"ด้านมืดของเน็ต" ภัยที่เด็กเล็กต้องรู้เท่าทัน! (แม้รัฐบาลไม่รู้ก็ตาม)
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ |
7 มกราคม 2556 16:22 น. |
ในวันที่รัฐบาลไทยตัดสินใจนำแท็บเล็ตพีซีมาใช้เป็นหนึ่งในอุปกรณ์การเรียนการสอน แถมยังเป็นการใช้งานกับเด็กเล็กมากอย่างเด็กชั้นประถม 1 แม้จะอ้างว่าทำเพื่อความเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แต่เชื่อว่าพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนมากที่เฝ้าดูอยู่ คงเกิดความกังวลใจไม่ต่างกัน เพราะนอกจากความพร้อมในเรื่องของบริษัทที่จะเข้ามาดำเนินการจัดหาแท็บเล็ตพีซีให้เด็ก ๆ ใช้แล้ว การเตรียมความพร้อมในด้านอื่น ๆ เพื่อรับมือกับ "ด้านมืด" ของอุปกรณ์ไอทีเหล่านั้น ยังไม่มีปรากฏให้ผู้ปกครองคลายความกังวลแต่อย่างใด กระทั่งความตระหนักของหน่วยงานที่รับผิดชอบถึงความเสี่ยงที่จะเกิดกับอนาคตของชาติ หากเด็ก ๆ ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพบนอินเทอร์เน็ตก็ยังไม่มีปรากฏต่อสังคมแม้สักเล็กน้อย ซึ่งเท่ากับว่า นโยบายนี้อาจกำลังส่งอนาคตของชาติไปเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ แถมยังอาจลากครอบครัวของเด็ก ๆ ไปร่วมรับผิดชอบกับความ "ขาดการเตรียมพร้อม" ของรัฐบาลอีกด้วยนั่นเอง
ขณะที่ฟากประเทศอังกฤษ กลับตรงกันข้าม เนื่องจากรัฐบาลมีการริเริ่มที่จะสอนให้เด็ก 3 ขวบรู้จักกับด้านมืดของอินเทอร์เน็ตกันแล้ว เพื่อให้เด็ก ๆ เข้าสู่โลกออนไลน์อย่างปลอดภัย รวมถึงสอนให้เด็ก ๆ รู้จักจัดการข้อมูลส่วนบุคคลบนโลกออนไลน์ด้วย

จากความแตกต่างกันทางด้านนโยบายนี้ อีกทั้งการขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง ทีมงาน Life & Family จึงขออาสาพาผู้ปกครองและเด็ก ๆ ไปรู้จักกับด้านมืดของอินเทอร์เน็ตว่ามีอะไรกันบ้าง และจะป้องกันไม่ให้ครอบครัวตกเป็นเหยื่อได้อย่างไร เชิญติดตามได้เลยค่ะ
1. ฟิชชิ่ง
ฟิชชิ่งอีกหนึ่งรูปแบบของการหลอกขโมยข้อมูลส่วนบุคคล กับการสร้างหน้าเว็บหลอก ๆ ขึ้นมาให้หน้าตาดูคล้ายเว็บไซต์ชื่อดัง เช่น หน้าเว็บ Yahoo Mail แล้วส่งลิงค์ หรืออีเมลมาชักชวนให้คุณคลิกเข้าไปที่หน้าเว็บนั้น สิ่งที่เขาต้องการก็คือ การป้อน ID และพาสเวิร์ดจากคุณ หรือเด็ก ๆ ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ จากนั้นเหล่ามิจฉาชีพจะนำ ID และพาสเวิร์ดของคุณที่ป้อนเข้ามาไปใช้ได้ในหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น นำไปหลอกลวงผู้อื่นว่าคุณกำลังตกที่นั่งลำบาก ไม่มีเงินติดตัว ขอให้โอนเงินให้หน่อย หรือหากมิจฉาชีพนำ ID และพาสเวิร์ดไปล็อกอินเข้าอีเมลของคุณ และจัดการเปลี่ยนพาสเวิร์ด รวมถึงส่งอีเมลมาข่มขู่ขอเงินค่าไถ่ก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน
นอกจากนั้น หากสังเกตให้ดี ชื่อ "ฟิชชิ่ง" ที่ใช้เรียกการหลอกลวงลักษณะดังกล่าวก็มาจากการตกปลาที่ต้องใช้เหยื่อล่อนั่นเอง
เพื่อไม่ให้เรากลายเป็นเหยื่อ การป้องกันภัยฟิชอาจทำได้ดังนี้
1. ไม่เปิดเมลจากคนที่ไม่รู้จัก ให้คลิก Delete ไปเลย หรือหากมีข้อความ จากคนที่ไม่รู้จักส่งมาทางช่องทางต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก Line ก็ให้คลิก Delete ไปเช่นกัน
2. ถ้าหลงเปิดเมลเข้าไปแล้ว พบว่ามีข้อความเชิญชวนให้คลิกตามลิงค์ที่่ส่งมา ก็ให้กดปุ่ม Delete เช่นกัน
3. ไม่คลิกโฆษณาบนอินเทอร์เน็ต แม้จะน่าสนใจเพียงใดก็ตาม
4. ถ้าหลงกล คลิกลิงค์โฆษณาไปแล้ว พึงตระหนักว่า ห้ามกรอกข้อมูลใด ๆ ลงบนเว็บเหล่านั้นเด็ดขาด
5. หากทราบว่า พฤติกรรมผู้ใช้ไม่ค่อยมีความระแวดระวัง หรือไว้ใจข้อมูลต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตมาก ควรติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยที่เชื่อถือได้เอาไว้ในอุปกรณ์ด้วย
2. ความเสี่ยงอันเกิดจากการเข้าเว็บลามกอนาจาร
โดยมากแล้ว การคลิกเข้าเว็บไซต์ลามกอาจเกิดขึ้นได้ในเด็กเล็ก จากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการที่อุปกรณ์ขาดการป้องกัน แต่สิ่งที่จะตามมาจากการเข้าเว็บไซต์เหล่านั้นคือ บรรดาสปายแวร์ที่จะโหลดมาฝังตัวอยู่ในอุปกรณ์ไอที หากร้ายแรงหน่อยก็อาจเป็นไวรัสที่พร้อมจะทำลายข้อมูล หรือทำให้คอมพิวเตอร์รวนได้
3. ความผิดที่เกิดจากโพสต์ข้อความ คลิปต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสม
เวลาที่มีข่าวว่าเด็ก ๆ มีการถ่ายคลิปการทะเลาะตบตี การมีเพศสัมพันธ์กัน หรือการยกพวกรุมทำร้ายกัน แล้วโพสต์ลงบนอินเทอร์เน็ตให้เป็นที่อับอายนั้น คนทั่วไปอาจเสพข่าวดังกล่าวด้วยความสลดใจ แต่คนเป็นพ่อแม่ของเด็กที่ตกเป็นเหยื่อนั้นเสพข่าวด้วยความเสียใจอย่างที่สุด และผู้ที่โพสต์คลิปเหล่านั้นก็มีความผิดตามกฎหมายด้วย (พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐)
4. ความผิดที่เกิดจากการแฮกข้อมูลส่วนบุคคลของคนอื่น
ในเด็กเล็กบางคนอาจทำไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น ตนเองทราบ ID และพาสเวิร์ดของเพื่อน จึงอยากลองล็อกอินด้วยชื่อของเพื่อนบ้าง และเมื่อล็อกอินได้แล้วก็เกิดความคึกคะนอง นำยูสเซอร์เนมของเพื่อนไปใช้โพสต์ข้อความที่ไม่เหมาะสมบนโลกอินเทอร์เน็ต การกระทำเหล่านี้ก็มีความผิดตามกฎหมาย
5. การแชร์ข้อมูลที่ไม่เหมาะสม
เดี๋ยวนี้ฟังก์ชันแชร์ข้อมูลมีปรากฏให้คลิกตามเว็บโซเชียลเน็ตเวิร์กต่าง ๆ มากมาย แต่การแชร์ข้อมูลที่ไม่เหมาะสม ลามกอนาจาร หรืออาจทำให้เกิดความเสียหายกับผู้อื่นนั้นอาจทำให้เด็ก ๆ ต้องรับผิดทางกฎหมายได้เช่นกัน ดังนั้น แม้จะไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความต่าง ๆ นั้นด้วยตัวเอง แต่การแชร์ ส่งต่อ ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมก็ไม่ควรทำด้วยประการทั้งปวง

นอกจากนั้น สิ่งที่เด็ก ๆ ต้องเรียนรู้เมื่อต้องรับผิดชอบอุปกรณ์ไอทีสักชิ้นหนึ่งก็คือ "การจัดการข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์" ซึ่งคำแนะนำมีดังนี้
1. ไม่จำเป็นว่าเด็ก ๆ จะต้องโพสต์ทุกอย่างเกี่ยวกับตนเองลงบนโลกออนไลน์ ทั้งชื่อจริง ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์ เพราะทุกวันนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ทำให้บุคคลแม้จะอยู่ห่างจากเราแม้เป็นพัน ๆ ไมล์ ก็สามารถติดตามเราได้จากข้อมูลที่เราโพสต์ลงไป
2. ควรฝึกแสดงความคิดเห็นในเชิงบวก หลายครั้งที่คนดังบนโลกออนไลน์ใช้การโพสต์ข้อความในเชิงลบสร้างชื่อให้แก่ตนเอง แต่สำหรับเด็กที่เพิ่งเริ่มใช้งานอินเทอร์เน็ต หรืออุปกรณ์ไอที ควรถูกปลูกฝังว่า การมีตัวตนบนโลกออนไลน์นั้นไม่จำเป็นต้องโพสต์แต่ข้อความเชิงลบ หรือเป็นเกรียนอย่างเดียว การเป็นคนที่มองโลกในแง่บวกก็สามารถทำได้เช่นกัน แถมข้อดีคือ เสี่ยงต่อการตกเป็นจำเลยน้อยกว่ามาก
สุดท้าย ผู้ปกครองควรฝึกความรับผิดชอบควบคู่การใช้งานไอที เพราะเด็กยังเป็นเด็ก การที่เด็กได้รับอุปกรณ์ไอทีมาใช้เครื่องหนึ่งไม่ได้หมายความว่า มันจะเข้ามาทดแทนช่วงเวลาแห่งการปลูกฝังพฤติกรรมดี ๆ ไปได้ ดังนั้น พ่อแม่ต้องหัดให้ลูกรู้จักแบ่งเวลา รวมถึงมอบหมายความรับผิดชอบอื่น ๆ เช่น การทำงานบ้าน การรับผิดชอบตัวเอง ฯลฯ เหมือนเดิม รวมถึงหากิจกรรมอื่น ๆ ให้ลูกเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เช่น พาไปทัศนศึกษา หรือทำกิจกรรมเพื่อสังคม ไม่ให้เด็กหมกมุ่นอยู่กับอุปกรณ์ไอทีมากจนเกินไป
ส่วนคำถามที่ว่า จริง ๆ แล้ว วัย 5 - 6 ขวบนี้เหมาะสมหรือยังกับการเรียนรู้ด้วยอุปกรณ์ไอทีดังกล่าว แทนที่จะเอาเวลาไปฝึกเขียนหนังสือ เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กให้พร้อมมากขึ้น ลดโอกาสการเสียสายตาในเด็ก ฯลฯ เหล่านี้ อีกไม่นานเราคงได้เห็นผลกันกับตา ซึ่งก็ขอวอนว่าบุคคลในคณะรัฐบาลเจ้าของนโยบายนี้อย่าเพิ่งล้มกระดานหนีไปนอกประเทศก็แล้วกัน