ReadyPlanet.com


ธรรมวินัย เกี่ยวกับการขบฉัน การใช้ผ้าสังฆาฏิ และเงิน ๆ ทอง ๆ ของเค้าให้ทาน


พระบวชใหม่ สงสัยในวินัย ไม่รู้จะถามใคร ในแบบเช่นวินัยมุขก็อธิบายไว้แข็งเกิน น่าจะลงรายละเอียดไปเลยว่าอันนี้ไม่ควร อันนี้ควร หรือว่าท่านอาจจะให้เราพิจารณาเอาเอง ก็มิทราบได้ .... 

1. โอวัลติน กาแฟ(ใส่ค๊อฟฟี่เมท) นมถั่วเหลือง จัดเป็นยาวกาลิก ฉันได้ก่อนเที่ยง เห็นว่ามีส่วนผสมของนมโค ส่วนนมถั่วเหลืองจัดเป็นอาหารประเภทข้าว เห็นว่าไม่ควร แล้วพระสามารถชงโอวัลติน หรือกาแฟ ฉันเองก่อนเที่ยงได้ไหมครับ

2. น้ำชา กาแฟดำ น้ำหวานสี ที่จัดเป็นยามกาลิก ฉันได้ก่อนถึงวันรุ่ง พระสามารถชงฉันเองได้ไหมครับ 

3. การซ้อนผ้าสังฆาฏิเข้าบ้าน เช่นบิณฑบาต เอาผ้าสังฆาฏิไว้นอก จีวรไว้ใน แล้วหุ่มคลุ่มลูกบวบทั้งสองฝืนพร้อมกัน กระผมเข้าในถูกป่าวครับ (ถ้าผิดช่วยบอกที่ถูกด้วยครับ)

4. การเก็บเงินที่เค้าให้ทานเรา เราเก็บไว้เอง ผิดวินัยป่าวครับ (คงจะผิด เพระามีอยู่ในปาฏิโมกข์ด้วย) ถ้าผิดแล้วที่ควรต้องทำยังไง เห็นในแบบวินัยมุขท่านบอกไว้ว่า ให้โยมเก็บให้ อยากได้อะไรก็บอกโยม (มันทำยากจริง ๆ นะ พระหนุ่มบวชใหม่เด็กน้อย เดี๋ยวโยมก็ว่าเรื่องมาก เค้าให้ทานก็ใช้ ๆ ไปเถอะ พระองค์อื่นไม่เห็นเรื่องมากกัน)  

                พระบวชใหม่ ที่จริงก็ไม่ค่อยอยากใช้อินเตอร์เน็ต หรือโทรศัพท์หรอกครับ แต่จำเป็นจริง ๆ เพราะไม่รู้จะไม่ถามใคร พระในวัดก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ (พูดตามที่เห็น) เรื่องขบฉันในพระวินัยก็ไม่ปรากฏว่าพระจะประกอบเองฉันเอง เห็นแต่ว่าทรงอนุญาติให้อุ่นอาหารที่ควรอุ่นเท่านั้น และก็เห็นมีตอนหนึ่งในวินัยที่พระอานนท์ประกอบยาคูเองไปถวายพระองค์ ก็โดนตำหนิให้เอาไปเททิ้ง ถึงกับบัญญัติเป็นพระวินัย กระผมเลยยึ่งกังวลมาก ถ้าว่าพระทำฉันเองไม่ควร กระผมก็จะให้ทานเด็กไปเลย ช่างมัน หิวก็ตามเถอะ ถ้าผิดวินัยไม่เอา ใครจะว่ายึิดวินัยจนเป็นกิเลสก็ตามเถอะ ตามใจปาก แต่ไ่ม่ดูวินัยไม่เอา .... ตอบไว ๆ หน่อยนะครับ ได้คำตอบจะได้ไม่ต้องใช้เน็ตอีก เพราะไม่รู้จะไปถามใครจริง ๆ 

้                ถ้าได้อยู่วัดกับครูบาอาจารย์คงจะดีกว่านี้ แต่ต้องสึกหลังพรรษานี้ เพราะสมัครทหารเกณฑ์ไว้ ขอโยมแม่ไว้แ้ล้วว่าจะขอบวชอีก .... โยมแม่ก็ขอซักปีสองปีก่อนให้ท่านพร้อม แต่โยมพ่อคงจะไม่ให้แน่นอน เพราะเป็นประเภทที่ว่าบาปไม่มีบุญไม่มี งมงาย ที่ได้บวชเพราะอ้างว่าบวชให้ศพโยมย่า เลยขออยู่ให้ได้พรรษาเลย ... ก็ไม่รู้ว่าสึกไปแล้ว จะโดนกิเลสตัวไหนผูกไว้อีก อุตส่าห์ออกมาไกลซะขนาดนี้แล้ว ไม่รู้จะเล่าให้ใครฟังจริง ๆ มองไปทางไหนก็ไม่เห็นใครเขาสนใจกัน เล่าไปก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ เขาไม่ได้สนใจเรื่องนี้หนิ เห็นแต่เพลิดเพลินริ่นเริงกันเช้ายังเย็น วันยังค่ำ กระผมอุตส่าห์ตามเสียงมุตโตทัยของครูบาอาจารย์มานะเนี๊ยะ

 

ฝากเว็ปมาสเตอร์ กราบเท้าครูบาอาจารย์ด้วยครับ



ผู้ตั้งกระทู้ อานนฺโท :: วันที่ลงประกาศ 2013-08-21 00:31:47


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2977567)

 

พระบวชใหม่มีความสนใจใคร่ศึกษาในพระธรรมวินัยเช่นนี้ นับว่าถูกต้องแล้ว ดีกว่าทำตามเขาไปแบบผิดๆ แทนที่จะบวชแล้วได้บุญเลยกลายเป็นได้บาปไป พระวินัยท่านบัญญัติไว้ ๒๕๐๐ กว่าปีแล้ว บางทีบางสิ่้งบางอย่างมันมีชื่อหรือเรื่องราวไม่ตรงกับที่ท่านบัญญัติไว้ ก็จำต้องอาศัยการพิจารณาโดยยึดถือตาม มหาปเทส ๔ ที่พระพุทธองค์ทรงอนุโลมไว้ให้ หนังสือพระวินัยมุขนั้่น ท่านก็วินิจฉัยไว้เป็นกลางๆว่า อย่างใดควร อย่างใดไม่ควร บางอย่างก็ฟันธงได้แบบตรงๆ บางอย่างก็ฟันธงไม่ได้ ต้องไปแบบอ้อมๆ ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว

คำถามที่ถามมาเกี่ยวด้วยเรื่องธรรมเรื่องวินัยสงฆ์ ซึ่งจะตอบแบบสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ ก็เลยต้องว่ากันยาวนิดหนึ่ง ก็ให้ไปพิจารณาตามที่ตอบมานี้

๑. คำตอบชัดเจนในตัวอยู่แล้ว ชื่อว่า ยาวกาลิก ถือเป็นอาหาร รับประเคนแล้วฉันได้แค่ก่อนเที่ยง หลังเที่ยงไปต้องสละ หากรับประเคนแล้วเก็บค้างคืนไว้ฉันวันรุ่งขึ้น ถือเป็นสันนิธิ ปรับอาบัติปาจิตตีย์ ด้วยสันนิธิการสิกขาบท

ยาวกาลิกนี้ ที่เก็บไว้ในกัปปิยกุฏี ไม่เป็นอันโตวุฏฐะ (แปลว่า อยู่ในภายใน) หุงต้มในนั้น ไม่เป็นอันโตปักกะ (แปลว่า สุกในภายใน) แต่ทำเองในนั้นคงเป็นสามะปักกะ (แปลว่า ภิกษุทำให้สุกเอง) ท่านห้าม แต่จะอุ่นของที่คนอื่นทำสุกแล้ว ท่านอนุญาต

แปลความง่ายๆว่า อาหารทุกอย่างต้องเก็บไว้ในที่ที่สมมติไว้เป็นที่เก็บเรียกกัปปิยกุฎี ก็คือที่สงฆ์สมมติเป็นโรงครัวนั่นเอง และต้องทำสุกในนั้น แต่ห้ามไม่ให้พระทำสุกเอง โอวัลติน นมถั่วเหลือง จัดเป็นอาหารแน่นอน พระชงฉันเองไม่ได้อยู่แล้ว

แต่กาแฟถือเป็น ยาวชีวิก คือใช้ประกอบเป็นยา รับประเคนแล้วฉันได้ตลอดไป พระชงฉันเองได้อยู่ แต่มีปัญหาสอดเข้ามาว่า แล้วถ้าเอากาแฟไปผสมคอฟฟี่เมต ยังจะฉันเป็นยาได้หรือไม่?

ก็มีข้อถกเถียงกันในวงปฏิบัติ ยังไม่ลงกันว่า คอฟฟี่เมตมันมีส่วนผสมของแป้ง จัดเป็นอาหาร ถ้านำมาผสมกับกาแฟ ก็จะทำให้คติของกาแฟกลายเป็นอาหารไปด้วย ผู้ที่ถือเช่นนี้ ท่านก็จะไม่ฉันกาแฟผสมคอฟฟี่เมต ถ้าจะฉันก็คงได้แค่ก่อนเที่ยง  หากจะถือธุดงควัตร ข้อฉันอาสนะเดียว ก็ต้องฉันกาแฟนั้น พร้อมกับฉันข้าวตามปกติ ถ้าลุกจากที่นั่งฉันแล้ว ไปฉันกาแฟผสมคอฟฟี่เมต ณ ที่ใด แม้เวลาจะก่อนเที่ยงก็ตาม  ก็จะกลายเป็นฉันสองมื้อ เป็นเหตุให้ธุดงควัตรขาดไป ที่ท่านถือปฏิบัติเข้มงวดในธุดงควัตร ท่านก็จะไม่ทำให้ธุดงควัตรขาด เพราะเพียงแค่อยากฉันกาแฟผสมคอฟฟี่เมต

แต่บางสำนักก็บอกว่า คอฟฟี่เมตสมัยใหม่ที่ไม่มีส่วนผสมของแป้งก็มีอยู่ ถ้าเป็นคอฟฟี่เมตชนิดที่ไม่มีแป้งผสม ท่านก็ถือว่า ฉันได้ คือ ไม่ทำให้ คติของกาแฟเปลี่ยนไปเป็นอาหาร ก็สามารถ ชงกินเองได้ และฉันได้ทั้งวันตลอดไป ก็ไม่ผิดกติกา แต่ข้อสำคัญคือ คุณต้องมีญาณหยั่งรู้ว่า คอฟฟี่เมตที่นำมาผสมกาแฟนั้น มันไม่มีส่วนผสมของแป้งที่จัดว่าเป็นอาหารจริงๆ ไม่ใช่แค่คิดเอาเอง  จะคิดมั่วๆเอาเองไม่ได้ ว่า มันคงไม่มีแป้งหรอก เขาทำมาถวาย ก็ฟาดแม่งลงไปเถอะ ไม่สงสัยก็ไม่เป็นไร ฮ่าๆๆๆ แบบนี้ เขาเรียกว่าวินัยสะดวก ไม่ใช่วินัยของพระพุทธเจ้า

ดังนั้นมันก็เลยขึ้นอยู่กับว่า พระท่านจะถืออะไร? และจะปฏิบัติไปแถวไหน? ปากใครปากมันก็แล้วกัน วินัยก็ของใครของมัน  ห้ามกันไม่ได้ บังคับกันไม่ได้  หลักการของวินัยก็ว่าไว้อย่างนี้ ก็อยู่ที่จะตีความกันไปอย่างไร? ในวินัยท่านก็ให้ตีความเข้าข้างพระวินัยไว้ก่อน คือเพื่อจรรโลงรักษาพระวินัยให้มั่นคงไว้นั่นแหละดี  แม้สิ่งที่อนุญาตไว้ว่า ให้ฉันเป็นยาได้ แต่ถ้าในชุมชนนั้น คนเขากินสิ่งนั้นเป็นอาหาร พระจะนำสิ่งนั้นไปฉันเป็นยา ก็ยังไม่สมควรเลย เราก็ไม่รู้เหมือนกัน ว่า คอฟฟี่เมตนี่ มันเป็นยาตรงไหน คนเขาเอามากินกันเพื่อเสริมรสชาติให้อร่อยเท่านั้น  แล้วพระเอามาฉันเป็นยาได้ยังไง?  ก็เห็นฟาดกันจนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ครูบาอาจารย์นับแต่องค์หลวงปู่ใหญ่ คือหลวงปู่มั่น จนถึงองค์หลวงตามหาบัว ไม่เคยพาฉันคอฟฟี่เมต  แต่ครูบาอาจารย์สมัยใหม่นี้ คงต้องเลือกเฟ้นหน่อย เพราะเอาเป็นแบบยาก

๒. น้ำชา กาแฟ จัดเป็น ยาวชีวิก รับประเคนแล้วฉันได้ตลอดไปไม่จำกัดกาล พระสามารถชงฉันเองได้  ส่วนน้ำหวานจัดเป็นสัตตาหกาลิก รับประเคนแล้วฉันได้แค่ ๗ วัน พระก็ชงฉันเองได้ ส่วนที่จัดเป็นยามกาลิก ได้แก่น้ำปานะ ที่คั้นออกจากน้ำลูกไม้ ๘ ชนิด เช่น น้ำมะม่วง ๑, น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า ๑, น้ำกล้วยมีเม็ด ๑, น้ำกล้วยไม่มีเม็ด ๑, น้ำมะซาง ๑, น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น ๑, น้ำเง่าอุบล ๑, น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่ ๑  ที่เอ่ยชื่อมานี้ ถือว่าฉันได้ตามพระวินัย ส่วนที่ไม่มีชื่อนอกจากนี้ ก็ต้องพิจารณาตามหลักมหาปเทส ๔ ที่พระพุทธองค์ทรงอนุโลมไว้

( อยากรู้ว่า มหาปเทส ๔ คือ อะไรก็ไปดูที่นี่ : http://www.doisaengdham.org/ประมวลศัพท์ธรรมะที่ควรรู้/มหาปเทส-๔.html )

วิธีทำปานะ ปอกหรือคว้านผลไม้เหล่านี้ที่สุก เอาผ้าห่อ บิดผ้าให้ตึง อัดเนื้อผลไม้ให้คายน้ำออกจากผ้า หรืออาจใช้ที่คั้นผลไม้แล้วเอาผ้ากรองน้ำผลไม้ ระวังไม่ให้มีเนื้อหรือกากผลไม้เจือปน เติมน้ำลงให้พอดี ประกอบของอื่นเป็นต้นว่า น้ำตาลและเกลือพอให้เข้ารส

ปานะนี้ ให้ใช้ของสด ห้ามมิให้ต้มด้วยไฟ เป็นของที่อนุปสัมบัน (ผู้ไม่ใช่พระ) ทำจึงควรในวิกาล ถ้าภิกษุทำเอง ท่านว่ามีคติอย่างยาวกาลิก กลายเป็นอาหาร เพราะรับประเคนทั้งผล ดังนั้นอะไรที่จะเอาไปทำน้ำปานะ ก็อย่าเอามาประเคนพระ ถ้าเกิดประเคนพระไปแล้ว ต้องทำให้เสร็จเป็นปานะก่อนเที่ยง ยังถือว่า  เป็นยามกาลิกได้อยู่ ถ้าไปทำเป็นปานะหลังเที่ยงก็กลายเป็นยาวกาลิกไป คือเป็นอาหาร จะนำมาฉันเป็นปานะไม่ได้

ยามกาลิกนี้ ถ้าทำถูกต้อง ท่านให้ฉันได้วันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ถ้าล่วงกำหนดคืนหนึ่ง คืออรุณใหม่ขึ้นแล้ว ท่านห้ามไม่ให้ฉัน ถ้าฉันปรับเป็นอาบัติทุกกฏ

๓. เข้าใจถูกแล้ว ครูบาอาจารย์พาทำมาแบบนั้น  แต่ถ้าใครมีจีวรยาวกว่าสังฆาฏิ จะเอาจีวรไว้นอกก็ได้ ไม่ถือว่าผิดพระวินัย ข้อสำคัญคือ ถ้าสังเกตเห็นว่า ฝนไม่ตกแน่ ก็ให้ซ้อนผ้าสังฆาฏิไปบิณฑบาต แต่ถ้าสังเกตเห็นว่า ฝนจะตกก็ไม่ต้องซ้อน ทุกวันนี้ ข้อวัตรอันนี้ พระท่านชักทำกันไม่ค่อยเป็นแล้ว เพราะเอาตามสะดวกเข้าว่า ไม่ซ้อนมันก็ง่ายดี  ยิ่งนานวันวินัยก็มีแต่จะกุดจะด้วนไปเรื่อยๆ โลกมันเป็นอย่างนี้เอง ของดีทำได้ยาก ของไม่ดีทำได้ง่าย จงสนใจดูตัวเอง อย่าไปสนใจดูผู้อื่น ทำตัวเองให้ดีก็พอแล้ว  คนอื่นจะไม่ดี ก็ช่างหัวมัน เราไม่ใช่ครูบาอาจารย์เขา อย่าอุตริไปสอนใคร ถ้าเขาไม่ได้เชื้อเชิญ

๔. ถ้ามีคนเอาเงินมาถวายเรา เราอย่าไปรับเงินของเขา อย่าไปจับเงินนั้น อย่าเอามาเป็นของเรา ก็บอกให้เขาวางไว้ตรงไหนก็ได้ ที่คิดว่าปลอดภัย ครูบาอาจารย์บางทีท่านก็ให้วางไว้ใต้เสื่อใต้ ใต้หมอน ใต้ที่นั่ง หรือใต้อะไรก็แล้วแต่จะเห็นควร ในกรณีที่ไม่มีโยมอุปัฏฐากอยู่ตรงนั้น ให้ทำในใจไว้ว่า เงินนี้เขาถวายมาเพื่อปัจจัย ๔ อย่างใดอย่างหนึ่งที่จำเป็นในกาลข้างหน้า ไม่ใช่เงินของเรา แต่เรามีสิทธิ์ที่จะเรียกหาปัจจัย ๔ ได้จากเงินนี้ วางไว้ตรงนี้ก่อน เมื่อมีโยมอุปัฏฐากมาค่อยให้เขานำไป แล้วพอมีโยมอุปัฏฐากมา ก็บอกให้เขาเอาไปเสีย

ธรรมดาของโยมผู้ปฏิบัติพระ เขาย่อมรู้ได้เอง ว่าควรทำอย่างไร? ในวินัยท่านไม่ให้ยินดีในเงินที่เขาถวาย แต่ให้ยินดีในปัจจัย ๔ อันจะพึงได้จากเงินนั้น วินัยท่านห้ามมิให้พระจับเงิน หรือนำเงินไปแลกเปลี่ยนซื้่อขายกับคฤหัสถ์ด้วยตนเอง เงินที่จับต้องแล้วต้องสละทิ้งสถานเดียวเท่านั้น
 ท่านอนุญาตให้มีไวยาวัจกร ไปกระทำแทนพระ  อยากได้อะไร ให้บอกไวยาวัจกรไปจัดการให้ ด้วยกัปปิยวาจา  เช่น ไปพิจารณาสิ่งนั้นให้หน่อย  ไปหาอันนั้นให้ที อย่าไปบอกเขาว่า ไปซื้อโนน่ ซื้อนี่มาให้ ยอมรับว่าทำยาก แต่ไม่เหลือบ่าฝ่าแรงที่จะทำ ถ้าทำอะไรได้ง่ายๆเหมือนที่ฆราวาสเขาทำกัน  การบวชเป็นพระก็ไม่มีความหมาย พระกับฆราวาสก็คงต่างกันแค่เครื่องแบบเท่านั้นเอง การปฏิบัติเป็นเหมือนกันหมด แล้วจะมาบวชเป็นพระทำไม

วินัยท่านสอนพระให้ฉลาด ไม่ได้สอนพระให้โง่เหมือนวัวเหมือนควาย และไม่ได้บัญญัติวินัยไว้เพื่อเอาวินัยมาฆ่าพระให้ทำอะไรไม่ได้เลย เพียงแต่ท่านต้องการให้พระรู้จักบริหารจัดการเรื่องเงินอย่างฉลาด ในธรรมท่านเปรียบเงินเหมือนอสรพิษร้าย ท่านไม่ต้องการให้เงินมาเป็นพิษเป็นภัยกับพระนั่นเอง ในวินัยพระจะเก็บเงินไว้เองไม่ได้อยู่แล้ว เพราะมันจะเป็นเหตุนำเภทภัยมาทำร้ายตัวเองได้ ท่านจึงอนุญาตให้มีไวยาวัจกร หรือโยมอุปัฏฐากคอยจัดการให้ ก็เลือกคนดีมาอุปัฏฐากในเรื่องนี้

หรือถ้าคิดว่ามีความจำเป็น ก็ให้โยมพาไปเปิดบัญชีธนาคาร ให้ธนาคารเป็นไวยาวัจกรให้ก็ได้ ทำบัตรเอทีเอ็มไว้  เวลาต้องการด้วยอะไรก็ให้โยมเอาบัตรเอทีเอ็มไปเบิกที่ธนาคาร แล้วไปจัดหาสิ่งของที่ต้องการมาให้ อันนี้มันก็ขึ้นอยู่กับว่า ความจำเป็นของพระแต่ละองค์ย่อมไม่เหมือนกัน จะบอกว่า พระมีบัญชีเงินฝากในธนาคารเป็นความผิดเสียเลยทีเดียว ก็คงไม่ใช่ ขึ้นอยู่กับเจตนาว่า มีไว้เพื่ออะไรด้วย เพราะวินัยท่านอนุญาตไวยาวัจกรเป็นผู้เก็บเงินได้ ก็พิจารณาตามหลักมหาปเทส ๔ ก็มอบให้ธนาคารเป็นไวยาวัจกรอีกคนหนึ่ง ก็ไม่เห็นจะผิดไปไหน แถมปลอดภัยด้วย

วิธีปฏิบัติในเรื่องนี้ มันจึงอยู่ที่ใครจะรู้จักพิจารณาเพื่อรักษาตนให้รอดพ้นจากการผิดพระวินัย อย่างไรก็ทำไป ข้อสำคัญคือ อย่ายินดีในเงินที่ได้ แล้วเกิดความโลภสั่งสมเงินไม่รู้จักพอ จงเก็บไว้เพียงเพื่อเวลาขัดสนด้วยปัจจัย ๔ ที่คิดว่าจำเป็นเท่านั้น นอกนั้น ถ้ามีบุญวาสนา มีโชคลาภมาก มีผู้ถวายเงินเยอะๆ จนคิดว่ามันเกินความจำเป็นแล้ว  ก็รู้จักเมตตาเฉลี่ยเจือจานแบ่งปันให้พระรูปอื่นๆที่ขาดแคลน หรือถวายครูบาอาจารย์ต่อไปก็ได้ หรือนำไปบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ก็แล้วแต่จะทำ  ถ้าเก็บเงินไว้เพื่อตัวเอง มีเท่านั้นแล้ว ก็อยากจะมีเท่าโน้น โลภมากอยากได้เงินสะสมไปเรื่อยๆ ไม่หยุดไม่พอ  ทั้งที่ความจำเป็นที่จะใช้จ่ายในปัจจัย ๔ อะไรก็ไม่มี คอยแต่จะนั่งนับเงินสั่งสมท่าเดียว อย่างนี้ก็ผิดธรรมผิดพระวินัย

จงจำไว้เถิดว่า  ทุกสิ่งทุกอย่างมันอยู่ที่เจตนาของเรา การปฏิบัตินั้น ถ้าเป็นไปเพื่อละโลภ โกรธ หลง แล้ว ก็ไม่มีอะไรจะผิดธรรมผิดวินัยหรอก ส่วนการจะละโลภ โกรธ หลง หรือไม่นั้่น  อยู่ที่เราจะวินิจฉัยตัวเอง  ให้พิจารณาโดยธรรม ถ้าเราตั้งใจแสวงหาธรรม อย่าลำเอียงเข้าข้างกิเลสในใจ  ถ้าเป็นการสั่งสม ความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่ภายในใจ แม้ไม่ทำอะไรผิดวินัยออกมาทางกายเลยก็ตาม แต่ใจเต็มไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่างหน้ามืดตามัว มันก็ผิดธรรมผิดวินัยอยู่ที่ใจนั่นเอง

ผู้แสดงความคิดเห็น พระวิทยา กิจจวิชโช วันที่ตอบ 2013-08-21 18:50:40


ความคิดเห็นที่ 2 (4139758)

 กราบนมัสการครับ

ขอบพระคุณครับ ผมกำลังหาทางออกเรื่องกาแฟกับเรื่องเงินอยู่พอดี ได้มาอ่านคอมเมนท์นี้แล้วดระจ่างขึ้นมากเลยครับ เพราะผมจำเป็นต้องรับเงิน เวลามีกิจนิมนต์ ก็ไม่ค่อยถวายใบปวารณา เคยปรึกษากับพระอาจารย์ เรื่องนี้แล้ว แต่ก็ไม่สำเร็จ โดยส่วนตัวรู้สึกไม่สบายใจเลยครับ 

ส่วนเรื่องกาแฟผมก็มองว่าเป็นยาครับ เป็นยาแก้ง่วงเวลากลางวัน จะได้ภาวนา ไม่ติดหมอน 

ขอถามคำถามนึงครับ ผมฉันกาแฟสดมาสักพักแล้วครับ โดยใช้การชงแบบกาต้ม ซื้อมาสองพันกว่าบาท อันนี้ผิดพระวินัย และผมจะสละทิ้งครับ แต่ถ้ายังอยากได้อยู่แล้วไปขอกับญาติให้ซื้อมาถวายใหม่จะได้ไหมครับ รวมทั้งเมล็ดกาแฟด้วย

ผู้แสดงความคิดเห็น สุรปญฺโญ (Gun2431-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2018-10-08 13:42:52


ความคิดเห็นที่ 3 (4192937)

 ตอนพูดใครก็พูดได้อธิบายได้ แต่ตอนปฏิปัติจริงๆทำไมทำได้บ้างไม่ได้บ้าง บางทีก็ทำเป็นเคร่งต่อหน้าโยม ลับหลังทำไมถึงหลวมล่ะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น วินัยธร วันที่ตอบ 2020-02-29 12:10:58


ความคิดเห็นที่ 4 (4194283)

 กาแฟไม่ใช่ยา ไม่ใช่น้ำปานะครับ กาแฟดำฉันได้ตลอด

แต่ถ้าใส่นมลงไป ถือว่าเปนอาหาร ฉันได้ก่อนเที่ยง 

ผู้แสดงความคิดเห็น กาแฟ ต้องให้โยมประเคนก่อนค่อยฉัน (Phoowat_2255812012-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2020-03-20 17:14:36


ความคิดเห็นที่ 5 (4206476)

 ภิกษุจะขอจากญาติ หรือโยมอุปฐาก ที่ปวารตัวรับใช้พระได้

ส่วนของที่สั่งซื้อมาเองเป็นนิคสักคีต้องสละเป็นของสงฆ์ แล้วไปปลงอาบัติ จากนั้นนำไปใช้รวมกับหมู่คณะได้

ผู้แสดงความคิดเห็น พพ วันที่ตอบ 2020-09-30 08:44:01



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล