ReadyPlanet.com
dot

dot
dot
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
bullet สมัครสมาชิก
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
ชมคลิปวีดีโอน่าสนใจ
ยังไม่มีสมาชิกที่ล็อกอินในขณะนี้
bulletบุคคลทั่วไป 20 คน
dot
dot

dot


ฟัง F.M. 103.25 MHz.
ชมทีวีช่องหลวงตา
ฟังวิทยุออนไลน์ วัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน
ชมคลิปวีดีโอน่าสนใจ
ขอเชิญสมัครสมาชิกอุปถัมภ์สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน วัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน
เข้าชม face book วัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน
เข้าชม twitter วัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน


พระมหาบุรุษสุดประเสริฐ article

                                        

 

๑. พระมหาบุรุษสุดประเสริฐ

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นมหาบุรุษสุดประเสริฐในแดนไตรโลกธาตุ พระองค์ทรงอุบัติในแคว้นสักกะ โดยมี พระพุทธบิดา คือ พระเจ้าสุทโธทนะ และ พระพุทธมารดา คือ พระนางสิริมหามายา

     พระโพธิสัตว์ปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระมารดา เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๘ ปีระกา ทรงอยู่ในพระครรภ์ของพระมารดาเป็นเวลา ๑๐ เดือน
 
     พระโพธิสัตว์ประสูติเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ อัญชันศักราช ๖๘ เวลา ๑๑.๐๐ น. ณ ลุมพินีวัน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ กับกรุงเทวทหะ แคว้นโกลิยะ
 
     วันอังคารแรม ๕ ค่ำ เดือน ๖ เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ ๕ วัน ประชุมพราหมณ์ ๑๐๘ คน ถวายพระนามพระโพธิสัตว์ว่า "สิทธัตถะ" มีความหมายว่า "ผู้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ"
 
     เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ ๗ วัน พระนางมหามายาเทวี พระมารดาสวรรคต พระนางปชาบดีโคตมี พระน้านางได้รับหน้าที่เป็นผู้เลี้ยงดูพระโพธิสัตว์ต่อมา
 
     เมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา ทรงได้พระโอรสองค์หนึ่ง พระนามว่า ราหุล หลังจากพระราหุลประสูติได้ ๑ วัน พระโพธิสัตว์ก็เสด็จออกบวช เมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ คืนเพ็ญเดือน ๘ ไปยังแม่น้ำอโนมา แล้วทรงถือเพศบรรพชิต ณ ฝั่งแม่น้ำอโนมา ในคืนวันนั้น
 
     ในวันที่ ๙ แห่งการบวช พระโพธิสัตว์เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์เป็นครั้งแรก พระโพธิสัตว์ ได้ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา อยู่ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เป็นเวลา ๖ ปี
 
     ครั้นวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา อัญชันศักราช ๑๐๓ เวลา ๐๕.๓๓ น. พระโพธิสัตว์ ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณอันทำให้พระองค์ได้พระนามว่า "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ซึงมีความหมายว่า "ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง"

 

๒. สหชาติของพระพุทธเจ้า

     สิ่งที่เกิดขึ้นวันเดียวกับการประสูติของพระสิทธัตถกุมาร คือ
 
     ๑.  พระนางยโสธรา พระชายาของเจ้าชายสิทธัตถะ
 
     ๒.  พระอานนท์ พุทธอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า
 
     ๓.  นายฉันนะ มหาดเล็กผู้ติดตามเจ้าชายสิทธัตถะในวันเสด็จออกบวช
 
     ๔.  กาฬุทายีอำมาตย์ ผู้ที่พระเจ้าสุทโธทนะ ส่งไปเชิญเสด็จพระพุทธเจ้า ให้เสด็จมาเยี่ยมกรุงกบิลพัสดุ์ และได้บวชเป็นภิกษุ แล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์
 
     ๕.  ม้ากัณฐกะ ที่เจ้าชายสิทธัตถะประทับเสด็จออกบวช
 
     ๖.  ต้นพระศรีมหาโพธิ์ คือต้นไม้ที่พระพุทธองค์ประทับตรัสรู้
 
     ๗.  ขุมทรัพย์ ๔ ขุม

 

๓. พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร?

     ตามคำสอนของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทั้งในอดีต ในอนาคต และปัจจุบัน ตรัสตู้เรื่องเดียวกัน คือ อริยสัจ ๔ ได้แก่
 
     เรื่องทุกข์ คือทรงพบว่าธรรมชาติของชีวิตประกอบด้วยทุกข์ประเภทต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย เรียกว่า ทุกขอริยสัจ = ความจริงคือทุกข์
 
     เรื่องสาเหตุของทุกข์  คือทรงพบว่า ทุกข์แต่ละอย่างนั้น เนื่องมาจากสาเหตุ คือ ตัณหาประเภทต่างๆ เรียกว่า ทุกขสมุทัย = เหตุให้เกิดทุกข์
 
     เรื่องความดับทุกข์ คือทรงพบว่า ทุกข์นั้นดับได้ หรือแก้ไขได้ โดยการดับหรือขจัดตัณหาอันเป็นสาเหตุของมันเสีย เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ = ความจริงคือความดับทุกข์
 
     เรื่องหนทางให้ถึงความดับทุกข์ คือ ทรงพบว่า ความดับทุกข์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ก็โดยการปฏิบัติ หรือดำเนินตามแนวทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) หรือมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การมีวาจาชอบ การงานชอบ การเลี้ยงชีพชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจชอบ เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ = ความจริงคือหนทางให้ถึงความดับทุกข์
 
     อริยสัจ ๔ โดยใจความก็คือความจริงเรื่องทุกข์ และการดับทุกข์ของชีวิต หรือกล่าวในความหมายรวม ก็คือความจริงเรื่องชีวิตนั่นเอง
 
     จากการพบหรือเห็นความจริงของชีวิต ในอริยสัจ ๔ ดังกล่าว ทำให้พระพุทธองค์ทรงพบความจริงอีกอย่างหนึ่งคือ ความที่ทุกสิ่งล้วนอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้นและดับไป พระพุทธองค์ทรงเรียกกระบวนการหรือความจริงอันนี้ว่า ปฏิจจสมุปบาท = การอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น
 
     กระบวนการของปฏิจจสมุปบาทนั้น กล่าวโดยใจความ ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล ทั้งวัตถุและชีวิตรวม ทั้งธรรมชาติที่เป็นนามธรรมล้วน เป็นไปตามกฎแห่งเหตุและผล
 
     การตรัสรู้ หรือการค้นพบหลักอรัยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า จึงเป็นการค้นพบความจริงของโลกและชีวิตว่า โลกและชีวิตทั้งปวงเป็นไป ตามกฏแห่งความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล ไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และเสื่อมสิ้นไปโดยปราศจากเหตุผล

 

๔. ต้นไม้ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

     พระพุทธศาสนาเชื่อว่า พระพุทธเจ้าได้เคยมีมาแล้วในอดีตหลายพระองค์ แต่ละพระองค์ตรัสรู้ภายใต้ต้นไม้ต่างๆกัน แต่ต้นไม้ทุกชนิดที่เป็นที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ เรียกว่า "พระศรีมหาโพธิ์"  ซึ่งมีความหมายว่า "ต้นไม้ที่ตรัสรู้" ในอดีตได้มีพระพุทธเจ้ามาแล้ว ๒๔ พระองค์ รวมทั้งพระโคตมพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน เป็นพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์  พระศรีมหาโพธิ์ของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ดังนี้
 
     ๑.  พระทีปังกรพุทธเจ้า                    ต้นมะขวิด
     ๒.  พระโกณฑัญญพุทธเจ้า              ต้นขานาง
     ๓.  พระมังคลพุทธเจ้า                      ต้นกากะทิง
     ๔.  พระสุมนพุทธเจ้า                        ต้นกากะทิง
     ๕.  พระเรวตพุทธเจ้า                        ต้นกากะทิง
     ๖.  พระโสภิตพุทธเจ้า                       ต้นกากะทิง
     ๗.  พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า               ต้นกุ่ม
     ๘.  พระปทุมพุทธเจ้า                       ต้นอ้อยช้าง
     ๙.  พระนารทพุทธเจ้า                      ต้นอ้อยช้าง
     ๑๐. พระปทุมุตตรพุทธเจ้า                 ต้นสาละ
     ๑๑. พระสุเมธพุทธเจ้า                      ต้นกะทุ่ม
     ๑๒. พระสุชาตพุทธเจ้า                     ต้นไผ่
     ๑๓. พระปิยทัสสีพุทธเจ้า                  ต้นกุ่ม
     ๑๔. พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า                ต้นจำปา
     ๑๕. พระธัมมทัสสีพุทธเจ้า                ต้นมะพลับ
     ๑๖. พระสิทธัตถพุทธเจ้า                  ต้นกรรณิกา
     ๑๗. พระติสสพุทธเจ้า                      ตันประดู่
     ๑๘. พะปุสสพุทธเจ้า                        ต้นมะขามป้อม
     ๑๙. พระวิปัสสีพุทธเจ้า                     ต้นแคฝอย
     ๒๐. พระสิขีพุทธเจ้า                         ต้นกุ่มบก
     ๒๑. พระเวสสภูพุทธเจ้า                    ตันสาละ
     ๒๒. พระกกุสันธพุทธเจ้า                   ต้นซึก
     ๒๓. พระโกนาคมนพุทธเจ้า               ต้นมะเดื่อ
     ๒๔. พระกัสสปพุทธเจ้า                     ต้นไทร
     ๒๕. พระโคตมพุทธเจ้า                     ต้นโพธิ์

 

๕. ที่ประทับจำพรรษาของพระพุทธเจ้า

     พรรษาที่ ๑            ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
     พรรษาที่ ๒            เวฬุวนาราม กรุงราชคฤห์
     พรรษาที่ ๓            เวฬุวนาราม กรุงราชคฤห์
     พรรษาที่ ๔            เวฬุวนาราม กรุงราชคฤห์
     พรรษาที่ ๕            ป่ามหาวัน กรุงเวสาลี
     พรรษาที่ ๖            มกุลบรรพต ใกล้กรุงโกสัมพี
     พรรษาที่ ๗            ดาวดึงส์เทวโลก
     พรรษาที่ ๘            เภสกลาวัน ใกล้เมืองสุงสุมาระคีระ
     พรรษาที่ ๙            โฆสิตาราม กรุงโกสัมพี
     พรรษาที่ ๑๐           รักขิตวัน ป่าปาลิเรยยกะ
     พรรษาที่ ๑๑           ทักขิณาคิริวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์
     พรรษาที่ ๑๒           เมืองเวรัญชา
     พรรษาที่ ๑๓           จาลิกบรรพต เมืองจาลิกา
     พรรษาที่ ๑๔           เชตวนาราม กรุงสาวัตถี
     พรรษาที่ ๑๕           นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์
     พรรษาที่ ๑๖           เมืองอาฬวี
     พรรษาที่ ๑๗           กรุงราชคฤห์
     พรรษาที่ ๑๘           จาลิยบรรพต ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์
     พรรษาที่ ๑๙           จาลิยบรรพต ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ 
     พรรษาที่ ๒๐           เวฬุวนาราม กรุงราชคฤห์
     พรรษาที่ ๒๑ - ๔๔  กรุงสาวัตถี โดยประทับสลับกันไปมาระหว่างเชตวนาราม กับ ปุพพาราม
     พรรษาที่ ๔๕          บ้านเวฬุวคาม ใกล้กรุงเวสาลี

 

๖. ความเหมือน ความต่างกัน ของพระพุทธเจ้า

     พระพุทธศาสนาสอนว่า พระพุทธเจ้ามีหลายพระองค์ คือในอดีตกาลนานไกลก็เคยมีพระพุทธเจ้ามาแล้วหลายพระองค์ ในอนาคตกาลก็จักมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นอีก พระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น มีทั้งความเหมือนกัน และความต่างกัน กล่าวคือ
 
     พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เหมือนกันในเรื่องคุณธรรมที่ทรงบรรลุ คือ พระสัพพัญญุตญาณ พระทศพลญาณ และโทษที่ทรงละได้
 
     พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ต่างกันในเรื่องเหล่านี้คือ กาล, อายุ, ประมาณ, การบวช, ความเพียร, ที่ตรัสรู้, พระรัศมี,
 
     พระพุทธเจ้าจะทรงอุบัติขึ้นในเวลาที่มนุษย์มีอายุอย่างต่ำ ๑๐๐ ปี อย่างสูง ๑๐๐,๐๐๐ ปี
 
     พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์จะทรงบำเพ็ญเพียรอย่างต่ำ ๔ อสงไขยแสนกัปป์ อย่างสูง ๑๖ อสงไขยแสนกัปป์
 
     พระพุทธเจ้าบางพระองค์อุบัติในตระกูลกษัตริย์ บางพระองค์อุบัติในตระกูลพราหมณ์
 
     พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ จะมีพระกายสูงอย่างต่ำ ๑๕-๑๘ ศอก อย่างสูงไม่เกิน ๘๘ ศอก
 
     พระพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จออกบวชด้วยช้างบ้าง ด้วยม้าบ้าง ด้วยรถบ้าง ด้วยวอบ้าง โดยทางอากาศบ้าง
 
     พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ทรงบำเพ็ญเพียร ๗ วันบ้าง กึ่งเดือนบ้าง หนึ่งเดือนบ้าง สองเดือนบ้าง สามเดือนบ้าง หนึ่งปีบ้าง สองปีบ้าง สามปีบ้าง สี่ปีบ้าง ห้าปีบ้าง หกปีบ้าง จึงตรัสรู้
 
     พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ตรัสรู้ใต้ต้นไม้ต่างๆกัน คือ ต้นโพธิ์บ้าง ต้นไทรบ้าง เป็นต้น
 
     พระพุทธเจ้าบางพระองค์มีพระรัศมีวาหนึ่ง บางพระองค์มีพระรัศมี ๘๐ ว่า บางพระองค์มีพระรัศมีไม่มีกำหนด แต่สามารถแผ่ไปได้ตามพระประสงค์

 

๗. พุทธกิจ ๔๕ พระพรรษา

พรรษาที่ ๑  ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน 
     -๗ สัปดาห์แรกของการตรัสรู้ ประทับเสวยวิมุติสุข ณ บริเวณโดยรอบพระศรีมหาโพธิ์
     -ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ครั้งแรก
     -แสดงปฐมเทศนาโปรดพระเบญจวัคคีย์ คือ ฤาษี ๕ รูป จนได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
     -ประทานอุปสมบทแก่พระยสะพร้อมด้วยสหายรวม ๕๕ รูป และทรงสั่งสอนจนได้บรรลธรรมเป็นพระอรหันต์
     -ได้อุบาสก อุบาสิกา ชุดแรกในพระพุทธศาสนา คือ บิดา มารดา และอดีตภรรยาของพระยสะ
     -ส่งพระสาวกไปประกาศเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก
     -เสด็จไปแสดงธรรมแก่ชฎิล ๓ พี่น้อง พร้อมด้วยบริวารรวม  ๑,๐๐๐ คน จนได้บบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
     -เสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารและรับถวายสวนไผ่ (เวฬุวัน) เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา เรียกว่า เวฬุวนาราม ณ กรุงราชคฤห์
     -ได้พระอัครสาวก คือ พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ
     -มีการประชุมสงฆ์ครั้งแรกในพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต ในวันมาฆปุณณมี คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งนับเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนาเรียกว่า วันมาฆบูชา
     -เสด็จเยี่ยมพระพุทธบิดา คือพระเจ้าสุทโธทนะ ณ กรุงกบิบพัสดุ์ครั้งแรก
     -ให้พระราหุลบรรพชาเป็นสามเณร นับเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา
     -ประทานอุปสมบทแก่เจ้าศากยะ ๖ รูป มีพระเทวทัต เป็นต้น
     -ทรงได้อุบาสกคนสำคัญในพระพุทธศาสนา คือ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้สร้างวัดเชตวนาราม ถวายเป็นวัดแห่งที่ ๒ ในพระพุทธศาสนา ณ กรุงสาวัตถี

พรรษาที่ ๒-๓-๔ กรุงราชคฤห์
    -ทรงรับถวายอารามิกะ คือคนทำงานให้วัด จากพระเจ้าพิมพิสาร
    -พระปิณโฑภารทวาชะ แสดงปาฏิหาริย์ให้ชาวบ้านดู เป็นเหตุให้ทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ภิกษุแสดงปาฏิหาริย์
    -พระพุทธองค์ทรงใช้พุทธานุภาพระงับโรคระบาด ณ กรุงเวสาลี
    -พระพุทธองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์ปลูกต้นมะม่วง เพื่อข่มการท้าทายของพวกเดียรถีย์
    -พวกเดียรถีย์จ้างนางจิญจมาณวิกาให้กล่าวหาพระพุทธองค์ว่า ทำให้นางตั้งครรภ์ เป็นเหตุให้นางจิญจมาณวิกาถูกแผ่นดินสูบ เป็นคนแรก
    -ทรงห้ามหมู่พระญาติฝ่ายศากยะ และฝ่ายโกลิกะ ที่จะทำสงครามแย่งน้ำกัน
    -รับถวายอัมพปาลีวัน จากทางอัมพปาลีเป็นวัดแห่งที่ ๓ ในพระพุทธศาสนา ณ เมืองนาทิกา

พรรษาที่ ๕ กรุงเวสาลี
    -เสด็จไปแสดงธรรมโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดาซึ่งประชวรหนัก จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และปรินิพพานในวันที่ ๗
    -พระมหาปชาบดีโคตมี ขออุปสมบทเป็นภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา และมีเจ้าหญิงศากยะขออุปสมบทตามจำนวนมาก

พรรษาที่ ๖ มกุลบรรพต ใกล้กรุงโกสัมพี
    -ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ เป็นครั้งที่ ๒

พรรษาที่ ๗ เทวโลกชั้นดาวดึงส์
    -ทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดาซึ่งอุบัติเป็นเทวดาในดาวดึงส์นั้น ตลอดพรรษา ๓ เดือน
    -เสด็จลงจากดาวดึงส์ ณ เมืองสังกัสสนคร อันเป็นที่มาของประเพณ๊ตักบาตรเทโว ซึ่งเป็นคำย่อมาจากคำว่า เทโวโลหนะ ที่แปลว่า การลงจากเทวโลก

พรรษาที่ ๘ ป่าเภสกลาวัน แคว้นภัคคะ
    -ทรงแสดงธรรมโปรดโพธิราชกุมาร ราชบุตรพระเจ้าอุเทน

พรรษาที่ ๙ โฆสิตาราม กรุงโกสัมพี
    -พระสงฆ์ชาวโกสัมพีแตกกัน เป็นเหตุให้พระพุทธองค์เสด็จหลีกออกไปจำพรรษาในป่าปาลิเลยยกะลำพังพระองค์เดียว

พรรษาที่ ๑๐ ป่าปาลิเลยยกะ
    -จำพรรษาในป่าลำพังพระองค์เดียว โดยมีช้างและลิงเป็นผู้ถวายอุปัฏฐาก (รับใช้)

พรรษาที่ ๑๑ ทักขิณาคิริวิหาร นอกกรุงราชคฤห์
    -โปรดให้พระอานนท์ตัดเย็บจีวรตามแบบคันนาของชาวมคธ ดังที่ภิกษุทั้งหลายใช้กันสืบมาจนทุกวันนี้
    -มีพุทธานุญาตให้ภิกษุมีผ้าเพียง ๓ ผืน คือ อันตรวาสก ผ้านุ่ง (สบง),  ผ้าห่ม (จีวร), สังฆาฏิ ผ้าทาบ ผ้าห่มกันหนาว (ปัจจุบันใช้พาดบ่า) รวมเรียกว่า ไตรจีวร

พรรษาที่ ๑๒ เมืองเวรัญชา
    -ทรงได้พระสาวกองค์สำคัญอีกรูปหนึ่ง คือ พระมหากัจจายนะ ซึ่งมีความเป็นเลิศในทางอธิบายธรรมให้พิสดาร

พรรษาที่ ๑๓ จาลิกพรรษา เมืองจาลิกา
    -ทรงแสดงธรรมโปรดพระเมฆิยะตลอดพรรษา

พรรษาที่ ๑๔ เชตวนาราม กรุงสาวัตถี
    -มีพระพุทธานุญาตให้คณะสงฆ์ ๕ รูป อุปสมบทกุลบุตรได้ในชนบทที่ห่างไกล ซึ่งหาพระยาก
    -พระราหุล อุปสมบทเป็นภิกษุ

พรรษาที่ ๑๕ นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์
    -เสด็จไปโปรดพระเจ้าสุปปพุทธะ พระบิดาของพระนางยโสธรา แต่พระเจ้าสุปปพุทธะกลับแสดงตนเป็นศัตรูต่อพระพุทธองค์ และถูกแผ่นดินสูบ เป็นคนที่ ๒

พรรษาที่ ๑๖ เมืองอาฬวี
    -ทรงบัญญัติวินัยเกี่ยวกับการก่อสร้าง ที่อยู่อาศัยของภิกษุ

พรรษาที่ ๑๗ กรุงราชคฤห์

พรรษาที่ ๑๘ - ๑๙ จาลิยบรรพต ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์

พรรษาที่ ๒๐ เวฬุวนาราม กรุงราชคฤห์
    -ทรงบัญญัติวินัยให้ภิกษุอยู่จำพรรษาในฤดูฝน ๓ เดือน
    -มีพระพุทธานุญาตให้ภิกษุประชุมกล่าวธรรม ในวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ เรียกว่า วันธรรมสวนะ (วันพระ)
    -ทรงตั้งพระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐาก ประจำพระองค์ตลอดไป
    -มีพระพุทธานุญาตให้ภิกษุรับถวาย จีวรจากชาวบ้านได้
    -ทรงบัญญัติวินัยข้อปาราชิก และสังฆาทิเสส เป็นครั้งแรก

พรรษาที่ ๒๑ - ๔๔ ประทับ ณ กรุงสาวัตถีระหว่าง ๒ พระอาราม คือเชตวนาราม และพุทธนาราม-ปุพพาราม
    -พรรษาที่ ๒๑ ทรงงดทำอุโบสถร่วมกับภิกษุ และมีพระพุทธานุญาต ให้ภิกษุสวดปาฏิโมกข์กันเองทุกวัน ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำของเดือน และทรงโปรดพระองคุลิมาลจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์
    -พรรษาที่ ๒๔ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ถึงแก่กรรมไปเกิดเป็นเทพบุตรชั้นดุสิต
    -พรรษาที่ ๓๗ พระเทวทัตเริ่มวางแผนทำร้ายพระพุทธเจ้า เพื่อตั้งตนเป็นศาสดาแทนพระพุทธองค์ และถูกแผ่นดินสูบเป็นคนที่  ๓

พรรษาที่ ๔๕ เวฬุวนาราม ใกล้กรุงเวสาลี
    -พระสารีบุตร ทูลลานิพพาน
    -พระโมคคัลลานะ ทูลลานิพพาน
    -โปรดให้พระอานนท์อุปสมบทพระสุภัททะ เป็นปัจฉิมสาวกที่ทันเห็นพระพุทธเจ้า
    -ประทานพระโอวาทแก่ภิกษุว่า "เมื่อพระองค์ล่วงไปแล้ว ธรรมวินัยจักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย"
    -ประทานปัจฉิมโอวาทว่า "พวกท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด  นี้เป็นปัจฉิมวาจาของตถาคต"
    -เสด็จปรินิพพาน เมื่อวันอังคารขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง อัญชันศักราช ๑๔๗ เวลา ๐๕.๕๐ น. ณ ป่าไม้สาละ ใกล้กรุงกุสินารา

 

๘. พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า

    เมื่อถวายพระเพลิงพุทธสรีระแล้ว พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า แบ่งเป็น ๘ ส่วน และอัญเชิญไปประดิษฐานในที่ต่างๆดังนี้

   ส่วนที่หนึ่ง           ประดิษฐานไว้ ณ กรุงราชคฤห์
   ส่วนที่สอง           ประดิษฐานไว้ ณ กรุงเวสาลี
   ส่วนที่สาม           ประดิษฐานไว้ ณ กรุงกบิลพัสดุ์
   ส่วนที่สี่               ประดิษฐานไว้ ณ กรุงอัลลกัปปะ
   ส่วนที่ห้า             ประดิษฐานไว้ ณ รามคาม กรุงเทวทหะ
   ส่วนที่หก             ประดิษฐานไว้ ณ เมืองเวฏฐทีปะ
   ส่วนที่เจ็ด            ประดิษฐานไว้ ณ เมืองปาวา
   ส่วนที่แปด           ประดิษฐานไว้ ณ กรุงกุสินารา

ส่วนพระอังคาร (เถ้า)  กษัตริย์แห่งแคว้นโมลิยะอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ เมืองปิปผลิวัน

พระพุทธองค์
  
ประสูติ     เวลา ๑๑.๐๐ น.  วันศุกร์เพ็ญเดือนหก       ปีจอ       ศักราช  ๖๘
   ตรัสรู้       เวลา ๕.๓๓  น.  วันพุธเพ็ญเดือนหก         ปีระกา    ศักราช ๑๐๓
   นิพพาน   เวลา ๕.๕๐  น.   วันอังคารเพ็ญเดือนหก   ปีมะเส็ง  ศักราช  ๑๔๗

   (คำว่าศักราช คือ อัญชันศักราช ที่ใช้กันอยู่ในครั้งนั้น)

 

ที่มา : ธรรมจักษุ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ปีที่ ๙๐ ฉบับที่ ๘

 



จอมศาสดาเอกของโลก

พุทธประวัติ ๑.ทูลเชิญสันดุสิตเทวราชโพธิสัตว์จุติ article
พุทธประวัติ ๒.อสิตดาบสเข้าเฝ้าเยี่ยม article
พุทธประวัติ ๓.พระมหาบุรุษเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา
พุทธประวัติ ๔.นางสุชาดากวนข้าวมธุปายาส
พุทธประวัติ ๕.พระพุทธเจ้าเมื่อเสวยวิมุติสุขอยู่ใต้ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก)
พุทธประวัติ ๖.พระยสกุลบุตรออกบวช
พุทธประวัติ ๗.เจ้าชายนันทะเสด็จละจากเจ้าสาวไปตามเสด็จพระพุทธเจ้า
พุทธประวัติ ๘.พระยมกปาฏิหารย์
พุทธประวัติ ๙.พระราหุลออกบวช
พุทธประวัติ ๑๐.พระโมคคัลลานะปรินิพพาน
พุทธประวัติ ๑๑.พระมหากัสสปเถระทราบข่าวพุทธปรินิพพาน