ReadyPlanet.com


เชื่อหนู...กินแมลงให้โปรตีนมากกว่าเนื้อวัว


 เชื่อหนู...กินแมลงให้โปรตีนมากกว่าเนื้อวัว
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 มิถุนายน 2556

 

นับเป็นเรื่อง “เซอร์ไพร์ส” ไม่น้อยสำหรับ “แพท” สาวน้อยจากโรงเรียนอินเตอร์ เมื่อยูเอ็นสนับสนุนให้ประชากรโลกหันมากินแมลงกันมากขึ้นเพื่อบรรเทาความอดอยาก เพราะเธอเองก็ใช้เวลาถึง 2 ปี เพื่อศึกษาข้อมูลโภชนาการของแหล่งอาหารตามธรรมชาติเหล่านั้น และได้ข้อสรุปออกมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน
      
แพท หรือ พริมา ยนตรรักษ์ สาวน้อยวัย 16 ปี นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ กรุงเทพฯ เป็นเด็กเรียนดีอันดับ 1 ของชั้นเรียนมาตลอด แต่ด้วยคำสอนของครูที่บอกว่า เรียนเก่งอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องรู้จักแบ่งปันและช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าด้วย จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอทำกิจกรรมเพื่อสังคม เริ่มจากภายในโรงเรียน แล้วขยายสู่โรงเรียนยากจนในต่างจังหวัด
      
เมื่อปี 2553 แพทได้ตั้งกลุ่ม The Lion Heart Society เพื่อร่วมทำกิจกรรมช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสร่วมกับเพื่อนในโรงเรียนและอาสาสมัคร กระทั่งเธอมีโอกาสได้ไปทำกิจกรรมช่วยเหลือเด็กนักเรียนในโรงเรียนบ้านซับใต้ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา แล้วตั้งข้อสังเกตว่าเด็กนักเรียนเหล่านั้นดูยากจนข้นแค้นและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล แต่ทำไมเด็กทุกคนยังดูสุขภาพดี เมื่อลองชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
      
“พวกเขากินอะไร?” เป็นคำถามที่แพทสัมภาษณ์เด็กนักเรียน คุณครูและผู้ปกครอง ซึ่งก็ได้คำตอบชวนอึ้งว่า เด็กๆ กินแมลง และสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่หาได้ตามท้องถิ่น เช่น ตั๊กแตน จั่กจั่น กิ้งก่า อึ่งอาง และกบ เป็นต้น จึงชวนให้เธอสงสัยต่อว่าสัตว์เหล่านี้มีคุณค่าทางโภชนาการมากน้อยแค่ไหน และกลายเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์เชิงสำรวจในหัวข้อ “The Poor Land of Plenty: Edible Insects and Other Natural Sources of Nutrients” ที่เธอตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อหาคำตอบให้แก่ตัวเอง

 

มีแมลงและสัตว์ชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นแหล่งสารอาหารตามธรรมชาติที่แพทศึกษากว่า 20 ชนิด เช่น มดแดง จั่กจั่น ตั๊กแตนปาทังกา ตั๊กแตนโลคอสตา อึ่งอ่าง กบ งูสิง แมลงกระชอน แมลงเม่า หอยขม ปูนา สาหร่ายเทา เป็นต้น โดยศึกษาข้อมูลตั้งแต่ชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ ลักษณะและพฤติกรรม วงจรชีวิตและขยายพันธุ์ คุณค่าทางโภชนาการ ไปจนถึงการเพาะเลี้ยง
      
       เริ่มต้นแพทค้นอินเทอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูลต่างๆ เหล่านั้น แต่ข้อมูลส่วนที่หายากมากที่สุดคือคุณค่าทางโภชนาการของแมลงและแหล่งอาหารตามธรรมชาติดังกล่าว จึงต้องส่งตัวอย่างสัตว์ไปวิเคราะห์ที่คณะโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับการสนับสนุนจากพ่อและแม่ในการออกค่าใช้จ่ายสำหรับวิเคราะห์ตัวอย่าง ซึ่งตัวอย่างที่วิเคราะห์นั้นก็ได้จากชาวบ้านใน จ.นครราชสีมา ที่เธอลงพื้นที่ทำกิจกรรมอาสานั่นเอง
      
       ข้อมูลที่ทำให้แพทรู้สึกประหลาดใจและประทับใจคือข้อมูลของ “จั่กจั่น” เพราะเป็นแมลงดึกดำบรรพ์มีอยู่บนโลกมาแล้ว 200 ล้านปี และยังมีวงจรชีวิตส่วนใหญ่อยู่ใต้ดิน โดยอาศัยอยู่ใต้ดินตั้งแต่เป็นตัวอ่อน 2-17 ปีแล้วแต่ชนิด และโผล่ขึ้นมาบนดินเพียง 2-3 เดือนในช่วงผสมพันธุ์ก่อนที่จะตายไป นอกจากนี้เมื่อวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการแล้ว พบว่ามีโปรตีนมากกว่าเนื้อหมู เนื้อไก่และเนื้อวัว ส่วนแมลงและสัตว์ตามแหล่งธรรมชาติที่เธอเคยกิน คือ ไข่มดแดง จั่กจั่น จิ้งหรีด และงูสิง ซึ่งเธอชอบไข่มดแดงมากที่สุด
      
       “คนที่บ้านเขาเห็นเราศึกษาเรื่องนี้อยู่ เลยเอาผัดเผ็ดงูสิงมาให้ลองทาน ก็ลองทานดู อร่อยดี” แพทเล่า แต่เธอบอกว่าสัตว์ที่เธอไม่กินเลยคือกิ้งก่าและลูกอ๊อด เพราะไม่ค่อยชอบสัตว์เลื้อยคลาน
      
       การศึกษาคุณค่าโภชนาการเกี่ยวกับแมลงและแหล่งสารอาหารตามธรรมชาติของแพทใช้อยู่ 2 ปี ซึ่งอุปสรรคอย่างหนึ่งคือแมลงบางชนิดไม่สามารถหาได้ตลอดทั้งปี เช่น แมลงเม่า และ จั่กจั่น เป็นต้น ที่ต้องรอช่วงเวลาเฉพาะ แต่ระหว่างรอตัวอย่างมาศึกษาเธอก็ใช้เวลากับการเล่นกีฬาและดนตรี ควบคู่ไปกับการเรียน
      
       ผลการศึกษาที่ได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ http:www.poorlandofplenty.com กระทั่ง คิม จงสถิตย์วัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ได้อ่านผลการศึกษาของแพท จึงแนะนำว่าน่าตีพิมพ์เป็นหนังสือเพื่อเผยแพร่ความรู้ได้กว้างขึ้น จากรายงานภาษาอังกฤษที่เต็มไปด้วยตัวหนังสือ จึงถูกแปลงเป็นข้อมูลและภาษาง่ายๆ พร้อมภาพและการ์ตูนประกอบ ในชื่อหนังสือ “แมลงกินได้ และแหล่งสารอาหารตามธรรมชาติ” ฉบับภาษาไทย และ “The Poor Land of Plenty: Edible Insects and Other Natural Sources of Nutrients” ฉบับภาษาอังกฤษ
      
       แพทบอกว่าไม่ต้องการขายหนังสือเอากำไร แต่อยากให้ผู้มีกำลังทรัพย์ช่วยสนับสนุนการบริจาคหนังสือดังกล่าวแก่โรงเรียนตามชนบทที่ห่างไกล เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับอาหารที่เป็นประโยชน์ และเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนอื่นๆ ได้หันมาศึกษาค้นคว้าข้อมูล เพื่อสร้างความรู้แก่ตัวเอง และอาจมีโอกาสได้เผยแพร่เช่นเดียวกับเธอ และตอนนี้รายงานโครงงานวิทยาศาสตร์ของเธอได้เข้าไปอยู่ในสำนักงานสหประชาชาติ ประจำประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
      
       นอกจากเป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนยอดเยี่ยม เป็นนักกีฬาโรงเรียน และชอบทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือคนอื่นแล้ว แพทยังได้รับรางวัล “เยาวชนดีเด่นและทำชื่อเสียงให้ประเทศชาติ” ประจำปี 2556 ซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนนานาชาติคนเดียวที่ได้รางวัลนี้ อนาคตเธออยากเรียนต่อทางด้านชีววิทยาในมหาวิทยาลัยกลุ่มไอวีลีก (Ivy League) ที่สหรัฐฯ และนำความรู้กลับมาเผยแพร่และสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนต่อไป

ยำไข่มดแดง

 

จิ้งหรีดทอด

 

แมลงเม่าทอด

 

ตั๊กแตนทอด

 

กิ้งก่า อีกหนึ่งแหล่งโปรตีน และสารอาหารตามธรรมชาติ

สนใจข้อมูลอ่านเพิ่มเติม เว็บไซต์ http:www.poorlandofplenty.com
      
       ทั้งนี้เมื่อกลางเดือน พ.ค.56 ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้เรียกร้องให้ผู้คนทั่วโลกหันมาบริโภคแมลงให้มากขึ้น เพราะเป็นแหล่งอาหารไขมันต่ำ แต่มีโปรตีนและไฟเบอร์สูง เหมาะสมแก่การนำมาบริโภค อีกทั้งเป็นทางเลือกใหม่เพื่อบรรเทาความอดอยากหิวโหยที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก



ผู้ตั้งกระทู้ ทีมงาน (support-at-doisaengdham-dot-org) :: วันที่ลงประกาศ 2013-06-24 18:57:02


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล