ReadyPlanet.com


คำถามเกี่ยวกับการคิด


 โยมมีข้อสงสัยดังนี้คะ

1-ปัญญา

 

ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่ได้จากการปฏิบัติจากตนเองเกิดประสบการณ์กับตัวเอง

 

จินตมยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการคิดที่ไม่ได้ประสบกับตัวเอง

 

คือโยมสงสัยว่าในการทำวิปัสสนาการเจริญปัญญา ในระหว่างที่ดูลมอยู่แล้วเห็นเกิดดับเจริญปัญญาในช่วงนี้โยมใช้ความคิดพิจารณาสิ่งที่โยมกำลังดูมันอยู่ได้หรือปล่าวเจ้าคะ  เพราะถ้าไม่คิดโยมไม่มีทางแยกแยะเข้าใจในสิ่งที่โยมเห็นได้นะคะ

 

หรือว่าบางหลวงพ่อบอกว่าไม่ให้คิดหรือจะเป็นคิดแบบจินตมยปัญญาเจ้าคะ แต่การทำวิปัสสนาเราคิดแยกแยะสิ่งที่เราเห็นหรือดูอยู่ได้หรือปล่าวคะ

 

2-การทำอานาปานสติ การดูลมหายใจ ถ้าหายใจยาวก็รู้ว่ายาวถ้าหายใจสั้นก็รู้ว่าสั้น

ในการที่เราจะรู้ว่าลมหายใจยาวหรือสั้นมันจะต้องคิดนะคะ ในขั้นตอนที่รู้ลมสั้นหรือลมยาวจะคิดได้หรือไหมคะ

 

กราบขอบคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูงล่วงหน้าคะ

 

จิราภรณ์



ผู้ตั้งกระทู้ จิราภรณ์ :: วันที่ลงประกาศ 2024-02-11 18:13:52


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (4526276)

 เวลาจะทำสมาธิ ก็บังคับจิตด้วยสติให้อยู่กับอารมณ์อันเดียว อย่าเพิ่งไปคิดอะไร เพราะถ้าสติยังบังคับจิตให้อยู่กับอารมณ์อันเดียวไม่ได้ เช่น พุทโธ ๆๆๆ ไปนาน ๆ จนจิตสงบอยู่กับคำบริกรรมพุทโธ ไม่เผลอไปไหน ถ้ายิ่งกว่านั้นจิตก็รวมลงเป็นสักแต่ว่ารู้ เป็นหนึ่งเดียว ไม่เป็นสองกับอารมณ์อะไร แม้จิตไม่รวม แต่จิตอยู่กับพุทโธ ไม่ไปหาอารมณ์อื่น ก็ถือว่า จิตสงบในระดับคำบริกรรม ถ้าสติตั้งมั่นดี จะพิจารณาอะไร จิตก็มีกำลัง ไม่เถลไถลไปคิดอย่างอื่น แต่ถ้าสติยังไม่มีกำลัง ถึงพิจารณาไปก็ไม่ได้ผล

ถ้าหากจิตพิจารณาทางปัญญาแล้วจิตไม่ไปคิดอย่างอื่นที่เป็นกิเลส จะพิจารณาอารมณ์ที่เกิดดับอยู่ที่จิตก็ได้ หรือจะพิจารณาร่างกายให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ร่างกายเป็นส่วนธาตุสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลม มาประชุมกัน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มีความไม่เที่ยง ไม่เที่ยงอยางไรพิจารณาให้จิตเห็นจริง ร่างกายเป็นทุกข์ เป็นทุกข์อย่างไร ร่างกายเป็นอนัตตา เป็นอนัตตาอย่างไร อย่างนี้เรียกว่า จินตามัยปัญญา ก็พิจารณาไปจนกว่าจิตจะเบื่อหน่ายในร่างกาย ไม่เกิดความกำหนัดในกาย ไม่ห่วงกาย ไม่กลัวตาย ตามแต่จะมีอุบายแยบคายอย่างไร ก็พิจารณาอยู่อย่างนั้นให้ชำนาญ เมื่อใดที่จิตหยั่งลงเห็นจริงตามนั้น สามารถดับสังโยชน์สามได้ จึงจะเป็นภาวนามัยปัญญา ซึ่งเป็นปัญญาฆ่ากิเลส จะเกิดต่อเมื่อ ได้อริยมรรค อริยผล เท่านั้น

ให้รู้ว่า ถ้าจะทำสมาธิก็ทำหน้าที่ของสมาธิให้ดี  เมื่อจะเจริญปัญญาก็ตั้งใจพิจารณาทางด้านปัญญาไป แต่ไม่ใช่ทำพร้อมกัน สมาธิเหมือนขาซ้าย ปัญญาเหมือนขาขวา เมื่อขาขวาก้าวไป ขาซ้ายต้องยืนอยู่กับที่อย่างมั่นคง เมื่อขาขวาหยั่งลงมั่นคง ขาซ้ายจึงก้าวตามไป สมาธิปัญญาเดินไปพร้อมกันอย่างนี้ แต่ไม่ใช่ไปพร้อมกัน แบบกบกระโดด เคยเห็นกบมันกระโดดไหม อย่างนั้นไม่เอา

ภาคปฏิบัติ ต้องเกิดความรู้ความเห็นจากใจตนเองเท่านั้น ไม่ไปนึกถึงปริยัติ เมื่อรู้เห็นขึ้นที่ใจตนเองอย่างใดแล้ว มันจะไปประสานกับปริยัติได้เอง ทำให้เข้าใจปริยัติได้ถูกต้องตามความเป็นจริง ที่รู้เห็นเกิดขึ้นที่ใจของผู้ปฏิบัติ มิใช่เข้าใจปริยัติไปตามตัวหนังสือในตำรา

ผู้แสดงความคิดเห็น พระวิทยา กิจฺจวิชฺโช วันที่ตอบ 2024-02-12 02:25:19


ความคิดเห็นที่ 2 (4526278)

 เข้าใจแล้วคะ กราบขอบพระคุณอย่างสูงคะ

 

จิราภรณ์

ผู้แสดงความคิดเห็น จิราภรณ์ วันที่ตอบ 2024-02-12 07:50:28



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล