ReadyPlanet.com


เวลาในการปฏิบัติธรรมแต่ละวัน


โยมมีคำถามอยากถามว่าเวลาในการปฏิบัติธรรมนานเท่าไรในแต่ละวันถือจะพอดีตามแก่กำลัง จะวัดหรือแยกแยะอย่างไรคะ

 

ขอกราบขอบคุณหลวงพ่อล่วงหน้าเป็นอย่างสูงคะ

 

จิราภรณ์ 



ผู้ตั้งกระทู้ จิราภรณ์ :: วันที่ลงประกาศ 2022-03-26 21:48:01


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (4345018)

การปฏิบัติธรรม มี ๓ อย่าง คือ ๑.รักษาศีล  ๒.เจริญสมาธิ  ๓.อบรมปัญญา

๑.การรักษาศีลก็สามารถรักษาได้ตลอดไป ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติเอง ว่าจะมีกำลังใจแก่กล้าเพียงไหน ก็รักษาได้เพียงนั้น จะเป็นศีล ๕ หรือ ศีล ๘ ก็แล้วแต่ความสามารถของตัวเอง ต้องทดลองดูว่าจะทำได้แค่ไหน คนอื่นรู้ให้ไม่ได้ ข้อสำคัญคือ ต้องตั้งเจตนาว่าจะละเว้นไม่ทำผิดศีล แม้ตายก็ไม่ยอมทำผิดศีล ถ้าทำได้ก็ถือว่าพอดี

การเจริญสมาธิ ก็สามารถทำได้ตลอดเวลา ตราบเท่าที่เรามีสติระลึกพุทโธได้ หรือ ระลึกรู้ลมหายใจเข้าออก หรืออารมณ์กรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ก็สามารถระลึกพุทโธได้ตลอดเวลา ถ้าเราไม่เผลอสติ เรียกว่า ซ้อมรบ คือพยายามต่อสู้กับกิเลสไปเรื่อย ๆ ในแต่ละวัน เมื่อว่างจากภารกิจต่าง ๆ แล้ว ก็เข้าสู่บัลลังก์สมาธิ นั่งเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งตัวตรง ดำรงสติมั่น กำหนดคำบริกรรมพุทโธ หรือ ลมหายใจเข้าออก อย่างมีสติเอาจริงเอาจัง นี่เรืยกว่า รบจริง ส่วนจะทำได้ขนาดไหน ก็อยู่ที่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ของตัวเอง ว่าจะต่อสู้กับกิเลสไปได้นานแค่ไหน อย่าไปยอมแพ้กิเลสง่าย ๆ เอาจนมันจะตายจริง ๆ ค่อยยอม ถ้าเอาชนะกิเลสได้เป็นพัก ๆ ไป จนทำจิตให้สงบเป็นสมาธิได้ ก็เรียกว่า พอดี

การอบรมปัญญา ก็สามารถทำได้ตลอดเวลาเช่นกัน คือ การควบคุมความคิดของตัวเอง อย่าเผลอสติคิดไปในทางสั่งสมกิเลส ทำให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเพิ่มมากขึ้น อันนี้ถือเป็นสมุทัย เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด ต้องฝึกสติบังคับจิตให้คิดไปในทางที่จะถอดถอนกิเลส บั่นทอนความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้ลดน้อยถอยลง จึงเป็นปัญญา เรียกว่า มรรค เป็นเครื่องสังหารสมุทัย คือ ฝึกหัดพิจารณาให้รู้เท่ากาย เห็นกายตามความเป็นจริงว่าเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม มาประชุมรวมกัน เดี๋ยวมันก็แตกสลาย ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา ไม่มีอะไรเป็นความสวยความงาม ถ้านั่งไปนาน ๆ ก็จะมีทุกขเวทนาเกิด ก็พิจารณาเวทนา คือความสุข ความทุกข์ที่เกิดขึ้นทั้งภายในกาย และภายในใจ ให้พิจารณาด้วยสติปัญญา จนรู้เท่าและปล่อยวางได้ ใจเป็นเพียงสักแต่ว่ารู้ ส่วนทุกขเวทนาก็เป็นเพียงสักแต่ว่าความรู้สึกอันหนึ่งเกิดขึ้น เดี๋ยวมันก็ดับไป ไม่ไปสำคัญว่า มันเป็นทุกข์ ถ้าพิจารณาทุกข์ จนเอาชนะทุกข์ได้ ดับทุกข์ภายในใจได้ ก็เรียกว่า พอดี ถ้ายังดับทุกข์ในใจไม่ได้ ก็ยังไม่พอดี ต้องทำต่อไป ทำแบบเอาตายเข้าว่า นั่นแหละ จึงจะรู้ธรรมเห็นธรรม คือ ยอมสละชีวิตบูชาธรรมได้ นั่นเอง

ผู้แสดงความคิดเห็น พระวิทยา กิจฺจวิชฺโช วันที่ตอบ 2022-03-28 01:20:14


ความคิดเห็นที่ 2 (4345022)

 ขอบพระคุณมากคะ

 

จิราภรณ์

ผู้แสดงความคิดเห็น จิราภรณ์ วันที่ตอบ 2022-03-28 06:23:22



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล