ReadyPlanet.com


ย้อนตำนานประวัติศาสตร์แฟชั่นไทย สัญลักษณ์ความเจริญ..สู่การสร้างเอกลักษณ์ชาติ


  ย้อนตำนานประวัติศาสตร์แฟชั่นไทย สัญลักษณ์ความเจริญ..สู่การสร้างเอกลักษณ์ชาติ

 
 

 

ย้อนกลับไปในรัชสมัย “ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5” มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการแต่งกายอย่างเด่นชัดที่สุด เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการออกกฎให้ข้าราชการและเจ้านายสวมเสื้อเมื่อเข้าเฝ้าฯ เพราะประเทศไทยเริ่มมีการติดต่อกับชาวตะวันตกมากขึ้น ทั้งยังมีแกนนำเป็นเหล่านักศึกษาที่กลับมาจากต่างประเทศพร้อมซึมซับวัฒนธรรมฝรั่งมาเต็มที่ โดยนำ “วัฒนธรรมการสังสรรค์ที่คลับสโมสร หรือปาร์ตี้” ติดกลับมาด้วย ทำให้การแต่งกายแบบสากลนิยมขยายตัวไปสู่กลุ่มชนชั้นกลาง จนเกิดเป็นความนิยมในความเจริญของชาติตะวันตก อย่างไรก็ดี ในระยะแรกนั้นการแต่งกายอย่างฝรั่งเป็นที่นิยมเฉพาะเวลาออกการออกงานพิเศษเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่ยังคงแต่งกายตามประเพณีเดิม

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีการกำหนดการแต่งกายแบบ “ยูนิฟอร์ม” สำหรับเจ้านายและขุนนางเมื่อเข้าเฝ้าฯ โดยแก้ไขแบบเสื้อที่ไม่เหมาะสำหรับอากาศเมืองไทยมาเป็นเสื้อนอกสีขาวคอปิดติดกระดุมห้าเม็ด เรียกว่า “ราชแปตแตน” มาจาก “Pattern” ภายหลังเรียกขานว่า “ราชปะแตน” ครึ่งล่างยังคงนุ่งเป็นผ้าม่วงโจงกระเบน สวมถุงน่องรองเท้าเพื่อความเรียบร้อย เมื่อแต่งกายแบบลำลอง ก็เปลี่ยนมานุ่งผ้าลอยชาย หรือผ้าโสร่ง สวมเสื้อคอกลมผ้าขาวบางแขนเพียงศอก ผู้ชายส่วนใหญ่เลิกไว้ผมทรงมหาดไทยแล้ว หันมาไว้ผมยาวอย่างฝรั่งแทน มีทั้งทรงแสกและทรงเสย คนล้ำเทรนด์เริ่มห้อยสายนาฬิกาพกที่อกเสื้อ, สวมหมวก และคล้องไม้เท้าไว้ที่แขน บ้างมีหนวดเคราปรกริมฝีปากแบบฝรั่ง

“การแต่งกายของผู้หญิงในราชสำนัก” ก็ปรับเปลี่ยนไปเช่นกัน วังฝ่ายในที่ขึ้นกับ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนประยูร” พระราชธิดาในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 โปรดให้เจ้านายฝ่ายในเปลี่ยนจากนุ่งโจงมานุ่งจีบห่มแพรสไบเฉียงตัวเปล่า กระทั่งในปี 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้แก้ไขใหม่ คือยังคงการนุ่งจีบไว้เฉพาะเมื่อจะแต่งกับห่มตาด หรือสไบปัก อันเป็นเครื่องแต่งกายเต็มยศใหญ่ของสตรีในวัง แล้วให้นุ่งโจงใส่เสื้อแขนกระบอก พร้อมกับผ้าสไบเฉียงทับตัวเสื้อแทน และทุกคนจะต้องสวมรองเท้ากับถุงเท้าหุ้มตลอดน่อง

“เสื้อแขนกระบอก” ในยุคนี้ก็มีหลากหลาย โดยดัดแปลงตกแต่งตามความพอใจของแต่ละบุคคล เครื่องประดับอย่างสร้อยสังวาล, กำไลต้นแขน และจี้ขนาดใหญ่ เริ่มหมดความนิยม เพราะถูกแทนที่ด้วยเข็มกลัดติดผ้าสไบแบบเลดี้ตะวันตก ต่อมาเปลี่ยนจากการห่มสไบเป็นสะพายผ้าแพรแทน โดยนำเอาแพรที่จับตามขวางเอวมาจีบตามยาว อีกครั้งจนเหลือเป็นผืนแคบ ตรึงให้เหมาะแล้วสะพายบนบ่าซ้าย รวบชายไว้ที่เอวด้านขวา ซึ่งปิดบังความงามของเสื้อและเครื่องประดับน้อยกว่าการห่มสไบแบบดั้งเดิม

ยิ่งหลังการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2440 ได้มีการนำแบบอย่างการแต่งกายของสตรียุโรปมาปรับใช้อย่างคึกคัก สตรีชั้นสูงเริ่มตัดผ้าตามแบบเสื้อผ้าอังกฤษสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย โดยเฉพาะรูปแบบของ “เสื้อแขน หมูแฮม” เป็นที่นิยมมาก ส่วนท่อนล่างยังคงนุ่งโจงกระเบนผ้าม่วง, ผ้าลาย หรือผ้าพื้นตามโอกาส ขณะที่ช่วงปลายรัชสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เสื้อผ้าของเจ้านายฝ่ายสตรีตกแต่งมากขึ้น และเริ่มมีการใช้เครื่องสำอางจากฝั่งตะวันตก ตลอดจนประดับสร้อยไข่มุกซ้อนกันหลายเส้น ยุคนี้เองที่เจ้านายฝ่ายสตรีเลิกไว้ผมปีก แต่หันมาไว้ผมยาวประบ่าแทน และภายหลังนิยมเป็นผมทรงดอกกระทุ่ม

วัฒนธรรมการแต่งกายของไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกระลอก ตามนโยบายของรัฐบาลสมัยนั้น ที่ได้ตราพระราชบัญญัติการแต่งกายพลเรือนให้ข้าราชการชายนุ่งกางเกงขายาวแทนผ้าม่วงโจงกระเบน แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก กระทั่งสมัย “ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6” การแต่งกายแบบลำลองของชายได้เปลี่ยนจากนุ่งผ้าลอยชายมาเป็นนุ่งกางเกงแพรหลากสีแบบ “กางเกงจีน” ใส่กับเสื้อคอกลมผ้าขาวบาง เมื่อออกนอกบ้านจึงสวมเสื้อทับและสวมหมวกเพื่อความสุภาพ ส่วนฝ่ายสตรีนั้น ในสมัยต้นรัชกาลที่ 6 ยังคงนุ่งโจงกระเบนและใส่เสื้อระบายลูกไม้ แต่ต่อมาเริ่ม “นุ่งซิ่นตามพระราชนิยม” โดยสวมถุงน่องสีพื้นกับรองเท้าส้นสูง

ในรัชสมัย “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7” เสื้อผ้าสตรีแทบจะถอดแบบมาจากหนังสือแฟชั่นของตะวันตก และได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์ฝรั่งที่เข้ามาฉายในไทย สมัยนี้เสื้อสตรีนิยมเป็นตัวหลวมไม่เข้ารูป, ยาวคลุมสะโพก, แขนเสื้อจะสั้นมาก หรือเป็นแขนกุด ตกแต่งชายเสื้อด้วยการผูกเป็นโบและทิ้งชายยาว จากที่เคยนุ่งผ้าซิ่นก็เปลี่ยนมาตัดเย็บเป็นถุงสำเร็จแบบป้ายให้พอดีเอว และไม่คาดเข็มขัด ความยาวจะสั้นขึ้นจนเหลือแค่ปิดเข่าเล็กน้อย หรือยาวเท่าเข่าพอดี เครื่องประดับที่นิยมก็จำพวกสายสร้อยและตุ้มหูยาว รองเท้านิยมส้นสูงกับถุงน่องไนลอนสีสันเข้ากับผ้าซิ่น ยุคนี้ยังเป็นยุคแรกที่สตรีไทยเริ่มดัดผมเป็นคลื่น ขณะที่สาวล้ำสมัยมักนิยมตัดผมบ๊อบ หรือไม่ก็ไว้ทรง “อีตันคร็อป” ไถผมสั้นจนเห็นใบหูแบบทรงผมผู้ชาย ส่วนการนุ่งกระโปรงแบบตะวันตกเพิ่งนิยมในปี 2480 แต่ส่วนใหญ่ยังคงนุ่งผ้าซิ่นเมื่ออยู่บ้าน

การแต่งกายของไทยมีการเปลี่ยนแปลงชัดเจนอีกครั้ง ในช่วงที่ “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีนโยบายสำคัญในการสร้างชาติด้วย “ลัทธิชาตินิยม” วางระเบียบปฏิบัติการแต่งกายของสตรี ที่เป็นข้าราชการและมีตำแหน่งเข้าเฝ้าฯชัดเจนขึ้น ก่อนจะจัดตั้งสภาวัฒนธรรมฝ่ายหญิง ทำหน้าที่พิจารณาเครื่องแต่งกายในโอกาสต่างๆ และกำหนดเครื่องแต่งกายของผู้ประกอบอาชีพต่างๆ รวมถึงจัดระเบียบการแต่งกายตามกาลเทศะและจุดประสงค์ของงาน เช่น งานพระราชพิธี, งานราตรีสโมสร และงานแต่งงาน
ในยุคนี้เองที่สตรีไทยลุกขึ้นมาใส่หมวกแบบตะวันตก เพื่อขานรับนโยบายรัฐ “มาลานำชาติไทย” ที่รณรงค์ว่าการใส่หมวกที่สวยงามย่อมเป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศ โดยแบ่งหมวกเป็น 2 ประเภทคือ “หมวกประเภททั่วไป” ที่ใช้ทำงานในชีวิตประจำวัน จะมีลักษณะเรียบๆ ปีกเล็ก หรือไม่มีปีก และ “หมวกประเภทพิเศษ” คือหมวกที่ใช้เป็นอาภรณ์ประดับเพิ่มความโก้หรู ใช้สำหรับโอกาสพิเศษต่างๆ

 

แฟชั่นของฝ่ายชายก็พัฒนาเช่นกัน เริ่มมีการใส่เสื้อชั้นนอกทั้งแบบคอเปิดและคอปิด ถ้าเป็นคอเปิดต้องใส่เสื้อชั้นในคอปกมีผ้าผูกคอเงื่อนกะลาสี หรือหูกระต่าย จับคู่กางเกงขายาวแบบสากล และสวมถุงเท้ารองเท้าครบ ขณะที่กางเกงผ้าแพรและผ้าม่วงที่เคยนิยมกลับกลายเป็นของต้องห้าม เพราะดูเชยดูไม่สุภาพ หนุ่มๆสมัยนั้นหันมาใส่ “กางเกงขาสั้นแบบไทย” บ่งบอกความโก้เก๋ทันสมัย นอกจากเป็นกางเกงที่นักเรียนใช้ ยังนิยมใส่เล่นกีฬาด้วย ความยาวที่เหมาะสมคือสั้นแค่เข่า หรือใต้เข่าประมาณ 1 ฝ่ามือ ถือเป็นกางเกงสุภาพสามารถใช้ใส่ลำลอง หรือไปสโมสรได้ ยุคนี้ผู้ชายต้องสวมหมวกออกจากบ้านทุกครั้งในเวลากลางวัน

แม้จะมีการพัฒนาด้านแฟชั่นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ “ชุดแต่งกายประจำชาติ” เพิ่งจะมีขึ้นก็ด้วยพระวิสัยทัศน์ยาวไกลของ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” มีพระราชดำริให้ออกแบบเครื่องแต่งกายประจำชาติ เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของชาติไทยขึ้นใหม่ โดยทรงประยุกต์มาจากแฟชั่นการแต่งกายของสตรีในราชสำนักสยามครั้งโบราณกาล โปรดเกล้าฯให้ “ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค” นางสนองพระโอษฐ์ นำความไปปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ, ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมไทย ให้ช่วยกันศึกษาค้นคว้าเครื่องแต่งกายของไทยในยุคสมัยต่างๆ นับตั้งแต่ยุคอารยธรรมทวารวดีเรื่อยมา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อใช้เป็นแบบอย่างและแนวคิด จนก่อกำเนิดเป็น “ชุดไทยพระราชนิยม” ถึง 9 แบบ ซึ่งได้พระราชทานชื่อตามนามของพระที่นั่ง และพระตำหนักต่างๆ ได้แก่ ชุดไทยเรือนต้น, ชุดไทยจิตรลดา, ชุดไทยอมรินทร์, ชุดไทยบรมพิมาน, ชุดไทยจักรี, ชุดไทยจักรพรรดิ, ชุดไทยศิวาลัย, ชุดไทยดุสิต และชุดไทยประยุกต์

นับเป็นมรดกล้ำค่าของแผ่นดิน ที่ได้รับการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้เป็นสมบัติของชาติ และความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ.



ผู้ตั้งกระทู้ KBH (kiminotto-at-gmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2024-03-18 10:43:02


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล