ReadyPlanet.com


วิสาขบูชารำลึก ๑ มิถุนายน ๒๕๕๘


 

 

วิสาขบูชารำลึก  ๑ มิถุนายน ๒๕๕๘

 

อันพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น มีเป็นอเนกอนันต์ แม้หากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ทรงนั่งพรรณนาพุทธคุณไปจนถึงวันปรินิพพาน พระพุทธคุณนั้น ก็ยังมิอาจพรรณนาให้จบสิ้นได้  ก็พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น จำเดิมแต่เมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ กว่าจะสร้างบารมีทั้ง ๓๐ ทัศ ให้เต็มเปี่ยมได้นั้น ท่านอุปมาไว้ว่า "บุรุษใดที่อาจจะเหยียบย่ำลงไปบนแผ่นดินที่ปูลาดด้วยถ่านเผาไฟแดงๆ ด้วยเท้าอันเปล่าเปลือย ด้วยระยะทางอันสุดแสนไกลที่บั้นปลายไม่ปรากฏ ด้วยจิตใจอันเด็ดเดี่ยวอาจหาญ ไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อความตาย แม้ตายแล้วเกิดใหม่กี่ภพกี่ชาติ ก็จะขอเดินเหยียบย่ำลงไปบนถ่านเผาไฟแดงๆอย่างนี้ จนแม้กระดูกจะกองเท่าภูเขาก็ไม่สะทกสะท้านหวั่นไหว ผู้เช่นนั้นแล!! จึงจักสร้างบารมีปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าได้สำเร็จ"

.

ลองคิดดูเองเถิด ยกพระพุทธเจ้าประเภทปัญญาธิกะเป็นเหตุ เพียงลำพังแค่คิดอยู่ภายในใจ ว่า "ขอปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าสักพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลข้างหน้าโน้น" ทำความปรารถนาไว้ในใจเช่นนี้ ก็ยังต้องท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสาร อยู่ถึง ๗ อสงไขยกัปป์ (กัปป์นับไม่ได้ ๗ ครั้ง) เพื่อสร้างบารมีชั้นต้น

.

จากนั้น จึงเปล่งวาจา ว่า "จะขอเป็นพระพุทธเจ้าสักพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลข้างหน้า" แล้วท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดไปอีก ๙ อสงไขย เพื่อสร้างบารมีชั้นกลาง  ถ้ายังไม่ท้อถอยความเพียร หรือ ลาพุทธภูมิไปเสียก่อน  ก็จักได้รับพุทธพยากรณ์ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง

.

เมื่อได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว บารมีแก่กล้าเข้าสู่ชั้นปรมัตถบารมี อันเป็นบารมีขั้นอุกฤษฏ์ เที่ยงที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ต้องทำความเพียรต่อสู้กับกิเลสถึงขั้นอุกฤษฎ์ คือ ยอมสละบุตร ภรรยา แม้เลือด เนื้อ และ ชีวิต เพื่อทำความปรารถนาพระโพธิญาณอย่างเดียวเท่านั้น  แม้กระนั้นแล้ว ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดเพื่อสร้างบารมีท่องเที่ยวไปในวัฏฏสงสารอีก ๔ อสงไขยกับเศษอีกแสนมหากัปป์ บารมีจึงเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ พร้อมที่จะมาอุบัติตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มาประกาศธรรมสอนโลก ให้พวกเราท่านทั้งหลาย ได้สดับพระธรรมเทศนา อันเป็นข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง ที่เรียกว่า เอกายนมรรค คือทางอันเอก เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นเอกเลิศโลก หรืออีกนัยหนึ่ง คือ มัชฌิมาปฏิปทาอันเป็นทางสายกลาง ประกอบด้วยมรรค มีองค์ ๘ ที่ย่นย่อลงแล้วก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง

.

พวกเราที่เป็นภูมิสาวก เพียงสร้างบารมีแค่เศษเสี้ยวของพระพุทธองค์ คือ หนึ่งแสนมหากัปป์ ก็สามารถบรรลุธรรม สำเร็จเป็นพระอรหันตสาวก เข้าสู่พระนิพพานเมืองแก้วได้แล้ว แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น เพราะการที่พระองค์ ทรงทำความปรารถนาจะรื้อขนสัตว์ ให้ก้าวพ้นจากทุกข์ไปด้วยกัน พระองค์ต้องยอมทนลำบาก เพื่อสร้างสมพระบารมีให้เต็มเปี่ยม ต้องทนทุกข์ทรมานในการเวียนว่ายตายเกิดไปอีก ๒๐ อสงไขยกัปป์ มากกว่าพวกเราอย่างเทียบกันไม่ได้ แล้วจะมีผู้ใดใครเล่า จะสามารถพรรณนา คุณงามความดีของพระองค์ ที่ทรงบำเพ็ญเพียรมา ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ๒๐ อสงไขยกับเศษอีกแสนมหากัปป์นั้น มาตีแผ่ให้พวกเราได้เรียนรู้จนหมดสิ้นได้ทุกอย่าง แม้พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์มาอุบัติตรัสรู้ต่อๆกัน แล้วนั่งพรรณนาพระพุทธคุณไปเรื่อยๆ ก็ยังพรรณนาพุทธคุณได้ไม่จบไม่สิ้น ด้วยเหตุสุดวิสัยว่า อายุขัยจักหมดสิ้นลงไปเสียก่อนนั่นเอง

.

ดังนั้น ในวาระที่วันวิสาขบูชาเวียนมาบรรจบครบอีกครั้ง ในปีนี้ จึงควรที่พวกเราชาวพุทธ จักได้น้อมรำลึกนึกถึง พระคุณอันประเสริฐ ของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ผู้เป็นจอมศาสดาเอกของโลก ด้วยการน้อมนำเอาพระธรรมคำสอนมาปฏิบัติ กระทำกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ ปราศจากมลทินเครื่องเศร้าหมองใจ ด้วยการเจริญ ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นมรรควิถีที่เป็นไปเพื่อการชำระกิเลส ดับทุกข์ภายในใจอย่างสิ้นเชิง เพื่อเป็นปฏิบัติบูชา น้อมถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา เนื่องในวาระที่ วันวิสาขบูชา เวียนมาบรรจบครบในวันเพ็ญ เดือน ๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ นี้ ตรงกับปักษ์ขาด เป็นปีที่มีอธิกมาส พระสงฆ์ก็จักทำสังฆอุโบสถ สวดปาฏิโมกข์ นับเป็น อุโบสถที่ ๖ แห่งคิมหันตฤดู ควรที่ชาวพุทธเราจักสมาทาน ศีล ๕ หรือ ศีล ๘ ตามควรแก่กำลังความสามารถของตน

.

ก็วันวิสาขบูชา นี้ เป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น  ผู้เป็นมหาบุรุษสุดประเสริฐ ผู้ทรงคุณราสีอันยิ่งใหญ่ มีพระมหากรุณาคุณ แผ่ไปในเหล่าสรรพสัตว์ทั่วแดนไตรโลกธาตุ เป็นผู้บุกเบิกถางทาง ให้พวกเราได้ก้าวเดินตาม ไปสู่สุดยอดแห่งความดี คือ มรรค ๔ ผล ๔ และ นิพพาน ๑ อย่างไร้ผู้ใดเสมอเหมือน ด้วยพระมหากรุณาคุณ  พระปัญญาคุณ และพระวิสุทธิคุณ อันยิ่งใหญ่สุดเปรียบประมาณ ด้วยข้อวัตรปฏิปทาอันหมดจดงดงาม บริสุทธิ์ทั้งในเบื้องต้น ในท่ามกลาง และในบั้นปลาย  ทำให้เราท่านทั้งหลายได้มีข้อวัตรปฏิบัติ อันเป็นหนทางไปสู่แดนนิรทุกข์ คือ พระอมตมหานฤพานอันล้ำเลิศ อย่างไม่มีทางผิดพลาดคลาดเคลื่อนจนถึงทุกวันนี้

.

วันวิสาขบูชา จึงถือเป็นวันสำคัญยิ่งของโลก ไม่มีวันสำคัญอื่นใดจะยิ่งไปกว่า  เพราะวิสาขบูชา เป็นวันเดียวที่รวมเอาเหตุการณ์สำคัญของโลกถึงสามประการไว้ด้วยกัน อันยากยิ่งที่จะอุบัติบังเกิดกับมนุษย์ปุถุชนคนใดในโลก กล่าวคือเป็นวัน ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสุมพุทธเจ้า พระองค์นั้น  และเป็นการประสานรวมธรรมขั้นสุดยอด ที่พระตถาคตเจ้า ได้ทรงแสดงไว้ตลอดพระชนมายุ ๔๕ พระพรรษา สรุปรวมลงในไตรลักษณ์ คือ  "อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา"  อันมีนัยดังนี้คือ อนิจจัง คือ ความเกิดปรากฏเป็นเบื้องต้น คือวันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ  ทุกขัง คือ ความบีบคั้นทรมานปรากฏ เป็นตั้งอยู่ในท่ามกลาง คือ นับจากวันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ๔๕ พระพรรษา ทรงประกาศธรรมสอนโลก ด้วยตรากตรำพระวรกายอย่างหนัก ไม่ทรงท้อพระทัย  และ อนัตตา คือ ความแตกดับปรากฏ เป็นบั้นปลาย คือ วันที่พระพุทธองค์ทรงปรินิพพาน ดังนั้น วันวิสาขบูชา นี้ จึงเป็นสัญญลักษณ์แห่งไตรลักษณ์ อันประมวลมาเพื่อแสดงให้เห็น ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ของพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่นเอง

.

ก็ไตรลักษณ์ อันได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ ถือเป็นธรรมชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา ที่บุคคลใดหากบังเกิดดวงตาเห็นธรรม ผู้นั้นต้องเห็นไตรลักษณ์ จึงสามารถก้าวข้ามโคตรแห่งปุถุชน กลายเป็นอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา สิ้นสงสัยในธรรมทั้งปวง  ผู้ใดเห็นไตรลักษณ์ ผู้นั้น ก็ต้องได้เห็นพระนิพพาน อย่างไม่มีวันจะผันแปรเป็นอื่น มีคำถามสอดเข้ามาว่า แล้วทำไมพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงต้องมาประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในวันเดียวกันนี้ด้วยเล่า เป็นเพราะเหตุดังฤา?

.

คำตอบก็คือ ก็ด้วยพระพุทธบารมีอันยิ่งใหญ่ ที่ทรงบำเพ็ญมาแล้วอย่างเต็มเปี่ยมไพบูลย์ ตลอดระยะเวลาอันยาวนานถึง ๒๐ อสงไขยกับเศษอีกแสนมหากัปป์ จึงบันดาลให้เกิดปรากฎการณ์ อันเป็นคุณลักษณะเฉพาะของท่านผู้เป็นมหาบุรุษสุดประเสริฐ คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้ เท่านั้น มิได้ปรากฏสาธารณะ แก่สัตว์อื่น บุคคลอื่นใดไม่ ตลอดทั่วแดนไตรโลกธาตุ

.

วิสาขบูชา นี้ จึงเป็นนิมิตหมายแห่งธรรมทั้งปวง ที่พระพุทธองค์ทรงพร่ำสอนมาตลอด ๔๕ พระพรรษา ว่า "สิ่งใดมีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา"  ทรงอาศัยพระพุทธสรีระนี้ เป็นเครื่องยืนยันอย่างหนักแน่น ในธรรมที่ทรงแสดงไว้แล้วนั้น ว่า "แม้พระองค์เอง ถึงจะทรงไว้ซึ่งบุญญาบารมีที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน อันมากมายสักเพียงไหน พระองค์ก็ไม่ได้รับการยกเว้น ให้อยู่นอกเหนือกฏเกณฑ์แห่งไตรลักษณ์ ที่พระองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้วนี้ได้เลย"  นั่นคือ ทุกสรรพสิ่งเกิดขึ้นแล้ว ต้องดับไปเท่านั้น ไม่มีเว้นแม้แต่พระสรีระของพระองค์เอง

.

เมื่อพระองค์ทรงประสูติ นั่นคือ กาลอันเป็นที่เกิดขึ้นแห่งพระพุทธสรีระ  การตรัสรู้ คือ กาลอันเป็นที่อุบัติแห่งพระตถาคตเจ้า  และปรินิพพาน คือ กาลอันเป็นที่ดับไปของพระตถาคตเจ้า เป็นการดับทั้งรูปขันธ์ คือ พระพุทธสรีระ  และการดับนามขันธ์ทั้งปวง อันได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นการดับอย่างไม่เหลือเชื้อ ที่เรียกว่า "อนุปาทาปรินิพพาน" อันสามโลกธาตุต้องสะเทือนเลือนลั่น สะท้านหวั่นไหว ในพระคุณอันไม่มีประมาณ แห่งพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ที่ได้กระทำปรินิพพานกรรม ลาลับจากโลกสมมติไป

.

ดังนั้น ในวาระที่ วันวิสาขบูชาเวียนมาบรรจบครบ ปวงเราท่านทั้งหลาย ยังโชคดีที่มีลมหายใจสัมผัสรับรู้ได้ ถึงการมาเยือนแห่งวันวิสาขบูชานั้น จงอย่าปล่อยให้วันวิสาขบูชาล่วงเลยไปเปล่าๆ จงตั้งจิตสำรวมใจ น้อมรำลึกถึงพระคุณอันไม่มีประมาณของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่พระองค์ได้ทรงประทานธรรมอันล้ำเลิศ ไว้แล้วแก่พวกเรา

.

จงน้อมนำเอาธรรมนั้นมาปฏิบัติ เพื่อถวายเป็นปฏิบัติบูชาสักการะ แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในวันอันเป็นมหามงคลอย่างยิ่งนี้  อย่าให้พระองค์ต้องทรงลำบากพระวรกายสั่งสอนพวกเราไปเปล่าๆ โดยที่ไม่มีใครปฏิบัติธรรม รู้ธรรม และเห็นธรรม ที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ดีแล้วนั้นเลย

.

ธรรมทั้งปวงนั้น แม้จะมีคุณค่ามากมายสักเพียงไหนก็ตาม  แต่จะต้องกลายเป็นเสมือนไร้ค่า หากไม่มีผู้ใดนำธรรมมาปฏิบัติ ให้รู้ธรรม เห็นธรรม ตามรอยเสด็จของพระพุทธเจ้าได้ทัน  และเป็นสักขีพยาน ว่า ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้น ย่อมให้ผลจริงแก่ผู้ปฏิบัติ ตามสมควรแก่ความปฏิบัติ ตลอดทุกกาลทุกเวลา ควรที่พวกเราชาวพุทธต้องตระหนักให้มากว่า ทุกลมหายใจเข้าออกล้วนมีคุณค่ายิ่งนัก จงอย่าปล่อยให้ลมหายใจดับสลายไปเปล่าๆ โดยไม่มีโอกาสได้ ปฏิบัติธรรม รู้ธรรม และเห็นธรรมใดๆเลย



ผู้ตั้งกระทู้ ทีมงาน (support-at-doisaengdham-dot-org) :: วันที่ลงประกาศ 2013-08-03 20:50:49


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล