ReadyPlanet.com
dot

dot
dot
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
bullet สมัครสมาชิก
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
ชมคลิปวีดีโอน่าสนใจ
ยังไม่มีสมาชิกที่ล็อกอินในขณะนี้
bulletบุคคลทั่วไป 12 คน
dot
dot

dot


ฟัง F.M. 103.25 MHz.
ชมทีวีช่องหลวงตา
ฟังวิทยุออนไลน์ วัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน
ชมคลิปวีดีโอน่าสนใจ
เข้าชม face book วัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน


อุบายแก้หนาว

 อุบายแก้หนาว

หน้าหนาวแล้ว มาฝึกทำใจสู้หนาวกันเถอะ คือทำให้มันหนาวแต่กาย ส่วนใจอย่าให้มันหนาว จะทำได้ไหม?
.
อ๋อ! ได้สิ! แต่มันก็ยากเอาการเหมือนกันนะ ถ้าใครตั้งใจฝึกบ่อย ๆ ก็อาจจะทำได้ แต่ถึงทำไม่ได้ ก็ยังพอที่จะรู้แนวทาง อาจผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ก็ดีกว่าคนที่ไม่รู้อะไรเลย ที่นอกจากจะแก้ทุกข์ไม่ตกแล้ว ยังอาจเพิ่มทุกข์ให้กับตัวเองโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ใครอยากรู้ก็ติดตามต่อไป
.
ไม่ใช่เพียงแค่สู้กับความหนาว แต่มันถึงขั้นฟาดกิเลสวิ่งหางจุกตูดได้เลยทีเดียวก็แล้วกัน พอดีตอนนี้อากาศมันหนาว ๆ ก็ยกเอาความหนาวมาเป็นบทเรียน เอามาใช้สู้กับความหนาวไปก่อน ถ้าใครรู้สึกว่าใจเป็นทุกข์ จะทุกข์เพราะความหนาว หรือทุกข์เพราะอะไรก็แล้วแต่ ก็มียาแก้ทุกข์อยู่ในบทความนี้ ถ้าใครใจไม่มีทุกข์ ก็ข้ามไปได้เลย ไม่ต้องสนใจอ่านให้เสียเวลา
.
ลำพังหนาวกายมันก็ไม่เท่าไรนักหรอก เอาผ้าห่มมาห่ม เอาลมร้อนมาเป่า เดี๋ยวมันก็หายหนาว แต่ถ้าหนาวใจล่ะ จะทำอย่างไร? ไปอยู่ที่ไหนก็หนีหนาวไม่พ้น เพราะผ้าห่มก็ห่มใจไม่ได้ ลมร้อนมันก็เป่าเข้าไปไม่ถึงใจ 
.
มีแต่ต้องเอาธรรมะเข้าไปขย่ม เอ๊ย! ไม่ใช่ เอาธรรมะเข้าไปข่มใจ อบรมใจโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ถ้าแก้หนาวใจผิดวิธี ก็อาจส่งผลต่อร่างกายให้เจ็บป่วยเป็นอย่างน้อย อย่างมากก็อาจถึงขั้นตายได้ หรืออาจคิดทำอะไรผิด ๆ ได้
.
บทความนี้ไม่ใช่บทความอ่านเล่น ๆ ผู้อ่านต้องตั้งสติ และใช้ปัญญาคิดตามไปด้วยสุดแรงเกิด เพราะผู้เขียนก็ใช้สติปัญญาในการเขียนอย่างสุดแรงเกิดเหมือนกัน ไม่ได้นั่งเทียนเขียน กว่าจะเรียบเรียงเขียนมาเพื่อให้อ่านเข้าใจได้ง่าย ๆ ก็แทบจะหืดขึ้นคอ ถึงกระนั้นก็ยังไม่แน่ใจว่า จะทำให้ใครเข้าใจได้แค่ไหน? มันขึ้นอยู่กับภูมิธรรมของผู้อ่านด้วย
.
วิธีการก็คือ เมื่อเผชิญกับความทุกข์ จะทุกข์เพราะอะไรก็แล้วแต่ ในที่นี้ยกความหนาวมาเป็นกรณีศึกษา ต้องฝึกสติบังคับใจให้ได้ ก่อนอื่น อย่าให้ใจคิดอะไรผิด ๆ ถ้าใจคิดผิดเสียแล้วจะทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย ความผิดมันก็จะหมักหมมอยู่ที่ใจ และทำให้ใจเราเศร้าหมองหนักยิ่งขึ้นเป็นอย่างน้อย มากไปกว่านั้น ถ้าใจคิดผิดหนัก ๆ บ่อย ๆ เข้า ก็เป็นเหตุทำให้ใจเกิดมิจฉาทิฏฐิ เกิดการกระทำที่ผิด เกิดการพูดที่ผิด ๆ ตาม ๆ กันไปด้วย และผลที่ตามมาก็คือ ทำให้ใจเป็นมิจฉาทิฏฐิต้องตกเป็นทาสของกิเลสตลอดไป เป็นเหตุให้พอร่างกายแตกดับแล้ว ใจดวงนั้นก็ไปสู่ทุคติอบายภูมิได้ในที่สุด
.
ปกติคนเรานั้น ไม่ค่อยมีใครจะรู้หรอกว่า ขณะใดที่ใจเราคิดผิด แต่ถ้าขณะใดที่เรารู้ว่า ใจเราคิดผิด ขณะนั้นนั่นแหละ เราก็คิดถูกขึ้นมาทันที พูดอย่างนี้ งงหรือเปล่า? บางคนก็ว่า งงดิ ๆ อ้าว! ก็ถ้าสติปัญญามันเกิดขึ้น ก็ต้องมารู้ความคิดผิดเห็นผิดของใจนั่นเอง จึงจะทำให้ใจของเราเกิดความฉลาดเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นความรู้ถูกเห็นถูกขึ้นมาได้ ความรู้ผิดเห็นผิดมันก็หมดสภาพไปเอง จะมามีอิทธิพลเหนือใจเราอีกต่อไปไม่ได้
.
เอ้า! พูดใหม่ให้เข้าใจง่าย ๆ ก็ได้ว่า คนฉลาดก็คือ คนที่มารู้ว่าตัวเองโง่นั่นแหละ ส่วนคนที่โง่นั้น นอกจากจะไม่รู้ว่าตัวเองโง่แล้ว ยังคิดผิดว่า ตัวเองฉลาดอีกต่างหาก เลยได้แจ็คพ็อตกลายเป็นดับเบิ้ลโง่ เข้าใจหรือยัง!!
.
พูดติดตลกบ้างนะ เพราะเรื่องนี้มันเครียด ทำใจให้เป็นกลาง ๆ แต่ควรทราบว่า สติปัญญา มันไม่อาจเกิดขึ้นได้เอง ต้องอาศัยหมั่นศึกษาอบรมธรรม หมั่นฝึกหัดปฏิบัติธรรม ขัดเกลาจิตใจไปทีละน้อย สติปัญญาจึงจะเกิดขึ้นได้
.
การฝึกจิตฝึกใจให้เห็นถูกเห็นชอบในทุกกรณี จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้มุ่งหวังความเจริญในธรรม จะต้องทำความขวนขวายให้มาก ๆ หรือใครจะทำความขวนขวายน้อย ๆ ก็ตามใจ ธรรมท่านไม่ได้บังคับ เพราะจะดีจะชั่ว ก็ถือเป็นเรื่องเฉพาะตัว บุคคลจะยังคนอื่นให้ดีหรือชั่วหาได้ไม่
.
อยากดีก็ต้องทำดีเอง อยากชั่วก็ต้องทำชั่วเอง ทำแล้วต่างคนต่างก็ได้รับผลของกรรมดีกรรมชั่วนั้นเอง จะให้คนอื่นไปรับผลแทนหาได้ไม่ ไม่เหมือนการงานทางโลก ที่ใช้ให้คนหนึ่งไปทำแทนได้ แล้วให้อีกคนหนึ่งไปรับผลแทนก็ย่อมได้
.
มาว่ากันถึงเรื่องที่จะทำใจสู้หนาวกันต่อไป ที่จริงก็ไม่ใช่สู้แค่หนาวหรอกนะ ถ้าเข้าใจอันนี้อันเดียว มันก็สู้ความทุกข์ยากลำบากได้ทุกเรื่อง เพราะมันเป็นความสำคัญผิดของใจเหมือน ๆ กัน แต่ก่อนจะสู้กับทุกข์จากเรื่องใดก็ตาม จำต้องศึกษาให้เข้าใจถึงสาเหตุของมันก่อนว่า ความทุกข์ใจ ความไม่สบายใจทั้งปวง มันเกิดขึ้นเพราะเหตุอะไร?
.
ถ้าจะสู้กับความหนาว ก็ต้องศึกษาให้รู้ว่า ความหนาวมันคืออะไร? มันเกิดขึ้นจากไหน? และอะไรมาเป็นเหตุทำให้ใจเราเป็นทุกข์?
.
ความหนาวก็คือ อากาศที่มากระทบผิวกาย ก่อให้เกิดความรู้สึกอันหนึ่งขึ้นที่กาย แล้วใจเราก็รับทราบความรู้สึกอันนั้น พร้อมทั้งจดจำเอาไว้ เป็นความรู้สึกทางกายล้วน ๆ ไม่มีชื่อเรียก นี้เป็นอันที่หนึ่ง
.
จากนั้นใจก็คิดปรุงแต่งสมมติชื่อให้กับความรู้สึกที่เกิดขึ้นที่ผิวกายนั้นว่า หนาว แล้วจดจำคำพูดสมมติที่ว่า หนาว นี้ ทับซ้อนลงไปบนความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้นตอนแรก กลายเป็นความรู้สึกทางผิวกาย บวกกับคำพูดสมมติใหม่ว่า หนาว เกิดเป็นความรู้สึกว่าหนาวขึ้นมาใหม่ นี้เป็นอันที่สอง
.
แต่ก่อนที่ใจจะสมมติชื่อว่า หนาวใส่ลงไปได้นั้น ใจต้องเข้าใจความหมายของคำว่า หนาว เสียก่อน การที่ใจจะรู้จักความหมายของสมมติ คือคำว่า หนาว ได้ ใจจะต้องรู้จักความรู้สึกอีกชนิดหนึ่งที่เป็นตรงกันข้ามมาเป็นเครื่องเปรียบเทียบ อุปมาเช่น คนที่เคยอยู่แต่ในห้องแอร์เย็น ๆ มาตั้งแต่เกิด เขาจะมีความรู้สึกอยู่อันเดียวคือ มันหนาวเย็น ใจจะยังสมมติชื่อเรียกไม่ได้ ถึงแม้จะอยู่กับความรู้สึกที่หนาวเย็น แต่ใจก็รับทราบเป็นเพียงความรู้สึกอันหนึ่ง ยังไม่มีสมมติเป็นคำพูดเรียกขาน
.
ต่อเมื่อใดที่เขาออกจากห้องเย็นนั้นมาสัมผัสกับความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งที่เป็นตรงกันข้ามกับความรู้สึกเดิม ความหมายของสมมติจึงเกิดขึ้น ใจจึงเข้าใจและรับทราบความหมายของสมมติ คือความรู้สึกที่อยู่ในห้องนั้น เรียกว่า หนาว ความรู้สึกที่อยู่นอกห้องนี้ เรียกว่า ร้อน นี่จึงเป็นความหมายของสมมติเกิดขึ้นที่ใจ แล้วใจก็จดจำความหมายของคำว่า หนาว คำว่า ร้อน นี้ไว้เป็นคู่กัน นี่เป็นอันที่สาม
.
นี่คือต้นเหตุของการเกิดภาษาสมมติทั้งปวงโดยหลักธรรมชาติ เพราะโลกนี้มันเป็นธรรมชาติคู่ คือมีของคู่กัน และหักล้างกันเอง เช่น มีสุขก็มีทุกข์ มีดำก็มีขาว มีร้อนก็มีเย็น มีหญิงก็มีชาย มีสวยก็มีไม่สวย มีมืดก็มีสว่าง มีเป็นก็มีตาย ดังนี้เป็นต้น
.
เมื่อมีหลายสิ่งที่แตกต่างกันมาเปรียบเทียบกัน มันจึงเกิดเป็นความหมายของสมมติขึ้นมา แล้วแต่ว่า ใครจะสมมติไปแบบใด ของสิ่งเดียวกัน ก็ยังสมมติเรียกไม่เหมือนกัน เช่น ผู้หญิง คนไทยก็เรียกอย่างหนึ่ง ฝรั่งก็เรียกอย่างหนึ่ง จีนก็เรียกอย่างหนึ่ง แขกก็เรียกไปอีกอย่างหนึ่ง จึงเกิดเป็นภาษาสมมติขึ้นอย่างมากมายในโลกนี้ แต่ละภาษาก็สามารถแปลให้เข้าใจตรงกันได้ เพราะมีสิ่งที่ยืนตัวรับสมมติอันเดียวกัน
.
ทีนี้ ปัญหาก็คือ เมื่อใจคิดปรุงแต่งสมมติขึ้นมาเพื่อใช้พูดจาติดต่อสื่อสารให้เข้าใจความหมายตรงกันแล้ว ใจก็เกิดความหลงไปตามความหมายของภาษาสมมตินี้เองเป็นไปโดยหลักธรรมชาติ คนทั้งโลกก็หลงไปตามความหมายของภาษาสมมติของตนเองเหมือนกันหมดทั้งโลก ถ้าไม่หลงก็จะไม่สามารถใช้ภาษาสมมติเพื่อพูดจาสื่อสารกับคนอื่นให้เข้าใจได้ จำต้องหลงไปเสียก่อน จากนั้นจึงมาทำความศึกษาเพื่อแก้ความหลงกันเอาเอง หรือใครจะไม่แก้ก็ไม่เป็นไร ก็หลงสมมติไปเรื่อย ๆ จนวันตาย ตายแล้วก็มาเกิดใหม่ ก็มาหลงสมมติกันใหม่อยู่อย่างนี้
.
ก็เพราะความหลงภาษาสมมตินี้แล มันจึงก่อให้เกิด สังขาร ความคิดปรุงผิด ๆ เกิดเป็นความเห็นผิด เกิดเป็นความรู้ผิด ๆ ก่อให้เกิด ตัณหา ความทะยานอยาก เป็นความโลภ ความโกรธ ตามมาติด ๆ ทำให้เกิดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นผิด ๆ เป็นเหตุให้เกิดการกระทำที่ผิด คำพูดที่ผิด เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งทางกาย และทุกข์ทางใจ ตามมาอีกอย่างมากมาย
.
ดังนั้น ใจคนเราทุกคน จึงมีตัณหาคือความอยาก มีอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นอยู่ในสิ่งที่ตนเองชอบ และไม่ชอบ อย่างไม่รู้ตัว พออากาศที่สมมติว่า เป็นความหนาวมากระทบผิวกาย คนที่ไม่ชอบก็ต้องเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน เลยกลายเป็นต้นเหตุของความทุกข์เพราะความหนาว เกิดความไม่อยากได้ขึ้นมาที่ใจ เมื่อต้องมาประสบกับสิ่งที่ตนเองไม่อยากได้ ใจก็เป็นทุกข์ อันนี้จึงเป็นต้นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ใจที่แท้จริง คือความไม่อยากได้นี่เอง หรือความอยากให้ไม่ได้ หาใช่อากาศหนาวทางภายนอกมาทำให้ใจเป็นทุกข์ไม่ ดังนั้น หากเราเข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของมัน ก็ทำใจให้ยอมรับความจริงที่เป็นธรรมชาติ แล้วทำลายความอยากของใจเสีย ทุกข์ใจก็ดับไปเอง
.
ต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า อากาศมันจะหนาว หรือร้อน หรือฝนตก ก็เป็นธรรมชาติธรรมดาของมัน ร่างกายของคนเรา มันก็ทำหน้าที่สัมผัสรับทราบไปตามธรรมชาติของมันเช่นกัน มันแค่เป็นทางผ่านของสิ่งต่าง ๆ ที่มาเกี่ยวข้อง ในธรรมท่านเรียกว่า อายตนะภายใน กับอายตนะภายนอก มันมากระทบกัน มันไม่ได้ก่อทุกข์สร้างโทษให้แก่ผู้ใด มันหากเป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น ใจเรานี้ต่างหากไปเพ่งโทษหาเรื่องใส่เขา
.
เช่น รูปมากระทบตา เสียงมากระทบหู กลิ่นมากระทบจมูก รสมากระทบลิ้น เย็นร้อนอ่อนแข็งมากระทบผิวกาย แล้วเข้าไปเป็นธัมมารมณ์กระทบใจ จึงทำให้ใจสามารถรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ได้ตามที่ร่างกายมันรายงานมา เราต้องทำความเข้าใจให้ได้ก่อนว่า กายมันเป็นทางผ่าน เป็นเครื่องรับความรู้สึกต่าง ๆ ให้ไหลเข้าไปสู่ใจ โดยผ่านทางเข้าที่เรียกว่า อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่แหละ ส่วนสิ่งที่มาเกี่ยวข้องกับกายทางภายนอกนั้น เรียกว่า อายตนะภายนอกก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันเป็นคู่กัน
.
อายตนะภายใน กับ อายตนะภายนอก นี้ มันมากระทบกัน วนเวียนกันเกิดแล้วดับอยู่ตลอดเวลา รูปมากระทบตาเกิดเป็นความรู้รูปขึ้นแล้วก็ดับไป เสียงมากระทบหูเกิดเป็นความรู้เสียงขึ้นแล้วก็ดับไป กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เช่นเดียวกัน มากระทบจมูก ลิ้น กาย เกิดเป็นความรู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะ ขึ้นแล้วก็ดับไป
.
สิ่งต่าง ๆ ที่มันมากระทบกาย มันก็เป็นวัตถุเป็นรูปธรรมที่อยู่ทางภายนอก ไม่มีสิ่งใดได้เข้าไปอยู่ภายในใจแม้แต่อันเดียว แต่ที่เข้าไปสัมผัสใจ เป็นเพียงนามธรรมคือ ความรู้อันหนึ่ง ที่เรียกว่าธรรมารมณ์ นี้ ต่างหาก ที่เกิดเป็นความรู้ขึ้นที่ใจ ทำให้ใจได้รับรู้ความรู้สึกต่าง ๆ ที่เป็นอายตนะภายนอก พอเกิดเป็นธรรมารมณ์ให้ใจรู้แล้ว มันก็ดับไปเช่นกัน นี่คือธรรมดาธรรมชาติของทุกสรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นอย่างนี้
.
แต่ใจเรานี้เอง ไปตั้งแง่หาความใส่เขา พอเกิดความรู้อะไรขึ้น ก็ไปว่าสิ่งนั้น ๆ รูปสวยบ้าง ไม่สวยบ้าง เสียงเพราะบ้าง ไม่เพราะบ้าง กลิ่นหอมบ้าง เหม็นบ้าง รสอร่อยบ้าง ไม่อร่อยบ้าง สัมผัสเย็นบ้าง ร้อนบ้าง ก็ตำหนิติชมไปต่าง ๆ นานา ทั้ง ๆ ที่ สิ่งต่าง ๆ เขาก็มีอยู่เป็นอยู่เหมือนเดิมของเขา แต่ใจไปเลือกชมเลือกติเอาเอง เลยเป็นเหตุให้เกิดความดีใจ เสียใจ รักบ้าง เกลียดบ้าง ตามมาอีกมากมาย
.
เพราะเหตุนั้น เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นปฐมเทศนา โปรดปัญจวัคคีย์ จึงทรงตรัสรับรองพระอัญญาโกณฑัญญะ ที่ได้ดวงตาเห็นธรรมว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแล้วต้องดับไปเป็นธรรมดา” นั่นคือ การที่ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล สำเร็จเป็นพระโสดาบันอริยบุคคลชั้นต้นในพระพุทธศาสนา สำเร็จเป็นปฐมสาวก เป็นสักขีพยานแห่งการตรัสรูอริยสัจสี่ของพระพุทธเจ้า ยังผลให้พระรัตนตรัยอุบัติครบถ้วนทั้งสามประการในครั้งนั้น
.
คำว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง นี้ คือ ท่านไม่สมมติว่า มันเป็นอะไรนั่นเอง ให้รับรู้เป็นเพียงสักแต่ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้น ถ้าสมมติชื่อใส่เข้าไปเมื่อไร มันก็จะเกิดเป็นความหลงสมมติขึ้นมาในทันที จากขบวนการที่เกิดสมมติขึ้นตามธรรมชาติของใจ ก็เพราะเหตุความหลงสมมตินี่เอง จึงเป็นเรื่องเป็นราวทำให้คนเราเกิดการคิดผิด ทำผิด พูดผิด เป็นเหตุให้ก่อเวรก่อกรรม สร้างภพสร้างชาติเวียนเกิดเวียนตาย อย่างไม่มีวันจบสิ้นอยู่จนทุกวันนี้
.
พูดให้ลึกลงไปอีกนิด ถึงขบวนการที่ทำให้หลงสมมติ ถ้าใครอยากรู้ก็ตั้งสติอ่าน และใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตามไป นี่ คือสาระแท้ ๆ ที่ธรรมท่านสอนไว้
.
ก็เพราะใจมันมีธรรมชาติอันหนึ่ง ที่เรียกว่า ความจำ ในธรรมท่านให้นามมันว่า สัญญาขันธ์ ซึ่งมันเป็นเหมือนหลุมฝังซากของอารมณ์ต่าง ๆ เก็บไว้ในความทรงจำอย่างมากมาย ไม่ต่างอะไรกับป่าช้าที่เต็มไปด้วยซากศพ ทั้งตายเก่าตายใหม่ จะอุปมาใจเราว่า มันเป็นเหมือนป่าช้าอารมณ์ ที่มีทั้งซากของอารมณ์เก่า และอารมณ์ใหม่ ฝังจมแออัดยัดเยียดกันอยู่อย่างเกลื่อนกล่นเต็มไปหมด ก็ไม่น่าจะผิด
.
ใช่แต่เท่านั้น ลำพังแต่เจ้าสัญญาขันธ์ คงไม่มีพิษสงร้ายแรงอะไรนัก แต่ใจมันยังมีธรรมชาติอีกอันหนึ่งที่เรียกว่า สังขารขันธ์ เป็นความคิดปรุงแต่งเรื่องราวต่าง ๆ มันสามารถขุดเอาเรื่องราว หรือซากของอารมณ์ ที่ถูกฝังไว้แม้นานแสนนาน มันก็ขุดเอามาคิด มาปรุง มาแต่ง มาอุ่น ขึ้นมากินใหม่ได้อย่างหน้าตาเฉย แถมเอร็ดอร่อยจนต้องสูดปากร้องซี๊ดซ๊าดกันเลยทีเดียว จะว่ามันเป็นพ่อครัวเอกฝีมือสะท้านโลก ก็คงจะไม่ผิด คือมันสามารถเอาอดีตที่ดับไปแล้วแม้นาน มาอุ่นกินใหม่ทำคนให้เป็นบ้าได้แบบสด ๆ ร้อน ๆ เลยทีเดียว หรือแม้อนาคตที่ยังไม่เกิด ก็เอามาสร้างภาพหลอกให้คนหลงละเมอเพ้อพกไปได้ต่าง ๆ นานา
.
ใช่แต่เท่านั้น ลำพังแต่เจ้าสังขารขันธ์อย่างเดียว ก็ยังไม่มีพิษสงอะไรร้ายแรงนัก แต่ใจมันยังมีธรรมชาติอีกอันหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวอันธพาลใหญ่คอยควบคุมบงการมันอยู่ ในธรรมท่านให้สมญานามมันว่า อวิชชา แปลว่า ความไม่รู้ จะว่าไม่รู้ก็ไม่เชิง มันก็รู้อยู่ แต่มันหากรู้ไม่จริง รู้ไม่รอบ รู้สะเปะสะปะไปเรื่อยเปื่อยเฉื่อยแฉะ
.
เพราะใจมันมีสมรรถนะที่สามารถจะรู้อะไร ๆ ได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ลำพังแต่ร่างกายเอง มันไม่มีความรู้อะไรในตัวมันเองเลย มันแค่เป็นทางผ่าน เป็นเครื่องรับความรู้สึกต่าง ๆ ถ้าตาบอด ก็ไม่สามารถเห็นรูปได้ ถ้าหูหนวกก็ไม่อาจได้ยินเสียงได้ ดังนี้ พอกายรับความรู้สึกแล้ว ก็ส่งต่อไปยังใจ เกิดเป็นความรู้ขึ้นที่ใจ เรียกว่า เป็นธัมมารมณ์ปรากฏขึ้นที่ใจ เช่น ความรู้รูป รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง รู้สุขรู้ทุกข์ รู้จดจำ รู้ความคิดปรุง เหล่านี้ เป็นธัมมารมณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นที่ใจ ถ้าใจออกจากกายเสียแล้ว กายนี้ก็กลายเป็นศพ ไม่รับรู้อะไรอีกเลย ไม่ต่างอะไรกับท่อนไม้ท่อนฟืน 
.
พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า ธรรมทั้งปวงเกิดขึ้นที่ใจ มีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นประธาน มีใจเป็นมหาเหตุใหญ่ ทุกเรื่องราวก็เกิดดับอยู่ที่ใจนี้เอง ดี ชั่ว ก็เกิดขึ้นที่ใจนี่ก่อน ถ้าไม่มีใจเสียแล้ว ธรรมทั้งปวงก็ไม่มีที่เกิด แต่เมื่อใจมีอวิชชาครอบงำอยู่ อวิชชาจึงใช้เจ้าสังขารขันธ์ เป็นตัวการคิดปรุงแต่งไปในทางที่จะเสริมให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ขึ้นที่ใจมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ จะเรียกว่า มันผลิตลูกหลานของมันเพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์ของมันไว้ ก็ไม่น่าจะผิด
.
ถ้าใจใด ไม่มีธรรมเป็นเครื่องต้านทานกันเสียแล้ว ใจนั้น ก็จะถูกอวิชชาพาให้หลงเตลิดเปิดเปิงท่องเที่ยวไปในสามโลกธาตุ ไม่มีวันสิ้นสุดยุติลงได้เลยตลอดกัลปาวสาน
.
เมื่อใจรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ตามที่ร่างกายมันส่งมา แต่ใจมันกลับไม่ยอมรับรู้ตามความเป็นจริง เพราะถูกอวิชชาแอบแปลงสาส์น ให้ใจรับรู้วิปริตผิดเพี้ยนไปเสีย โดยไปขุดเอาความรู้ต่าง ๆ ที่เป็นสัญญาที่เคยจดจำฝังจมอยู่ในใจ มาเป็นเครื่องเทียบเคียง แล้วใช้สังขารปรุงแต่งสัญญาเหล่านี้ เท่าที่มีจดจำเอาไว้ สมมติชื่อเสียงเรียงนามใส่เข้าไปในสิ่งต่าง ๆ ที่รู้ผ่านเข้ามาทางกายว่า สิ่งนั้นชื่อนั้น สิ่งโน้นชื่อโน้น เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นหญิง เป็นชาย แล้วก็เกิดความสำคัญผิด หลงคิดเอาเองว่า เป็นสิ่งนั้น สิ่งโน้นขึ้นมาจริง ๆ คิดปรุงแต่งอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาในใจ ก็สำคัญผิด หลงผิดเป็นวัตถุไปหมด
.
ใช่แต่เท่านั้น ยังไปหลงยึดเอาความคิดปรุงในสิ่งเหล่านั้นว่า เป็นเรา เป็นของเรา เป็นเขา เป็นของเขา ก่อให้เกิดความชอบใจ ไม่ชอบใจ อยากได้ ไม่อยากได้ ทับซ้อนเข้าไปอีก
.
จะพูดให้เห็นชัด ๆ ก็ได้ เพื่อผู้มีปัญญาจะได้ลองตรวจตรองใคร่ครวญดูให้แจ้งชัด ความรู้สึกที่สัมผัสที่ผิวกาย นั่นคือความจริง อากาศเย็น ร้อน หรือ หนาว มันเป็นรูปธรรมอันหนึ่งที่มากระทบผิวกาย แล้วไปเป็นนามธรรมปรากฏเป็นความรู้อันหนึ่งขึ้นที่ใจ ความรู้นี้ ไม่ได้เป็นวัตถุ ทั้งไม่ได้ประกาศตัวมันเองว่า มันเป็นอะไร จะว่าเป็นหนาว เป็นเย็น หรือเป็นร้อน อากาศมันก็ไม่ได้ว่า
.
ส่วนกายมันก็ไม่ได้รับรู้อะไร มันเป็นเพียงแค่ทางผ่านของความรู้อันหนึ่ง ใจต่างหากที่เป็นผู้รู้เรื่องราวทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าเป็นสิ่งที่เคยรู้มาแล้ว ก็เกิดสัญญาจดจำชื่อมันไว้ได้ เมื่อมีความรู้สึกอันใดผ่านเข้ามา ก็อาศัยสัญญานั้นผุดขึ้นรับกัน เกิดความคิดปรุงแต่งขึ้นมาใหม่ว่า นี่หนาว นี่ร้อน นั่นสวย นั่นหล่อ นั่นชอบ นี่ไม่ชอบ นั่นอยากได้อีก นี่ไม่อยากได้
.
เหล่านี้คือ สมมติที่ใจมันคิดปรุงแต่งขึ้นมาใหม่ โดยอาศัยความจำเดิม ๆ ที่ฝังจมอยู่ในใจ แล้วแต่ว่า ใจจะคิดปรุงแต่งไปในทางใด ผิด ถูก ดี ชั่ว หลงมาก หลงน้อย คำพูดสมมติถึงสิ่งต่าง ๆ นั่น จริง ๆ แล้ว ไม่มีอยู่จริง เพียงแต่สมมติชื่อไว้เพื่อใช้พูดจาสื่อสารกับคนอื่นให้เข้าใจตรงกันเท่านั้น ซึ่งตัวใจเองควรที่จะรู้ความจริงข้อนี้
.
แต่ใจกลับหลงสำคัญผิดคิดว่า สมมตินั้น ๆ เป็นตัวเป็นตน เป็นจริงเป็นจังไปด้วย สำคัญผิดเอาความรู้ที่เป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นที่ใจ เหมาว่าเป็นรูปธรรม คือเป็นวัตถุไปหมด คิดถึงใครก็เหมือนคน ๆ นั้นมาปรากฏขึ้นที่ใจจริง ๆ ใจไม่ยอมรู้ตามความเป็นจริงว่า นั่นเป็นเพียงความคิดที่เป็นนามธรรม หาใช่คนจริง ๆ ที่เป็นรูปธรรมไม่ มันจึงเป็นเหตุทำให้ใจเกิดความหลงผิด คิดผิด ทำผิด พูดผิด หลงรัก หลงชัง หลงเกลียด หลงโกรธ ตามมาอีกมากมายไม่มีที่สิ้นสุด
.
ขบวนการของการเกิดสมมติ นี้ เป็นเรื่องที่ลึกลับซับซ้อนมาก ยากที่คนธรรมดาสามัญจะเข้าใจได้ ต้องเป็นผู้ผ่านการฝึกอบรมปฏิบัติการทางจิตมาแล้วอย่างช่ำชองโชกโชน อย่างน้อยก็ต้องฝึกปรือพลังศีล สมาธิ ปัญญา จนถึงในระดับที่สามารถจะหยุดจิตไว้ได้เป็นบางขณะ ต้องมีกำลังของสติปัญญาที่แข็งกร้าว พอที่จะทะลุทะลวงแยกระหว่าง รูปคือกาย กับนาม คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และ ใจคือ ผู้รู้ ออกจากกันได้ ก็จึงจะพอมองเห็นช่องทางที่จะแยกสมมติออกจากสิ่งที่ยืนตัวรับสมมติ และใจรู้เท่าทันความหมายของสมมติ โดยที่ใจจะไม่หลงไปยึดถือเอารูปมาเป็นนาม หรือไปยึดเอานามมาเป็นรูป นี่คือหนทางที่จะก้าวเดินไปสู่ความดับทุกข์ได้ ต้องไปอย่างนี้
.
เมื่อจิตคิดปรุงแต่งเรื่องราวใดขึ้นมา สติปัญญาต้องหยั่งลงกำหนดรู้ที่จิตว่า นี่คือความคิดปรุงที่จิตคิดขึ้นมาเอง เกิดขึ้นที่จิต เป็นนามธรรม หาใช่รูปธรรมที่เป็นวัตถุทางภายนอกไม่ อย่าให้จิตหลงความคิดปรุงว่า เป็นวัตถุ ต้องกำหนดสติปัญญาหยั่งลงในจิต ให้จิตเห็นจริงอย่างนี้ จนกว่าจิตจะเกิดมีสติปัญญา ไม่เผลอ ไม่เพลิน ไปตามสมมติที่จิตคิดปรุงแต่งขึ้นได้ นี่เรียกว่า รู้เท่าทันสมมติ และต้องสามารถดับความหมายของสมมติที่ครอบงำจิตไว้ได้ ทำให้จิตรู้เพียงสักแต่ว่า สมมติไว้ตามอาการหนึ่ง ๆ เท่านั้น ต้องรู้ชัดว่า สมมติทั้งปวงเกิดขึ้นที่จิต แล้วดับลงที่จิตทั้งหมด ไม่มีอยู่จริง ๆ แม้สักสิ่งสักอันหนึ่งเลย
.
นี่ พูดไปตามธรรมท่านสอน ต้องฝึกฝนสติปัญญาให้รู้เท่าทันสมมติที่เกิดขึ้นที่จิตให้ได้อย่างนี้ หากผู้ใดกระทำความเพียรในสติปัฏฐาน ๔ ติดต่อสืบเนื่องกันไปไม่ขาดวรรคขาดตอน ไม่ท้อถอย วันหนึ่งก็จะปรากฏผลให้เห็นจริงตามนั้น เรียกว่า อยู่ใกล้ต่อแดนพ้นทุกข์ อยู่ใกล้พระนิพพานโดยแท้ ทั้งยังได้ชื่อว่า ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา ไม่มีกลางวันกลางคืน
.
ถ้าใครไม่อยากทุกข์เพราะความหนาว หรือไม่อยากทุกข์ในทุกกรณี ก็ต้องพยายามฝึกสติปัญญาขึ้นมาในตนเอง ให้รู้เท่าทันความคิดปรุ่งแต่งของใจ หยุดความคิดความปรุงแต่งของใจ ที่เป็นไปในทางที่ผิดไปจากหลักธรรมที่ท่านสอนให้ได้ ต้องฝึก ต้องฝืน ต้องอดทน ต้องต่อสู้ ต้องทรมานกิเลส ต้องเผากิเลส ต้องเพียรสู้ไม่ยอมแพ้มัน และต้องทำความรู้ความเข้าใจให้เห็นชอบตามธรรมด้วยสติปัญญาของตนเองให้ได้ นั่นแหละ ได้ชือว่า เป็นผู้ปฏิบัติที่มุ่งหวังต่อแดนหลุดพ้นอย่างแท้จริง เฮอะ! ไม่มีอะไรในโลกจะทำได้ยากเท่านี้แล้ว
.
การที่จะดับความหมายของสมมติที่ใจคิดปรุงขึ้นได้นั้น ผู้นั้นจะต้องฝึกหัดสติปัญญาทำมรรคทั้งแปดให้สมบูรณ์ เกิดสัมมาทิฏฐิแยกธาตุ ขันธ์ กับจิต ออกจากกันให้ได้เป็นขณะ ๆ ไปก่อน ขณะใดที่ขันธ์กับจิตแยกจากกันได้ ขณะนั้นสัญญาที่เป็นความหมายของสมมติก็จะดับไปพร้อมกัน ทำให้ใจรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า สมมติเป็นเพียงสักแต่ว่า สมมติชื่อเรียกไว้ตามอาการหนึ่ง ๆ เท่านั้น ส่วนสิ่งที่ยืนตัวรับสมมติ หรือสิ่งที่ถูกสมมติ ถูกเรียกว่า เป็นนั่น เป็นนี่ เขาก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่งอยู่ตามธรรมดาของเขา ธาตุก็คือธาตุ ขันธ์ก็คือขันธ์ ใจก็คือใจ หาได้มีสิ่งใดแปรเปลี่ยนไปเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน หญิง ชาย ใด ๆ ตามที่ที่สมมติเรียกขานกันจริง ๆ ไม่ ล้วนเป็นใจมนุษย์หลงสำคัญผิดไปเองทั้งนั้น
.
เฮ้อ! อธิบายมาเสียยืดยาว ก็พูดไปตามธรรมท่านสอนหรอกนะ แต่ใช้ภาษาอธิบายให้มันเข้าใจง่าย ๆ ไม่อยากจะบอกว่า มันก็คือ ปฏิจจสมุปบาท ในภาคปฏิบัติดี ๆ นี่เอง ผู้มีปัญญา ก็ลองใคร่ครวญเอาเองตามอุบายที่ธรรมท่านสอนไว้ ก็ลองไปฝึกหัดสติปัญญาเพ่งดูความปรุงแต่งของใจ ให้เข้าใจความจริงตามธรรมท่านสอน คือ อย่าเพียงแค่คิดอย่างเดียว ต้องลงมือฝึกหัด ฝืนบังคับใจตนเอง ต้องเอาชนะใจตนเองให้ได้ด้วย อันใดที่รู้แล้วว่าไม่ดี ก็ฝืนใจ อย่าคิด อย่าทำ
.
อันใดที่รู้ว่า เป็นความคิดผิด เห็นผิด ก็ยับยั้ง ห้ามใจ หรือทำลายเสีย สติปัญญาก็จะค่อย ๆ แก่กล้าขึ้นไปโดยลำดับ ถ้าไม่ฝึกหัดเสียเลย ก็จะไม่ได้ความรู้ความฉลาดอะไรเลย เกิดมาแล้วก็ตายทิ้งเปล่า ๆ
.
เบื้องต้นให้รักษาศีลให้มั่นคง คิดในใจว่า ยอมตายก็ไม่ยอมทำให้ศีลขาด แล้วฝึกใจให้เป็นสมาธิตั้งมั่น อย่างน้อยให้ใจหยุดอยู่กับพุทโธให้ได้เป็นพัก ๆ ไป จากนั้นหมั่นใช้ปัญญาพิจารณาแก้ความเห็นผิดคิดผิดของใจตนเองให้มากที่สุด คิดใคร่ครวญไปตามธรรมท่านสอนให้เห็นจริงตามธรรมด้วยใจตนเอง อย่าปล่อยให้ใจคิดผิดทั้ง ๆ ที่รู้ เพราะนั่นคือการทำร้ายใจตัวเองอย่างอำมหิตโหดเหี้ยมที่สุด
.
ผู้ที่ต้องการจะดับทุกข์ในใจตนเองให้ได้ ก็ต้องพยายามฝึกหัดสติปัญญาให้รู้แจ้งเห็นจริงตามธรรมท่านสอนเท่านั้น จึงจะดับทุกข์ได้ ผู้ปฏิบัติจริงก็จะเข้าถึงธรรมของจริง ผู้ปฏิบัติเล่น ๆ ก็จะได้แต่ของเล่น ๆ ถึงมันไม่ง่าย แต่ก็ไม่มีอะไรยากเกินกว่าความเพียรพยายามของสัตบุรุษจะพึงกระทำ

[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (178706)

 น้อมกราบสาธุธรรมขอรับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ทำต่อไป (chathurong-dot-t-at-pttplc-dot-com)วันที่ตอบ 2023-06-15 18:58:54



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล