องพิจารณาด้วยสติปัญญาให้เห็นแจ้งว่า สิ่งทั้งปวงเป็นเพียงสักแต่ว่ารูป สักแต่ว่านาม เกิดดับอยู่ที่ใจ ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ใด ๆ มาอยู่ภายในใจเลย
.
ส่วนรูป ก็เป็นความรู้อาศัยกายเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เช่น ตาเห็นรูปก็เป็นเพียงสักแต่ว่า รูป เป็นความรู้ทางตาปรากฏแล้วก็ดับไป ไม่มีรูปใดตั้งอยู่ได้นาน เสียง กลิ่น รส ก็เช่นเดียวกัน เกิดแล้วก็ดับไปพร้อมกัน
.
ส่วนนามนั้น ก็เป็นความรู้ทางใจเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ดังกล่าวแล้วทั้งปวง ล้วนเป็นอาการของจิตเกิดขึ้นตามเหตุ แล้วก็จะดับไปเมื่อหมดเหตุ
.
การไม่สำคัญผิด หลงผิด คิดผิดว่า ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ใจเห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้งว่า ขันธ์เป็นอันหนึ่ง ใจเป็นอันหนึ่ง เชื่อมันในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน ไม่ลังเลสงสัย เป็นความเชื่อฝังแน่น แม้ตายก็ไม่ยอมทำความชั่วทางกาย ทางวาจา ใด ๆ อีกเลย เที่ยงที่จะได้เข้าถึงพระนิพพาน ใครรู้อย่างนี้ได้ เรียกว่า มีสติปัญญาระดับปริญญาตรี
.
วิธีแก้ความโกรธระดับ ๔
เมื่อพิจารณาให้ลึกลงไปอีก เห็นว่า รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนิ่มนวล ล้วนเป็นความคิดปรุงแต่งที่จิตหลงผิด คิดผิดขึ้นมาเอง ก่อให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นใน รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่าง ๆ ทั้งที่ว่าสวย และว่าไม่สวย ทั้งที่ชอบ และไม่ชอบ ด้วยอำนาจของราคะ โทสะ โมหะ ก่อให้เกิดความยินดียินร้าย อันเป็นเหตุก่อกรรมทำเข็ญสร้างภพสร้างชาติ เวียนเกิดเวียนตายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
.
จิตย้อนตัวกลับมามองเห็นโทษของอุปาทานในขันธ์ต่าง ๆ ที่จิตสร้างขึ้นเอง เกิดสติปัญญาทำลายความหลงผิด เห็นผิด คิดผิดในขันธ์ต่าง ๆ ลงได้ จิตหยั่งลงเห็นรูปเป็นรูป เห็นนามเป็นนามแจ้งชัด หมดความสำคัญผิด หลงผิดในส่วนรูป ทั้งที่ว่าสวย และว่าไม่สวย
.
โดยจิตหยั่งลงเห็นความจริงของรูปที่เป็นส่วนธาตุ คือกายอันนี้ว่า เป็นเพียงส่วนผสมของธาตุ ๔ ที่ต้องแตกสลายไปในที่สุด จิตหยั่งลงเห็นความจริงว่า ความสวยงาม และความไม่สวยงามของกายนี้ เป็นเรื่องที่จิตสร้างภาพขึ้นมาหลอกตัวเอง โดยอาศัยสัญญาคือความจำ สร้างเป็นภาพอยู่ภายในจิตก่อน แล้วส่งกระแสออกไปผสานกับภาพที่เห็นทางตาทางภายนอกอีกทีหนึ่ง ทำให้จิตมองเห็นภาพทางตา เสียงทางหู ความรู้ต่าง ๆ กลายเป็นสมมติไปหมด
.
แท้จริง รูปที่ปรากฏทางตา เขาไม่ได้ประกาศตัวเองว่า เขาเป็นอะไรเลย จะสวยงาม หรือไม่สวยงาม เขาก็ไม่ได้ว่าเอง แต่เป็นจิตนี้ไปใส่ชื่อให้เขา โดยอาศัยสัญญา สังขารที่ปรุงแต่งอยู่ภายในใจหมายออกไปหารูปทางภายนอกที่ปรากฏทางตานั้นเอง
.
เป็นจิตไปสมมติชื่อให้เขาเองว่า เป็นรูปนั้น รูปโน้น เป็นคนนั้น คนโน้น ว่าสวยงาม หรือไม่สวยงาม ล้วนเกิดจากจิตไปสมมติชื่อแต่งตั้งเอาเองทั้งนั้น โดยที่สิ่งต่าง ๆ เขาไม่ได้รับรู้อะไรด้วยเลย
.
จิตหยั่งลงเห็นความจริงของ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นเพียงสภาวธรรมเกิดขึ้นแล้วดับไป ในส่วนที่เป็นความรู้เกิดขึ้นทางกายเรียกว่า รูป และในส่วนที่เป็นความรู้เกิดขึ้นทางใจ เรียกว่า นาม ทั้งปวงเป็นเพียงสมมติที่สักแต่ว่ารูป สักแต่ว่านาม เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่มีอะไรคงทนถาวร เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา พอให้จิตยึดถือเอาไว้ได้ จิตหยั่งรู้อาการของจิตที่หลงผิดที่เห็นนามเป็นรูป เห็นรูปเป็นนาม แล้วสร้างภาพสร้างเรื่องขึ้นมาหลอกตัวเอง
.
สติปัญญาหยั่งลงที่จิต ประสานเป็นอันเดียวกับจิต ตัดขาดความรู้ของจิตกับความรู้อันเกิดจากขันธ์ทั้ง ๕ ที่เป็นอุปาทานในขันธ์ดับลง ราคะ โทสะก็ดับลงไปพร้อมกัน จิตแยกขาดจากขันธ์อย่างสิ้นเชิง จิตเห็นขันธ์เป็นขันธ์ เห็นจิตเป็นจิต ไม่กลับมาประสานเป็นอันเดียวกันได้อีกตลอดกาลนาน ใครรู้เห็นอย่างนี้ได้ เรียกว่า มีสติปัญญาระดับปริญญาโท
.
สติปัญญาระดับ ๕ ดับอวิชชา
สติปัญญาขั้นดับอวิชชานี้ เป็นสุดยอดวิชาในพระพุทธศาสนา ถ้าใครฝึกสติปัญญาถึงขั้นเกรียงไกรที่สามารถทำลายจิตอวิชชาให้แตกสลายไปได้ ก็ถือว่า เรียนจบพรหมจรรย์ เสร็จกิจในพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์
.
ทันทีที่จิตอวิชชาแตกกระจายหายซากไป ก็ปรากฏธรรมธาตุอันบริสุทธิ์ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า ผู้เป็นบรมครูทรงตรัสไว้ว่า...
.
นั่นคือ นิพพานหนึ่ง เป็นธรรมชาติอัศจรรย์ที่ไม่มีสมมติใด ๆ จะพาดพิงถึงได้ เป็นแดนแห่งเอกันตบรมสุขที่หาใดเสมอเหมือนมิได้ เป็นแดนอันเกษมสำราญแห่งพระขีณาสวะเจ้าทั้งหลาย เป็นสันทิฏฐิโกที่พระพุทธองค์ทรงประทานไว้ให้แก่นักรบศิษย์พระตถาคต ผู้มีความเพียรอันเด็ดเดี่ยว มีความกล้าหาญชาญชัย มีความมุ่งมั่นต่อแดนพ้นทุกข์ อย่างไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึง ไม่มีสะทกสะท้านหวั่นไหวต่อความเป็นความตาย
.
แม้ในยามที่ต้องเผชิญกับพระยามัจจุราชอยู่ตรงหน้า ก็พร้อมที่จะสละชีพบูชาธรรมด้วยความเพียรอันเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ ยอมตายก็ไม่ยอมก้มหัวให้กิเลสอย่างคนสิ้นท่า
.
ผู้เช่นนั้นจึงจะสามารถรวบรวมพลังศีล สมาธิ ปัญญา ให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ตั้งมั่นดุจขุนเขาอันไม่สะดุ้งสะเทือนสะท้านต่อการพัดกระหน่ำของลมพายุแรง
.
ผู้เช่นนั้นจึงจะสามารถบุกทะลวงเข้าฟาดฟันห้ำหั่นทำลายล้างจิตอวิชชาให้แตกกระจัดกระจายหายซากไปเป็นอากาศธาตุได้ เสร็จกิจในพระพุทธศาสนา ประกาศชัยชนะในสงครามล้างวัฏจักรขั้นเด็ดขาด สามารถคว้าเอาวิมุตติจิต วิมุตติธรรม มาครองได้อย่างสง่าผ่าเผยหมดจดงดงาม
.
ได้ชื่อว่า เป็นผู้เห็นพระตถาคตองค์จริงอย่างสมบูรณ์บริบูรณ์ ได้เห็น “พุทโธ” ของจริงมาปรากฏขึ้นที่ใจ ใจเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ใจได้กราบพระพุทธเจ้าอย่างศิโรราบ กราบทั้งกาย กราบทั้งวาจา กราบทั้งใจด้วยความบริสุทธิ์ กายกับใจไม่ทะเลาะกัน ไม่ปีนเกลียวกัน อีกเลย เป็นตลอดอนันตกาล
.
นี่คือ ธรรมสมบัติอันล้ำค่า ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้แล้วแก่พวกเราชาวพุทธทุกคน ก็อยู่ที่ใครจะมีความสามารถตักตวงเอาคุณธรรมความดีงามไปได้แค่ไหน ก็จงทำความพยายามให้เต็มที่เถิด ก่อนที่ลมหายใจสุดท้ายจะดับลง เอวัง ฯ
.
