
มาฆบูชารำลึก ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ | |
มาฆบูชารำลึก ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
ในโอกาสที่วันมาฆบูชามหามงคลเวียนมาบรรจบครบ ซึ่งในปีนี้ตรงกับ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็นวันอุโบสถที่ ๖ แห่งเหมันตฤดู ความสำคัญในวันนี้ คือ เป็นวันประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ ที่เรียกว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" ซึ่งจักได้หยิบยกเอาพระคุณนามแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้ามาสาธยายให้ท่านสาธุชนได้สดับ พอเป็นเครื่องรื่นเริงในธรรมนำไปสู่สัมมาปฏิบัติต่อไป . วันมาฆบูชา ถือเป็นวันกตัญญูแห่งชาติ เป็นวันแห่งความรักอันบริสุทธิ์ ที่องค์พระอรหันตสาวกเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ล้วนทรงอภิญญา ๖ และเป็น เอหิ ภิกขุ อุปสัมปทา ทั้งมิได้นัดหมาย ต่างเดินทางมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อแสดงออกซึ่งความรักเทิดทูนและกตัญญู ต่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ อันหาประมาณมิได้ . เมื่อครั้งที่พระเทวทัตพยายามจะปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ด้วยการให้นายขมังธนูมาลอบยิงก็ไม่สำเร็จ จึงคิดอุบายปล่อยช้างนาฬาคีรีที่ถูกมอมเมาด้วยสุราจนเสียสติคุ้มคลั่ง วิ่งชูงวงส่งเสียงร้องคำรามด้วยท่าทีดุร้าย วิ่งตรงไปในทางที่พระพุทธองค์กำลังเสด็จมา . ขณะนั้นพระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก ซึ่งอยู่ในภูมิธรรมชั้นพระโสดาบัน ด้วยความรักในพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงกลับถลันไปยืนขวางหน้าพระยาช้างตัวดุร้ายนั้นไว้ มิได้มีความรักตัวกลัวตายอาลัยในชิวิตตัวเองแม้แต่น้อย ตั้งจิตอธิษฐานว่า หากแม้พระยาช้างนี้ จักทำร้ายซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วไซร้ ขอจงข้ามศพของเราผู้ชื่อว่าอานนท์นี้ไปก่อนเถิด . แม้พระพุทธองค์จะทรงตรัสห้ามว่า "อานนท์ อย่าเข้าไป อานนท์ จงหลีกไป นั่น ไม่ใช่ธุระของเธอ" แต่พระอานนท์ก็หายินยอมไม่ ซึ่งพระอานนท์นั้น ไม่เคยที่จะขัดพระบัญชาของพระผู้มีพระภาคเจ้ามาก่อนเลย แต่ด้วยความรักในพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นอันสุดเปรียบประมาณ พระอานนท์ถึงกับยอมมอบกายถวายชีวิตอย่างมิได้สะทกสะท้าน . "ไม่ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จะไม่หลีกไป หากช้างนี้จะทำร้ายพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ขอให้ข้ามศพ ข้าผู้ชื่อว่า อานนท์นี้ไปก่อนเถิด" พระอานนท์กล่าววาจาด้วยอาจหาญ ในที่สุดพระพุทธองค์จำต้องบันดาลด้วยฤทธิ์ให้พระอานนท์ไปอยู่ด้านหลัง ในขณะที่ช้างนาฬาคีรีพุ่งมาสู่ที่เฉพาะพระพักตร์ พระพุทธองค์ทรงยืนสงบนิ่ง แผ่กระแสแห่งพระเมตตาออกจากดวงหฤทัยอันบริสุทธิ์พุ่งไปยังพระยาช้างผู้คุ้มคลั่ง . ด้วยน้ำพระทัยอันใสบริสุทธิ์นั้น ได้ชำแรกเข้าสู่ดวงใจของพระยาช้าง ทำให้ฤทธิ์สุรามึนเมาได้จางหายไป พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่พระยาช้างด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะนุ่มนวล "นาฬาคีรี เธอจงมีสติคืนมาเถิด" พระยาช้าง พลันสะดุ้งสะท้านเฮือก สติ สัมปชัญญะกลับคืนมา ค่อยๆมอบกราบลงแทบพระบาทมูลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า สายตาจับจ้องที่พระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า น้ำตาหลั่งไหลหยาดหยด ด้วยความสำนึกซาบซึ้งในพระคุณอันหาประมาณมิได้ หากว่าช้างนี้ได้ทำร้ายพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วไซร์ ความปรารถนาในพระโพธิญาณที่เป็นบารมีสั่งสมมานานเป็นอันต้องอันตรธานหายวับไปในทันที . พระอานนท์ที่สังเกตการณ์อยู่เบื้องหลังนั้น ได้เห็นเป็นอัศจรรย์ในพระพุทธานุภาพที่หาใดเสมอเหมือนมิได้ ถึงกับเอ่ยปากอุทาน "พระพุทธานุภาพ ช่างอัศจรรย์หนอ" อยู่ไม่ขาดปาก ฝ่ายพระเทวทัตที่เฝ้าดูอยู่แต่ไกลนั้นเล่า เมื่อเห็นเหตุการณ์กลับผิดคาดไปดังนั้น ก็ถึงแก่อาเจียนเป็นโลหิต พลันสำนึกได้ว่า แม้ธนูไม่มีชีวิต ยังรู้จักพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้พระยาช้างตัวดุร้ายตกมัน ก็ยังรู้จักพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราเป็นคนแท้ๆไฉนจึงไม่รู้ในพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าอันประเสริฐ ครานั้น พระเทวทัตก็ถึงกับสิ้นสติสมฤดีด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้ง . ดูเอาเถิด ท่านสาธุชนทั้งหลาย แม้พระอานนท์ผู้เป็นพระโสดาบัน ยังมีความรักตัวเองมิได้เทียบเท่ากับความรักในพระบรมศาสดาเลย แล้วบรรดาพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ล้วนทรงอภิญญา ๖ ท่านเหล่านั้น ล้วนเป็น เอหิ ภิกขุ อุปสัมปทา คือเป็นพุทธเวไนย ผู้ที่อันพระพุทธเจ้าเท่านั้นจักพึงบวชให้ และสำเร็จการบวชด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า "เอหิ ภิกขุ" แปลว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์ให้ปรากฏโดยชอบเถิด" . การที่พระพุทธองค์จะทรงประทาน "เอหิ ภิกขุ" แก่ผู้ใด หมายความว่า ผู้นั้นจักต้องสร้างบารมีมาเต็มเปี่ยมแล้ว และเคยให้ทานผ้าไตรจีวร ในสำนักพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง เมื่อเป็นภิกษุแล้ว จึงมีจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์มาสวมกายในทันที สำเร็จเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา แม้บวชใหม่ แต่มีศีลาจารวัตรอันหมดจดงดงาม มีสติสำรวมปานพระเถระมีพรรษาตั้ง ๑๐๐ ด้วยประการฉะนี้ . พระอรหันต์ทั้งนั้น ๑,๒๕๐ รูป ล้วนทรงอภิญญา ๖ เมื่อดิถีแห่งมาฆบุรณมีมาถึงแล้ว ต่างองค์ต่างมีจิตคิดใคร่จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ในที่เฉพาะพระพักตร์ ด้วยความรักและเทิดทูน ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาคุณ แม้พระอานนท์ผู้เป็นพระโสดาบัน ยังมีความรักในพระผู้มีพระภาคเจ้าเห็นปานนั้น จะกล่าวไปใยถึงพระอรหันต์ขีณาสวะเจ้าทั้งหลาย จะมิยิ่งมีความรักเทิดทูนในพระบรมศาสดายิ่งไปกว่าพระอานนท์อีกมากมาย . เมื่อต่างองค์ต่างเดินทางมาถึงพระเวฬุวันมหาวิหาร ในเวลาตะวันบ่าย ก็จึงเข้าสู่ในที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตนั่งสงบนิ่งเงียบอย่างสำรวม มิได้มีเสียงพูดคุย สนทนาปราศรัยใดๆ เป็นสังฆโสภณา คือความงดงามพร้อมพรั่งแห่งสงฆ์ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าสู่ที่ประชุม และประทับนั่งบนธรรมาสน์ในท่ามกลางสงฆ์ แม้จะมีภิกษุสงฆ์ประชุมกันอยู่ถึง ๑,๒๕๐ รูป แต่ในที่ประชุมนั้น กลับมิได้มีเสียงใดๆปรากฏ ยังคงสภาพสงบ นิ่งเงียบสงัด ปานประหนึ่งเป็นสถานที่ว่างเปล่า ปราศจากสิ่งมีชีวิตใดๆ ฉะนั้น . นี่คือ ความมหัศจรรย์ของการที่ พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ทรงอภิญญา ๖ ล้วนเป็นเอหิ ภิกขุ อุปสัมปทา ได้มาประชุมพร้อมกันในที่เฉพาะพระพักตร์ โดยมิได้นัดหมาย ไม่มีใครอาราธนาให้มา ต่างมากันเองด้วยดวงใจรักเทิดทูนในพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นมหาสังฆสันนิบาตอันงดงาม เช่นนี้ ย่อมปรากฏมีเพียงครั้งเดียว ในสมัยของพระโคดมพุทธเจ้าของพวกเรา เนื่องจากพระองค์มาอุบัติในช่วงที่มนุษย์มีอายุขัยต่ำสุด คือ ๑๐๐ ปี เพราะช่วงอายุขัยของมนุษย์ที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จมาอุบัติตรัสรู้ธรรมได้นั้น ต่ำสุด คือ ๑๐๐ ปี และสูงสุดไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ ปี ดังเช่น พระศรีอริยเมตไตรย มีอายุขัย ถึง ๘๐,๐๐๐ ปี มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ เช่นนี้มากกว่า ๑ ครั้ง . และในวาระดิถีที่ ๑๕ นี้ พระผู้มีพระภาคทรงกระทำวิสุทธอุโบสถ คือการแสดงพระปาติโมกข์ในท่ามกลางสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ ที่ล้วนเป็นพระอรหันต์ ซึ่งจะมีได้ก็เฉพาะในมหาสังฆสันนิบาตเช่นนี้เท่านั้น พระศาสดาทรงแสดงพระปาติโมกข์เอง และทรังตรัสโอวาทปาติโมกข์ อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนามาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งในสมัยปัจจุบัน ในวันมาฆบูชานี้ พระสงฆ์ทั่วประเทศก็จะกระทำสังฆอุโบสถ แสดงพระปาติโมกข์ เช่นเดียวกับครั้งพุทธกาล เมื่อจบแล้ว ก็จะมีการสวดท้ายปาติโมกข์ด้วยคาถาโอวาทปาติโมกข์ มีใจความดังต่อไปนี้ :- . ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโตฯ . ขันติ คือความอดทน เป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมกล่าวพระนิพพานว่า เป็นเยี่ยม ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ . สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง กุสะลัสสูปะสัมปะทา สะจิตตะปะริโยทะปะนัง เอตัง พุทธานะสาสะนังฯ . การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑ การบำเพ็ญแต่ความดี ๑ การทำจิตของตนให้ผ่องใสและบริสุทธิ์ ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย . อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต ปาติโมกเข จะ สังวะโร มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสสะมิง ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง อะธิจิตเต จะ อาโยโค เอตัง พุทธานะ สาสะนังฯ . การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในปาติโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑ ที่นั่งนอนอันสงัด ๑ ความเพียรในอธิจิต ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย . ดังนั้น ในโอกาสอันเป็นมหามงคลสมัย วันมาฆบูชา เวียนมาบรรจบครบ ท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน จงอย่าได้พลาดโอกาสอันดีงาม ต่างมีมือถูกดอกไม้ ธูป เทียน ของหอม และภัตตาหารหวานคาว ไปสู่อารามที่ตนเลื่อมใสศรัทธา เพื่อกระทำอามิสบูชา ทำบุญตักบาตรในยามเช้า จากนั้น ก็สมาทาน ศีล ๕ หรือ ศีลอุโบสถ ตามกำลังความสามารถของตน เป็นปฏิบัติบูชา เสร็จภารกิจแล้ว ก็นั่งสมาธิ เดินจงกรมภาวนาเป็นปฏิบัติบูชาอันยิ่งๆขึ้นไป ตกเย็นก็มีการทำวัตรค่ำ และสวดมนต์ ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนาน และปิดท้ายด้วยการสวดโอวาทปาติโมกข์ พระเถระผู้ทรงพรรษายุกาล ก็จักแสดงธรรมเพื่อให้เกิดความอาจหาญ ให้รื่นเริงในสัมมาปฏิบัติสืบตลอดไป เอวัง. . ------------------ . อภิญญา ๖ : อภิญญา แปลว่า “ความรู้ยิ่ง” หมายถึง ปัญญาความรู้ที่สูงเหนือกว่าปกติ เป็นความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นจากการอบรมจิต เจริญปัญญา หรือบำเพ็ญกรรมฐาน . ๑. อิทธิวิธิ หมายถึง แสดงฤทธิ์ได้ เช่น ล่องหนได้ เหาะได้ ดำดินได้ ๒. ทิพพโสต หมายถึง มีหูทิพย์ ๓. เจโตปริยญาณ หมายถึง กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้ ๔. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ หมายถึง ระลึกชาติได้ ๕. ทิพพจักขุ หมายถึง มีตาทิพย์ ๖. อาสวักขยญาณ หมายถึง รู้การทำอาสวะให้สิ้นไป | |
ผู้ตั้งกระทู้ Admin ![]() |